xs
xsm
sm
md
lg

พิรุธขายข้าวจีทูจี-"ปู"ดิ้นหาตลาดเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-จับพิรุธขายข้าวจีทูจีสุดมั่ว! “ปู”ดิ้นส่ง”โอฬาร”หาตลาดข้าวเพิ่ม อ้างเคลียร์ “โกร่ง” ไร้ปัญหา “นิด้า” ยื่นเอกสารค้านรับจำนำข้าวต่อศาลรัฐธรรมนูญครบถ้วนแล้ววานนี้ ( 4 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า กรมการค้าต่างประเทศได้ทำหนังสือถึงองค์การคลังสินค้า (อคส.) ตั้งแต่เดือนมิ.ย.2555 ให้ออกใบส่งสินค้าจ่ายข้าวให้กับผู้ซื้อข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่มารับมอบหน้าคลังสินค้าของอคส.จำนวน 4-5 ราย คาดว่าจะมีปริมาณเกือบล้านตัน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขส่งออกข้าวจีทูจีไปต่างประเทศเลย ทั้งๆที่ได้รับมอบข้าวในสต๊อกไปแล้วเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสำนักงานมาตรฐานสินค้านำเข้าส่งออก กรมการค้าต่างประเทศ ที่ระบุว่า การส่งออกข้าวช่วง 8 เดือนของปี 2555 (ม.ค.-ส.ค.) ของไทยอยู่ที่ 4,470,000 ล้านตัน ลดลง 43.53% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ไม่มีตัวเลขการส่งออกข้าวของรัฐบาลแม้แต่เมล็ดเดียว เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ยังมีการส่งออกข้าวจีทูจี267,000 ตัน

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าตัวเลขการส่งออกข้าวจีทูจีที่ได้เบิกออกไปนั้น หายไปไหน เพราะเบิกจ่ายไปตั้งแต่เดือนมิ.ย. การส่งออกจีทูจีอย่างช้าควรปรากฎอยู่ในเดือนส.ค.-ก.ย. แต่ก็ไม่มีปรากฏ ซึ่งในวงการข้าวมีการตั้งคำถามกันว่า ข้าวที่ถูกเบิกออกไป อาจจะถูกนำไปขายให้กับพ่อค้าในประเทศ หรือวนกลับเข้ามาสู่โครงการจำนำ เพราะราคาขายข้าวจีทูจี สามารถขายในราคาที่ถูกกว่าปกติโดยอ้างความสัมพันธ์ทางการเมือง แล้วผู้ส่งออกที่ได้ข้าวจีทูจีไป ก็จ่ายเงินซื้อในราคาที่ถูก แล้วนำข้าวไปขายต่อ หรือวนกลับเข้าโครงการจำนำ ก็จะได้กำไรมาก

ก่อนหน้านี้ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ทำสัญญาซื้อขายข้าวจีทูจีกับรัฐบาลประเทศอื่นๆ มาถึง 7 ล้านตัน เช่น จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บังกลาเทศ โกตดิวัวร์ เป็นต้น และคาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้ จะมีส่งออกได้ประมาณ 1.5-2 ล้านตัน ที่เหลือจะทยอยส่งมอบ และคาดว่า จนถึงสิ้นปีนี้จะสามารถคืนเงินจากการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษต (ธ.ก.ส.) ได้ประมาณ 85,000 ล้านบาท และจะทยอยคืนจนถึงสิ้นปี 56 รวม 260,000 ล้านบาท

**ส่ง”โอฬาร”หาตลาดข้าวเพิ่ม

นายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) กล่าวว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ ได้มีบัญชาให้ทีทีอาร์ทำงานร่วมกับผู้ส่งออกข้าวอย่างใกล้ชิด เพื่อเปิดตลาดค้าขายข้าวใหม่ กับประเทศที่มีรายได้ดี และมีความต้องการที่จะซื้อข้าวคุณภาพดีกับไทย พร้อมพัฒนาสัมพันธภาพในระยะยาว โดยเน้นที่คุณภาพ และมูลค่าการส่งออกเป็นหลัก เพราะปัจจุบัน ผู้ส่งออกไทยมักจะมีสัมพันธภาพทางการค้ากับคู่ค้าในประเทศที่มีรายได้น้อยและประชากรมาก จึงต้องการข้าวในราคาที่ถูกที่สุด แต่ข้าวไทยเป็นข้าวคุณภาพดี เช่น ข้าวขาว 5% ของไทยมีคุณภาพที่ดีกว่าข้าว 5% ของเวียดนาม จึงไม่ควรขายในราคาเดียวกัน เพราะไม่ใช่ตลาดเดียวกัน ประกอบกับสถานการณ์ตลาดโลกปัจจุบัน ผู้ส่งออกควรสนใจประเทศที่มีศักยภาพในการซื้อสูง มีความต้องการสินค้าคุณภาพอย่างข้าวหอมมะลิไทย เช่น จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น ประเทศในแถบตะวันออกกลาง และประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงราคารับจำนำข้าวที่รัฐบาลกำหนดราคาสูงเกินไปนั้น การที่รัฐบาลต้องตั้งราคารับจำนำข้าวสูง เพราะต้องการทำให้โรงสีและพ่อค้าเอกชน ต้องตั้งราคาซื้อขาดจากเกษตรกรสูงกว่า หรือใกล้เคียงกับราคารับจำนำ เพราะข้าวของไทย โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิเป็นข้าวที่มีคุณภาพสูง เป็นที่นิยมของคนเอเชียในหลายประเทศทั่วโลกจึงต้องตั้งราคาเพื่อดึงราคาในตลาดให้สูงขึ้น และทำให้เกษตรกรสามารถขายข้าวได้ราคาที่ควรจะได้ อีกทั้งพ่อค้า และโรงสีที่เข้าใจว่าตัวเองสามารถขายของดีมีคุณภาพ ทั้งในประเทศและส่งออก ก็ยินดีที่จะรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิในราคาที่เหมาะสม

**นิด้า ยื่นเอกสารค้านเพิ่มแล้ว

อีกด้านนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา นายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ( นิด้า ) ผู้ร้องที่ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยับยั้งหรือยุติโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 และ 81 (1) หรือไม่ ได้มายื่นเอกสารประกอบคำร้องเพิ่มเติมแล้ว หลังจากที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้แจ้งกลับไปว่าเอกสารยังไม่ครบถ้วนตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย

โดยนายอดิศร์ ได้มายื่นสำเนาเอกสารจำนวน 9 ชุด รวมทั้งยังมีบทความที่เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวของนายเมธี ครองแก้ว อดีต กรรมการป.ป.ช. และบทวิจัยเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวซึ่งเอกสารที่ส่งมาเพิ่มเติมด้วย อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการประชุมในวันพุธที่ (10 ต.ค. )ทันหรือไม่

ด้านนายอดิศร์ กล่าวว่า เอกสารที่ตนไปยื่นไว้นั้น โฆษกศาลรัฐธรรมนูญให้ข้อมูลว่า เอกสารไม่ผิดพลาด เพียงเเค่ไม่ได้ทำสำเนา 9 ชุด ส่งให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตนจึงส่งสำเนากลับไปเเล้ว โดยการดำเนินการครั้งนี้ยื่นเรื่องนี้ไปศาลในช่องทางภาวะไม่ปกติ โดยตนบอกกับศาลว่า ยื่นเรื่องนี้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 เพราะไม่รู้ว่าจะยื่นในช่องทางใดเเล้ว จึงต้องมายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากไปยื่นเรื่องนี้ตามช่องทางปกติ เช่น ยื่นต่อผู้ตรวจการเเผ่นดิน ตามคำเเนะนำของนายบรรเจิด สิงคเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ นิด้า ซึ่งเคยเเนะนำพวกตนว่า ควรยื่นผ่านผู้ตรวจการเเผ่นดิน เพราะจะยื่นเรื่องนี้โดยตรงกับศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้นั้น ขอเรียนว่าขอบคุณนายบรรเจิด กรณีนี้ตนทำงานในช่วงนั้น 7-10 วัน เพราะอยากให้งานเสร็จในเดือน ก.ย. เพราะตนคุยกันในคณะเเล้วพบว่ารัฐบาลทำผิดรัฐธรรมนูญจึงมีจดหมายเวียนภายในคณะเพื่อไปเเสดงต่อศาลโดยมี 146 ลายเซ็นต์ ตรงนี้จึงจะเลี้ยวไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการเเผ่นดินไม่ได้ เเม้การยื่นเรื่องในครั้งนี้จะผิดหรือถูก เเต่เจตนาของพวกตนนั้นถูกต้อง นายบรรเจิดเเนะนำว่าควรไปยื่นเรื่องกับผู้ตรวจเเผ่นดินด้วย จึงขอเรียนว่าไว้โอกาสหน้าเพราะครั้งนี้มีลายเซ็นมาเเค่ศาล

ฉะนั้นต่อไปนี้ตนจะเชิญหลายภาคส่วนมาหารือว่าควรไปในทิศทางเเละใครควรนำทีมเเบบวงใหญ่ ยอมรับว่าการดำเนินการครั้งนี้เป็นการเเสดงจุดยืนว่า รัฐบาลจะทำอะไรตามใจที่ผิดไม่ได้เพราะมีรัฐธรรมนูญคุ้มครอง ศาลน่าจะพิจารณาว่าควรสั่งให้รัฐบาลยุติโครงการได้หรือไม่ เพราะโครงการรับจำนำข้าวนั้นรัฐบาลผูกขาดการรับจำนำข้าว เพราะตั้งราคาสูงกว่าราคารับจำนำที่เเท้จริง รัฐบาลไม่ได้ทำตรงกับสิ่งที่ประกาศไว้ในช่วงหาเสียง เพราะบิดพลิ้วให้เเตกต่างการรับจำนำ ข้าวในสต็อกนับล้านๆตัน มันเป็นระบบจำนำเช่นใด เพราะจนถึงวันนี้ไม่มีใครมาไถ่จำนำ

เมื่อถามว่า หากเป็นเเบบนี้สมมติว่า พรรคต่างๆไปหาเสียงเเละเสนอชุดความคิดการรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าตลาด หากประชาชนเลือกพรรคนั้นมาเป็นรัฐบาลเเละนำมาเป็นนโยบายรัฐบาล หากมีบางกลุ่มไปยื่นเรื่องชุดความคิดเเละนโยบายรัฐบาลกับศาลเเละศาลวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ ตรงนี้จะเกิดปัญหาหรือไม่ เพราะ วันนี้นิด้ากับชาวนาเกิดความขัดเเย้งกันเเล้ว นายอดิศร์กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลนี้ เเต่ความจริงเเล้วรัฐบาลประกาศรับจำนำเเต่ทำผิดโดยบิดพลิ้วไปเพิ่มราคา ตรงนี้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ตนออกมาครั้งนี้เพื่อช่วยชาวนา เพราะการรับจำนำเเบบการรับซื้อข้าวเช่นนี้ มันลดคุณภาพข้าวเเละเพิ่มต้นทุน วันนี้รัฐบาลโปรยเงินเเจกเเต่ในอนาคตมันคือการทำลายข้าวทั้งระบบ

**ปปช. แนะ รบ.อุดช่องทุจริต

วันเดียวกันนายวิชา มหาคุณ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ปปช.ได้เคยเสนอข้อตักเตือนไปว่าโครงการดังกล่าวจะเปิดช่องให้มีการทุจริตได้ง่าย ขอให้มีการทบทวน แต่เมื่อรัฐบาลยืนยันจะดำเนินการต่อก็ถือเป็นสิทธิของรัฐบาล ปปช.คงไม่มีอำนาจก้าวล่วงอะไร อย่างไรก็ตามเมื่อมีการดำเนินโครงการจำนำข้าวต่อไป และมีผู้ตักเตือน รวมถึงกรณีเครือข่ายต่อต้านการคอร์รัปชั่นภาคเอกชน ที่มีนายประมนต์ สุธีวงศ์ เป็นประธาน ต่างเห็นร่วมกันว่านโยบายสุ่มเสี่ยงให้มีการเปิดช่องทุจริต

ดังนั้น ปปช.ในฐานะหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต จึงต้องหาข้อมูลอีกครั้ง โดยจะให้ “ศูนย์วิจัยเพื่อต่อต้านการทุจริต ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ของ ปปช. ที่มีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ไปศึกษา และหาข้อสรุป ก่อนจะส่งจดหมายเตือนไปถึงรัฐบาลเป็นครั้งที่ 2 ว่าโครงการการรับจำนำข้าวนั้น ได้เกิดปัญหาการทุจริตในขั้นตอนใดบ้าง

ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อ ปปช. แจ้งเตือนแต่รัฐบาลยังยืนยันเดินหน้า จะเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า ต้องดูในภาพที่ชัดขึ้น เจาะเป็นประเด็นว่าจุดใดบ้างที่มีรอยรั่ว มีช่องทุจริตเกิดขึ้น เมื่อมีกรณีเช่นนี้แล้ว มีการเตือนแล้ว แต่รัฐบาลไม่มีการดำเนินการอะไรอีก อาทิ ในขั้นตอนการตรวจรับข้าวรัฐบาลมีการสั่งการอะไรบ้าง หากยังไม่มีการปฏิบัติใดๆเลย เช่นนี้ถึงจะนำมาพิจารณาได้ แต่แค่คำตักเตือนในภาพรวมอย่างที่ดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ คงยังไม่สามารถทำอะไรได้ ทั้งนี้คงต้องศึกษาให้ชัดเจน ก่อนที่จะมีหนังสือไปถึงให้มีการทบทวน

“ที่เราเคยบอกไปคือการจำนำ ขอให้มีการจำนำให้โปร่งใสจริงๆ เรื่องนี้เคยมีคนมายื่นนานแล้ว แต่ขณะนั้นยังไม่มีการทุจริต มีเพียงการศึกษาว่าอย่างที่รัฐบาลทำนั้นจะมีช่องโหว่อะไรบ้าง ทั้งนี้ไมได้หมายความว่าไม่ได้แย่ทั้งหมด แต่เราคงไม่มีอำนาจยับยั้งอะไร”นายวิชากล่าวและว่า ส่วนการดำเนินคดีนั้น หากมีการทุจริตกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คงจะส่งเรื่องมา และรัฐบาลหวังว่ารัฐบาลคงรับฟังกับปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะข้อเสนอของนายวีรพงษ์ รามางกูรประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นคนในฝ่ายรัฐบาลเอง

**ปูอ้างเคลียร์ โกร่งแล้ว

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีหลายฝ่ายออกจากวิจารณ์เรื่องโครงการรับจำนำข้างของรัฐบาลมาก โดยเฉพาะที่มองโครงการนี้รัฐบาลเจ๊งว่า เรื่องตัวเลขต้องรอให้ปิดรอบการขายก่อน จึงจะตอบได้ ส่วนกรณีของ นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุหากรัฐบาลไม่ล้มเลิกโครงการรับจำนำข้าวอาจทำให้รัฐบาลพังนั้น เรื่องนี้ได้คุยกันแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งเกิดจากการที่นายวีราพงษ์ ไปฟังข้อมูลจากทางหนึ่ง ที่ข้อมูลอาจไม่ตรงกัน และทำให้เกิดการเข้าใจผิด

ซึ่งวันนี้ (4 ต.ค.)ได้ให้นายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย ออกมาชี้แจงแล้ว ในฐานะที่เป็นผู้จัดทำโครงการดังกล่าว พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรี ระบุด้วยว่าอยากให้ไปถามเกษตรกรว่าโครงการดังกล่าวมีประโยชน์หรือไม่ สำหรับการที่เวียดนามออกมาขอบคุณรัฐบาลไทยที่ทำให้ข้าวเวียดนามส่งออกเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งเกิดจากผลพวงโครงการรับจำนำข้าวในราคาสูงของรัฐบาลไทยนั้น ตรงนี้มองว่าเป็นเรื่องที่ดีของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมากกว่า ซึ่งต้องมองภาพรวมทั้งหมด อย่าไปจับตรงนั้นตรงนี้มาต่อกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น