ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หนึ่งในโครงการประชานิยมที่ต้องจดต้องจำกันไปยันลูก ยันหลาน อีกโครงการหนึ่งของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ใช้เงินมหาศาล และมีแววขาดทุนมหาศาล ก็คือ โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด ที่ขณะนี้ได้เปิดรับจำนำไปแล้ว 2 ฤดูกาล คือ ข้าวนาปี ปีการผลิต 2554/55 และข้าวนาปรัง 2555
การรับจำนำข้าวนาปี 2554/55 ที่เริ่มโครงการตั้งแต่ 7 ต.ค.2554/28 ก.พ.2555 มีข้าวเปลือกเข้าโครงการเพียง 6.95 ล้านตัน จากคาดการณ์ผลผลิต 22 ล้านตัน เพราะช่วงปลายปีมีปัญหาน้ำท่วมใหญ่ ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวเสียหาย เลยได้ข้าวเข้าโครงการน้อย แต่เมื่อหมดโครงการนาปี ก็เปิดรับจำนำโครงการนาปรัง 2555 ทันที เริ่ม 1 มี.ค.2555 จนถึงปัจจุบันยันไม่จบโครงการ มีข้าวเปลือกทะลักเข้าสู่โครงการแล้วถึง 9.9 ล้านตัน จากปริมาณผลผลิตที่คาดว่าจะมีเพียง 11-12 ล้านตันเท่านั้น
จากจำนวนข้าวเปลือกที่เข้าโครงการทั้ง 2 ฤดูกาลดังกล่าว รวมแล้วมีประมาณ 17 ล้านตันข้าวเปลือก ถ้าสีเป็นข้าวสารก็จะได้ประมาณ 8-9 ล้านตันข้าวสาร
ในจำนวนนี้ ข้าวเปลือกนาปี ที่รับจำนำมา 6.95 ล้านตัน ถ้าคิดจากราคารับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 2 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 1.5 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเหนียวตันละ 1.6 หมื่นบาท ข้าวเปลือกหอมจังหวัดตันละ 1.8 หมื่นบาท ข้าวเปลือกปทุมธานีตันละ 1.6 หมื่นบาท รัฐบาลต้องใช้เงินในการรับจำนำไปแล้วประมาณ 1 แสนล้านบาท เพราะข้าวส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิ 3.08 ล้านตัน ข้าวเปลือกเจ้า 3.06 ล้านตัน ที่เหลือเป็นข้าวชนิดอื่นๆ
ส่วนนาปรัง รับจำนำมา 9.9 ล้านตัน รับจำนำในราคาเดียวกันกับข้าวนาปี รัฐบาลต้องใช้เงินในการรับจำนำอีกประมาณ 2.5 แสนล้านบาท โดยข้าวส่วนใหญ่เป็นข้าวเปลือกเจ้าประมาณ 9.47 ล้านตัน ที่เหลือเป็นข้าวชนิดอื่นๆ
รวม 2 โครงการ รัฐบาลต้องใช้เงินไปแล้ว 2.5 แสนล้านบาท สำหรับการรับจำนำข้าวแค่ 2 ฤดูกาล
ทั้งหมดนั้นเป็นเงินที่รัฐบาลได้จ่ายไปแล้ว แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกจำนวนมากที่รัฐบาลต้องจ่าย กล่าวคือ ค่าบริหารจัดการสต๊อกข้าว โดยการเก็บรักษาข้าวทุกๆ 1 ตัน จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 36 บาท/เดือน แบ่งเป็น ค่าเช่ากระสอบ 2 บาท/เดือน หรือตันละ 20 บาท/เดือน (จ่ายครั้งเดียว) ค่ารมยา 12 บาท/ตัน/จ่ายทุก 2 เดือน ค่าเบี้ยประกัน 4 บาท/ตัน และยังต้องเสียค่าแรงกรรมกรอีก 30 บาท/ตัน ทุกครั้งที่มีการขนข้าว ค่าตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) 16 บาท/ตัน จ่ายครั้วเดียว
เฉลี่ยแล้วรัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายดูแลสต๊อกข้าว 288-300 ล้านบาท/เดือน โดยการเปิดรับจำนำข้าวทั้ง 2 โครงการตั้งแต่เดือนต.ค.ปีก่อนจนถึงส.ค.ปีนี้ เป็นระยะเวลา 10 เดือน หรือต้องเสียค่าใช้จ่ายไปแล้วประมาณ 2,800-3,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ถ้าคิดจากวงเงินที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ตั้งไว้ 2.6 แสนล้านบาทสำหรับการรับจำนำข้าว ก็จวนเจียนจะถังแตกแล้ว
หากจะถามว่า เงินจำนวนกว่า 2.5 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลใช้ในการรับจำนำข้าว เงินตกถึงมือเกษตรกรจริงหรือไม่ แล้วมีใครอีกที่จะได้ประโยชน์จากโครงการรับจำนำในครั้งนี้
ส่วนแรก เกษตรกร ได้รับประโยชน์จริง โดยเฉพาะรายที่นำข้าวไปจำนำ แต่เงินหาได้ตกถึงมือเต็มเม็ดเต็มหน่วยไม่ เพราะส่วนหนึ่งถูกโกงน้ำหนัก โกงความชื้น แต่อีกหลายๆ ราย ไม่ได้ประโยชน์ เพราะถูกใช้ชื่อไปสวมสิทธิ์ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เอาข้าวไปจำนำ
ส่วนที่สอง โรงสี ได้รับประโยชน์เต็มๆ เพราะเป็นคนกลางในการรับจำนำข้าวจากเกษตรกร ซึ่งมีหลายรายที่เอาเปรียบเกษตรกร ทั้งโกงน้ำหนัก โกงความชื้น และหนักสุดถึงขั้นเอาข้าวรัฐบาลไปขายก่อน หรือหลายรายทำสต๊อกลมเพื่อนำเอาตัวเลขไปเบิกเงินจากรัฐบาล ที่สำคัญบางราย ถึงขั้นหาประโยชน์จากการนำเอาข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ์ในโครงการรับจำนำ ซึ่งจะเห็นได้จากปริมาณข้าวที่เข้าสู่โครงการรับจำนำเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติในส่วนของข้าวนาปรัง
ส่วนที่สาม ผู้ส่งออก ดูเหมือนจะเป็นรายเดียวที่ไม่ค่อยแฮปปี้จากโครงการรับจำนำ เพราะต้องซื้อข้าวในราคาสูง และเมื่อส่งออกก็ต้องไปแข่งขันด้านราคากับเวียดนามและอินเดีย ที่ราคาข้าวถูกกว่าไทยมาก แต่ผู้ส่งออกรายที่มีโรงสีเป็นของตนเอง ก็ไม่เดือดร้อนนัก เพราะสามารถเล่นแร่แปรธาตุได้
ข้างต้น คือ ส่วนของกระบวนการโกงกินในส่วนของการรับจำนำ
แต่จากนี้ไป จะเป็นขั้นตอนการโกงกินในส่วนของสต๊อกข้าว หลังจากที่เปิดรับจำนำและมีข้าวเข้ามาอยู่ในมือรัฐบาลเป็นจำนวนมาก
นับจนถึงวันนี้ คาดว่าจะมีข้าวสารอยู่ในมือรัฐบาลไม่ต่ำกว่า 10 ล้านตัน เป็นข้าวค้างมาจากรัฐบาลก่อนส่วนหนึ่ง และข้าวที่รับจำนำใหม่อีกส่วนหนึ่ง
ข้าวที่มีอยู่เป็นแรงกดดันให้รัฐบาลต้องรีบระบาย เพราะหากไม่รีบระบาย ก็จะไม่มีเงินเพียงพอที่จะนำมาใช้ในการรับจำนำข้าวนาปี ปีการผลิต 2555/56 ที่จะเริ่มในไม่ช้านี้ เพระวงเงินเดิมเหลืออีกไม่มาก
แต่ในช่วงที่ยังไม่มีการเปิดระบายข้าวในสต๊อก กลับปรากฏข่าวว่า มีการแอบขายข้าวแบบลับๆ ให้กับเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งในอดีตเคยเหมาซื้อข้าวรัฐเป็นล้านตัน และมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลในอดีตและรัฐบาลในปัจจุบัน โดยเอกชนรายนี้ ได้นำข้าวที่มีอยู่ไปเร่ขายให้กับผู้ส่งออกรายอื่นที่ต้องการข้าว ซึ่งคนในวงการค้าข้าวรับรู้กันหมด แต่เมื่อถามไปยังกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กลับปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็นอะไรทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ยังมีการประเคนออเดอร์ข้าวรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) ที่กรมการค้าต่างประเทศออกไปขายให้กับประเทศต่างๆ ให้กับเอกชนเดียวกับที่มีข่าวว่าซื้อข้าวรัฐบาลไปเป็นล้านตัน โดยที่ผ่านมา มีใบเสร็จยืนยันชัดเจนว่า กรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้รับมอบข้าวจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) ส่วนข้าวที่รับมอบก็ถูกส่งต่อให้เอกชนรายดังกล่าว นำไปปรับปรุงคุณภาพ และส่งออกให้กับประเทศที่ซื้อจีทูจี
หากดูผิวเผิน ข่าวขายข้าวเป็นล้านตันให้เอกชน ก็ไม่น่าจะมีอะไรผิดปกติ แต่ที่ผิดปกติ ก็คือ ขายในราคาต่ำมาก แล้วเอกชนที่ซื้อข้าวไปก็เอาไปขายต่อใน ราคาสูง ฟันกำไร โดยกำไรที่ได้ต้องแบ่งให้กับนักการเมือง ซึ่งไม่บอกก็พอจะเดาได้ว่าใครเป็นใคร
ส่วนการปรับปรุงข้าวจีทูจี ถ้ามองผิวเผิน ก็ไม่เห็นจะได้ประโยชน์ตรงไหน เพราะได้แค่ค่าปรับปรุง แต่ที่เด็ดไปกว่านั้น ก็คือ การขายข้าวจีทูจี เป็นการขายข้าวในราคาต่ำ โดยอ้างว่าเป็นราคามิตรภาพ แต่ส่วนต่างจะบวกเพิ่มเท่าไร ตรงนี้ ยังเป็นคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้ ส่วนคนรับปรับปรุง ก็ได้ค่าปรับปรุง ซึ่งอาจมีบวกเพิ่มให้ตามความพอใจ และบวกส่วนต่างเพื่อนำไปเป็นเงินทอนให้กับนักการเมือง
ขณะเดียวกัน ในเร็วๆ นี้ ยังต้องจับตาการเปิดประมูลข้าวในสต๊อกรัฐบาล หลังจากมีไฟเขียวให้ขายได้ โดยรัฐจะใช้วิธีการเปิดประมูลให้ซื้อแบบไม่จำกัดจำนวน ใครอยากได้ก็เสนอซื้อเข้ามา แต่เมื่อซื้อแล้ว ก็จะใช้วิธีการต่อรอง ส่วนใครอยากจะซื้อแบบเหมายกเข่ง ก็เปิดโอกาสให้
ดูๆ ไปก็เหมือนกับเป็นวิธีการที่โปร่งใส แต่ใครจะไปรู้ว่า ทุกๆ อย่างได้ถูกเตรียมการมาแล้วเป็นอย่างดี ตั้งแต่มีข่าวรัฐเตรียมเปิดระบายข้าว หลังจากนั้นก็มีข่าวทุบราคาข้าวเป็นรายวัน เพื่อกดให้ราคาข้าวในตลาดต่ำลงมากๆ เพราะ จะได้ประมูลซื้อข้าวในสต๊อกได้ในราคาถูกๆ และแน่นอนว่า การขายข้าวในสต๊อก รัฐคงไม่มีทางที่จะทำกำไรได้ ลำพังให้เท่าทุนยังทำไม่ได้เลย
เงินจำนวน 2.5 แสนล้าน ที่ใส่ลงไปในการรับจำนำ ได้ถูกจัดสรรปันส่วนให้กับเกษตรกรแค่ส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือได้ถูกแบ่งปันให้กับโรงสี ผู้ส่งออก และที่จะขาดไม่ได้ ก็คือ นักการเมือง ในฐานะผู้กุมนโยบาย
งานนี้ หลวงจะเจ๊งเท่าไร ไม่สำคัญ มันสำคัญเพียงแค่ว่า จะเบียดบังเงินหลวงเข้ากระเป๋าได้มากน้อยแค่ไหน เพราะขุมทรัพย์หลักแสนล้าน ไม่ใช่หามาถลุงกันได้ง่ายๆ ส่วนประเทศชาติจะฉิบหายวายป่วงยังไง ช่างมัน ฉันไม่แคร์ !!!