แกนนำ นปช.ร่วมกันแถลงต่อศาลลอยแพ "เจ๋ง ดอกจิก" ไม่รู้ - ไม่เห็น -ไม่เกี่ยว การกระทำที่เข้าข่ายหลักเกณฑ์การเพิกถอนประกันผู้ต้องหา ศาลต่ออายุ "เจ๋ง ดอกจิก" สัปดาห์กว่า ๆ นัดฟังคำสั่งศาล 22 สิงหาฯ 55 ส่วน ส.ส. 5 ราย นัด 29 พ.ย.55 ด้านดีเอสไอตามอายัดตัว "หรั่ง เทวรัตน์" คาศาล หิ้วไปสอบต่อคดีครอบครองอาวุธสงครามโดยไม่ได้รับอนุญาต
ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.10 น. วันนี้ (9 ส.ค.) ศาลนัดสอบถามนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวกลุ่มร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จำเลยที่ 2 ในคดีร่วมกันก่อการร้าย และพวกรวม 24 คน กรณีที่ นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และนายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง ประชาธิปัตย์ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวนายจตุพร นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก เลขานุการ รมช.มหาดไทย และนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
กรณีมีพฤติการณ์เข้าข่ายผิดเงื่อนไขการให้ประกันตัว ขึ้นเวทีปราศรัยที่บริเวณหน้ารัฐสภา กล่าวโจมตีพาดพิง ข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่รับคำร้องขอให้วินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ม.291 ขัด ม. 68 ของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่
โดยวันนี้ผู้ร้องในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เดินทางมา เนื่องจากได้เบิกความต่อศาลเสร็จไปเมื่อครั้งที่แล้ว ส่วนนายนิพิฎฐ์ เดินทางมาพร้อมกับ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. และนางสาวรังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง และ นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง ซึ่งคู่ความที่เข้าห้องพิจารณาคดี ต้องเดินผ่านเครื่องสแกนอาวุธและวัตถุระเบิด ที่เจ้าหน้าที่ศาลนำมาติดไว้หน้าทางเข้าห้องพิจารณา เพื่อความปลอดภัย
โดยก่อนศาลสอบถามจำเลย ศาลได้อธิบายถึงสาเหตุที่เรียกจำเลย มาสอบถามว่า การปล่อยตัวชั่วคราว มีกำหนดเงื่อนไขไว้ชัดเจน หากจำเลยกระทำผิดเงื่อนไขศาลสามารถเพิกถอนคำสั่งได้ ซึ่งคำร้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 , 5 และ 7 จึงได้เรียกจำเลยทั้ง 24 คนมาสอบถามในคราวเดียวกันว่ากระทำการอะไรผิดเงื่อนไขศาลหรือไม่ ถ้าพบว่ามีการผิดเงื่อนไข ศาลจะมีคำสั่งตามเห็นสมควรต่อไป
ทนายความจำเลยที่ 5 ได้แถลงต่อศาลว่า ในกลุ่มจำเลยที่มาวันนี้มี ส.ส.อยู่ 4 คน ประกอบด้วย น.พ.เหวง โตจิราการ นายการุณ โหสกุล นายก่อแก้ว พิกุลทอง และนายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย ส.ส.พรรคเพื่อไทย และอยู่ในสมัยเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฏร จึงไม่ควรมีการสอบถามในวันนี้
โดยศาลเห็นว่า แม้ทนายไม่โต้แย้งมา ศาลก็จะสอบถามจำเลยที่เป็นส.ส.อยู่แล้วว่าจะใช้เอกสิทธิ์หรือไม่ ถึงแม้ว่าจำเลยทั้ง 4 จะไม่ใช้เอกสิทธิ์ก็ตาม แต่ศาลเห็นว่าหากทำการสอบถามจำเลยทั้งสี่ อาจจะเป็นการก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ จึงให้เลื่อนการสอบถามในส่วนของ นพ.เหวง จำเลยที่ 4 นายก่อแก้ว จำเลยที่ 5 นายการุณ จำเลยที่ 9 และนายวิภูแถลง จำเลยที่ 10 ไปในวันที่ 29 พ.ย. โดยวันนี้ศาลจะสอบถามเฉพาะจำเลยที่ 7 และจำเลยอื่นที่เกี่ยวข้องก่อน
ขณะเดียวกันทนายความ นายยศวริศ จำเลยที่ 7 แถลงต่อศาลว่า เพิ่งได้รับคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวและหลักฐานซึ่งเป็นวีซีดีบันทึกภาพและเสียงของจำเลยที่ 7 ขณะปราศรัย ที่ผู้ร้องอ้างส่งเป็นหลักฐานในวันนี้ จึงขอใช้เวลาตรวจสอบเอกสารหลักฐานและวีซีดีว่ามีการตัดต่อหรือไม่ และต้องใช้เวลาขอหลักฐานจากสถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดท ที่น่าจะได้บันทึกเหตุการณ์ปราศรัยของจำเลยอย่างครบถ้วนเพื่อนำมาตรวจสอบประกอบด้วย จึงขอให้เลื่อนการสอบถามจำเลยที่ 7 ออกไปก่อน นอกจากนี้นายนิพิฎฐ์ ผู้ร้อง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ และไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าผู้ร้องเป็นปฎิปักษ์ทางการเมืองกับพวกจำเลย จึงแสดงให้เห็นเจตนาที่จะให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวซึ่งกระทบสิทธิเสรีภาพของจำเลย จึงขอให้ศาลให้โอกาสจำเลยที่ 7 ได้มีโอกาสแสดงพยานหลักฐานของตัวเองด้วย
โดยศาลแจ้งว่าในส่วนของจำเลยที่ 7 ถ้ามีพยานหลักฐานอะไร ศาลเปิดโอกาสให้นำมาแสดงได้เต็มที่และจะเป็นการดีหากศาลจะได้ฟังข้อเท็จจริงจากทั้งสองฝ่าย แต่วันนี้ศาลก็ต้องทำหน้าที่ของศาลต่อไป และเริ่มทำการสอบถามผู้ร้องถึงสาเหตุที่ร้องขอเพิกถอนปล่อยชั่วคราวจำเลย
นายนิพิฎฐ์ แถลงว่า จำเลยที่ 7 ได้มีการประชุมและได้มีการแถลงข่าว โดยเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2555 จำเลยที่ 7 ได้แถลงข่าวและให้สัมภาษณ์ในทำนองว่า แกนนำเสื้อแดงจะไปหารือมาตรการตอบโต้ศาลรัฐธรรมนูญ ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2555 จำเลยที่ 7 ยังได้ปราศรัยพาดพิงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผ่านเครื่องขยายเสียงที่หน้าอาคารรัฐสภาต่อหน้ากลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงจำนวนมาก พร้อมทั้งประกาศชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชื่อภรรยาและบุตร ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ภรรยา และบุตร ซึ่งตนเห็นว่าการพูดของจำเลยที่ 7 เป็นคำพูดที่เกลียดชังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และการที่ประกาศชื่อที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ถือเป็นการข่มขู่ตุลาการ อีกทั้งการที่บอกให้กลุ่มผู้ชุมนุมไปเยี่ยมตุลาการเป็นการผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวของศาลที่ได้กำหนดไว้
ขณะที่ทนายจำเลยที่ 7 เบิกความค้านว่า ขอให้ศาลเปิดหลักฐานคลิปวีดีโอของผู้ร้องที่บันทึกคำพูดการปราศรัยของจำเลยที่ 7 เนื่องจากตนต้องการตรวจสอบว่าคลิปวีดีโอมีการตัดต่อหรือไม่ และพร้อมนำพยานหลักฐานมาคัดค้านข้อกล่าวหาของจำเลย
ศาลจึงอนุญาตให้เปิดคลิปวีดีโอให้จำเลยที่ 7 ดู ซึ่งนายยศวริศ จำเลยที่ 7 เบิกความยอมรับว่า การปราศรัยในคลิปวีดีโอดังกล่าวเป็นคำพูดของตนจริง แต่ตนดูแล้วข้อมูลอาจจะไม่ครบถ้วนทั้งหมด จึงขอนำเอกสารหลักฐานไปตรวจสอบก่อนว่าคำพูดและข้อมูลตรงกันหรือไม่ เพื่อความเป็นธรรมสำหรับตน
ต่อมาศาลสอบถาม นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ จำเลยที่ 1 ว่ามีส่วนรู้เห็นกับการปราศรัยของจำเลยที่ 2 และ 7 และมีการขึ้นเวทีปราศรัยบางหรือไม่ หรือไม่ นายวีระกานต์ แถลงว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการปราศรัยของจำเลย ที่ 7 แต่จำเลย โดยในวันเกิดเหตุตนไม่ได้ไปร่วมชุมนุมที่หน้ารัฐสภา หลังศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ตนได้ขึ้นเวทีปราศรัยครั้งหนึ่ง แต่เป็นตามสิทธิรัฐธรรมนูญ และไม่เคยทำผิดเงื่อนไขของศาล มีพูดพาดพิงบุคคลอื่นบ้างแต่ไม่เป็นการละเมิดกฎหมาย ไม่มีคำพูดหยาบคาย ไม่มีคำพูดที่กระทบถึงสถาบันพระมหากษัตริย์
ขณะที่นายจตุพร จำเลยที่ 2 แถลงว่า ในวันเกิดเหตุตนขึ้นปราศรัยก่อนจำเลยที่ 7 ซึ่งตนเห็นว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ และหลังจากนั้นก็ไม่มีเหตุอะไร ส่วนคำพูดของจำเลยที่ 7 ตนก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะไม่เคยได้พูดคุยก่อน ส่วนการปราศรัยที่จ.นครศรีธรรมราชนั้น เป็นการพูดเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่เป็น ส.ส. และเคยอภิปรายในสภาหลายครั้ง ซึ่งเห็นว่าศาลรัฐธรรมทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญเอง ด้วยการรับคำร้องโดยไม่ผ่านสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นการกระทำโดยมิชอบ ทั้งที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครอง โดยคำร้องของผู้ร้องทั้ง 5 คนที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการกล่าวหาที่เกิดวามจริงและใส่ความกัน ซึ่งตนเห็นเหมือนกับนักวิชาการหลายคน และเห็นว่าจำเลยที่ 7 ไม่มีเจตนา ขณะเดียวกันตนได้ปราศรัยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปดูแลบ้านของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย เพราะในวันนั้นสำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องของผู้ร้องทั้ง 5 ในคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ-ล้มล้างการปกครอง เกรงว่าอาจมีมือที่ 3 อาศัยคำปราศรัยของจำเลยที่ 7 ไปสร้างสถานการณ์ความวุ่นวาย นอกจากนี้ที่ผ่านมาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบให้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมหลายคน แต่ไม่ปรากฏว่ามีชื่อของตนถูกดำเนินคดีด้วย จึงมีความสงสัยว่าถูกยื่นคำร้องให้เพิกถอนปล่อยชั่วคราวได้อย่างไร
นายจตุพร แถลงต่อว่า หลังจากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2554 และได้กำหนดเงื่อนไข ห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุม หรือกิจกรรมที่เกินกว่า 5 คน ตนได้สอบถามต่อนายมานิตย์ สุขอนันต์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาขณะนั้น ว่าสามารถปราศรัยได้หรือไม่ ซึ่งได้รับการชี้แจงว่าสามารถทำได้ ศาลก็ไม่ได้ห้ามขึ้นปราศรัย เพียงแค่ห้ามก่อความไม่สงบเรียบร้อย ซึ่งหลักการปราศรัยก็ไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยอะไร ส่วนการปราศรัยทางการเมือง บางครั้งอาจจะมีคำพูดหยาบบ้าง เช่นมึง กู แต่ไม่ได้หนักหนาอะไร ตนใช้ถ้อยคำสุภาพเป็นส่วนใหญ่ อาจจะมีคำแรงๆมาบ้าง แต่หลีกเรื่องถ้อยคำหยาบคาย แต่ศัพท์สมัยพ่อขุนรามคำแหง คำว่า "มึง กู" ก็มีบ้าง
ด้านนายขวัญชัย ไพรพนา จำเลยที่ 6 แถลงต่อศาลว่า วันที่ 7 มิถุนายน ตนไม่ได้มาร่วมปราศรัยกับจำเลยที่ 7 เพราะขณะนั้นตนอยู่ที่จ.อุดรธานี และตนไม่ได้เดินทางมากรุงเทพบ่อย จึงมีการปราศรัยที่จ.อุดรธานีมากกว่า แต่ไม่เคยมีปัญหาอะไร และไม่ได้พูดกระทบอะไรรุนแรง
นายนิสิต สินธุไพร จำเลย 8 แถลงว่า ส่วนใหญ่ตนขึ้นปราศรัยตลอด แต่เป็นเชิงหลักการ ประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ แต่ไม่ได้พูดกระทบบุคคลอื่น ไม่พูดจาหยาบคาย ไม่มีพูดพาดพิงสถาบัน และไม่กระทบเงื่อนไขถอนประกัน ส่วนในวันเกิดเหตุตนอยู่ที่หน้ารัฐสภาจริง แต่ไม่ได้ฟังการปราศรัยของจำเลยที่ 7 พูด เพราะอยู่ระหว่างเดินทางมาจากต่างจังหวัด และไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำของจำเลยที่ 7
จากนั้นศาลได้เรียกจำเลยที่ 12-23 มาสอบถามพร้อมกัน โดยจำเลยได้แถลงต่อศาลในทำนองเดียวกันว่า ไม่เคยขึ้นเวทีปราศรัย ไม่ได้ทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว และไม่เกี่ยวข้องกับคำพูดของจำเลยที่ 7
ทั้งนี้ศาลได้สอบถาม นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง จำเลยที่ 24 เป็นคนสุดท้าย ซึ่งแถลงว่า ในวันที่ 7 มิถุนายน ตนไม่ได้เกี่ยวข้องและไม่ได้ไปร่วมปราศรัย อย่างไรก็ตาม ขอเรียนว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นบางครั้งพวกเราไม่มีเจตนาพูดกระทบให้เกิดปัญหาต่อใครทั้งสิ้น แต่เห็นว่าบ้านเมืองที่เป็นปัญหาบางครั้งก็ต้องมีการพูดถึงบ้าง และอยากให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน แต่การพูดของคนที่มีความรู้มากอาจพูดในหลักข้อกฎหมาย ส่วนผู้ที่มีความรู้น้อยอาจพูดไม่สุภาพ แต่ก็ไม่มีเจตนา ตนทราบดีว่าบทบาทของพวกตนหลังได้รับประกันตัวจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร หลังจากบวชก็เคยมีขึ้นเวทีปราศรัยบ้าง แต่เป็นการพูดโดยใช้หลักธรรมะส่วนใหญ่เมื่อศาลสอบถามจำเลยเสร็จสิ้นในเวลา 13.10 น. ศาลนัดสอบถามต่อในช่วง 14.00 น.
ต่อมาเวลา 15.30 น. ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าเมื่อทนายจำเลยที่ 7 ขอเลื่อนคดีโดยอ้างว่าจะขอตรวจสอบพยานหลักฐานเป็นวีซีดีว่าการตัดต่อหรือไม่ นอกจากนี้จะขอนำพยานบุคคลเข้าให้ถ้อยคำเพิ่มเติม ว่าจำเลยที่ 7 ไม่มีเจตนาตามที่ผู้ร้องกล่าวหา เพื่อให้โอกาสจำเลยที่ 7 มีโอกาสต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับเพื่อความยุติธรรม จึงมีเหตุสมควรอนุญาตตามที่จำเลยที่ 7 ขอ ประกอบกับพยานหลักฐานที่ผู้ร้องอ้างส่งเป็นแผ่นวีซีดีที่ศาลต้องเปิดพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นสมควรให้เลื่อนคดีไปนัดสอบถามเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 7 ในวันที่ 22 ส.ค. นี้ เวลา 09.00 น.และให้นัดฟังคำสั่งเกี่ยวกับการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทุกคน เว้นแต่จำเลยที่ 3-5 และ 9-10 ในเวลา 15.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ได้เดินทางมาขออายัดตัวนายสุรชัย หรือหรั่ง เทวรัตน์ จำเลยที่ 17 ข้อหามีอาวุธสงครามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย ระหว่างศาลพักการพิจารณาคดี เวลา 13.00 น.เจ้าหน้าที่ดีเอสไอจึงได้คุมตัวไปสอบสวนต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้จำเลยที่ไม่มารายงานตัว 1 คน คือ นายภูมิกิติ หรือพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง จำเลยที่ 11 ส่วนนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ติดตอบกระทู้ที่รัฐสภา จึงได้เดินทางมารายงานตัวต่อศาลในช่วงบ่าย ขณะที่การสอบถามนั้นมีนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช. และ พล.ต.อ.ชัช กุลดิลก รมช.คมนาคม เดินทางมาร่วมฟังการสอบถามด้วย ซึ่งภายหลังศาลเลื่อนการสอบถามและนัดฟังคำสั่งไปวันที่ 22 ส.ค.ทางแกนนำนปช.และจำเลยคดีก่อการร้ายทั้งหมดพากันลงด้านหน้าศาลอาญา และรีบเดินไปหามวลชนเสื้อแดงที่รอให้กำลังใจอยู่นอกรั้วศาลอาญา โดยมวลชนต่างพากันโห่ร้องดีใจและปรบมือเสียงดังสนั่น ท่ามกลางสายฝนที่ตกโปรยปรายลงมาอย่างไม่ขาดสายประมาณ 30 นาที ก่อนที่แกนนำนปช.และจำเลยก่อการร้ายทั้งหมด จะแยกย้ายและขึ้นรถยนต์กลับ