“เจ๋ง ดอกจิก” อ่วม! ถูกศาลอาญาสั่งเพิกถอนการให้ประกันตัว เตรียมนำตัวส่งเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หน้าซีด-ขาสั่น ทีมทนายเตรียมยื่นเงินสด 2 ล้าน พร้อมดึง “ยงยุทธ-ประชา” เอาตำแหน่งการเมืองค้ำประกันความประพฤติ ขอประกันตัวช่วย “เจ๋ง” อีกรอบ หลังประเมินความเสี่ยง “วืดประกันตัว” ศาลมีคำสั่งออกมาแล้วต้องปล่อยให้ติดคุกก่อนแล้วค่อยตั้งหลักช่วยอีกครั้งเพื่อความมั่นใจ
วันนี้ 22 ส.ค.ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.10 น. ศาลอาญานัดสอบถามนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวกลุ่มร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย จำเลยที่ 2 ในคดีร่วมกันก่อการร้าย และพวกรวม 19 คน กรณีที่นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง ประชาธิปัตย์ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวนายจตุพร นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก เลขานุการ รมช.มหาดไทย และนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย กรณีมีพฤติการณ์เข้าข่ายผิดเงื่อนไขการให้ประกันตัว ขึ้นเวทีปราศรัยที่บริเวณหน้ารัฐสภา กล่าวโจมตีพาดพิง ข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้องขอให้วินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ม.291 ขัด ม. 68 ของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่
โดยวันนี้นายนิพิฏฐ์เดินทางมาศาลพร้อม ส.ส.และทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของนายยศวริศได้เตรียมพยานเปิดความ 3 ปาก ประกอบด้วย พ.ต.อ.ไกรเลิศ บัวแก้ว รอง ผบก.น.1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์และควบคุมสถานการณ์การชุมนุมวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา, นายฐานิสร์ เทียนทอง รมช.มหาดไทย ในฐานะผู้บังคับบัญชาของตนเอง และนายจรินทร์ สวนแก้ว ประธานมูลนิธิ 5 ธันวามหาราช ขึ้นเบิกความว่านายยศวริศมีความจงรักภักดีเนื่องจากร่วมเป็นคณะกรรมการจัดงาน 5 ธันวาฯ และเตรียมวัตถุพยาน คือ วีซีดีบันทึกการปราศรัยเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ช่วงที่ขึ้นเวทีกล่าวขอโทษตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ความยาว 3 นาที และเอกสารถอดคำปราศรัยด้วย
นายยศวริศแถลงต่อศาลว่า การปราศรัยก็เป็นการพูดตามสไตล์ตลกของตน แต่หลังเกิดเหตุตนได้กล่าวขอโทษตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อหน้าประชาชนจำนวนมาก และได้บอกกับประชาชนว่าอย่าโทรศัพท์ไปก่อกวนครอบครัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกท่าน ซึ่งก็ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น และไม่มีประชาชนคนใดคนหนึ่งโทรศัพท์ไปรบกวนตุลาการและครอบครัวเลยแม้แต่คนเดียว ที่สำคัญหมายเลขโทรศัพท์ที่ได้นำไปประกาศก็ไม่ได้มีการตรวจสอบว่าเป็นของจริงหรือไม่ ทั้งนี้ ยืนยันว่าตนไม่มีเจตนายุยงปลุกปั่นสร้างความวุ่นวาย ในทางกลับกันตนได้ประสานกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่มาชุมนุมบริเวณศาลอาญาโดยขอร้องให้คนเสื้อแดงอยู่ในระเบียบวินัยของศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้มีรัฐบาลเพื่อไทยและตนเป็นสมาชิกอยู่ รวมทั้งตนมีตำแหน่งเป็นเลขานุการ ช่วยงาน รมช.มหาดไทย จึงไม่มีเจตนากระทำการวุ่นวาย วันนี้ตนไม่มีอะไรมากนอกจากขอความเมตตาจากศาล ซึ่งหากมีการกระทำผิดพลาดตนขออภัย และน้อมรับปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเต็มใจและเคร่งครัด ขณะที่นายวิญญัติแถลงต่อศาลขอสอบถามนายยศวริศเพิ่มเติม และจะนำพยานขึ้นเบิกความเพียง 3 ปาก พร้อมเปิดหลักฐานวีซีดีในวันปราศรัยให้ศาลดูเพิ่มเติมประมาณ 2-3 นาที
จากนั้นนายยศวริศตอบข้อซักถามทนายถึงสาเหตุที่ไปขึ้นปราศรัยว่า เนื่องจากในรัฐสภากำลังมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ และมีผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 กลุ่ม นปช.จึงได้จัดปราศรัยและรวบรวมรายชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกครั้งที่มีการปราศรัยก็ได้บันทึกไว้เป็นวีซีดีได้ โดยวันดังกล่าวหลังจากปราศรัยและประกาศหมายเลขโทรศัพท์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและครอบครัว ก็ได้มีการขอโทษตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว ซึ่งรายชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ก็มีคนนำมาให้ จึงไม่ได้มีการตรวจสอบ เพราะต้องขึ้นเวทีปราศรัยต่อ แต่หลังจากนั้นได้ให้ทีมงานลองตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ว่าเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของตุลาการจริงหรือไม่ ก็พบว่าหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวก็มีเผยแพร่ในที่สาธารณะ ซึ่งในการปราศรัยกลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีใครสนใจหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าว และตนได้อยู่ดูแลความสงบในที่ชุมนุมจนกลับบ้านคนสุดท้ายไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่มีเจตนาสร้างความปั่นป่วน และไม่เคยใช้จ้างวานยุยงใช้ให้ใครไปข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีแต่จะห้ามปรามไม่ให้ก่อกวน
ต่อมาเวลา 10.47 น. ทนายความได้นำนายฐานิสร์ขึ้นแถลงต่อศาลว่า จากการทำงานร่วมกับนายยศวริศ 1 ปี เห็นว่านิสัยส่วนตัวนายยศวริศจะเป็นคนสนุกสนานร่าเริง อารมณ์ดี ไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าว และไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม นายยศวริศได้ทำหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ มีความรับผิดชอบงานได้เป็นอย่างดี โดยตนมอบหมายให้นายยศวริศแก้ไขปัญหาผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งกรณีที่มีการชุมนุมของผู้ประสบอุทกภัยนายยศวริศก็มีความสามารถเข้าไปไกล่เกลี่ยได้เป็นอย่างดี ส่วนที่นายยศวริศวิจารณ์การทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและรวบรวมรายชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าทำตามสิทธิ์ขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญเห็นว่าก็สามารถทำได้ เพราะการวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาก็มีนักวิชาการ ประชาชนทั่วไปวิจารณ์จำนวนมาก และหลังวันที่ 7-8 มิ.ย.ที่มีการปราศรัยพร้อมทั้งรวบรวมรายชื่อถอดถอนตุลาการก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น
พ.ต.อ.ไกรเลิศแถลงว่า ทุกครั้งที่มีการชุมนุมทางการเมืองตนได้เดินทางดูแล โดยได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามและความมั่นคง โดยวันที่ 7-8 มิ.ย. ได้อยู่ในพื้นที่ตั้งแต่เริ่มชุมนุมจนยุติการชุมนุม ซึ่งตนในฐานะผู้อำนวยการเหตุการณ์ได้เดินทางไปดูแล ควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในวันที่ 7 มิ.ย. โดยช่วงเวลา 16.00-17.00 มีแกนนำทยอยขึ้นเวทีปราศรัย แต่มีผู้ชุมนุมไม่มากสถานการณ์จึงปกติ ระหว่างนั้นได้รับรายงานว่ามีคนนำใบปลิวระบุรายละเอียดหมายเลขโทรศัพท์ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ข้างเวที จึงให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและตามเก็บ แต่มีบางส่วนหลุดไปถึงหลังเวทีเสื้อแดงที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถตามเก็บได้ทัน ขณะที่ปราศรัยของนายยศวริศในช่วงเย็นก็มีกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเป็นกลุ่มรากหญ้า จึงยังไม่ได้สนใจรายละเอียดหมายเลขโทรศัพท์ แต่ผู้ชุมนุมเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 20.00-22.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่นายยศวริศขึ้นกล่าวขอโทษ และหลังจากที่มีการปราศรัยเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้มีการถอดเทปเกี่ยวกับการปราศรัย
ต่อมาทนายความได้นำนายจรินทร์แถลงเป็นปากสุดท้ายว่า ตนรู้จักนายยศวริศผ่านสมาคมตลก และเคยเชิญนายยศวริศช่วยดูแลงานเฉลิมพระเกียรติ 12 สิงหา โดยมอบหมายให้ดูแลเรื่องตลกเพื่อนำมาแสดงให้ความบันเทิงกับประชาชน ซึ่งนายยศวริศก็ร่วมงานเต็มที่มาโดยตลอด นายยศวริศเป็นผู้มีการศึกษามีวุฒิภาวะย่อมรู้อะไรควรหรือไม่ควร หากทำอะไรไม่ควร เมื่อสำนึกและออกมายอมรับ ประเพณีคนไทยที่เมื่อคนทำผิดแล้วขออภัย สังคมก็ควรจะยอมรับได้
หลังจากนั้นนายนิพิฏฐ์ ผู้ร้องได้แถลงว่า ได้ยื่นคำร้องและวีซีดีบันทึกการปราศรัยของนายยศวริศ 5 ครั้ง ซึ่งเป็นการกระทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในการทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระและกระบวนการยุติธรรม บางครั้งได้วิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งการปราศรัยของนายยศวริศเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 55 ที่ จ.สมุทรปราการ ได้มีการกล่าวถึงตุลาการทำนองว่า ส่วนใหญ่เป็นคนแก่ๆ ก็ควรอยู่ให้ลูกหลานสรรเสริญ แต่ตุลาการกลับมีคนก่นด่าสาปแช่งทุกวัน ซึ่งตนเห็นว่าไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต แสดงให้เห็นว่านายยศวริศไม่เข้าใจว่าการก่นด่าหรือวิจารณ์ต่างกันอย่างไร นอกจากนี้ หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยคือบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน รวมทั้งรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ แต่การกระทำของนายยศวริศเป็นการก่อความไม่สงบ และการมายื่นคำร้องเพราะเห็นว่าในบ้านเมืองมี 2 องค์กรที่ไม่มีภูมิคุ้มกันตนเอง คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ และศาล เมื่อมีการโจมตีเราไม่เคยเห็น 2 องค์กรนี้ออกมาชี้แจง เราจึงต้องช่วยกันปกป้อง
นายนิพิฏฐ์ตอบข้อซักถามว่า ตนไม่เกี่ยวข้องกับคดีก่อการร้าย แต่ยืนยันว่าการยื่นคำร้องเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต และตนไม่ใช่ฝ่ายตรงข้ามกับนายยศวริศ การยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลเห็นพฤติการณ์นายยศวริศที่ผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว โดยน่าจะเป็นการล่วงเกินกฎหมายของแผ่นดิน แต่ศาลจะเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล แม้ตนไม่มีอำนาจในการตัดสินชี้ขาด แต่ตนมีสิทธิยื่นคำร้อง และไม่มีกฎหมายฉบับใดระบุว่าตนไม่สามารถยื่นคำร้องถอนประกันได้ โดยการยื่นร้องก็ใช้สิทธิส่วนตัวไม่ใช่ฐานะทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อตนพบเห็นการกระทำลักษณะดังกล่าวก็ต้องยื่นคำร้องให้ศาลพิจารณา
ต่อมาทนายความของนายภูมิกิติ หรือพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง จำเลยที่ 11 ได้แถลงต่อศาลว่าจำเลยที่ 11 ป่วยรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระราม 9 และมีใบรับรองแพทย์ยื่นต่อศาล จึงขอเลื่อนการสอบถามจำเลยที่ 11 ออกไปก่อน ศาลพิเคราะห์แล้วอนุญาตให้นัดสอบถามจำเลยที่ 11 วันที่ 29 พ.ย.นี้ พร้อมกับจำเลยที่ 3, 4, 5, 9, 10 ที่เป็น ส.ส.ภายหลัง ศาลสอบถามนายยศวริศเสร็จ ได้นัดฟังคำสั่งเวลา 15.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างศาลสอบถามจำเลย นายนิพิฏฐ์ได้แสดงสีหน้ากังวล โดยถามหาชุดอารักขาของตนเอง 3 คน และขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยตามตัว แต่ภายหลังเบิกความเสร็จ นายนิพิฏฐ์ได้ชูสองนิ้วแสดงความมั่นใจให้ผู้สื่อข่าวก่อนเดินทางกลับทันที
เวลา 14.30 น. นายจตุพร พรหมพันธุ์ ได้เดินทางมาฟังคำสั่งศาล โดย นายจตุพร กล่าวกับผู้สื่อข่าวก่อนเข้ารับฟังคำสั่งศาลว่า แกนนำและแนวร่วมทั้ง 19 คนน้อมรับคำตัดสินทุกอย่าง ซึ่งตนเคยอยู่ในสถานการณ์แบบนี้มาหลายครั้งแล้วพร้อมน้อมรับชะตากรรม และทำใจด้วยหัวใจที่ปล่อยวาง ซึ่งไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรขอให้กลุ่มนปช.ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาล ส่วนวันนี้ที่มีการสอบถามนายยศวริศเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ตนเชื่อว่าศาลจะให้ความยุติธรรม และถ้ามีโอกาส หลังจากการตัดสินในวันนี้ ตนจะกลับมาพูดคุยอีกครั้ง
ต่อมาเวลา 15.00 น. แกนนำนปช.และจำเลยคนอื่นๆ เริ่มทยอยเดินทางมาฟังคำสั่งศาล อาทิ นายจตุพร นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ น.พ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ส่วนนายก่อแก้ว พิกุลทอง นายการุณ โหสกุล นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท แกนนำที่เป็นส.ส.ไม่ได้เดินทางมา
จากนั้นเวลา 15.25 น. ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่ง ระบุว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเบื้องต้นว่าสำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ และนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ มีอำนาจยื่นคำร้องและหนังสือขอเพิกถอนปล่อยชั่วคราวจำเลยหรือไม่ และศาลอาญามีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทุกคนระหว่างการพิจารณา และศาลกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยที่ 1 2 6 7 8 12-24 ต้องปฏิบัติในระหว่างที่ได้รับอนุญาตปล่อยชั่วคราวตามป.วิอาญา มาตรา 122 วรรคสอง เพื่อไม่ให้จำเลยที่ 1 2 6 7 8 12-24 ไปก่อให้เกิดภัยอันตรายหรือความเสียหายใดๆ หลังจากที่ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอันมีจุดประสงค์เพื่อคุ้มครองคู่ความกับผู้มีส่วนได้เสียในคดี และประชาชนทั่วไปตลอดจนสังคมส่วนรวมให้ปลอดภัยจากอันตรายและความเสียหายใดๆๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายหลังจากการฝ่าฝืนเงื่อนไขของจำเลยที่ 1 2 6 7 8 12-24
ดังนั้น จำเลยที่ 1 2 6 7 8 12-24 จึงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเหล่านั้นอย่างเคร่งครัด และศาลต้องควบคุมตรวจสอบตลอดเวลาว่าจำเลยที่ 1 2 6 7 8 12-24 ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือไม่เพียงใด หากมีปัญหาว่าจำเลยที่ 1 2 6 7 8 12-24 ได้ปฏิบัติฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวหรือไม่เพียงใด และมีเหตุให้ศาลเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวของจำเลยที่ 1 2 6 7 8 12-24 หรือไม่ คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดีจึงย่อมมีอำนาจยกปัญหาขึ้นให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยได้ และหากปัญหาดังกล่าวได้ปรากฏต่อสาธารณชนได้รับทราบทั่วไปอย่างกว้างขวางและศาลก็ได้รับทราบเช่นกันแต่ไม่มีคู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดีนั้นยกปัญหานั้นให้ศาลพิจารณา ศาลในฐานะผู้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 2 6 7 8 12 -24 ก็ย่อมมีอำนาจยกปัญหานั้นขึ้นพิจารณาวินิจฉัยได้เอง
นอกจากนี้หากมีบุคคลใดที่มิใช่คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดีได้ทราบพฤติการณ์ใดๆของจำเลยที่เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวที่ศาลได้กำหนดขึ้น และเป็นเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองประชาชนโดยทั่วไปตลอดจนสังคมโดยส่วนรวมให้ปลอดภัยจากภัยอันตรายและความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นในภายหลังจากการฝ่าฝืนของจำเลย บุคคลเหล่านั้นย่อมมีอำนาจยกปัญหานั้นขึ้นให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยได้เช่นกัน ในทำนองเดียวกับบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายก็มีอำนาจทำคำกล่าวโทษในคดีอาญาแผ่นดินว่ามีการกระทำความผิดอาญาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นต่อเจ้าพนักงานตำรวจได้ ก็ปรากฏว่าคดีนี้เป็นคดีอาญาแผ่นดินและเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราวที่ศาลได้กำหนดขึ้นให้จำเลยที่ จำเลยที่ 1 2 6 7 8 12 -24 ต้องปฎิบัติตาม ก็เป็นเงื่อนไขที่ศาลกำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองประชาชนโดยทั่วไป ตลอดจนสังคมโดยส่วนรวมให้ปลอดภัยจากภัยอันตรายและความเสียหายใดๆที่เกิดขึ้นในภายหลังจากการฝ่าฝืนเงื่อนไขของจำเลยที่ 1 2 6 7 8 12 -24
ดังนั้นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดีนี้ย่อมมีอำนาจยกปัญหาว่าจำเลยที่ 1 2 6 7 8 12 -24 ได้ปฏิบัติฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ศาลกำหนดขึ้นเพียงใดและมีเหตุให้ศาลเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 2 6 7 8 12 -24 ขึ้นให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยได้
จากที่วินิจฉัยดังกล่าวมาแม้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญและนายนิพิฎฐ์ จะไม่ใช่คู่ความหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคดีนี้ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจยื่นคำร้องและหนังสือขอให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 และนายนิพิฎฐ์ มีอำนาจยื่นคำร้องและหนังสือขอให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 7 ได้ ตลอดจนศาลก็มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 2 6 7 8 12 -24 ได้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่ามีเหตุสมควรที่จะเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 6 8 12 -24 หรือไม่เห็นว่าจากพยานหลักฐานที่ปรากฎในชั้นนี้กับข้อเท็จจริงตามที่ศาลได้สอบถามจำเลยที่ 1 6 8 12 -24 แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ 1 6 8 12 -24 ได้กล่าวปราศรัยต่อประชาชนอยู่บ้างแต่ก็ยังไม่ปรากฎข้อเท็จจริงใดที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 6 8 12 -24 กระทำการใดๆอันเป็นการผิดเงื่อนไขตามที่ศาลได้กำหนดในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวและยังไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 6 8 12 -24 ได้กระทำการใดๆอันถือว่าก่อให้เกิดอันตรายหรือภยันตรายประการอื่น จึงยังไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 6 8 12 -24
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่ามีเหตุสมควรที่จะเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 หรือไม่ เมื่อพิเคราะห์คำร้องและหนังสือการขอให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 ประกอบคำแถลงของนายเชาวนะ ไตรมาส เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญกับคำแถลงของจำเลยที่ 2 แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยที่เวทีที่หน้ารัฐสภา เห็นว่าคำกล่าวปราศรัยของจำเลยที่ 2 มีลักษณะเสียดสี ประชดประชัน ไม่พอใจและตำหนิการทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังปราศรัยด้วยถ้อยคำที่ไม่สุภาพหยาบคายซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรกระทำ แต่ก็ไม่มีคำพูดใดของจำเลยที่ 2 ที่ดูหมิ่นเหยียดหยาม กระทบต่อเกียรติยศและชื่อเสียงของบุคคลอื่นโดยตรง และไม่มีคำพูดใดที่ก่อให้เกิดการคุกคามและการกดดันต่อการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงยังพอถือได้ว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์และติชมการทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แม้ถ้อยคำที่จำเลยที่ 2 กล่าวจะรุนแรงไปบ้างแต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดอันตรายกระทบต่อความสงบเรียบร้อย ที่จะเป็นการผิดเงื่อนไขซึ่งศาลกำหนดไว้ในการปล่อยชั่วคราวและยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำการใดๆอันก่อให้เกิดอันตรายประการอื่นที่จะเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 จึงยังไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 ให้ยกคำร้องของสำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่ามีเหตุสมควรที่จะเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวนายยศวริศ จำเลยที่ 7 หรือไม่ เมื่อพิเคราะห์คำร้องและหนังสือขอให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 7 ประกอบคำแถลงของนายนิพิฎฐ์ ผู้ร้องและคำแถลงของจำเลยที่ 7 แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2555 จำเลยที่ 7 ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยเวทีหน้ารัฐสภาในขณะที่มีแนวร่วม นปช.ร่วมฟังอยู่เป็นจำนวนมาก โดยวิพากษ์วิจารณ์และติชมการปฎิบัติหน้าที่ของตุลการศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า ในประเด็นดังกล่าวจำเลยที่ 7 ไม่ได้ปฏิเสธว่าบุคคลที่อยู่ในแผ่นวีซีดีตามหลักฐานไม่ใช่ตัวจำเลยที่ 7 และเสียงที่พูดออกมานั้นไม่ใช่เสียงของจำเลยที่ 7 เอง ขณะที่จำเลยที่ 7 แถลงต่อศาลยอมรับว่าได้อ่านข้อมูลส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและครอบครัวขณะกล่าวปราศรัยบนเวทีจริง เพียงแต่จำเลยที่ 7 เห็นว่าเป็นเรื่องที่หน้าสนุกสนานชวนให้ผู้ฟังรู้สึกตลกขบขัน อันเป็นลักษณะนิสัยของจำเลยที่ 7
เมื่อพิจารณาถ้อยคำการกล่าวปราศรัยของจำเลยที่ 7 ในวันดังกล่าวประกอบกับน้ำเสียงและการแสดงสีหน้าท่าทางของจำเลยที่ 7 แล้ว ส่อให้เห็นถึงเจตนาที่จะยุยง ปลุกปั่น ให้ผู้ฟังรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อนที่จำเลยที่ 7 จะนำข้อมูลส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและครอบครัวมาเปิดเผยในเวลาต่อเนื่องใกล้ชิดกัน จำเลยที่ 7 ยังกล่าวถ้อยคำตอนหนึ่งทำนองว่า “ให้แวะเวียนไปเยี่ยม เอาดอกไม้ไปเยี่ยม โทรศัพท์ไปคุยและให้ไปจัดการ” อันเป็นการพูดที่อาจทำให้ผู้ฟังที่กำลังอยู่ในอารมณ์ที่เกลียดชังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 7 ประสงค์จะให้มีการก่อความวุ่นวาย สร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือกระทำการอันตรายต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและครอบครัว และถือได้ว่าเป็นการคุกคามกดดันแก่บุคคลที่ถูกกล่าวอ้าง อีกทั้งเป็นการกดดันการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งการนำข้อมูลส่วนตัวของบุคคลอื่นมาเปิดเผยโดยไม่มีเหตุจำเลยก็ไม่ใช่วิสัยปกติของบุคคลทั่วไป
การกระทำของจำเลยที่ 7 ที่นำข้อมูลส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและครอบครัวมาเปิดเผยเช่นนี้ ยิ่งแสดงออกถึงเจตนาร้ายของจำเลยที่ 7 ที่ต้องการให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมืองเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง และเป็นการไม่นำพาต่อเงื่อนไขที่ศาลมีคำสั่งไว้ แม้ภายหลังจำเลยที่ 7 จะกล่าวขอโทษตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่อาจทำให้การกระทำที่ได้ทำลงไปแล้วกลับคืนมาได้ ถือว่าจำเลยที่ 7 กระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวที่ศาลกำหนดไว้แล้วว่าไม่ให้กระทำการใดอันก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยไม่จำต้องมีเหตุร้ายใดๆเกิดขึ้นหรือต้องให้ผู้ที่ถูกพาดพิงไปแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลยที่ 7 เสียก่อน เมื่อพิจารณาประกอบถ้อยคำจำเลยที่ 7 ซึ่งอ้างว่าเมื่อระลึกได้ในภายหลังว่ากระทำไม่เหมาะสมแล้วจึงได้กล่าวขอโทษ กับการที่จำเลยที่ 7 เห็นว่าสิ่งที่ตนพูดไปนั้นเป็นเรื่องของความตลกขบขัน ได้แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 7 ไร้ซึ่งความยับยั้งชั่งใจในการใคร่ครวญว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำก่อนที่จะกระทำการใดๆไป ดังนั้นจึงยังไม่แน่ว่าหากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 7 อีกต่อไปแล้วจะไปก่อเหตุวุ่นวายประการอื่นใดอีก อีกทั้งคำปราศรัยดังกล่าวยังถือได้ว่าเป็นการกล่าวถ้อยคำไปยังสาธารณชนที่เป็นการละเมิดหรือกระทบสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลใดโดยตรง นอกจากนี้ยังถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 7 เป็นการยั่วยุปลุกปั่น ปลุกระดมเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน การกระทำของจำเลยที่ 7 จึงถือได้ว่าเป็นการผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้ และยังถือได้ว่าจำเลยที่ 7 อาจก่อให้เกิดอันตรายประการอื่น จึงมีเหตุสมควรที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 7 จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 7
แต่ทั้งนี้ในการอนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 2 6 8 12-24 ศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวในระยะเวลาที่ต่างกัน เงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขอนุญาตการปล่อยชั่วคราวจำเลยดังกล่าวเสียใหม่ โดยให้มีเงื่อนไขเดียวกันว่า ห้ามจำเลยที่ 1 2 6 8 12-24 กระทำการใดๆอันมีลักษณะเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในบ้านเมือง หรืออาจก่อให้เกิดอันตราย กระทบต่อเกียรติยศ ชื่อเสียงและความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือกระทำการใดๆเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน และห้ามจำเลยดังกล่าวเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศภายหลังศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัวของนายยศวริศ มีสีหน้าเคร่งเครียด โดยภรรยาเดินเข้ามาสวมกอดให้กำลังใจ รวมทั้งแกนนำนปช.คนอื่นๆก็เดินเข้ามาปลอบใจโดยให้คำมั่นว่าจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ส่วนแกนนำคนอื่นๆ ที่มาฟังคำสั่งศาล อาทิ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายสุพร อัตถาวงศ์ นพ.เหวง และนางธิดา โตจิราการ ต่างมีสีหน้าเคร่งเครียดโดยเฉพาะนายจตุพร ที่มีใบหน้า และดวงตาแดงกล่ำ และได้หารือกับนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของนายยศวริศ ขอให้ยื่นขอประกันนายยศวริศ ทันที โดยใช้หลักทรัพย์จำนวน 2 ล้านบาท และอ้างชื่อของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย และพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เป็นผู้ควบคุมความประพฤติของนายยศวริศ หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ภายหลังศาลมีคำสั่งถอนประกันนายยศวริศแล้ว เจ้าหน้าที่จากกรมราชทัณฑ์ 4 นายได้ควบคุมตัวนายยศวริศออกจากห้องพิจารณาคดี โดยนายยศวริศได้มีสีหน้าเคร่งเครียดอย่างเห็นได้ชัด เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีความเห็นอย่างไรต่อคำสั่งศาล นายยศวริศไม่ได้ตอบใดๆ กลับมา และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวลงลิฟท์ด้านหลังเพื่อลงไปยังห้องควบคุมใต้ถุนศาลอาญา จากนั้นได้นำตัวขึ้นรถตู้ยี่ห้อโตโยต้า ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพติดฟิล์มทึบ และเจ้าหน้าที่คอมมานโดนั่งประกบคู่ไปด้วยโดยมีรถตำรวจกองปราบประกับหน้าและหลังเพื่อคุ้มกัมความปลอดภัย จากนั้นจึงขับรถออกไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพทันที โดย ใช้เส้นทางด้านหลังศาลอาญาไปทางถ.วิภาวดีรังสิต ไม่ผ่านกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ชุมนุมอยู่ด้านหน้าศาลอาญา
ต่อมานายวิญญัติ ได้ปรึกษากับทีมทนายนปช..ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ก็กลับมาแจ้งให้แกนนำนปช.ทราบว่าหากจะยื่นในวันนี้เลยอาจจะไม่เป็นผลดี เนื่องจากคำสั่งศาลจะต้องมีผลบังคับใช้ก่อน และการยื่นโดยยังไม่มีผลบังคับหากศาลปฏิเสธการยื่นขอประกันจะส่งผลให้การยื่นในครั้งต่อไปเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
นายวิญญัติ กล่าวภายหลังการหารือว่าทางทนายจะไม่ยื่นขอประกันตัวในวันนี้โดยจะไปประชุมกับทีมทนายความของนปช.เพื่อดูรายละเอียดของคำสั่งศาลอย่างละเอียดอีกครั้ง พร้อมทั้งอาจเชิญพยานบุคคลที่ให้การเป็นประโยชน์มาให้ถ้อยคำต่อศาล เช่น บุคคลในรัฐบาลรับรองพฤติกรรม หัวหน้าพรรคเพื่อไทยหรือรมว.ยุติธรรม หากมีการยื่นขอประกันตัวนายยศวริศ โดยเบื้องต้นหากมีการยื่นประกันจะยื่นต่อศาลชั้นต้นก่อนโดยใช้เงินสดจำนวน 2 ล้านบาท และหากศาลชั้นต้นไม่ยินยอมให้ประกันจะยื่นขอประกันต่อศาลอุทธรณ์อีกครั้ง ส่วนจะเป็นวันใดยังไม่สามารถระบุได้
เมื่อถามว่าการเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวจะส่งผลกระทบต่อตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการ รมช.มหาดไทย หรือไม่ นายวิญญัติ กล่าวเพียงสั้นๆว่าอาจจะมีผลกระทบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจำเลยคดีก่อการร้าย 24 คน ประกอบด้วย นายวีระ มุสิกพงศ์ , นายจตุพร พรหมพันธุ์ , นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ , นายเหวง โตจิราการ , นายก่อแก้ว พิกุลทอง , นายขวัญชัย สาราคำ หรือขวัญชัย ไพรพนา , นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก , นายนิสิต สินธุไพร , นายการุณ หรือ เก่ง โหสกุล , นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท ,นายภูมิกิติ หรือพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง , นายสุขเสก หรือ สุข พลตื้อ , นายจรัญ หรือ ยักษ์ ลอยพูล , นายอำนาจ อินทโชติ , นายชยุต ใหลเจริญ , นายสมบัติ หรือแดง หรือผู้กองแดง มากทอง , นายสุรชัยหรือหรั่ง เทวรัตน์ , นายรชตหรือกบ วงค์ยอดนายยงยุทธ ท้วมมี จำเลยที่ 1-19 คดีหมายเลขดำที่ อ.2542/2553 , นายอร่าม แสงอรุณ หัวหน้าการ์ด นปช จำเลยคดี อ.4339/2553 , นายเจ็มส์ สิงห์สิทธิ์ ,นายสมพงษ์ หรือ อ้อ หรือแขก หรือป้อม บางชม และนายมานพ หรือเป็ด ชาญช่างทอง กลุ่มการ์ด นปช. จำเลยคดีหมายเลขดำที่ อ.757/2554และ นายอริสมันต์ หรือกี้ พงศ์เรืองรอง จำเลย คดีหมายเลขดำที่ อ.4958/2554