xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ความปลิ้นปล้อนของ”เหวง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ร่างรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มนปช. สร้างความรู้สึกให้เห็นว่า สังคมยังมีความยุติธรรมให้เห็น

ที่สำคัญยังสอดคล้องกับสายตาทุกคู่ที่มองเห็นผ่านจอทีวี และในพื้นที่การชุมนุม

ถ้าหากไม่ใช่ “ตาบอดสี” รายงานของ กสม. จัดเป็นการสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมทีเดียว

ร่างรายงานผลการตรวจสอบของอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 9 ชุด จำนวน 80 หน้า เรื่อง “กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม-19 พฤษภาคม 2553” ระบุอย่างชัดเจนว่า “เป็นการชุมนุมที่มีกองกำลังติดอาวุธ”

ในร่างรายงานระบุว่า ทั้ง 9 กรณี มีหลายเหตุการณ์ที่มีความสลับซับซ้อน สังคมไม่สามารถรู้ความจริงได้ว่ากลุ่มใด หรือฝ่ายใด เป็นผู้กระทำหรือละเลยการกระทำเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน การตรวจสอบประกอบด้วยพยานบุคคล พยานเอกสาร วัตถุ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในแต่ละเหตุการณ์ ตลอดจนพยานผู้เชี่ยวชาญและทำการสังเคราะห์ โดยพอสรุปผลเพียง 6 กรณีที่สำคัญดังนี้

กรณีที่ 1 การสั่งการของรัฐบาล การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 สรุปว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ไม่ใช่การชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ ตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ 2550 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ข้อที่ 21 ในส่วนการกระทำของรัฐบาลในการรุกคืบเข้าปิดล้อมพื้นที่การชุมนุมเป็นการกระทำภายใต้กฎหมายที่ให้อำนาจไว้ และทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อผู้ชุมนุม แต่รัฐบาลต้องมีหน้าที่เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของรัฐบาลด้วย ซึ่งการปิดล้อมดังกล่าวรัฐบาลไม่สามารถวางแผนหรือบริหารจัดการควบคุมสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ชุมนุม ประชาชนผู้บริสุทธิ์ และเจ้าหน้าที่ รวมถึงทหารผู้ปฏิบัติหน้าที่ต้องได้รับความเสียหาย ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ต้องชดเชยเยียวยาให้กับบุคคลเหล่านี้

กรณีที่ 2 เหตุการณ์กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากระเบิดเอ็ม 79 บริเวณแยกศาลาแดง เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 สรุปว่า มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ระเบิดเอ็ม 79 ทั้ง 5 ลูกถูกยิงมาจากทิศทางของกลุ่มผู้ชุมนุม และความร่วมมือของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ให้การช่วยเหลือในการจุดพลุตะไล ประทัด เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง จึงถือเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และยังเป็นการกระทำถึงขั้นเป็นความผิดกฎหมายอาญาอีกด้วย ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ให้การช่วยเหลือประชาชน ปล่อยให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเอง และมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาช่วยเหลือด้วย และการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าควบคุมประชาชน โดยไม่มีการประกาศเตือน และบอกเหตุผลก่อน ไม่แยกแยะผู้ชุมนุมกับประชาชนทั่วไปเป็นการกระทำโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

กรณีที่ 3 เหตุการณ์กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความเห็นว่า ยังไม่ปรากฏหลักฐานเพียงพอที่จะระบุได้ว่า ฝ่ายใดเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 1 นาย จากอาวุธปืน ประชาชนรวมถึงเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องนำผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีอาญาต่อไป

กรณีที่ 4 เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. บริเวณโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และสภากาชาดไทย และการบุกเข้าไปตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มีความเห็นว่า การกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งในส่วนของแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย

กรณีที่ 5 เหตุการณ์กรณีการสั่งการของรัฐบาล การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม ระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2553 รวมทั้งเหตุการณ์ต่อเนื่องเกิดการจลาจล การวางเพลิง และการทำลายทรัพย์สิน อาคาร สถานที่ของเอกชน รัฐ และรัฐวิสาหกิจ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งในต่างจังหวัด โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มีความเห็นว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช. เป็นการชุมนุมด้วยความไม่สงบ จึงเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อความมั่นคงภายในประเทศ รัฐบาลจึงสามารถใช้อำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งในการกำหนดมาตรการปิดล้อมพื้นที่สี่แยกราชประสงค์ และบริเวณโดยรอบตั้งแต่วันที่ 13-19 พฤษภาคม 2553 โดยให้เจ้าหน้าที่ทหาร สามารถใช้อาวุธปืนป้องกันตนเองได้ ถือว่าเป็นกรณีที่รัฐบาล กำหนดขึ้นโดยความจำเป็นตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก.ดังกล่าวและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 วรรค 2 กรณีนี้จึงไม่ละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุมของ นปช. แต่ด้วยความด้วยประสิทธิภาพในการจัดการของรัฐบาลทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบ รัฐบาลจึงต้องเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายด้วย

กรณีที่ 6 เหตุการณ์กรณีที่มีผู้เสียชีวิต 6 ศพ และการกระทำในรูปแบบอื่นๆ ในบริเวณวัดปทุมวนาราม ระหว่างวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2553 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มีความเห็นว่า จากลักษณะทิศทางของกระสุนที่ปรากฏบนศพบางศพ มีลักษณะถูกยิงจากบนลงล่าง สันนิษฐานได้ว่า ผู้ยิงอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า และตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีเจ้าหน้าที่ ทหารปฏิบัติหน้าที่อยู่บนรางรถไฟฟ้า หน้าวัดปทุมวนาราม จึงอาจเป็นไปได้ว่า ความเสียหายกรณีการเสียชีวิตและบาดเจ็บส่วนหนึ่งย่อมเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐจึงมีหน้าที่ชดใช้ เยียวยาความเสียหายกับผู้ได้รับผลกระทบ และต้องสอบสวนหาข้อเท็จจริง และหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ

แต่ทันทีที่มีร่างรายงานฉบับนี้โผล่มาแล้ว จะทำให้คนอย่าง “เหวง โตจิราการ” หรือ “ก่อแก้ว พิกุลทอง” จะสำนึกบาปกรรมที่ทำกับคนไทย

ตรงกันข้าม เหวง กับพูดพล่อยๆ อีกว่า “แต่ขอยืนยันว่ากลุ่ม นปช.ไม่มีอาวุธในการชุมนุม และไม่ได้เป็นฝ่ายใช้ความรุนแรงตั้งแต่แรก อีกทั้งรายงานยังระบุด้วยว่า เหตุการณ์ผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจาก ระเบิด เอ็ม 79 บริเวณแยกศาลาแดง มีพยานหลักฐานชัดเจนว่า ทิศทางระเบิดมาจากฝั่งผู้ชุมนุม ซึ่งขอปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง เพราะมีหลักฐานที่เป็นรอยถากของกระสุนบนต้นไม้ ชี้ชัดว่าทิศทางของกระสุนมา จากฝั่งตรงข้ามของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งอยู่คนละฟากกับกลุ่มผู้ชุมนุม”

ทำให้ ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาตอบโต้ "เหวง โตจิราการ" ที่บอกว่า ไม่มีการใช้อาวุธ และความรุนแรงในกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น ถือว่าเป็นการดูถูกคนไทยมากเกินไป แปลไทยเป็นไทย ก็คือ เหวงคิดว่า คนไทยกินแกลบ ทั้งๆที่ภาพความรุนแรงจากคนเสื้อแดง มีการถ่ายทอดออกมาให้คนไทยและต่างประเทศได้เห็นอย่างชัดเจน แต่กลับแก้ตัวแบบน้ำขุ่นๆ หน้าด้านๆ อ้างว่าไม่มีความรุนแรง ทั้งๆ ที่เหตุการณ์สี่แยกคอกวัว สีลม เกิดจากกองกำลังชุดดำที่แฝงตัวในผู้ชุมนุมทั้งสิ้น

ภาพการใช้ปืน และเอ็ม 79 ยิงคนอื่นที่มิใช่ผู้ชุมนุม จะมีอยู่ไปจนกว่า เหวง จะตายไป หรือครอบครัวเหวงหายไปจากโลกนี้....ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้

สอดคล้องกับการให้ข้อมูลของกองทัพบกโดย พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก บอกกับนักข่าวว่า “หลักฐานที่กองทัพบกได้ส่งให้พนักงานสอบสวน เช่น เมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 ที่กองทัพบกนำเฮลิคอปเตอร์ไปโปรยใบปลิว เพื่อยุติการชุมนุม ขณะนั้นได้มีการยิงอาวุธขึ้นไปบน ฮ. เราได้มีการจับกุมผู้กระทำความผิด 3 ราย ยึดของกลางได้จำนวนมาก ทั้งอาวุธสงครามเอ็ม 16, ปืนอาก้า, กระสุนปืนความเร็วสูงเป็นพันนัด ซึ่งเราได้ส่งหลักฐานให้พนักงานสอบสวนไปแล้ว แต่ปรากฏว่า การพิจารณาของศาลมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่ไม่มีหลักฐานประกอบ DSI ซุกหลักฐานชายชุดดำ”

ดังนั้น พฤติกรรมของเหวง ไม่แตกต่างจากลูกพี่ใหญ่

"วิกิลีกส์ " เปิดโปงเอกสารลับทางการทูตของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการขอวีซ่าของทักษิณ ชินวัตร ไว้ชัดเจน ว่า สถานทูตสหรัฐฯในกรุงเทพฯ โดย อีริก จี. จอห์น เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ สมัยนั้น เคยเสนอต่อรัฐบาลต้นสังกัดให้เพิกถอนวีซ่าเข้าสหรัฐฯ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในเอกสารหมายเลข 09BANGKOK1132 ลงวันที่ 2009-05-07 พร้อมเอกสารอ้างอิง 3 ฉบับ

“ข้อเสนอแนะให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เพิกถอนวีซ่าของอดีตนายกรัฐมนตรีไทย เพื่อความรอบคอบนั้น มีเหตุผลมาจากความเชื่อที่ว่า ทักษิณ อาจก่ออาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับความเลวทรามต่ำช้าทางศีลธรรม และรัฐบาลไทยได้ออกหมายจับทักษิณไว้ 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งนั้นอ้างว่า เขากระตุ้นให้เกิดความไม่สงบ และการกระทำผิดกฎหมายอันเกี่ยวพันกับการก่อจลาจล โดยพวกผู้สนับสนุนเขาที่พัทยา และกรุงเทพฯ เมื่อกลางเดือนเมษายน” ในบทย่อและข้อเสนอเชิงปฏิบัติระบุไว้อย่างนั้น

จะเลวทรามต่ำช้าทางศีลธรรม เหมือนในเอกสารหรือไม่....คนไทยทั้งประเทศรู้อยู่เต็มอก !!


กำลังโหลดความคิดเห็น