xs
xsm
sm
md
lg

สไนเปอร์เลื่อนพบDSI ทบ.ส่งทหารพระธรรมนูญช่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(21 ส.ค.55) พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีการเสียชีวิต 91 ศพ เปิดเผยว่า ตามที่พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกพลระวังป้องกัน 2 นาย เจ้าให้ปากคำในวันที่ 22 ส.ค.นี้ เพื่อสอบถามถึงการปฏิบัติหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมราชประสงค์ ล่าสุดดีเอสไอได้รับการประสานจากผู้บังคับบัญชาพลระวังป้องกันว่า ยังไม่พร้อมเข้าให้การ เนื่องจากติดธุระอื่นที่นัดหมายไว้ล่วงหน้า จึงขอเลื่อนนัดการเข้าให้ปากคำออกไป โดยจะเข้าให้การกับพนักงานสอบสวนภายในสิ้นเดือนส.ค.นี้
สำหรับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ดีเอสไอได้ออกหมายเรียกเข้าให้ปากคำเกี่ยวกับการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในวันที่ 27 ส.ค. นี้

**ส่งทห.พระธรรมนูญคุมพลระวังป้องกัน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. กล่าวว่า เท่าที่ทราบเขารับราชการเป็นพลทหารและมียศเป็นสิบตรีกองประจำการ โดยเกษียณไปแล้ว ซึ่งทางดีเอสไอมีอำนาจที่จะเรียกไปสอบสวน ก็ต้องมารายงานตัวและให้ข้อมูล แม้ว่ากำลังพลจะเกษียณไปแล้ว ทางกองทัพบกจะจัดส่งเจ้าหน้าที่กรมพระธรรมนูญไปดูแล คอยให้ความมั่นใจกับเขา เพราะเขาเป็นอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาที่ปลดประจำการไปแล้ว และเป็นกองหนุน ซึ่งความผูกพันที่เรามีให้กันไม่ใช่เฉพาะในส่วนของทหารที่รับราชการอยู่ เมื่อเกษียณอายุราชการไปแล้วก็ยังมีชมรมทหารกองหนุนอยู่ มีการติดตามดูแลเอาใจใส่ ใครเดือดร้อนกลับมาให้ผู้บังคับบัญชาเก่าดูแล ซึ่งตนได้มอบหมายความรับผิดชอบไปแล้ว เพราะฉะนั้นเราไม่ได้เกรงกลัวอะไร จะผิดจะถูกก็เป็นเรื่องของกฎหมายและเป็นอำนาจในการเรียก โดยที่ผ่านมากองทัพบกก็ให้ความร่วมมือทุกประการ ไม่เคยปกปิดหรือพูดในสิ่งที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง
เมื่อถามว่า มั่นใจพยานหลักฐานที่มีอยู่สามารถเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเจ้าหน้าที่ที่บาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงทำให้ประชาชนมั่นใจว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่รัฐได้มากน้อยแค่ไหน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ที่ต้องคำนึงในหลายส่วน ทั้งวัตถุพยาน พยานบุคคล รวมถึงการพิสูจน์นิติทางวิทยาศาสตร์ นำสิ่งเหล่านี้มาประกอบกันก่อนจะเข้าสู่กระบวนการตัดสิน หากมีพยานก็ต้องไปดูว่าพยานเชื่อถือได้หรือไม่ และในห้วงที่ผ่านมาหายไปไหน แล้วในวันนี้ถึงปรากฎตัวขึ้นมามากมาย รวมทั้งพยานของอีกฝ่ายหายว่าไปไหนหมด ก็ต้องไปว่ากัน
“ผมคิดว่าสังคมทราบดีว่าเกิดอะไรขึ้น ส่วนของทหารไม่ได้หวั่นไหวอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่สิ่งที่ผมพยายามอธิบายให้เข้าใจ ไม่อยากให้เอาประเด็นนี้มาทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย ซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่ต้องว่ากันไป เหมือนกับคดีอื่นๆ ถ้านำเรื่องนี้มาเป็นเรื่องใหญ่ บ้านเมืองก็วุ่นวาย เรื่องคดีก็ต้องต่อสู้กันไป คิดว่าไม่ได้มาตัดสินในวัน 2 วันนี้อยู่แล้ว ใครมีพยานหลักฐานก็เอามาประกอบ ศาลให้โอกาสทุกฝ่ายอยู่แล้ว และตอนนี้ก็ไม่ได้เป็นผู้ต้องหา ก็ต้องชี้แจงกันไป ผมและทหารทุกคนไม่ได้หนักใจอะไร เพียงแต่ถ้าพูดกันไปมากๆ สังคมจะเข้าใจว่าการกระทำความผิดได้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นอันตรายต่อสังคมไทย “ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

**หยุดพูดเนื้อหาในคดี ให้ศาลตัดสิน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า การทำงานที่ผ่านมาไม่ใช่เฉพาะแต่ในส่วนของทหาร หรือใครคนใดคนหนึ่งแต่ทำกันเป็นรูปแบบคณะทำงาน และเป็นกฎหมาย จะผิดจะถูกก็ไปว่าในกระบวนการยุติธรรม สำหรับข้อมูลหลักฐานของกองทัพบกที่ส่งไปให้พนักงานสอบสวน บางส่วนหายไปไม่ได้รับการพิจารณานั้น ไม่น่าเป็นห่วงอะไร เพราะเป็นหลักฐานที่ต้องลงบันทึกประจำวัน อาจจะพูดว่าไม่เห็น ไม่มีก็พูดได้ แต่หลักฐานมีอยู่จริง เราส่งอะไรไปอย่างไรก็ต้องมี ถ้าหลักฐานที่ส่งไม่ได้ถูกบันทึกไว้ก็ใช้ไม่ได้ จะต้องมีการบันทึกทั้งคนส่งและคนรับ บางครั้งผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานอาจจะไม่ทราบ จนไม่ได้พูดถึง ซึ่งต้องมี แต่ถ้าไม่มีจริงๆก็หากันใหม่ รวบรวมกันได้เพราะหลักฐานก็ต้องมีสำเนาทุกเรื่อง อย่างไรก็ตามไม่อยากให้นำหลักฐานมาตีแผ่ น่าจะนำไปพูดคุยกันในศาลมากกว่า ถ้าเอามาพูดกันตามสื่อก็ไม่มีอะไรดีกับใคร เป็นเรื่องกันแค่ 2 ฝ่าย แต่ทำไมต้องนำเรื่องดังกล่าวมายัดให้คนทั้งประเทศรับรู้ทุกวัน ตนคิดว่าประชาชนก็เครียด แทนที่จะเอาเวลาไปทำมาหากิน ต้องมานั่งฟังเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องระหว่างคน 2 กลุ่ม
"ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตทำอย่างไรให้สงบเงียบ และให้กระบวนการยุติธรรมทำงานไป และให้ความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชน ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นสีไหน ตนไม่เคยแยกและไม่เคยสั่งว่าถ้าเป็นสีนั้นสีนี้ไม่ต้องไปช่วย ช่วยทุกสี การที่จะมามองว่าทหารทำร้ายประชาชนอย่างเดียว คิดว่าไม่ถูก อยากให้กลับไปหาว่าจริงๆแล้วใครทำร้ายใคร ใครเป็นเจ้าหน้าที่ ใครเป็นผู้ก่อเหตุ ไปหากันให้เจอว่าใครก่อเรื่อง อย่างไรก็ตามไม่อยากไปพาดพิงว่าใครเป็นพวกใคร แต่ระหว่างคนดีกับคนร้าย แยกกันให้ออกและไปหาให้เจอ ซึ่งเหตุการณ์ในปี 2553 ทุกคนในประเทศก็เห็นว่าเป็นอย่างไร ทหารไม่ได้มีเจตนาที่จะไปทำร้ายประชาชน ทุกคนไปทำตามหน้าที่"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
เมื่อถามว่า ผบ.ทบ. น้อยใจที่ทำงานมาก แต่ถูกว่ากล่าว พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ไม่เคยน้อยใจ เพราะไม่ใช่คนใจน้อย หัวก็ไม่ล้านด้วย”

**ยัน ไม่มีแทรกแซงเหตุกลัวติดคุก
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ยืนยันว่าตนไม่เคยกลั่นแกล้ง ไม่เคยออกคำสั่งกับดีเอสไอ และไม่เคยสั่งตำรวจนครบาลให้ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย มีคำสั่งเฉพาะให้ดำเนินการไปตามข้อเท็จจริง ตามกฎหมาย พยานเอกสาร พยานบุคคล และพยานวัตถุ โดยไม่ต้องหวั่นเกรงกลัวอิทธิพลใครทั้งสิ้น และไม่ต้องฟังคำสั่งของตนถ้าไม่ถูกต้อง ซึ่งตนจะไม่ให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้อีก เพราะทางพรรคประชาธิปัตย์กล่าวหาว่าตนชี้นำ ซึ่งไม่เป็นความจริง ชี้นำไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องคดีอาญา ชี้นำก็ติดคุก เรื่องนี้ใครทำอะไรไว้คงรู้แก่ใจดี
นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี นายธาริต เรียกร้องให้ตนขอโทษ ว่า ตนสงสัยว่าคงกินยาผิดซอง เพราะนายธาริต เคยกล่าวในที่ประชุมกรรมาธิการงบประมาณปี 56 เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 55 ว่า
“ผมกราบเรียนด้วยความเคารพว่า ดีเอสไอ เป็นเครื่องมือของฝ่ายรัฐบาลอย่างแน่นอน” และตนได้นำเรื่องดังกล่าวมาอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ
ทั้งนี้ คำสารภาพของนายธาริต สอดคล้องกับคำอภิปรายในสภาของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่เคยระบุว่า ดีเอสไอ ผมสั่งได้ ดังนั้นเมื่อนายธาริต ยอมรับว่าเป็นเครื่องมือของฝ่ายรัฐบาล ตนก็ขอบคุณนายธาริต ที่พูดความจริงให้กรรมาธิการฯได้รับทราบ และนำความจริงดังกล่าวบอกประชาชนทั้งประเทศ ตนไม่ได้บิดเบือน ใส่ร้าย นายธาริต แต่ประการใด และขอท้าให้นายธาริต ไปแจ้งความดำเนินคดีกับตน ถ้าหากคิดว่าตนใส่ร้าย บิดเบือนให้ได้รับความเสียหาย

**กสม.ยังไม่สรุปกรณีสลายชุมนุม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เปิดเผยรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงในช่วงปี 52 – 53 ต่อสาธารณชน
ขณะที่ นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน อ้างผ่านเลขานุการหน้าห้องว่าไม่ค่อยสะดวกที่จะให้สัมภาษณ์ ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังอยู่ขั้นตอนการพิจารณายังไม่แล้วเสร็จ และนางอมรา ต้องการที่จะได้ผลสรุปที่ชัดเจนเสียก่อนแล้วจะแจ้งไปยังสื่อมวลชน เพื่อนัดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการต่อไป”

** 'ทนายฝรั่ง'โต้ไม่ได้รู้สึกกลัวที่ถูกฟ้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ. ผ่านทางเว็บไซต์ ว่าข่าวที่พล.อ.ประยุทธ์ สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแจ้งความดำเนินคดีอาญาหมิ่นประมาทต่อตนและล่ามอาจทำให้หลายคนรู้สึกตกตะลึง แต่สำหรับตนแล้วข่าวนี้ไม่ใช้เรื่องน่าแปลกประหลาดเลย เป็นเวลานานที่กลุ่มบุคคลซึ่งหวาดกลัวในระบอบประชาธิปไตยและความจริงในประเทศไทยใช้ระบบตุลาการเป็นเครื่องมือปิดปากและข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม อย่างไรก็ตาม บทบาทการทำงานของตนในนามของเหยื่อจากเหตุการณ์ความรุนแรงโดยรัฐที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์มีความสำคัญมากและไม่ทำให้ผมรู้สึกกลัว พล.อ.ประยุทธ์และพวกพ้องของท่านในพรรคประชาธิปัตย์ไม่ควรเข้าใจผิด ตนยังคงยืนกรานมุ่งมั่นเพื่อนำผู้กระทำผิดในเหตุการณ์ปี 2553 มารับผิดทางกฎหมาย
หลังจากอ่านคำสัมภาษณ์ของท่านล่าสุดตามหน้าสื่อมวลชน ตนรู้สึกประหลาดใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่าต้องการ "ปกป้องชื่อเสียงของทุกคนในกองทัพ" ตนขอพูดว่า เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในกองทัพเป็นชายหนุ่มซึ่งมีเกียรติ มีความซื่อสัตย์ และกล้าหาญ ทหารบางนายต้องเสี่ยงชีวิตตนเองระหว่างการปฏิบัติงานในภาคใต้และที่อื่นๆทุกวัน แน่นอนว่าชื่อเสียงของพวกเขามีคุณค่าและควรที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง

**ย้อนกองทัพแปดเปื้อนผบ.ลอยนวล
นายอัมสเตอร์ดัมยังระบุด้วยว่า คำถามของตนถึงพล.อ.ประยุทธ์คือ ใครคือผู้รับผิดชอบต่อการทำลายชื่อเสียงของทหารผู้มีเกียรติและรักชาติหลายพันนายในกองทัพไทย? ตนขอบอกท่านว่าชื่อเสียงของชายหนุ่มเหล่านี้แปดเปื้อนอย่างมาก มิใช่เพราะคำพูดของกลุ่มบุคคลที่ต้องการนำตัวผู้บังคับบัญชาของพวกเขามารับผิดทางกฎหมาย แต่เกิดจากการกระทำของผู้บังคับบัญชาของพวกเขาในหลายทศวรรษที่ผ่านมา การเสวยสุขจากระบบการทำผิดแล้วลอยนวล ตลอดระยะเวลาดังกล่าว รวมถึงคำสั่งให้ใช้พลซุ่มยิงและพลแม่นปืนยิงพลเรือน เนื่องจากตนให้ความเคารพต่อทหารไทยอย่างมาก ดังนั้นตนจึงไม่พอใจที่พล.อ.ประยุทธ์พยายามจะใช้ทหารเหล่านี้เป็นเกราะกำบังเพื่อปกป้องระบบการทำผิดแล้วลอยนวลและผู้มีอำนาจ
"หากท่านจริงจังในการปกป้องชื่อเสียงของทหาร ท่านไม่ควรจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ในดำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกหาข้ออ้างให้กับพฤติกรรมการกระทำอาชญากรรม แต่ควรสร้างกองทัพไทยให้เป็นสถาบันที่บุคคลซึ่งละเมิดสิทธิมนุษยชนต้องรับผิดทางกฎหมาย และขั้นตอนแรกที่จะเป็นประโยชน์คือ ปล่อยให้มีการสอบสวนอย่างเหมาะสม โดยการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างยุติธรรมโดยไม่คำนึงถึงสถานะของผู้กระทำความผิด และพนักงานสอบสวนนั้นจะต้องไม่ถูกขู่เข็ญให้ "ขอโทษ" ท่าน เพราะการทำงานของเขา การสอบสวนที่เปิดเผยและโปร่งใสควรจะรวมถึงการค้นหาสาเหตุการเสียชีวิตของเหล่าทหารที่คอกวัวและที่อื่น แน่นอนว่าท่านคงไม่ปฏิเสธโอกาสที่จะนำความยุติธรรมมาให้กับครอบครัวทหารซึ่งเสียชีวิตในปี 2553 เหมือนเช่นเหยื่อทุกคน ใช่หรือไม่?".

**ทบ.ฮึ่มเตรียมฟ้องดะ “กลุ่ม-บุคคล”
พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก(ทบ.) กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้แนวทางจากกรณีนี้ว่า ไม่เฉพาะตัวบุคคล กลุ่มบุคคล หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ที่นำเสนอข้อมูลผ่านทางสื่อที่แต่งแต้มสีสันใส่ข้อมูลเพิ่มเติม ใส่ความคิดเห็นบิดเบือน จนทำสังคมเกิดความเข้าใจผิดในการปฏิบัติงานของกองทัพหรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.)
“ผบ.ทบ.จะให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องติดตามเรื่องต่างๆ และตรวจสอบในกระบวนการของการทำงานว่าส่งผลต่อภาพลักษณ์กองทัพบกหรือไม่ หากส่งผลและทำให้เกิดความเสียหายก็จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเช่นกัน”
พ.อ.สรรเสริญ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกองทัพบกเตรียมเชิญ บรรณาธิการและ คอลัมน์นิสต์ หนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ร่วมหารือทำความเข้าใจการทำงานของกองทัพบก ว่า สำนักงานเลขานุการกองทัพบกได้ทำหนังสือเชิญมาร่วมรับประทานอาหารเย็นพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารระดับสูงกองทัพบก ในวันที่ 27 สิงหาคมนี้ เวลา 18.00 น. ที่โรงแรมมิราเคิล แกนด์
กำลังโหลดความคิดเห็น