ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -แทนที่จะหันกลับมาทบทวนโครงการจำนำข้าวเสียใหม่เพื่อปิดช่องทุจริตและหาทางหยุดยั้งความปั่นป่วนในวงการค้าข้าวที่พังทั้งระบบ สูญเสียแชมป์ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกที่ไทยเคยครองมายาวนาน แต่นายกฯยิ่งลักษณ์ และทีมขุนพลเศรษฐกิจกลับมองเห็นความฉิบหายหลายแสนล้านเป็นแค่เรื่องจิ๊บจ๊อย ยืนยันดันทุรังเดินหน้า เพราะนี่คือเดิมพันประชานิยมของรัฐบาลที่สุ่มเสี่ยงเสียรังวัด เสียคะแนนนิยม ถึงขั้นตกเก้าอี้หากเลิกเสียกลางครัน
แม้จะมีเสียงท้วงติงจากทุกสารทิศ ถึงขั้นฝ่ายค้านหยิบไปเป็นประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจ และตัวนายกรัฐมนตรี รวมถึงพวกเดียวกันเองอย่าง กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ คุมฝ่ายเศรษฐกิจ ก็ยอมรับว่ามีปัญหาทุจริตจำนำข้าว แต่เป็นที่แน่นอนว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตัดสินใจใส่เกียร์เดินหน้าประชานิยมรับจำนำข้าวทุกเมล็ดต่อไป
ตามกำหนดการรัฐบาลจะเริ่มเปิดโครงการจำนำข้าวเปลือกนาปี 55/56 ในวันที่ 1 ต.ค. 55 นี้ พร้อมกับขยายโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 55 ออกไปด้วย โดยตั้งงบรับจำนำแบบไม่จำกัดปริมาณข้าวเปลือกไว้ที่ 2.6 แสนล้านบาท ราคาจำนำในอัตราเดิม เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ความชื้นไม่เกิน 15% อยู่ที่ 15,000 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นไม่เกิน 15% อยู่ที่ 20,000 บาทต่อตัน ทั้งที่ข้าวสารในโครงการรับจำนำฤดูกาลที่ผ่านมายังกองพะเนินเต็มโกดัง รอระบายในเกรดข้าวคุณภาพต่ำแต่กลับเสนอราคาขายสูงกว่าตลาดโลก ถือเป็นการค้าแบบพิสดาร
ขณะที่อีกหน้าฉากหนึ่ง รัฐบาลก็ปล่อยให้ “ดร.เหลิม” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่แสนรู้ไปเสียทุกเรื่องทั้งแก้รัฐธรรมนูญ แก้ไฟใต้ ฯลฯ ตั้งคณะเล่นลิเกไล่จับทุจริตจำนำข้าวร่วมกับ ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อกลบกระแสวิพากษ์วิจารณ์โครงการอื้อฉาว โดยมีพื้นที่เป้าหมายไปกวาดจับปลาซิวปลาสร้อยที่ปลายเหตุเพียงแค่ 2 จังหวัด คือ กาญจนบุรีและนครนายกจากพื้นที่เสี่ยงทุจริตทั่วประเทศ นายตำรวจมือปราบแห่งดีเอสไอ ที่ถูกส่งให้ไปเข้าร่วมคณะถึงกับออกตัวในทำนองที่ว่า ร่วมตรวจจับแบบขำขำไม่ได้เข้มข้นจริงจัง
แต่ช้างตายทั้งตัวไฉนจะปิดด้วยใบบัวให้มิด โครงการจำนำข้าวจึงมีผู้รู้เรียงหน้ามาถล่มเละ นับจากขาประจำอย่าง ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ คลังสมองของชาติที่รัฐบาลไม่อยากเรียกใช้ ซัดเข้าเต็มๆ ว่า โครงการรับจำนำข้าวมีการคอร์รัปชั่นอย่างโปร่งใส ทำเป็นขบวนการแบบมีใบเสร็จถูกต้อง ทำให้ประเทศชาติสูญเสียปีละไม่ต่ำกว่า 7-8 หมื่นล้าน
ดร.อัมมารชี้ว่า รัฐบาลควรเลิกโครงการรับจำนำข้าวได้แล้ว เพราะข้ออ้างว่าต้องการช่วยชาวนายากจนเป็นการหลอกลวง เม็ดเงินอุดหนุนส่วนใหญ่ตกอยู่กับโรงสีหรือพ่อค้าคนกลาง รวมถึงชาวนาที่ร่ำรวย ส่วนชาวนายากจนจะมีผลผลิตข้าวเหลือพอขายน้อย และขายข้าวเปลือกในราคาที่ต่ำกว่ารัฐบาลรับจำนำ ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า เงินที่รัฐอุดหนุนไป 100 บาทจะตกเป็นของโรงสีหรือพ่อค้าคนกลาง 63 บาท ที่เหลือ 37 บาทตกอยู่กับชาวนา และชาวนาที่ยากจนจะได้รับน้อยมาก
ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศชาติยังสูญเสียจากสต็อกข้าวที่เสื่อมสภาพ กลายเป็นค่าใช้จ่ายทุกปีเฉลี่ยปีละแสนล้าน และสต็อกข้าวที่รับจำนำซึ่งยังไม่ได้ขายออกซึ่งมีอยู่ตอนนี้ 10 ล้านตัน ใช้งบรับจำนำ 2-3 แสนล้านบาทก็จะสูญเปล่า ข้าวก็กลายเป็นข้าวเก่าค้าง 2 ปี เน่าเสียไป เพราะจะเริ่มรับจำนำฤดูกาลใหม่แล้ว เรื่องความเสื่อมสภาพของข้าวที่เสียหายหลายแสน ประชาชนไม่ค่อยรับรู้ รัฐบาลก็มีความสามารถในการซุกเงินเป็นอย่างดี
เช่นเดียวกับ นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานทีดีอาร์ไอ ซึ่งมองโครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายจนตรอกที่ใช้หาเสียงเพื่อชัยชนะในการเลือกตั้งเท่านั้น ชี้ชัดว่า เป้าหมายจำนำข้าวที่รัฐบาลต้องการยกระดับราคาและรายได้เกษตรกรเชื่อว่าไม่ประสบผลสำเร็จ แต่จะทำให้เกิดกระบวนการทุจริตโดยการเวียนเทียนข้าวเพื่อเข้าโครงการใหม่มากกว่า
นอกจากนั้น โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาลก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมาก ไม่เพียงจะมีผลขาดทุนประมาณแสนล้านบาทเท่านั้น แต่ยังเกิดปัญหารัฐบาลกลายเป็นผู้ผูกขาดการส่งออกข้าว เพราะข้าวที่รับจำนำเป็นส่งเพื่อการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ เท่ากับกีดกันไม่ให้เอกชนค้าขายได้อย่างเสรี จึงอยากให้รัฐบาลเร่งทบทวน เพราะหากยังดำเนินโครงการต่อไปตลาดข้าวของไทยจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยมูลค่าการส่งออกข้าวในปีนี้จะลดลงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 6 หมื่นล้านบาท
หายนะวงการค้าข้าวไทยที่กำลังมาเยือนอันเป็นผลมาจากโครงการรับจำนำข้าวนั้น ยืนยันอีกเสียงจาก ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ที่บอกว่า การตั้งราคารับจำนำข้าวไว้สูง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลกลดต่ำลง เพราะต้องตั้งราคาขายข้าวสูงกว่าราคาตลาดโลกอย่างมาก
เช่น ข้าวหอมมะลิของไทย ราคา FOB อยู่ที่ 1,100 เหรียญต่อตัน ขณะที่กัมพูชาซึ่งมีข้าวหอมมะลิคุณภาพด้อยกว่าไทยไม่มาก ราคาอยู่ที่ 800 เหรียญต่อตันเท่านั้น ส่วนข้าวอื่นๆ ก็เช่นกัน มีข้อมูลรายงานว่า ข้าวขาว 5% ของอินเดียเสนอขายที่ 435 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ข้าวขาว 5% ของไทยเสนอขายที่ 533 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่วนข้าวนึ่งอินเดียเสนอขายที่ 450 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่ข้าวนึ่งไทยเสนอขายที่ 533 เหรียญสหรัฐ/ตัน เป็นต้น
ดังนั้น โอกาสที่ไทยจะส่งออกข้าวได้มากถึง 8 - 9 ล้านตัน ดังที่ บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.กระทรวงพาณิชย์ คาดหวังคงเป็นได้เพียงฝันกลางวัน เพราะตัวเลขส่งออกครึ่งปีนี้ทำได้เพียง 3.45 ล้านตันเท่านั้น ลดลงจากปีก่อนถึง 45%
ราคารับจำนำข้าวในอัตราที่สูง ยังเป็นแรงผลักดันให้เกษตรกรเร่งการผลิตข้าวให้ได้มากที่สุด โดยเลือกพันธุ์ข้าวที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นลง และปลูกผสมกันหลายสายพันธุ์ เพื่อให้ได้ปริมาณข้าวเข้าโครงการจำนำมากที่สุด ทำให้คุณภาพข้าวลดต่ำลง สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้จึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะจะทำลายอุตสาหกรรมข้าวของไทยอย่างต่อเนื่องจนถึงกาลอวสาน ซึ่งหากรัฐบาลยังดึงดันจำนำข้าวในราคาสูงกว่าตลาดมากๆ อีกไม่เกิน 2 ปี การส่งออกข้าวไทยจะไม่มีความสามารถในการแข่งขันเลย
โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นอกจากชาวนากระดูกสันหลังของชาติผู้ยากจนจะได้ประโยชน์เพียงน้อยนิดจากเงินภาษีประชาชนทั้งประเทศที่ทุ่มเทมากถึง 2-3 แสนล้านบาทในแต่ละปีการผลิตแล้ว ยังทำให้ชาวบ้านทั่วไปต้องซื้อข้าวสารในราคาสูงกว่าราคาตลาดโลก วงการค้าข้าวทั้งระบบพังทลาย
จะมีก็แต่เพียงนักการเมือง พ่อค้าบางราย เจ้าของโรงสีบางกลุ่ม และชาวนาที่ร่ำรวยเท่านั้นที่กอบโกยผลประโยชน์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ตั้งแต่เริ่มต้นเปิดรับจำนำจนถึงการระบายข้าวจากสต็อก เพราะการรับจำนำข้าวเป็นโครงการทุจริตเชิงนโยบาย การทุจริตในทุกกระบวนการ ทุกขั้นตอนมีใบเสร็จถูกต้อง เป็นหายนะที่รัฐบาลเห็นโลงศพแต่กลับหัวเราะร่าไม่หลั่งน้ำตาแม้สักหยดเดียว