xs
xsm
sm
md
lg

การชุมนุมของ นปช.ไม่ใช่การชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ ความจริงที่ กสม.เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ร่างรายงานผลการตรวจสอบกรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม-19 พฤษภาคม 2553 จำนวน 80 หน้า ของอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั้ง 9 ชุด ที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน ถูกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม.ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งอนุกรรมการทั้ง 9 ชุดเอง ออกแถลงการณ์ปฏิเสธว่า รายละเอียดที่ปรากฏในร่างรายงานนั้น ยังไม่ใช่ข้อยุติ เพราะ กสม.กำลังจัดทำรายงานอีกฉบับหนึ่งโดยรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง

เมื่อปีที่แล้ว กสม.นัดหมายสื่อมวลชนไปรับฟังการแถลงรายงานผลการตรวจสอบ เหตุการณ์การชุมนุมของ นปช.ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2554แต่ต่อมาได้ยกเลิกการแถลงและเปิดเผยเนื้อหาของรายงานออกไปอย่างไม่มีกำหนด

นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ต้องแถลงข่าวขอโทษสื่อมวลชน และอ้างว่าที่ไม่สามารถเปิดเผยรายงานได้เพราะกรรมการบางท่านเห็นว่ามีประเด็นอื่นๆ ที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากการประชุมครั้งที่แล้ว และที่ประชุม กสม.เห็นว่าควรพิจารณาให้ครบถ้วน และเห็นว่าเงื่อนไขเวลาในการเปิดเผยรายงานที่ขยายออกไปอีกไม่น่าจะเป็นปัญหาใดๆ

รายงานฉบับนั้น กับฉบับที่ถูกนำออกมาเผยแพร่ คือ รายงานฉบับเดียวกันนั้นแหละ แสดงว่าเวลาผ่านไป 1 ปี กสม.ไม่ได้มีการตรวจสอบประเด็นเพิ่มเติมตามที่ นพ.ชูชัยอ้างไว้ และเมื่อรายงานฉบับนี้หลุดออกมาอีก ก็ใช้เหตุผลเดิมๆ อีกว่า กำลังรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกด้าน

พฤติกรรมของ กสม.น่าสงสัยว่า ต้องการดองรายงานฉบับนี้ไว้หรืออาจจะต้องการตัดต่อแก้ไขข้อมูล เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อรัฐบาล และกลุ่ม นปช. เพราะข้อสรุปของรายงานฉบับบนี้ระบุว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ไม่ใช่การชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ รัฐบาลสามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน เข้าควบคุมสถานการณ์ได้

ข้อสรุปนี้ ทำลายน้ำหนักความน่าเชื่อถือของนิทานเด็กเลี้ยงแกะ เรื่องทหารฆ่าประชาชน ที่กลุ่ม นปช.นักวิชาการและสื่อเสื้อแดงช่วยกันโกหก ได้อย่างหมดสิ้น

ร่างรายงานฯ นี้ แบ่งเหตุการณ์ความไม่สงบออกเป็น 9 กรณีด้วยกัน ดังนี้

กรณีที่ 1 การสั่งการของรัฐบาล การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 สรุปว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ไม่ใช่การชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ มาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ 2550 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ข้อที่ 21 ในส่วนการกระทำของรัฐบาลในการรุกคืบเข้าปิดล้อมพื้นที่การชุมนุมเป็นการกระทำภายใต้กฎหมายที่ให้อำนาจไว้ และทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อผู้ชุมนุม แต่รัฐบาลต้องมีหน้าที่เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของรัฐบาลด้วย ซึ่งการปิดล้อมดังกล่าวรัฐบาลไม่สามารถวางแผนหรือบริหารจัดการควบคุมสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ชุมนุม ประชาชนผู้บริสุทธิ์ และเจ้าหน้าที่ รวมถึงทหารผู้ปฏิบัติหน้าที่ต้องได้รับความเสียหาย ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ต้องชดเชยเยียวยาให้กับบุคคลเหล่านี้

กรณีที่ 2.เหตุการณ์กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากระเบิดเอ็ม 79 บริเวณแยกศาลาแดง เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 สรุปว่า มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าระเบิดเอ็ม 79 ทั้ง 5 ลูกถูกยิงมาจากทิศทางของกลุ่มผู้ชุมนุม และความร่วมมือของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ให้การช่วยเหลือในการจุดพลุตะไล ประทัด เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง จึงถือเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และยังเป็นการกระทำถึงขั้นเป็นความผิดกฎหมายอาญาอีกด้วย ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ให้การช่วยเหลือประชาชน ปล่อยให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเอง และมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาช่วยเหลือด้วย และการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าควบคุมประชาชนโดยไม่มีการประกาศเตือนและบอกเหตุผลก่อน ไม่แยกแยะผู้ชุมนุมกับประชาชนทั่วไปเป็นการกระทำโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

กรณีที่ 3 เหตุการณ์กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตบริเวณอนุสรณ์ สถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความเห็นว่า ยังไม่ปรากฏหลักฐานเพียงพอที่จะระบุได้ว่าฝ่ายใดเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 1 นายจากอาวุธปืน ประชาชนรวมถึงเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องนำผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีอาญาต่อไป

กรณีที่ 4 เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช.บริเวณโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และสภากาชาดไทย และการบุกเข้าไปตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มีความเห็นว่าการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งในส่วนของแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย

กรณีที่ 5 เหตุการณ์กรณีการสั่งการของรัฐบาล การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม ระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2553 รวมทั้งเหตุการณ์ต่อเนื่องเกิดการจลาจลการวางเพลิง และการทำลายทรัพย์สิน อาคาร สถานที่ของเอกชน รัฐ และรัฐวิสาหกิจ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งในต่างจังหวัด โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีความเห็นว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช. เป็นการชุมนุมด้วยความไม่สงบ จึงเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อความมั่นคงภายในประเทศ รัฐบาลจึงสามารถใช้อำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งในการกำหนดมาตรการปิดล้อมพื้นที่สี่แยกราชประสงค์และบริเวณโดยรอบตั้งแต่วันที่ 13-19 พฤษภาคม 2553 โดยให้เจ้าหน้าที่ทหาร สามารถใช้อาวุธปืนป้องกันตนเองได้ ถือว่าเป็นกรณีที่รัฐบาล กำหนดขึ้นโดยความจำเป็นตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก.ดังกล่าวและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 วรรค 2 กรณีนี้จึงไม่ละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุมของ นปช. แต่ด้วยความด้อยประสิทธิภาพในการจัดการของรัฐบาลทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบ รัฐบาลจึงต้องเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายด้วย

กรณีที่ 6 เหตุการณ์กรณีที่มีผู้เสียชีวิต 6 ศพ และการกระทำในรูปแบบอื่นๆ ในบริเวณวัดปทุมวนารามระหว่างวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2553 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีความเห็นว่า จากลักษณะทิศทางของกระสุนที่ปรากฏบนศพบางศพ มีลักษณะถูกยิงจากบนลงล่าง สันนิษฐานได้ว่าผู้ยิงอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า และตามข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ ทหารปฏิบัติหน้าที่อยู่บนรางรถไฟฟ้า หน้าวัดปทุมวนาราม จึงอาจเป็นไปได้ว่าความเสียหายกรณีการเสียชีวิตและบาดเจ็บส่วนหนึ่งย่อมเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐจึงมีหน้าที่ชดใช้ เยียวยาความเสียหายกับผู้ได้รับผลกระทบ และต้องสอบสวนหาข้อเท็จจริง และหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ

กรณีที่ 7 เหตุการณ์กรณีนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 และการดำเนินการเพื่อระงับการออกอากาศสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล (พีทีวี) ตลอดจนการระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสถานีวิทยุชุมชน สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออินเทอร์เน็ต คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มีความเห็นว่า รัฐมีอำนาจตาม พ.ร.ก.บริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ในการระงับมิให้มีการเผยแพร่การปราศรัยในลักษณะยั่วยุ ปลุกระดม ผู้ชุมนุมให้ก่อความรุนแรง ของสถานีโทรทัศน์พีทีวี รวมถึงสามารถระงับการเผยแพร่ข่าวสารของสื่ออินเทอร์เน็ต และสถานีวิทยุชุมชนด้วย แต่ในการปิดกั้นการเสนอข่าวสารทางเว็บไซต์ นั้น พบว่าหลายเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้น นอกจากมีเนื้อหาเผยแพร่ข่าวสารที่อาจกระทบต่อความมั่นคงแล้ว ยังมีเนื้อหาสาระอื่นที่หลากหลายไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารต้องห้าม ดังนั้น การสั่งการของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะ ผอ.ศอ.รส. และ ผอ.ศอฉ. รวมทั้งการดำเนินการของกระทรวงไอซีที เป็นการลิดรอนเสรีภาพของสื่อ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

กรณีที่ 8 เหตุการณ์กรณีการชุมนุมและการเคลื่อนขบวนของกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม-20 พฤษภาคม 2553 ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมตลอดจนการชุมนุมปิดล้อมอาคารสถานที่ต่างๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รัฐสภา กองทัพภาคที่ 1 เป็นต้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มีความเห็นว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการที่มีแพทย์ และพยาบาลในกลุ่ม นปช. เจาะเลือดผู้ชุมนุมเพื่อนำไปเทที่พรรคประชาธิปัตย์ และทำเนียบรัฐบาล ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดต่อวิชาชีพตนเอง และละเมิดต่อผู้ที่รับการเจาะเลือดด้วย และยังผิดกฎหมายอาญา ฐานรุกเข้าไปยังเคหสถานผู้อื่น ในการเทเลือด

และกรณีที่ 9 เหตุการณ์การเสียชีวิต และบาดเจ็บ ตลอดจนความรุนแรงต่อสื่อมวลชนในรูปแบบอื่นๆ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีความเห็นว่า รัฐมีหน้าที่รับผิดชอบเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ และครอบครัว และเห็นว่ากรณีที่มีกลุ่มคนยึดรถถ่ายทอดสดของสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ถือเป็นการคุกคามสื่อ ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 45


กำลังโหลดความคิดเห็น