xs
xsm
sm
md
lg

“นักเศรษฐศาสตร์” โวย “จำนำข้าว” นโยบายเลวหวังชนะเลือกตั้ง ทำชาติพัง-กลไกตลาดถูกทำลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทความ “นักเศรษฐศาสตร์ทนไม่ไหวแล้ว กับความเลวร้ายเรื่องจำนำข้าว” ของนายไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์
“ไพโรจน์” อดีตคณบดีเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นนโยบายสาธารณะที่เลวที่สุด เชื่ออย่างผิดๆ ผูกขาดซื้อข้าวทุกเมล็ด เวลาขาดทุนพลิกแพลงได้ว่าทำเพื่อชาวนา แต่ประเทศชาติพัง คนที่ได้ประโยชน์ คือ นายทุนซื้อข้าวที่รัฐขายขาดทุน เสียหายด้านความสามารถการแข่งขัน ทำลายกลไกตลาดชัด

วันนี้ (10 ต.ค.) นายไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และนักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยสังคมและเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้เขียนบทความหัวข้อ “นักเศรษฐศาสตร์ทนไม่ไหวแล้ว กับความเลวร้ายเรื่องจำนำข้าว” ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน โดยกล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นนโยบายสาธารณะที่เลวที่สุด เมื่อมองเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ หากมีเป้าหมายในการช่วยเหลือชาวนาจริง มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าโครงการที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ และการใช้ทรัพยากรสูญเปล่า รวมทั้งมองว่าพรรคเพื่อไทยดำเนินนโยบายนี้เพียงเพื่อต้องการชัยชนะในการเลือกตั้ง โดยเห็นว่าโครงการนี้ไม่มีวันประสบความสำเร็จ เพราะผู้ออกแบบโครงการขาดความเข้าใจ หรือเข้าใจผิดคิดว่ารัฐบาลจะสามารถเอาชนะกลไกตลาดข้าวซึ่งเกิดจากอุปสงค์อุปทานของข้าวในตลาดโลก ทั้งการผลิตและการค้า

“ผู้ออกแบบโครงการเชื่ออย่างผิดๆ คิดแบบง่ายๆ ว่า ถ้ารัฐบาลจะผูกขาดการซื้อข้าวทุกเม็ดที่ผลิตโดยชาวนา และเพื่อช่วยให้ชาวนามีรายได้สูงตั้งราคาให้สูงกว่าราคาตลาดไว้มากๆ เก็บข้าวไว้สักระยะเวลาหนึ่ง ทยอยขายเมื่อเห็นว่าได้ราคาที่เหมาะสม เช่น มีกำไรหรือขาดทุนไม่มาก อำนาจผูกขาดนี้ย่อมมีลักษณะเป็น win-win คือสามารถชนะใจชาวนาโดยรับซื้อข้าวในราคาสูงกว่าตลาดได้อย่างมากๆ และถ้าขายได้ในราคาที่สูงในอนาคตก็สามารถคุยโม้ได้ว่าเป็นเพราะฝีมือซึ่งจริงๆ อาจจะเป็นโชคชั่วครู่ชั่วยามไม่ยั่งยืน ขณะเดียวกันถ้าขาดทุนมากหรือน้อยก็ตามก็สามารถชักแม่น้ำทั้ง 5 อ้างว่าขาดทุนไปบ้างก็ไม่น่าจะเป็นไรเพราะว่าขาดทุนเพื่อชาวนาซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ไม่เห็นจะเป็นไร หาเหตุผลมาอธิบายได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง” นายไพโรจน์ กล่าว

นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ผู้เขียนเห็นด้วยกับคณาจารย์ที่ยื่นร้องทุกข์ต่อศาล ว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 84 วรรค 1 เพราะในข้อเท็จจริงตลาดสินค้าเกษตร เช่น ข้าว แม้จะเป็นตลาดสินค้าที่มีความไม่สมบูรณ์ แต่ตลาดข้าวก็ไม่ใช่ตลาดที่มีการผูกขาดโดยธรรมชาติ หรือเป็นสินค้าสาธารณะ แต่เป็นสินค้าเอกชน แม้ราคาปริมาณการผลิต อุปสงค์อุปทานในระยะสั้นและระยะยาวจะขึ้นอยู่ความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ ปัจจัยภายในและภายนอกประเทศเหนือการควบคุมของชาวนา หรือรัฐบาล หรือของผู้มีส่วนร่วมในตลาด ถ้าราคาข้าวหรือราคาสินค้าเกษตรอื่นๆ ในระยะสั้น หรือระยะยาว ไม่อยู่ในระดับที่จะทำให้รายได้ของเกษตรกรสูงพอๆ กับการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี รัฐบาลทุกประเทศก็มีการให้เงินอุดหนุน มีการพยุงราคาในรูปแบบต่างๆ หรือมีการประกันรายได้ขั้นต่ำที่ชาวนาชาวไร่พึงได้รับ

ทั้งนี้ ที่เป็นห่วง คือ ความเข้าใจของศาลและสังคม นักเศรษฐศาสตร์นั้นตระหนักดีว่าโครงการรับจำนำข้าวนั้นมีมิติที่เกี่ยวข้องทั้งในหลายมิติ เช่น หนึ่ง มิติการจัดสรรทรัพยากรของสังคมที่มีอยู่อย่างจำกัดต้องมีประสิทธิภาพ นักเศรษฐศาสตร์ต้องอธิบายให้สังคมและศาลเข้าใจว่าไม่ว่าสังคมไหนในระยะยาวจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงจะต้องเป็นสังคมที่มีประสิทธิภาพโดยไม่ละเลยมิติเรื่องความเท่าเทียมกัน หรือความเป็นธรรมในการกระจายรายได้ สอง มิติการกระจายรายได้จากผู้เสียภาษีทั่วไปสู่ชาวนาระดับหลายล้านครัวเรือนที่ขายข้าวให้รัฐได้ราคาสูงกว่า ราคาตลาดมาก

สาม มิติการบริหาร การรับซื้อที่ก่อให้เกิดต้นทุนแก่รัฐ แก่สังคม แต่สร้างรายได้ประเภทส้มหล่นหรือลาภลอยหรือเป็นส่วนเกินแก่ผู้เกี่ยวข้องต่างๆ มากมาย ตั้งแต่โรงสีจนถึงผู้ส่งออกซึ่งมักจะได้ Jackpot ซื้อข้าวจากรัฐบาลในราคาที่รัฐขายขาดทุน หรือมีการทุจริตในรูปแบบต่างๆ และ สี่ มิติของความเสียหายในด้านความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดข้าวโลก เพราะรัฐซื้อข้าวมาเก็บไว้มากมายในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริงโดยพิจารณาจากอุปสงค์อุปทานของตลาดการค้าข้าวโลก ทำลายกลไกการค้าข้าวของเอกชนซึ่งเคยมีประสิทธิภาพและมีการพัฒนาเรื่อยมา ยังไม่พูดถึงมิติความเสียหายทางการคลังที่จะตามมาอีกมากมายในระยะยาว รวมทั้งความเจริญเติบโตของประเทศที่จะต้องถูกกระทบ

“นักเศรษฐศาสตร์จะเหนื่อยและเป็นฝ่ายเสียเปรียบเมื่อมีประเด็นที่สังคมต้องเลือกระหว่างประสิทธิภาพความเจริญเติบโตที่นักเศรษฐศาสตร์เน้นมาก กับการ กระจายรายได้ความเป็นธรรมที่ต้องให้ชาวนาเกือบ 4 ล้านครัวเรือน สังคมไม่สนใจว่าชาวนากว่าหนึ่งล้านครัวเรือนไม่ได้รับประโยชน์จากการจำนำข้าว สังคมอาจไม่สนใจการทุจริตรั่วไหล และสังคมไม่เข้าใจและไม่ค่อยเข้าใจกลไกตลาดเสรีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่เข้าใจว่าถ้ากลไกตลาดข้าวในประเทศถูกทำลาย ทำงานไม่ได้หมายถึงอะไร ประเทศเสียหายอย่างไรในระยะยาว ตราบใดที่ราคาข้าวไม่แพงในประเทศเขาก็ไม่เดือดร้อน ถ้าศาลคิดแบบสังคมส่วนใหญ่คิด หรือตามกระแสสังคม นักเศรษฐศาสตร์คงเหนื่อยแน่” นายไพโรจน์ กล่าว

สำหรับเนื้อหาบทความ “นักเศรษฐศาสตร์ทนไม่ไหวแล้ว กับความเลวร้ายเรื่องจำนำข้าว” มีดังต่อไปนี้

---

ในทรรศนะของผู้เขียนโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นนโยบายสาธารณะที่เลวที่สุดที่ประเทศเคยผิดโดยเฉพาะจากรัฐบาลประชาธิปไตยที่ชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก อาจเป็นอุทาหรณ์ก็ได้ว่าการแข่งขันทางการเมืองสามารถผลิตนโยบายเลวๆ ออกมาได้ เพียงเพื่อต้องการชัยชนะในการเลือกตั้ง สาเหตุที่นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ใช้ไม่ได้มองจากเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ก็คือว่าถ้าเรามีเป้าหมาย หรือ End ในการช่วยเหลือชาวนาเพราะชาวนาเป็นกลุ่มคนที่ยากจน (สมมติว่า สมมติฐานนี้ถูกต้องซึ่งจริงๆ อาจไม่จริง) และสังคมต้องการกระจายรายได้จากกลุ่มคนอื่นไปสู่พวกเขา เราอาจจะกล่าวได้ว่าวิธีการที่ใช้ในการบรรลุเป้าหมายนี้สามารถมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าโครงการที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ เกิดความสูญเปล่าไร้ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากโครงการมีการออกแบบที่ผิดในหลักการ แม้ให้สามารถมีการจัดการให้เกิดการทุจริตน้อยที่สุดหรือหมดไป โครงการรับจำนำข้าวก็เป็นนโยบายที่ไม่ดีหรือไม่ถูกต้องอยู่นั่นเอง

โครงการนี้ถ้าผู้ร่างนโยบายของพรรคเพื่อไทยไม่โง่เขลาเบาปัญญา ก็คงต้องเป็นเพราะความบ้าบิ่น หรือเป็นเพราะแรงผลักดันของการแข่งขันทางการเมืองเพื่อเอาชนะเลือกตั้งให้ได้ทั้งที่ผ่านมาและในอนาคต ที่ผู้เขียนคิดว่าโง่เขลาและเบาปัญญานั้นเป็นเพราะว่า โครงการนี้ไม่มีวันที่จะประสบความสำเร็จไม่ว่าจะมีเป้าหมายอยู่ที่เรื่องใด เพราะผู้ออกแบบโครงการขาดความเข้าใจหรือเข้าใจผิดคิดว่ารัฐบาลจะสามารถเอาชนะกลไกตลาดข้าวซึ่งเกิดจากการทำงานของอุปสงค์อุปทานของข้าวในตลาดโลกทั้งการผลิตและการค้า ผู้ออกแบบโครงการเชื่ออย่างผิดๆ คิดแบบง่ายๆ ว่า ถ้ารัฐบาลจะผูกขาดการซื้อข้าวทุกเม็ดที่ผลิตโดยชาวนา และเพื่อช่วยให้ชาวนามีรายได้สูงตั้งราคาให้สูงกว่าราคาตลาดไว้มากๆ เก็บข้าวไว้สักระยะเวลาหนึ่ง ทยอยขายเมื่อเห็นว่าได้ราคาที่เหมาะสม เช่น มีกำไรหรือขาดทุนไม่มาก อำนาจผูกขาดนี้ย่อมมีลักษณะเป็น win-win

คือ สามารถชนะใจชาวนาโดยรับซื้อข้าวในราคาสูงกว่าตลาดได้อย่างมากๆ และถ้าขายได้ในราคาที่สูงในอนาคตก็สามารถคุยโม้ได้ว่าเป็นเพราะฝีมือซึ่งจริงๆ อาจจะเป็นโชคชั่วครู่ชั่วยามไม่ยั่งยืน ขณะเดียวกันถ้าขาดทุนมากหรือน้อยก็ตามก็สามารถชักแม่น้ำทั้ง 5 อ้างว่าขาดทุนไปบ้างก็ไม่น่าจะเป็นไรเพราะว่าขาดทุนเพื่อชาวนาซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ไม่เห็นจะเป็นไร หาเหตุผลมาอธิบายได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง

เนื่องจากผู้เขียนอยู่ต่างประเทศไม่ได้มีโอกาสร่วมลงชื่อด้วยคนหนึ่ง แต่ผู้เขียนรู้สึกดีใจเมื่อทราบว่าคณาจารย์กว่าร้อยคนร่วมกันลงชื่อเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยับยั้งหรือยุติโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เท่าที่ทราบจากสื่อมวลชน ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือที่เรียกกันว่า นิด้า เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในงานนี้

แม้ว่าในที่สุด กลุ่มคณาจารย์นี้จะไม่สามารถยับยั้งหรือยุติโครงการนี้ได้ด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณาและมีการไต่สวนสืบหาข้อเท็จจริง ผู้เขียนก็คิดว่าสังคมจะได้ประโยชน์ เพราะจะทำให้เกิดการเรียนรู้กว้างขวางเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับปัญหาของโครงการนี้อย่างแน่นอน

ผู้เขียนเห็นด้วยกับคณาจารย์ที่ยื่นร้องทุกข์ต่อศาล ว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 84 วรรค 1 ซึ่งกล่าวได้ว่า

“มาตรา 84 : รัฐต้องดำเนินการแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้ :

(1) สนับสนุนระบบเศรษฐกิจระบบเสรีและเป็นธรรม โดยอาศัยกลไกตลาด และสนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยต้องยกเลิกและละเว้นการตรากฎหมายและหลักเกณฑ์ที่ควบคุมธุรกิจซึ่งมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือการจัดให้มีสาธารณูปโภค”

แม้โครงการนี้จะมีปัญหาไม่เหมาะสมมากมายไม่ว่าจะมองจากแง่มุมใด แต่ผู้เขียนก็คิดว่าเหตุผลเดียวที่สำคัญที่จะสามารถยุติโครงการนี้ได้หรือต้องปรับปรุงกระบวนการจำนำข้าวที่ทำในขณะนี้ใหม่หมดก็เพราะมันขัดกับรัฐธรรมนูญตามมาตรา 84(1) หรืออาจจะขัดกับมาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจกรรมหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม...” โดยหลักการและเหตุผล มาตรา 84(1) และหรือมาตรา 43 น่าจะเป็นเหตุผลที่ศาลพึงรับไว้พิจารณาได้มาก

ในข้อเท็จจริงตลาดสินค้าเกษตร เช่น ข้าว แม้จะเป็นตลาดสินค้าที่มีความไม่สมบูรณ์ เช่น ในเรื่องสารสนเทศซึ่งจริงๆ ในโลกแห่งความเป็นจริงก็มีปัญหาในตลาดสินค้าเอกชนจำนวนมาก โดยเฉพาะตลาดการเงิน แต่ตลาดข้าวก็ไม่ใช่ตลาดที่มีการผูกขาดโดยธรรมชาติ หรือเป็นสินค้าสาธารณะ (Public goods) เช่น การป้องกันประเทศ หรือเป็นกิจการสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา รถไฟ ที่วิสาหกิจเอกชนอาจไม่สามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ารัฐ (แม้กระนั้นในความเป็นจริงก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป) ในกลุ่มสินค้าประเภทข้างต้น ความจำเป็นที่จะให้กิจการเป็นของรัฐหรือมีการให้บริการโดยรัฐแทนเอกชนจึงอาจมีเหตุผล

แต่ตลาดข้าวเป็นสินค้าเอกชน แม้ราคาปริมาณการผลิต อุปสงค์อุปทานในระยะสั้นและระยะยาวจะขึ้นอยู่ความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ ปัจจัยภายในและภายนอกประเทศเหนือการควบคุมของชาวนาหรือรัฐบาลหรือของผู้มีส่วนร่วมในตลาด แต่ตลาดข้าวในลักษณะนี้ กลไกตลาดอุปสงค์อุปทานก็ทำงานได้ ถ้าราคาข้าวหรือราคาสินค้าเกษตรอื่นๆ ในระยะสั้นหรือระยะยาวไม่อยู่ในระดับที่จะทำให้รายได้ของเกษตรกรผู้ผลิตสูงพอๆ กับการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี รัฐบาลทุกประเทศก็มีการให้เงินอุดหนุน มีการพยุงราคาในรูปแบบต่างๆ หรือมีการประกันรายได้ขั้นต่ำที่ชาวนาชาวไร่พึงได้รับ

ตลาดที่ทำงานในลักษณะนี้ ไม่ใช่ตลาดที่ล้มเหลว หรือ Market failure ที่รัฐต้องเข้ามาทำหน้าที่แทนที่เอกชน โดยการรับซื้อข้าวเปลือกและสีเป็นข้าวสารทุกเม็ดเพื่อขายต่อในฐานะเป็นผู้ซื้อข้าวเปลือกรายเดียวจากชาวนา หรือขายข้าวสารให้ผู้ส่งออกหรือเป็นผู้ผูกขาดธุรกิจค้าข้าวเหมือนที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ในขณะนี้ (ยังไม่พูดถึงพฤติกรรมอดีตที่รัฐบาลเป็นพ่อค้ารายใหญ่ แต่ซื้อแพง ขายถูก และขาดทุน) เพราะฉะนั้นผู้เขียนจึงคิดว่าช่องทางการต่อสู้โดยวิธีมาตรา 84(1) จึงเป็นยุทธวิธีที่ถูกต้องแล้ว

ที่ผู้เขียนเป็นห่วง คือ ความเข้าใจของศาลและสังคม นักเศรษฐศาสตร์นั้นตระหนักดีว่าโครงการรับจำนำข้าวนั้นมีมิติที่เกี่ยวข้องทั้งในหลายมิติ เช่น หนึ่ง มิติการจัดสรรทรัพยากรของสังคมที่มีอยู่อย่างจำกัดต้องมีประสิทธิภาพ นักเศรษฐศาสตร์ต้องอธิบายให้สังคมและศาลเข้าใจ ว่า ไม่ว่าสังคมไหนในระยะยาวจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงจะต้องเป็นสังคมที่มีประสิทธิภาพโดยไม่ละเลยมิติเรื่องความเท่าเทียมกันหรือความเป็นธรรมในการกระจายรายได้ สอง มิติการกระจายรายได้จากผู้เสียภาษีทั่วไปสู่ชาวนาระดับหลายล้านครัวเรือนที่ขายข้าวให้รัฐได้ราคาสูงกว่า (จริงๆ รัฐเป็นผู้ซื้อขาด ไม่ใช่จำนำตามที่เรียกชื่อ) ราคาตลาดมาก

สาม มิติการบริหาร การรับซื้อที่ก่อให้เกิดต้นทุนแก่รัฐ แก่สังคม แต่สร้างรายได้ประเภทส้มหล่นหรือลาภลอยหรือเป็นส่วนเกิน (rent) แก่ผู้เกี่ยวข้องต่างๆ มากมาย ตั้งแต่โรงสีจนถึงผู้ส่งออกซึ่งมักจะได้ Jackpot ซื้อข้าวจากรัฐบาลในราคาที่รัฐขายขาดทุน หรือมีการทุจริตในรูปแบบต่างๆ

สี่ มิติของความเสียหายในด้านความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดข้าวโลก เพราะรัฐซื้อข้าวมาเก็บไว้มากมายในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริงโดยพิจารณาจากอุปสงค์อุปทานของตลาดการค้าข้าวโลก ทำลายกลไกการค้าข้าวของเอกชนซึ่งเคยมีประสิทธิภาพและมีการพัฒนาเรื่อยมา ยังไม่พูดถึงมิติความเสียหายทางการคลังที่จะตามมาอีกมากมายในระยะยาว รวมทั้งความเจริญเติบโตของประเทศที่จะต้องถูกกระทบ

นักเศรษฐศาสตร์จะเหนื่อยและเป็นฝ่ายเสียเปรียบเมื่อมีประเด็นที่สังคมต้องเลือกระหว่างประสิทธิภาพความเจริญเติบโตที่นักเศรษฐศาสตร์เน้นมาก (นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าเศรษฐกิจสังคมที่จะยั่งยืนได้ต้องเป็นสังคมที่มีประสิทธิภาพ) กับการ กระจายรายได้ความเป็นธรรมที่ต้องให้ชาวนาเกือบ 4 ล้านครัวเรือน สังคมไม่สนใจว่าชาวนากว่าหนึ่งล้านครัวเรือนไม่ได้รับประโยชน์จากการจำนำข้าว สังคมอาจไม่สนใจการทุจริตรั่วไหล และสังคมไม่เข้าใจและไม่ค่อยเข้าใจกลไกตลาดเสรีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่เข้าใจว่าถ้ากลไกตลาดข้าวในประเทศถูกทำลาย ทำงานไม่ได้หมายถึงอะไร ประเทศเสียหายอย่างไรในระยะยาว ตราบใดที่ราคาข้าวไม่แพงในประเทศเขาก็ไม่เดือดร้อน

ถ้าศาลคิดแบบสังคมส่วนใหญ่คิด หรือตามกระแสสังคม นักเศรษฐศาสตร์คงเหนื่อยแน่.
กำลังโหลดความคิดเห็น