“ยรรยง-มนัส” ชี้แจงโครงการรับจำนำข้าว อ้างรัฐบาลยอมเก็บข้าวหวังสร้างอำนาจต่อรอง พยายามชูว่าข้าวไทยดีกว่าเวียดนาม โวตลาดโลกพร้อมเสียเงินซื้อ “อภิรักษ์” ห่วงกระตุ้นชาวนาผลิตข้าวหวั่นไม่ได้คุณภาพ ขายไม่ได้ราคา ตอบกลับรับจำนำตามสภาพ โรงสีไทยมีคุณภาพที่สุดในโลก ส่วน “หมอวรงค์” ถามมีการร้องเรียนแอบระบายข้าวตามใบสั่งกรมการค้า ตปท. “มนัส” ตอบการสั่งจ่ายข้าวมีแค่ อคส.-อคต.เท่านั้น ส่วน “ยรรยง” ไม่ตอบ
วันนี้ (5 ก.ย.) มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชนินทร์ รุ่งแสง ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน ได้เชิญนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ มาชี้แจงถึงนโยบายการรับจำนำข้าว โดยประเด็นที่ กมธ.ซักถามส่วนใหญ่คือข้อมูลการระบายข้าวในสต๊อกและโกดังของรัฐบาล และการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินนโยบาย
นายยรรยงกล่าวว่า ความมุ่งหวังของการจำนำข้าวคือทำการตลาดเพื่อให้ราคาข้าวเพิ่มขึ้น แต่ข้อเท็จจริงต้องยอมรับตลาดข้าวที่ผ่านมา 20-30 ปีที่เราอ้างว่าเป็นแชมป์การส่งออกนั้นมันอยู่ในมือเอกชน และที่ประหลาดมากคือข้าวเป็นสินค้าชนิดเดียวที่เวลาเรารายงานการออกส่งออกจะระบุเป็นเชิงปริมาณแทนที่เราจะรายงานส่งออกได้ราคาดีหรือไม่ ซึ่งเชื่อมโยงกับรายได้ของชาวนา ในช่วงการจำนำทุกเมล็ดเพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงกลไกตลาด โดยถ้าเรายกราคาขึ้นมาได้แม้จะไม่ไปชนราคาจำนำของรัฐบาล แต่ยังไงราคาข้าวก็ยังขึ้นพอสมควร คิดว่าครั้งนี้ที่รัฐบาลยอมเอาข้าวมาไว้ในมือของตัวเองก็เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง เพราะตอนนี้ตลาดโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก จากเดิมเป็นลักษณะตลาดแยกออกจากกัน แต่พอเข้าสู่โลกาภิวัฒน์ปรากฏว่าผู้ซื้อจะเป็นลักษณะรายใหญ่ระดับประเทศ เช่น อินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์ โดยดำเนินการผ่านรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่เฉพาะสำหรับการจัดซื้อข้าวตะวันออกกลาง เป็นต้น
ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลไม่ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพเองผู้ส่งออกข้าวจะไม่มีอำนาจต่อรองกับผู้ซื้อซึ่งจะกดราคารับซื้อข้าวของไทย ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์พยายามขายข้าวในรูปแบบที่เป็นการยืนยันว่าคุณภาพข้าวของไทยดีกว่าประเทศเวียดนามทั้งในเชิงกายภาพและโภชนาการ ทำให้ข้าวราคาขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างน้อยระหว่าง 50-100 เหรียญสหรัฐต่อตัน เรื่องตลาดข้าวไม่อยากให้ทุกฝ่ายเป็นห่วง เนื่องจากการขายข้าวแตกต่างจากการขายสินค้าอุตสาหกรรมอย่างมาก โดยประเทศที่เป็นแชมป์ส่งออกข้าวขณะนี้เป็นการขายตามความสามารถการผลิตของประเทศ ประเทศที่ขายทุกประเทศส่งส่วนเกินของข้าวออกขาย ซึ่งประเทศไทยสามารถผลิตข้าวได้มากที่สุดในโลกถ้าเทียบกับการบริโภคในประเทศเกินกว่าครึ่งหนึ่ง เราจึงเป็นแชมป์ส่งออกข้าวได้ แม้ในประเทศอื่นๆ จะผลิตข้าวได้มากกว่าไทยก็จริงแต่ต้องสำรองข้าวส่วนหนึ่งเพื่อไว้ใช้ในการบริโภคภายในประเทศด้วยเพราะมีประชากรในประเทศจำนวนมาก เช่น อินเดีย ซึ่งต้องสำรองข้าวในประเทศถึง 20 ล้านต้น เป็นต้น ตลาดผู้บริโภคข้าวกำลังเพิ่มขึ้นทุกปีประมาณ 3.7 พันล้านคนทั่วโลก จึงเป็นโอกาสของไทยในการส่งออก
“ดังนั้น การที่รัฐบาลรับข้าวมาในมือขึ้นอยู่กับความอึดของรัฐบาลว่าจะแบกรับได้เท่าไหร่ แต่ถ้ารัฐบาลยอมอึดสักหน่อยอย่าปล่อยให้ชาวนาจนรับราคาข้าวแค่ตันละ 7-8 พันบาทต่อไปคงไม่ยุติธรรมกับชาวนา หากรัฐบาลยอมอุ้มเอาไว้ในปลายปีนี้ผมเชื่อมั่นว่าถ้าเราระบายข้าวออกได้ 3-4 ล้านตันแม้จะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา แต่ตลาดโลกพร้อมจะยอมเสียเงินซื้อข้าวไทยในราคาที่สูงกว่าประเทศอื่นในฐานะที่ข้าวเป็นอาหารพื้นฐานและมีคุณภาพสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ส่วนเรื่องปริมาณค่อยกลับมาพิจารณากันในภายหลัง” นายยรรยงกล่าว
ด้านนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ กมธ.ที่ปรึกษา ถามว่า การประกาศรับจำนำข้าวในราคาสูงของรัฐบาลอาจมีผลในเชิงจิตวิทยากระตุ้นให้ชาวนาเร่งเพิ่มผลิตข้าวจนคุณภาพของข้าวลดลงถ้าเทียบกับอินเดีย หรือ เวียดนาม ซึ่งจะทำให้ขายไม่ได้ราคา กระทรวงพาณิชย์มีแนวทางแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร นายยรรยงกล่าวว่า เรื่องคุณภาพข้าวไทยยืนยันว่าไม่มีปัญหา เพราะกลไกของการรับจำนำข้าวเป็นการเน้นเชิงคุณภาพอยู่แล้วในตัวเอง กล่าวคือ ข้าว 100% รัฐบาลก็รับจำนำในราคา 1.5 หมื่นบาท จากนั้นก็ลดหลั่นลงมาตามคุณภาพของข้าว ถ้าข้าวคุณภาพสูงย่อมต้องได้ราคาสูง คุณภาพต่ำก็ได้ราคาต่ำ และกระทรวงพาณิชย์ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบตลอดเวลา
“กระบวนการผลิตข้าวตั้งแต่ชาวนามาจนถึงโรงสีของไทยมีคุณภาพมากที่สุดในโลก เพราะในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านได้นำเข้าเทคโนโลยีของไทยในการเก็บรักษาข้าวให้มีคุณภาพเพื่อให้สามารถขายได้ในราคาสูง” นายยรรยงกล่าว
ด้านนายมนัสกล่าวว่า โกดังเก็บผลผลิตทางเกษตรของไทยไม่มีปัญหาเพราะโกดังและไซโลจำนวนมากที่พร้อมจะเข้าร่วมโครงการกับรัฐบาล ทำให้มั่นใจว่าแม้รัฐบาลจะเก็บข้าวไว้อีก 1 ปีก็มีโกดังเพียงพอในการเก็บรักษาผลผลิตให้มีคุณภาพต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลยังสามารถระบายข้าวได้อยู่ทำให้ยังมีพื้นที่ว่างของโกดังพอสำหรับหมุนเวียนเก็บรักษาผลผลิตได้ เพียงแต่ว่าปริมาณโกดังในขณะนี้อยู่ในพื้นที่ใกล้กับแหล่งผลิตยังมีน้อยเกินไป เนื่องจากโกดังยังคงกระจุกตัวตามพื้นที่ลุ่มน้ำและท่าเรือ
“การรั่วไหลการทุจริตมีแน่แต่มันเป็นส่วนน้อยเราก็พยายามป้องกันอยู่ อันนี้คือเรื่องจริง โครงการเป็นแสนล้านแค่ซื้อสมุดดินสออย่างเดียวก็เป็นปัญหาแล้ว อันนั้นต้องยอมรับ เพียงแต่มันเป็นส่วนน้อย แต่ต้องป้องกันส่วนใหญ่ไว้ ซึ่งเรามีคณะกรรมการคอยติดตามตรวจสอบอยู่แล้ว” นายมนัสกล่าว
ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ที่ปรึกษา กมธ. กล่าวว่า มีการร้องเรียนแอบระบายข้าวโดยใช้ใบสั่งออกจากกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) และตนได้ลงพื้นที่โกดัง จ.นครสวรรค์ ท่านทราบเรื่องนี้หรือไม่ เพราะมีผู้อ้างว่ามีหนังสือมา เราลงพื้นที่เจอเจ้าหน้าที่ว่า ตนดูว่าข้าวหายไปจริง เห็นว่าข้าวหายไปพอสมควรจากโกดังข้าว โกดังมีช่องว่าง ทั้งนี้ เราไปในจุดที่ไม่ได้เตรียมการให้คณะดู ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ให้ความร่วมมือ ข้าวหายเหมือนการรื้อ มีใบสั่งให้เอาข้าวให้โรงเป็นหมื่นกระสอบ และข้าวเหมือนจะขึ้นเหนือ ธรรมดาจะต้องนำไปปรับปรุงหรือลงใต้ ดูแล้วเหมือนไม่ค่อยปกติ
นายมนัสกล่าวว่า ถ้าในนาม คต.จะมีหนังสือไปยังองค์การคลังสินค้า หรือ อคส. และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร หรือ อ.ต.ก. เป็น 2 หน่วยงานเท่านั้น และท่านเข้าไปในโกดัง ซึ่งตามช่อง โกดังทั่วไปจะมีช่องว่าง และมีชนิดข้าวจะแบ่งลักษณะการจัดเก็บ บางครั้งจะไม่เต็มจะมีช่องว่าง บางครั้งอาจหายไปครึ่ง นี่เป็นระบบการจัดเก็บ และการเบิกของมีตลอดเวลา การแอบขายเป็นไปไม่ได้ การเข้าไปดูก็ต้องมีข้อมูล คต.จะไม่เป็นคนสั่งให้จ่ายข้าว ไม่มีหน้าที่ ต้อง อ.ต.ก. อคส. และการขนข้าวบอกว่าเหนือ ใต้ไม่ได้ ข้าวถ้าส่งออกจะต้องถูกนำไปปรับปรุง ที่ปรับปรุงอยู่ไหนเราไม่ทราบ จ.พิษณุโลก จ.พิจิตรก็ได้ ถ้าเป็นชื่อ คต.คือการส่งออก
สำหรับการประชุมในภาพรวมถือว่าเป็นไปอย่างดุเดือด เมื่อนายยรรยงได้แสดงความจำนงว่าจะไม่ตอบชี้แจงในประเด็นซักถามของ นพ.วรงค์ เพราะเห็นว่า นพ.วรงค์ไม่ได้ดำรงตำแหน่ง กมธ. โดยเป็นเพียงที่ปรึกษาของคณะ กมธ.เท่านั้น หากตอบคำถามของ นพ.วรงค์ไปอาจเข้าข่ายดำเนินการขัดกับรัฐธรรมนูญได้ ทำให้นายชนินทร์ต้องแก้ปัญหาด้วยการยืนยันว่า นพ.วรงค์มีอำนาจในการสอบถามในฐานะที่เป็นบุคคลที่ประธาน กมธ.แต่งตั้งขึ้น ถ้ามีปัญหาในอนาคตจะรับผิดชอบเอง