xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สำเหนียกของ”เดอะโต้ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ปรากฏการณ์ที่กลุ่มชาวนาประมาณ 30 คน ในเขต อ.เมืองเพชรบูรณ์ ชุมนุมรวมตัวกันเรียกร้องขอรับเงินค่าข้าว บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งขายให้โรงสีมานะยิ่งเจริญดี ต.วังชมพู อ.เมืองฯ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งอ้างว่าได้เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวนาปรังของรัฐบาล แต่ยังไม่ได้รับเงิน เมื่อรวมกับชาวนาในพื้นที่อื่นๆ ประมาณเกือบ 200 ราย โดยตกลงจ่ายในราคาเกวียนละ 9,000 บาท ที่ความชื้น 20-25 % ตัวเลขเบื้องต้นพบว่า เกษตรกรถูกฉ้อโกง 21,510,706 บาท

นั่นเป็นเหตุการณ์ที่โครงการรับจำนำข้าวสร้างความเสียหายให้กับชาวบ้าน

ขณะที่ปัญหาในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ก็ไม่สามารถเบิกเงินได้

ทำให้กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ได้ตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวนจำนวน 15 นาย จากพื้นที่ 10 สภ. เพื่อแยกสอบสวนเกษตรกรที่นำข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวปี 2554/2555 ว่าได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากไม่ได้รับใบประทวนจากองค์การคลังสินค้า ทำให้ไม่สามารถดำเนินการมาขอรับเงินจาก ธ.ก.ส. ตามโครงการได้จำนวนกว่า 600 ราย มานานร่วม 3 เดือน

เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเมื่อคณะกรรมการติดตามกำกับดูแลการรับจำนำข้าว ระดับจังหวัด ตรวจสอบพบว่ามีความผิดปกติ ส่อเค้าการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวใน 11 อำเภอ และได้มีเกษตรกรเข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในข้อหาฉ้อโกงประชาชนแล้วกว่า 460 ราย

แต่ข้อเท็จจริงเหล่านั้น กลับไม่ทำให้ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รมว.คลัง สำนึกในการใช้เงินของคนอื่น

ที่สำคัญ เงินเหล่านั้นไม่ใช่เงินของกิตติรัตน์

ถ้ามีสำนึกความรับผิดชอบในการใช้เงินของคนอื่น เดอะโต้ง ควรจะใช้เงินของ “ทักษิณ” มารับจำนำข้าว

“ขอให้สบายใจได้ ไม่ต้องเป็นห่วง” กิตติรัตน์ ตอกย้ำ ในคำถามว่า สื่อต่างประเทศบอกว่าโครงการดังกล่าวขาดทุนจำนวนมาก
ในเฟซบุ๊กของคนเสื้อแดง ที่ไม่ใช้สมองแทนเท้า อธิบายการจำนำข้าวไว้ว่า

1. ชาวนาขึ้นทะเบียน บอกจำนวนที่นา คำนวณได้ปริมาณข้าวที่จะเพาะปลูกได้ เช่น 10 ตัน
2. กำหนดวงเงินบัตรเครดิตชาวนา ตามจำนวนข้าวที่จะเพาะปลูกได้ เช่น 70 % x 10 ตัน x 15,000 บาท
3. ชาวนาไปที่ร้านเกษตรภัณฑ์ รูดบัตรเครดิต ได้เมล็ดพันธ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง นำไปเพาะปลูก

สมมุติว่า ปริมาณข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ 1 ล้านตัน มีความต้องการในประเทศ + ส่งออก 7 แสนตัน ก็รับจำนำ 3 แสนตัน ที่เหลือพ่อค้าข้าว ต้องแย่งซื้อ

4. โรงสีรับจำนำข้าว ก็จะใส่ข้อมูลลงในบัตรเครดิต
5. ชาวนาก็นำบัตรเครดิต ไปที่ ธ.ก.ส. หักหนี้ที่รูดซื้อ เหลือส่วนต่าง รับกำไร

ถ้ากระบวนการจำนำข้าวสร้างประโยชน์ให้กับชาวนา และภาษีของคนทั้งประเทศ เหมือน 5 ขั้นตอนที่บอกไว้

โลกนี้คงรับจำนำข้าวไปนานแล้ว

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประกาศด้วยความพอใจ ในการใช้จ่ายงบประมาณตามโครงการจำนำข้าวว่า มีข้าวนาปีเข้าร่วมโครงการประมาณ 6.77 ล้านตัน คิดเป็นเงินประมาณ 120,000 ล้านบาท

ขณะนี้มีข้าวนาปรังเข้าร่วมโครงการแล้ว 10 ล้านตัน คิดเป็นเงินประมาณ 140,000 ล้านบาท โดยจะสิ้นสุดโครงการข้าวนาปรัง ภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ จะมีข้าวนาปรังเข้าร่วมโครงการประมาณ 12 ล้านตัน คิดเป็นเงินประมาณ 160,000 ล้านบาท

นั่นหมายความว่า งบประมาณที่ใช้สำหรับรับจำนวนข้าว ทั้งข้าวนาปี และข้าวนาปรัง ประมาณ 280,000 ล้านบาท

ปลัดกระทรวงพาณิชย์บอกด้วยความดีอกดีใจว่า ผลการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2554/55 ที่สิ้นสุดโครงการเมื่อวันที่ 29 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า มีปริมาณข้าวเข้าโครงการประมาณ 6.77 ล้านตัน โดยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ เฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 15,000-16,500 บาท ข้าวเปลือกหอมจังหวัด เฉลี่ยตันละ 11,000-16,000 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี เฉลี่ยตันละ 9,500-12,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า เฉลี่ยตันละ 9,000-13,900 บาท และข้าวเปลือกเหนียว เฉลี่ยตันละ 11,000-14,500 บาท

โดยมีการประเมินแบบวิทยาศาสตร์ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ ในปี 2555 มีประมาณ 100,000 ล้านบาท ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จะต้องรับผิดชอบ

นักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยตัวเลขข้อมูลว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ และกำลังสร้างภาระให้กับงบประมาณจากการซื้อข้าวเก็บสต็อกเป็นจำนวนมาก

“ถ้าหากรัฐบาลยังเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป รัฐบาลอาจจะถึงทางตัน และจะเกิดความเสียหายทั้งการก่อหนี้ และทำให้ราคาข้าวตกต่ำ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี และนาปรังฤดูการผลิตที่ 2554/2555 ที่ใช้เงินไปแล้วมากกว่า 2 แสนล้านบาท และยังไม่มีการระบายข้าว ทำให้ขณะนี้รัฐบาลมีข้าวในสต็อกจำนวนมาก” ดร.อัมมาร์ สยามวาลา นักวิชาการจาก ทีดีอาร์ไอ อธิบายสาเหตุของหายนะครั้งนี้

ที่สำคัญ งบประมาณของโครงการกำลังสร้างภาระทางการคลังของประเทศในระยะยาว และเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า

มีการประเมินกันเบื้องต้นว่า รัฐบาลจะเสียหายจากการรับจำนำไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท จากปริมาณข้าวกว่า 10 ล้านตัน ต้นทุนที่ตันละ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่าราคาตลาดโลกถึงเท่าตัว หากรัฐบาลต้องการระบายข้าว ต้องยอมขาดทุนครึ่งหนึ่ง เพราะไม่มีทางเลือกเก็บข้าวไว้ได้นาน เพราะว่าถ้าเก็บนานจะยิ่งเสื่อมคุณภาพ

นั่นหมายความว่า ราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาดโลก ซึ่งตรงกันข้ามข้อความชเลียร์ของคนเสื้อแดง

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศหรือทีดีอาร์ไอ กล่าวในงานเสวนาวิชาการ "วิพากษ์ผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล" ซึ่งจัดโดย สถาบันคึกฤทธิ์ว่า

“นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นนโยบายประชานิยมจนตรอก ที่ต้องการชนะการเลือกตั้งเท่านั้น และหากจะประเมินผลงานรัฐบาล คงให้คะแนนสอบตก โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว 15,000 บาทต่อตัน ที่ถือเป็นการกำหนดราคาเกินกว่าราคาตลาด ทำให้การส่งออกข้าวของไทยลดลง และเสียส่วนแบ่งตลาดทันที ซึ่งหากไทยขายข้าวในราคาปัจจุบันที่ ประมาณ 600 เหรียญสหรัฐ ต่อตันจะขาดทุน 100,000 ล้านบาท เพราะต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 800 เหรียญสหรัฐต่อตัน ประกอบกับข้าวที่รัฐบาลรับจำนำแบบทุกเมล็ดทำให้มีปัญหาเรื่องการจัดเก็บ และการระบายข้าว”

ดร.นิพนธ์ ยังบอกอีกว่า ภาระงบประมาณในการกู้เงินเพื่อมาทำโครงการจำนำข้าวต่อ และโครงการรับจำนำข้าว ก็เอื้อประโยชน์ต่อชาวนาบางกลุ่มเพียง 1 ล้านครัวเรือน ที่มีผลผลิตส่วนเกินที่ออกขายสู่ตลาด ซึ่งล้วนเป็นชาวนาที่มีฐานะร่ำรวย ขณะที่ชาวนาอีก 4 ล้านครัวเรือน ที่ปลูกข้าวกินเอง ไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากโครงการนี้

นอกจากนั้นยังมีการสวมสิทธิ์จำนำข้าว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการคอรัปชั่นจำนวนมาก

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย ?(ทีดีอาร์ไอ) พบว่า ตัวเลขการจำนำข้าวในไทยทั้งหมด 10.2 ล้านตัน ?ส่งออก 5.1 ล้านตัน บริโภค 7.4 ล้านตัน รวมเป็นจำนวนข้าวทั้งหมด 22.6 ล้านตัน แต่ข้าวที่ผลิตได้ทั้งประเทศมีเพียงแค่ 19.4 ล้านตัน

“จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าคนไทยมีการบริโภคข้าวลม และส่งออกข้าวลม จนมีข้าวส่วนเกินกว่า 3.3 ล้านตัน? ต้องถามไปยังกระทรวงพาณิชย์ว่า ส่วนเกินเอามาจากไหน ขอให้รีบออกมาชี้แจง” ชวนนท์ อินทรโกลมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ อธิบายความเสียหายจากการใช้เงินคนอื่นของรัฐบาล

นั่นหมายความว่า โครงการรับจำนำข้าว ทำให้ภาระหนี้ของประเทศเพิ่มขึ้นนับแสนล้านบาท สร้างความเสียหายอย่างน้อยหนึ่งแสนล้านบาท และทำให้ราคาข้าวตกต่ำ ส่วนแบ่งการตลาดในตลาดข้าวโลก ลดลงทันที

"ในภาพใหญ่ที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วิเคราะห์ ข้าวสารที่นำไปเข้าโครงการรับจำนำ มีทั้งหมด 10.2 ล้านตัน รวมส่งออก 5.1 ล้านตัน ขายในประเทศอีก 7.4 ล้านตัน รวมทั้งสิ้น 22.7ล้านตัน แต่ปรากฏว่า ไทยผลิตข้าวทั้งหมดเพียงแค่ 19.4 ล้านตัน คำถามของทีดีอาร์ไอต่อรัฐบาลคือ ส่วนต่าง 3.3 ล้านตันนั้น มาจากไหน ทั้งนี้ ทีดีอาร์ไอ คาดว่า น่าจะมีทั้งการนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาขายให้รัฐบาล นอกจากนั้นได้มีการลักลอบนำข้าวจากโกดังรัฐบาลมาขายด้วย ( และสลับด้วยข้าวเก่าที่อยู่ในมือ ) ถ้าทุกๆ ตันข้าวสาร ขายขาดทุน 9,000 บาท 3.3 ล้านตัน ที่สวมสิทธิ์เข้ามา เท่ากับเงินภาษีถูกโกง 29,700,000 ล้านบาท” กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขียนไว้ในเฟสบุ๊ค

ผลการตรวจสอบของภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน (ภคต.) พบว่า โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งดำเนินการมาครบ 1 ปี มีปัญหาอย่างมาก ทั้งการสวมสิทธิ จัดเก็บ การระบายข้าวของรัฐ ตลอดจนคุณภาพข้าวลดลง

“การขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวที่ประเมินว่าจะขาดทุน 200,000 -300,000 ล้านบาท เพราะปริมาณการผลิตข้าวทั่วโลกสูง 400 ล้านตัน เทียบความต้องการบริโภค 30 ล้านตันต่อปี ทำให้ไทยขายข้าวไม่ได้ เพราะเสียเปรียบด้านราคา” ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ตอกย้ำความหายนะที่กำลังเกิดขึ้น ในประเทศนี้

แน่นอนว่า คนอย่าง กิตติรัตน์ ไม่สำเหนียกพอ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น