xs
xsm
sm
md
lg

“สังขยาแผ่น” นวัตกรรมขนมไทย หวังแจ้งเกิดในต่างแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขนมสังขยาแผ่น ที่นำมาโชว์ในงานมอบรางวัลนวัตกรรม
สังขยา ขนมหวานที่คนไทยคุ้นเคยกันดี แต่วันนี้ สังขยา ขนมหวานไทย จะไม่ใช่ของหวานธรรมดา เพราะสังขยาได้ถูกพัฒนาขึ้นมา ในระดับที่เรียกว่า “นวัตกรรม” ด้วยรูปลักษณ์ หน้าตาที่เปลี่ยนไปของสังขยาเหลว กลายมาเป็นสังขยาแผ่น ผู้คิดค้าและทีมวิจัย คาดหวังว่าจะปลุกปั้นสังขยาแผ่นขึ้นมา หวังแจ้งเกิดได้เช่นเดียวกับชีส หรือ เนยแบบแผ่น ที่นิยมกินกันทั่วโลก

สำหรับผลงานวิจัยสังขยาแผ่น ครั้งนี้ เป็นผลงานของ “รศ.ดร.กมลวรรณ แจ้งชัด” ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยใช้ชื่อว่า “คาญ่า” ซึ่งชื่อนี้ไม่ได้มีที่มาจากที่ไหน เพราะอาจารย์มองว่า เป็นคำใกล้เคียงกับคำว่า สังขยา นั่นเอง
รศ.ดร.กมลวรรณ  แจ้งชัด   คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.เกษตรศาสตร์
อาจารย์กมลวรรณ เล่าถึงที่มาของคาญ่า ว่า จุดเริ่มต้นมาจากตนเองทำงานวิจัยเกี่ยวกับอาหารที่มาจากพืชผลทางการเกษตรอยู่ และเห็นขนมหวานไทยน่าจะนำมาพัฒนาต่อยอดได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาก็พัฒนาขนมไทยหลายตัว ไม่ว่าจะเป็นขนมครก ขนมเบื้อง ครั้งนี้ที่เลือกสังขยา เพราะเห็นว่าเป็นหนึ่งในขนมไทย ซึ่งเมื่อนำมาพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ น่าจะมีโอกาสทางการตลาดได้มากกว่าขนมไทยชนิดอื่นๆ เพราะรับประทานได้ง่ายคู่กับขนมปัง เป็นอาหารที่กินกันทั่วโลก

สำหรับคาญ่า เป็นนวัตกรรมจากข้าว ที่ได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัยคล้ายกับแผ่นชีส บรรจุอยู่ในพลาสติกอลิเอธิลีน ที่เคลือบสารเฉพาะ สามารถฉีกออกจากกันได้ง่าย ทำให้สะดวกในการรับประทาน และเก็บรักษา โดยมีส่วนสำคัญประกอบด้วยแป้งข้าวกล้องงอกร่วมกับไฮโดรคอลลอยด์ ทำหน้าที่ก่อให้เกิดโครงสร้างที่สามารถขึ้นรูปเป็นแผ่นบาง ได้ ทั้งยังคงให้เนื้อสัมผัสที่นุ่ม และเรียบเนียนคล้ายกับสังขยาในรูปแบบปกติ ให้กลิ่นและสีจากใบเตย และแครอท
สังขยาแผ่นกับขนมปัง
จุดเด่นของคาญ่า อีกอย่างหนึ่ง คือ ไม่มีสารกลูเตน (Gluten -free product) ซึ่งที่ผ่านมา มีการรายงานจากองค์กรด้านสาธารณสุขในหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในแถบยุโรป ออสเตรเลีย หรือ สหรัฐอเมริกา พบผู้บริโภคแพ้สารกลูเตนที่อยู่ในแป้งสาลี และจากผลงานวิจัยพบว่า ในแป้งข้าวกล้องงอกไม่มีสารดังกล่าว และข้อดีของแป้งข้าวกล้องงอก คือ มีสารอาหารที่มีประโยชน์ที่ร่างกายต้องการอย่าง กาบา หรือ กรดแกมมาอะมิโนบิทีริค และมีสารเบต้าแคโรทีนจากส่วนผสมของแครอท และใบเตย

สำหรับคาญ่า หรือสังขยาแผ่นจากแป้งข้าวกล้องงอก ได้จดอนุสิทธิบัตรทั้งในส่วนของสูตรและกระบวนการผลิต และทางมหาวิทยาลัยในฐานะเจ้าของผลงานวิจัย อยู่ในระหว่างการพิจารณาขายอนุสิทธิบัตรในส่วนของสูตร และขั้นตอนการผลิต ให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารที่สนใจ

ทั้งนี้ ในส่วนของการเลือกผู้ประกอบการเพื่อรับการถ่ายทอดการผลิตสังขยาแผ่นในครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัย ได้คัดเลือกจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารที่มีความต้องการ และมีสายพานการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารประเภทนี้อยู่แล้ว เพื่อจะได้ไม่ต้องไปลงทุนในเรื่องเครื่องจักรใหม่ เพราะสามารถขึ้นรูปโดยใช้เครื่องจักรเดิมได้ และที่สำคัญ มีศักยภาพเพียงพอที่สามารถทำตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศได้ และเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้กับชาวนาในการขายข้าวกล้องงอกได้มากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนการผลิต ทางมหาวิทยาลัยอยู่ในระหว่างการพัฒนาการยืดอายุการเก็บรักษาให้นานขึ้น เพื่อสะดวกแก่การทำตลาด จากเดิมเก็บรักษาในตู้เย็นได้นาน 1 เดือน แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการคิดค้นเพื่อให้สามารถยืดอายุให้เก็บได้นาน 3-6 เดือน เพราะการขายต่างประเทศการเก็บรักษามีส่วนสำคัญ

"จากข้าวกล้องมาเป็นผลิตภัณฑ์สังขยาแผ่น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่า 10 เท่า ต้นทุนวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์อยู่ที่ 18 บาทต่อ 200 กรัม แต่สามารถขายปลีกได้ในราคา 25- 40 บาท สังขยาแผ่นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกับเนยและชีส ซึ่งในปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีมูลค่าตลาดประมาณ 1.5 พันล้านบาท อีกทั้งมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี

โทร. 02-562-5000
กำลังโหลดความคิดเห็น