xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ส่งออกโวย‘ยิ่งลักษณ์’ทำลายอุตฯข้าวไทย เคราะห์ซ้ำ!ต่างชาติย้อมแมวข้าวผสมตีตรา‘หอมมะลิไทย’ (ตอนที่2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข้าวไทย ภาพ:ศูนย์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ชี้โครงการรับจำนำข้าวทำลายอุตสาหกรรมข้าวไทยส่อเค้าตายเรียบใน 2 ปี “ราคาข้าวไทยสูงปรี๊ด-คุณภาพตกฮวบ” ทำผู้ส่งออกข้าวไทยหนีระส่ำ รายใหญ่ต้องไปเทรดข้าวเพื่อนบ้าน “อินเดีย-เวียดนาม-กัมพูชา-พม่า” ส่งตลาดใหญ่แทน ส่วนรายเล็กเตรียมเจ๊งระนาว เผยผู้อยู่รอดต้องมีทุน 400-500 ล้านบาทขึ้นไป ขณะเดียวกันเทรดเดอร์ต่างชาติ รุกเข้ามาทำธุรกิจข้าวไทยต้นน้ำยันปลายน้ำ ถึงขั้นย้อมแมวใช้ข้าวหอมไทยครึ่งเดียวแต่ติดตรา ‘ข้าวหอมมะลิไทย’ ส่งขาย ขณะที่ผู้ส่งออกข้าวหวั่นเกิดทุจริตซ้ำรอยเพรสซิเดนท์ อะกริ จับตา บริษัท สยามอินดิก้า เดินตามใกล้ชิดอดีตนายกฯ

แม้ประเทศไทยจะเป็นแชมป์ผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 31% แต่สถานการณ์การแข่งขันของสินค้าข้าวในตลาดโลกปัจจุบัน และแนวโน้มอนาคตอันใกล้ กลับเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงยิ่งสำหรับประเทศไทย เนื่องจากการแข่งขันในตลาดข้าวนี้มีความดุเดือดรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ความสามารถในการแข่งขันของไทยกลับลดลงอย่างน่าใจหาย

ข้อมูลสถิติการส่งออกข้าวในปี 2555 ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-15 มิ.ย. 2555 มีการส่งออกข้าวจำนวน 3,133,112 ตัน (ข้าวสาร) ถือว่าน้อยลง 45.48% ของเวลาเดียวกันเมื่อเทียบปี 2554 ที่อยู่ที่ 5,747,226 ตัน (ข้าวสาร) ล่าสุดสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยออกมาประเมินการส่งออกข้าวในปีนี้ว่าจะมีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านตัน จากปี พ.ศ. 2554 ที่มีปริมาณส่งออกสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 10.5 ล้านตัน จากการแข่งขันที่รุนแรงอย่างมาก และเชื่อว่าในปี พ.ศ. 2558 ที่มีการเปิดเสรีประชาคมอาเซียนแล้ว ข้าวไทยจะยิ่งแข่งขันลำบากขึ้น

นอกจากข้าวไทยจะแข่งขันกับประเทศอื่นลำบาก เนื่องจากการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงมากขึ้น จากทั้งประเทศอินเดีย เวียดนาม และการเปิดประเทศของพม่าซึ่งจะเป็นคู่แข่งสำคัญในอนาคตอันใกล้นี้แล้ว

ยังส่งผลให้ผู้ประกอบการส่งออกข้าวไปต่างประเทศของไทยทำได้ยากขึ้น เนื่องเพราะการแข่งขันสูงจนรายใหญ่ยังต้องปรับตัวอย่างหนัก ขณะที่รายเล็กเตรียมตายเรียบ!

ต่างชาติเป็นเทรดเดอร์แข่งส่งออกข้าว

น.ส.กอบสุข เอี่ยมสุรีย ์นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับทีม “Special Scoop” ว่าในการเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 ในส่วนของผู้ประกอบการส่งออกข้าว หรือโบรกเกอร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่เปิดขึ้นเพื่อส่งออกข้าวไทยให้ลูกค้าในต่างประเทศของไทย จะได้รับผลกระทบอย่างหนักด้วย เนื่องจากปัจจุบันนี้พบว่ามีชาวต่างประเทศหลายประเทศเริ่มเข้ามาในไทย เพื่อเป็นโบรกเกอร์ซื้อข้าวจากโรงสี หรือตั้งโรงสีเอง และส่งข้าวไทยไปให้ลูกค้าในต่างประเทศ

“ในอนาคตจะมีชาวต่างชาติมาเป็นโบรกเกอร์ค้าข้าวในไทยมากขึ้น ซึ่งไทยอาจจะทำอะไรกับชาวต่างชาติไม่ได้มากนัก เพราะกฎหมายไทยไม่ได้ห้ามไว้” นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุ

ขณะที่ นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ยอมรับว่าต่างชาติได้มีการมาเปิดบริษัทในไทยเพื่อทำธุรกิจค้าส่งข้าวออกต่างประเทศจริง เท่าที่สังเกต จะมีบริษัทใน 2 ลักษณะคือ มาซื้อข้าวจากเกษตรกรเอง ตั้งโรงสี และส่งออกไปประเทศอื่น และอีกประเภทคือ เป็นเทรดเดอร์เปิดบริษัทส่งออกในลักษณะมีการมาหาซื้อข้าวจากโรงสีแล้วส่งออกไปให้ลูกค้า ซึ่งที่ผ่านมามีชาวต่างชาติมาประกอบธุรกิจนี้อยู่ในไทยหลายรายแล้ว โดยประเทศที่เข้ามาประกอบด้วย สิงคโปร์ จีน และฮ่องกง

อย่างไรก็ดีแม้ในปี 2558 จะมีชาวต่างชาติเข้ามาเปิดบริษัทในลักษณะเป็นเทรดเดอร์มากแต่ก็ไม่น่าเป็นห่วง เพราะข้าวไทยมีราคาแพงเกินไป และตลาดไทยไม่ได้สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับบริษัทเหล่านี้ในระดับข้าวทั่วไป เนื่องจากข้าวไทยมีราคาสูงกว่าตลาดโลกมาก

“เราต้องยอมรับว่า ปัจจุบันไทยไม่ใช่ผู้ส่งออกข้าวที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงอีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะจากโครงการรับจำนำข้าวที่ตั้งราคารับจำนำสูงเกินไป ขณะที่ต้นทุนการผลิตข้าวไทยก็สูงกว่าเพื่อนบ้านหลายเท่า”

นายชูเกียรติย้ำว่า แค่ผู้ประกอบการข้าวไทยยังอยู่ยาก แล้วต่างประเทศที่ไหนจะอยากเข้ามา!

“รับจำนำข้าว-ต้นทุนสูง”ข้าวไทยแข่งยาก

ขณะเดียวกัน นายชูเกียรติบอกอีกว่า การที่ข้าวไทยมีการแข่งขันในเวทีโลกได้ยากขึ้นนั้นมีสาเหตุจาก 2 ปัจจัยหลัก

ปัจจัยแรกเป็นเรื่องของ โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ต้องยอมรับว่าการที่ฝ่ายการเมืองตั้งราคาข้าวในการรับจำนำสูงไปตั้งแต่การเลือกตั้ง ทำให้เมื่อมาเป็นรัฐบาลแล้วก็ต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้ต่อเกษตรกร แม้จะไม่เหมาะสมกับภาวะการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก อีกทั้งยังเป็นการทำให้การแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลกมีความสามารถในการแข่งขันลดลง

กล่าวคือรัฐบาลได้ตั้งราคารับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิสูงถึงตันละ 20,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 100% ที่ 15,000 บาท ทำให้ไทยต้องตั้งราคาขายข้าวสูงกว่าราคาตลาดอย่างมาก อย่างข้าวหอมมะลิของไทยมีราคา FOB อยู่ที่ 1,100 เหรียญต่อตัน

ขณะที่ประเทศกัมพูชานั้น ชาวต่างชาติทราบดีว่ากัมพูชามีการนำพันธุ์ข้าวหอมมะลิของไทยไปปลูกในจังหวัดที่ติดกับทางภาคอีสานของไทย ทำให้มีการพูดถึงกันว่าคุณภาพข้าวหอมมะลิของกัมพูชานั้นมีคุณภาพด้อยกว่าข้าวหอมมะลิไทยเพียงนิดเดียว แต่กลับมีราคาถูกกว่ามาก คือมีราคา FOB อยู่ที่ 800 เหรียญต่อตัน เป็นต้น

ส่วนข้าวอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน มีข้อมูลรายงานว่า ข้าวขาว 5% ของอินเดียเสนอขายที่ 435 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ข้าวขาว 5% ของไทยเสนอขายที่ 533 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่วนข้าวนึ่งอินเดียเสนอขายที่ 450 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่ข้าวนึ่งไทยเสนอขายที่ 533 เหรียญสหรัฐ/ตัน
ปัจจัยต่อมาเป็นเรื่องของต้นทุนการผลิตต่อไร่ของไทยสูงมาก กล่าวคือ ไทยมีต้นทุนการผลิตข้าวอยู่ที่ 6,000 บาทต่อไร่ ขณะที่เวียดนามมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 3,000-3,500 บาทต่อไร่ กัมพูชามีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 2,000-2,500 บาทต่อไร่ ขณะที่พม่ามีต้นทุนการผลิตต่อไร่ต่ำที่สุดคืออยู่ที่ 1,500 บาทต่อไร่เท่านั้น

ดังนั้นหากต่างประเทศจะมาลงทุนเป็นเทรดเดอร์ส่งออกข้าวในไทย ไปลงทุนในประเทศลาว กัมพูชา พม่า จะดีกว่ามาลงทุนในประเทศไทย แม้ว่าโรงสีของประเทศอื่นๆ จะยังมีคุณภาพการสีไม่ดีเท่าของไทย แต่อนาคตหลังจากกลุ่มทุนได้เข้าไปลงทุนทำโรงสีมากขึ้น โอกาสการแข่งขันด้านข้าวทั้งคุณภาพและราคาของประเทศเพื่อนบ้านก็จะมีสูงกว่าไทยแน่นอน

“เมื่อเดือนเศษๆ ผมได้มีโอกาสไปพบรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของพม่า พอท่านรัฐมนตรีรู้ว่าผมทำธุรกิจส่งออกข้าว ก็บอกว่าอยากชักชวนนักลงทุนต่างประเทศให้เข้าไปลงทุน เพราะขณะนี้พม่าต้องการอยู่ 2 อย่างคือ เงินทุนต่างประเทศ และโนว์ฮาว (Know how) เพราะภาคผลิตกำลังเติบโต ซึ่งตอนนี้มีใบสมัครจากนักลงทุนต่างประเทศที่ยื่นขอลงทุนการผลิตข้าวแล้ว 100 กว่าราย ฟังแล้วน่าเป็นห่วง เพราะถ้าพม่ามีเงินทุนพร้อมแล้ว หากมีการสร้างโรงสีให้ทันสมัย การสีข้าวก็จะได้ข้าวที่คุณภาพดีขึ้น หากมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวประกอบไปด้วย ธุรกิจการค้าข้าวของพม่าก็จะไปได้เร็วมาก”

ยิ่งถ้ามาเปรียบเทียบกับนโยบายภาครัฐของไทย ที่เน้นการทำราคาข้าวให้สูงกว่าราคาท้องตลาด แต่ไม่ได้ดูแลภาคการผลิต จุดนี้มีความน่าเป็นห่วงเพราะไทยยังต้องการการพึ่งพาการส่งออกข้าว แต่ระบบของไทยไม่ตอบรับ ขณะที่คู่แข่งในอนาคตกำลังจะไปได้ไกลมาก

ต่างชาติซื้อหอมมะลิแค่หัวเชื้อไปผสม

ดังนั้นไม่ต้องห่วงเลยว่านักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาเป็นเทรดเดอร์เพื่อแย่งซื้อข้าวไทยไปส่งออก เพราะการไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าและราคาข้าวในตลาดโลกไม่สูงนักจะเป็นตัวเลือกอันดับแรกที่นักลงทุนต่างชาติสนใจ มีเพียงนักลงทุนต่างชาติไม่กี่รายที่จะมาลงทุนเป็นเทรดเดอร์ในไทย แต่จะทำแค่ตัวข้าวหอมมะลิเท่านั้น

แต่การที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนเป็นเทรดเดอร์ข้าวหอมมะลิของไทย ซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงกับผู้ประกอบการส่งออกข้าวไทยนั้น ก็ยังไม่สำคัญเท่าปัญหาที่รัฐบาลต้องตระหนัก และรีบแก้ไข แม้เทรดเดอร์ต่างประเทศจะเข้ามาลงทุนซื้อข้าวหอมมะลิไทยไปส่งออกเอง แต่ก็เป็นในลักษณะการซื้อหัวเชื้อ คือจากเดิมอาจจะเคยซื้อข้าวหอมมะลิไทย 100% แต่ตอนนี้ซื้อแค่ 50% แล้วไปซื้อข้าวหอมมะลิจากกัมพูชา และเวียดนาม แล้วนำไปผสมที่ปลายทาง จากนั้นก็พิมพ์ติดข้างถุงว่า “ข้าวหอมมะลิไทย” ซึ่งมีกรณีนี้เกิดขึ้นจำนวนมาก และกำลังเป็นปัญหามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ฮ่องกงเป็นลูกค้ารายใหญ่ในการสั่งข้าวหอมมะลิจากไทยมาโดยตลอด โดยฮ่องกงจะมีการนำเข้าข้าวหอมมะลิเป็นจำนวนประมาณ 4 แสนตันต่อปี ในจำนวนนี้เป็นข้าวไทย 90% แต่ทุกวันนี้เหลือข้าวไทยประมาณ 50% เท่านั้น เพราะข้าวไทยแพงมาก และเขาหันไปซื้อข้าวเวียดนามและกัมพูชาแทน”

ปัจจัยต่อมาเป็นเรื่องของนโยบายภาครัฐที่ประกาศแก้ปัญหาการส่งออกข้าวไทย โดยให้ผู้ประกอบการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าข้าวนั้น ต้องบอกว่าการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าข้าว ฟังดูง่าย แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะข้าวเป็นสินค้าพื้นฐานในการบริโภค คนที่บริโภคข้าวจึงซื้อข้าวเพื่อไปกิน แม้จะมีอุตสาหกรรมพัฒนามูลค่าสินค้าข้าวเป็นสบู่ หรือข้าวอินทรีย์ ก็พบว่าเป็นตลาดที่เล็กมาก ถ้าจะขยายก็ทำไม่ได้มาก ดังนั้นนโยบายนี้ถือว่าไม่ง่าย

นอกจากนี้ หากจะเพิ่มมูลค่าข้าวโดยการแปรรูป คุณภาพของข้าวก็ต้องพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย แต่ทุกวันนี้กลับพบว่า เรื่องคุณภาพข้าวเป็นอีกเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่!

โดยเรื่องนี้จะต่อเนื่องจากโครงการรับจำนำข้าว นอกจากจะทำให้ราคาข้าวไทยในตลาดโลกมีราคาสูงกว่าคู่แข่งมากแล้วนั้น ยังทำให้คุณภาพข้าวของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากราคารับจำนำข้าวของรัฐบาลสูงมาก ทำให้เกษตรกรมีการปลูกให้ได้จำนวนมากที่สุด รวมกับปลูกข้าวในลักษณะพื้นที่เดียวแต่ปลูกหลายพันธุ์เพื่อนำมาผสมให้ได้ปริมาณข้าวสูงขึ้น และไปขายให้รัฐบาล

ปริมาณข้าวมาเป็นอันดับแรก คุณภาพเป็นรอง!

“เดี๋ยวนี้เกษตรกรนิยมปลูกข้าวแค่ 75 วัน จากข้าวที่ต้องปลูก 90-120 วัน ที่โครงสร้างเมล็ดข้าวจะแข็งแกร่งกว่า ทำให้ข้าวที่ได้ทุกวันนี้คุณภาพลดลงเรื่อยๆ ปัญหาคือรัฐบาลก็ยังรับซื้อทุกเม็ด แม้คุณภาพจะไม่ดี เพราะไปเกี่ยวกับเรื่องคะแนนนิยมด้วย การแก้ปัญหาเรื่องนี้จึงยากเข้าไปอีก”

รัฐบาลรู้แล้วว่าตัวเลขส่งออกข้าวลดลงมาก แต่ถ้าลดราคาจำนำ ก็จะไปขัดกับนโยบายของพรรคการเมือง ของรัฐบาล ข้าราชการเองแม้รู้ทางแก้ไข แต่ก็ไม่กล้าทำอะไรเช่นกัน สถานการณ์อย่างนี้น่าเป็นห่วงมาก เพราะจะทำลายอุตสาหกรรมข้าวของไทยต่อไปอย่างต่อเนื่อง

คาดว่าถ้ารัฐบาลยังดำเนินนโยบายจำนำข้าวที่ราคาสูงกว่าราคาตลาด 40-50% อีกไม่เกิน 2 ปี อุตสาหกรรมส่งออกข้าวไทยจะไม่มีความสามารถในการแข่งขันเลย

“มันไม่ใช่รับจำนำ แต่เป็นการตั้งโต๊ะรับซื้อ ชาวนาก็มาขายให้รัฐบาลหมด แต่พอรัฐได้มาก็บริหารไม่ดีเท่าเอกชน มีการทุจริตประพฤติมิชอบหลายระดับ ตรงนี้น่าเป็นห่วงมาก”
ตาราง : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
รายใหญ่ปรับตัวเป็นเทรดเดอร์ข้าวเพื่อนบ้าน

สำหรับอุปสรรคในการแข่งขันของข้าวไทยในเวทีตลาดโลกนี้ นอกจากจะทำให้ต่างชาติไม่สนใจที่จะเข้ามาลงทุนทำเทรดเดอร์ส่งออกข้าวไทยเองแล้วนั้น ยังจะทำให้ผู้ประกอบการส่งออกข้าวไทยค่อยๆ ล้มตัวลงอย่างช้าๆ ด้วย

นายชูเกียรติบอกอีกว่า เนื่องจากสินค้าข้าวของไทยทั้งแพง และคุณภาพลด ทำให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันยาก เพราะลูกค้าก็รู้ว่าเป็นเพราะปัญหาการเมืองไทยในทำนองรัฐบาลอุดหนุนราคาข้าวในประเทศทำให้ราคาแพงเกินจริง จนเกิดการต่อต้านหันไปซื้อข้าวจากประเทศอื่นๆ แทน
ผู้ส่งออกข้าวไทยก็ลำบาก เพราะแข่งขันไม่ได้เช่นกัน ดังนั้นต้องปรับตัวอย่างหนัก โดยผู้ส่งออกข้าวไทยรายเล็กขณะนี้ล้มตายไปทีละราย สุดท้ายจะเหลือแต่รายใหญ่ที่อยู่ได้เท่านั้น โดยผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่จะอยู่ทำธุรกิจนี้ได้นั้น จะต้องปรับตัวในการไปเป็นเทรดเดอร์ในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหาซื้อข้าวของประเทศเพื่อนบ้านนำส่งลูกค้าแทน

ปัจจุบันที่นิยมกันคือ เอาข้าวจากอินเดียและปากีสถานไปส่งจีน ข้าวหอมมะลิกัมพูชาไปส่งมาเลเซีย และข้าวเวียดนามส่งไปที่ฮ่องกง และจีน

ทั้งนี้ ผู้ส่งออกข้าวที่ไปเป็นเทรดเดอร์ในประเทศเพื่อนบ้านนั้น จำเป็นต้องลงทุนโรงสีข้าวเองด้วย เพื่อให้ข้าวมีคุณภาพที่ดี ดังนั้นเงินทุนอย่างต่ำที่ผู้ส่งออกข้าวจะต้องมีในการทำธุรกิจนี้คืออย่างน้อยต้องมีเงินจำนวน 400-500 ล้านบาท เพราะการสร้างโรงสี 1 โรงก็ต้องใช้เงินจำนวนประมาณ 100-200 ล้านบาทไม่รวมค่าที่ดิน และค่าอื่นๆ อีกมากมาย

หวั่นทุจริตเชิงนโยบายซ้ำรอย“เพรสซิเดนท์”

แหล่งข่าวผู้ประกอบการส่งออกข้าวอีกรายหนึ่งมองว่า การที่ผู้ส่งออกข้าวไทยรายใหญ่กำลังมีแนวโน้มไปเป็นเทรดเดอร์ข้าวที่ประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น จะทำได้ระยะสั้นเท่านั้น เพราะหากเปิดประชาคมอาเซียนแล้ว ประเทศต่างๆ ก็สามารถติดต่อกันได้เอง ไม่ต้องผ่านเทรดเดอร์ต่างประเทศอีก ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่น่าจะยั่งยืนนัก

เขาบอกอีกว่า นอกจากนโยบายรับจำนำจะน่าเป็นห่วงแล้ว ยังกังวลว่าจะเกิดการทุจริตในรูปแบบของการเอื้อประโยชน์ให้ภาคเอกชนเพียงไม่กี่รายด้วย ซึ่งจะไปเหมือนเรื่องที่เคยเกิดมาแล้วของบริษัทเพรสซิเดนซ์ อะกริ ในสมัยรัฐบาลทักษิณ 2

โดยตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้มีการรับจำนำข้าว โดยเอาเงินภาษีของประชาชนมารับจำนำเอาข้าวเข้าคลัง จากนั้นเวลาที่รัฐบาลเอาข้าวไปขายให้ต่างประเทศกลับมีการเปิดประมูลให้ผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายในราคาต่ำ

“มีข้อสงสัยว่า ทำไมบริษัท สยามอินดิก้า ถึงประมูลงานส่งข้าวไปอินโดนีเซียได้ในจำนวนถึง 3 แสนตัน ซึ่งรัฐบาลได้แจ้งว่าลูกค้าเป็นคนเลือกบริษัทนี้เอง แต่ได้โทร.ไปสอบถามลูกค้ารายนี้พบว่ารัฐบาลไทยส่งมอบงานให้บริษัทนี้เอง เรื่องนี้จริงหรือไม่”

จากข้อมูลดังกล่าว ทีม “Special Scoop” ได้ไปตรวจสอบข้อมูลของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบสิ่งที่น่าสนใจว่า บริษัท สยามอินดิก้า ที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2547 นั้น มีทุนจดทะเบียน 856 ล้านบาท มีกรรมการคือนางสาวรัตนา แซ่เฮ้ง และนางสาวเรืองวัน เลิศศลารักษ์ และยังมีนายอภิชาติ ยันทร์สกุลพร อดีตกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท เพรสซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง เป็นอดีตผู้ก่อตั้ง กรรมการ และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท สยามอินดิก้า ด้วย

ทั้งนี้ บริษัทนี้ครั้งแรกได้ตั้งชื่อบริษัทว่า บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และมีการเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเพรสซิเดท์ ไรท์ บาวนด์ จำกัด เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 หลังจากนั้นได้เปลี่ยนชื่อกลับมาเป็นสยามอินดิก้า จำกัด เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2550

นอกจากนี้ ในวงการผู้ส่งออกข้าว ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงประเด็นของผู้นำเข้าของประเทศมาเลเซียได้ยอมรับกับผู้ส่งออกข้าวไทยหลายรายด้วยว่า ในช่วง 2 เดือนก่อนหน้านี้ อดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งได้เชิญไปพูดคุยเรื่องการส่งออกข้าว โดยระบุว่ามอบหมายให้คนชื่อ “อ” มาเป็นผู้ติดต่อต่อไป

“ถ้าเป็นเรื่องจริง เราก็รู้สึกว่ามันน่าเสียดายที่ข้าวนี้เป็นของประชาชนคนไทย แต่หากมีการเล่นแร่แปรธาตุเอาผลประโยชน์เข้าสู่ภาคการเมืองซ้ำรอยกรณีเพรสซิเดนท์ อะกริ ก็เป็นการไม่แฟร์นัก” แหล่งข่าวผู้ประกอบการส่งออกข้าวระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น