ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนไทยกับข้าวเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกจากกันได้ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับต้นๆ ของโลก นำรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล และที่สำคัญยังสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศอีกด้วย
วันนี้ได้มีโอกาสรู้จักทายาทเถ้าแก่ธุรกิจผู้ค้าข้าว “นางสาวศศินันท์ ล้วนวรวัฒน์” ด้วยวัยเพียง 25 ปี กับบทบาทสำคัญในการรับช่วงต่อบริหารกิจการของครอบครัว วันนี้เธอได้แสดงให้เห็นว่าเธอไม่ธรรมดา กับการปรับเปลี่ยนโฉมครั้งสำคัญแบบที่เรียกว่าทิ้งภาพลักษณ์เถ้าแก่ค้าข้าวของเมืองนครปฐมจนจำกันไม่ได้เลยทีเดียว
ศศินันท์เล่าว่า สำหรับกิจการค้าข้าวกับเมืองนครปฐมเป็นของคู่กัน เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดนครปฐมเป็นแหล่งปลูกข้าว ตนและครอบครัวดำเนินกิจการในรูปของการขายข้าวสารมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 โดยรู้จักกันในชื่อว่า “เป๋งง่วงฮง” อยู่หน้าองค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งส่วนตัวตั้งแต่จำความได้ก็ช่วยงานกิจการในร้านมาตลอด
ทั้งนี้ กิจการของครอบครัวดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่เราได้ดำเนินงานมาได้ระยะหนึ่งเริ่มมีโกดังเก็บข้าวเป็นของตัวเอง ทำให้สามารถรับซื้อข้าวจากโรงสีโดยตรงได้ครั้งละมากๆ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนในพื้นที่ มีทั้งซื้อไปรับประทานเอง และซื้อไปจำหน่ายอีกทอดหนึ่ง
ส่วนการเริ่มเข้ารับช่วงต่อกิจการของครอบครัว เกิดขึ้นมาจากพ่อแม่อายุมากขึ้นก็ต้องการจะหยุดพัก เราเองก็เรียนหนังสือจบ เห็นว่ากิจการของครอบครัวมีความมั่นคง และสร้างรายได้ดีกว่าการทำงานประจำ จึงตัดสินใจรับช่วงต่อกิจการของครอบครัว โดยได้นำความรู้จากการได้ไปเรียนต่อระดับปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาใช้บริหารกิจการของครอบครัว
โดยเริ่มจากเดิมขายข้าวสาร คนจะรู้จักแค่ชื่อร้าน ซึ่งการขยายตลาดเป็นไปได้ยาก เป้าหมายที่มองไว้คือการส่งออกข้าวสารภายใต้แบรนด์ของตัวเอง ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการสร้างแบรนด์ที่มีความเป็นสากล จึงได้เป็นที่มาของชื่อแบรนด์ว่า “ข้าวคำฉํนท์”
จุดเด่นของข้าวคำฉันท์คือ การพัฒนาข้าวให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยมุ่งเป้าไปที่การจำหน่ายข้าวไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้องงอก ข้าวหอมนิล ข้าวกล้องหอมมะลิ และข้าวหอมมะลิแดง ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากในการที่จะหาข้าวที่กล่าวมาข้างต้น เพราะครอบครัวค้าข้าวมานานจึงรู้จักกันดีกับโรงสีต่างๆ ให้ช่วยผลิตข้าวคุณภาพอย่างที่ต้องการได้
“นอกจากนี้เรายังได้มีการออกแบบแพกเกจใหม่ให้มีความทันสมัย เป็นตัวการ์ตูนเพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มอื่นๆ โดยมีทั้งขนาดเล็กสำหรับใส่บาตร แบบเบนโตะ แบบถุง 1 กิโลกรัม แบบถุง 5 กิโลกรัม และแบบถุงสุญญากาศซึ่งจะสามารถเก็บไว้ได้นานกว่าแบบถุงทั่วไป ที่สำคัญยังมีราคาถูกกว่าตามท้องตลาด เนื่องจากไม่มีการขายผ่านพ่อค้าคนกลาง”
ในช่วงแรกของการทำตลาดนั้น ศศินันท์บอกเราว่า ใช้การทำตลาดโดยอาศัยฐานลูกค้าเดิมของร้านเป๋งง่วงฮงของพ่อแม่ แต่เนื่องจากการขายข้าวในนครปฐมมีการแบ่งตลาดพื้นที่การขายอย่างชัดเจน ทำให้มีข้อจำกัดในการขยายตลาดค่อนมาก ตนจึงเริ่มศึกษาหาข้อมูลการทำเว็บไซต์ โดยหวังจะให้สินค้าของตนเป็นที่รู้จักในตลาดจังหวัดมากขึ้น จนได้มาพบกับโครงการ ธุรกิจไทย Go Online ที่ส่งเสริมให้ร้านค้าต่างๆ มีเว็บไซต์เป็นของตัวเองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังสามารถทำเว็บเองได้ง่ายโดยไม่ต้องจ้างโปรแกรมเมอร์ จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ โดยทำตลาดควบคู่ไปกับการขายหน้าร้านโซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์
ทั้งนี้ ผลตอบรับที่ได้คือ มีลูกค้ารู้จักสินค้าและแบรนด์เรามากขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ มีรายได้เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน 5-10% อีกทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า เนื่องจากลูกค้าสามารถเข้ามาดูรายการสินค้าได้จากเว็บไซต์ ปัจจุบันสัดส่วนรายได้มาจากหน้าร้านและฐานลูกค้าเดิม 90% ร้านหน้าออนไลน์ 10% ออเดอร์ล่าสุดมาจากประเทศกัมพูชาสั่ง 1,000 ถุง
สำหรับแผนในอนาคตตั้งเป้าว่า ต้องทำให้ธุรกิจจำหน่ายข้าวสารแบบไม่ขัดสีแบรนด์ ข้าวคำฉันท์ ก้าวสู่ตลาดอาเซียนให้ได้ เพราะเชื่อในศักยภาพของตนเอง และศักยภาพของประเทศว่า ผลิตภัณฑ์จากประเทศไทย โดยเฉพาะข้าว ต้องสามารถผลักดันก้าวไปสู่ตลาดโลก และขึ้นเป็นผู้นำในตลาดอาเซียนได้ และโดยส่วนตัวตั้งเป้าไว้ว่าต้องมีการพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวไปในรูปแบบอื่นๆ ต่อไป
โทร. 08-1996-5144 E-mail: kamchanrice@gmail.com