xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาและทางออกโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการออนไลน์ - “วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” ผอ.มูลนิธิชีววิถี ฟันธงรัฐบาลควรยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวที่ก่อปัญหามากมายมหาศาลได้แล้ว เตือนทันทีที่ไทยระบายข้าวในสต๊อกออกขายในตลาดโลกในราคาถูก-ตัดราคา มีหวังถูกฟ้องร้องดับเบิลยูทีโอแน่ แนะทบทวนและคิดให้รอบคอบก่อนนโยบายนี้จะย้อนศรกลับมาทำลายคะแนนนิยม

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ซึ่งติดตามนโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง วิพากษ์วิจารณ์โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการครบรอบหนึ่งปีแล้วว่าทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย ดังนี้

1. การทำลายกลไกตลาดและความไร้ประสิทธิภาพของการผูกขาดของรัฐ ประเด็นนี้มีการวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศหลายคนว่าระบบเช่นนี้ได้ทำลายระบบการค้า โดยคนที่กุมกลไกรัฐบางคนและผู้ประกอบการที่ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ เช่น โรงสีขนาดใหญ่บางราย ผู้ส่งออกบางรายได้ประโยชน์จากระบบดังกล่าว ในขณะเดียวกันก็เกิดผลกระทบต่อโรงสีขนาดเล็กและผู้ประกอบการขนาดเล็กทั้งหมดเพราะไม่สามารถซื้อข้าวแข่งกับรัฐได้

2. นำไปสู่การทุจริตมหาศาล ตั้งแต่การเลือกโรงสีเข้าร่วมโครงการ และผู้ส่งออกที่ใกล้ชิดกับรัฐจะได้ประโยชน์จากการผูกขาดข้าว การขายข้าว ฯลฯ

3. สร้างผลกระทบและสร้างความไม่เป็นธรรมต่อชาวนาเป็นจำนวนมากที่เก็บข้าวไว้กินเอง โดยเฉพาะชาวนาในภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคเหนือเกือบทั้งหมด และภาคกลางบางส่วน ส่วนใหญ่เป็นรายเล็กๆ ชาวนาที่ปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงตัวเองจะไม่ได้ประโยชน์ใดๆ เพราะไม่ได้นำข้าวไปขาย
 
ประเมินว่ามีชาวนาที่ได้รับผลกระทบกลุ่มนี้ไม่ต่ำกว่า 50% ของชาวนาทั่วประเทศ ซึ่งตัวเลขของ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันทีดีอาร์ไอ ประมาณว่าอยู่ที่ 2.6 ล้านครัวเรือน จากครัวเรือนชาวนาทั้งหมด 4 ล้านครัวเรือน คำถามคือ “ทำไมชาวนากลุ่มนี้ถึงไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐเหมือนกลุ่มชาวนากลุ่มอื่น? “รัฐบาลใช้เงิน 200,000 ล้านไปใช้กับชาวนากลุ่มเดียวที่เข้าโครงการรับจำนำ ทำไมไม่เอาเงินนี้ไปช่วยชาวนากลุ่มนี้บ้าง?”

นอกจากนั้น ยังกระทบเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งโดยปกติได้ประโยชน์จากส่วนต่างราคาจากการรับซื้อประมาณ 30-50% จากข้าวทั่วไป แต่นโยบายนี้ทำให้ผู้ประกอบการต้องรับภาระหนักมากในการต้องตั้งราคารับซื้อข้าวอินทรีย์สูงอีกมากจนแข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้ เกษตรอินทรีย์ที่กำลังขยายตัวก็ชะงักและถดถอย ตอนนี้สถานการณ์อยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว ถึงขนาดที่เจ้าหน้าที่พาณิชย์ระดับท้องถิ่นที่เห็นปัญหาและต้องการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ต้องดิ้นรนหาทางช่วยชาวนาอินทรีย์ในระดับจังหวัดกันตามมีตามเกิด เรื่องนี้ เครือข่ายเกษตรอินทรีย์อีสานจะรวมพลังกันวันที่ 20 สิงหาคมนี้ที่สุรินทร์ เพื่อจัดทำข้อเสนอและเคลื่อนไหวเพื่อให้กระบวนการนี้อยู่รอด

4. เม็ดเงินที่ใช้ในการรับจำนำจะตกแก่เกษตรไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งนี้ จากการสำรวจในจังหวัดนครสวรรค์ เกษตรกรได้รับเงินจริงประมาณตันละ 10,500-1,1000 บาทเท่านั้นในโครงการรับจำนำ เกษตรกรที่ต้องรีบใช้เงินก่อน ต้องขายสิทธิให้โรงสีจะได้น้อยกว่านี้อีกประมาณเกวียนละ 500-1,000 บาท

ส่วนเกษตรกรในภาคอีสาน เช่น ยโสธร และสุรินทร์ ซึ่งปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพดีจะได้รับเงินค่าข้าวเพียง 15,000-17,000 บาทเท่านั้น แต่ไม่ถึง 20,000 บาท

ประมาณการว่าชาวนาทั่วประเทศที่เข้าโครงการรับจำนำได้รับเงินต่ำกว่าที่ควรจะได้รับ 30% ดังนั้น ถ้ารัฐบาลใช้จ่ายเงินไปแล้วประมาณ 200,000 ล้านบาท จะมีเงินที่รั่วไหลออกไปประมาณ 60,000 ล้านบาทเข้ากระเป๋าใครก็ไม่ทราบ

การเปิดโอกาสให้มีการนำเอาข้าวต่างประเทศมาสวมสิทธิคาดว่าจะอยู่ที่ 1-1.5 ล้านตันเป็นอย่างน้อย คิดเป็นเงินของรัฐประมาณ 15,000-20,000 ล้านบาท
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี
5. เงินของรัฐไหลไปสู่บริษัทขายปุ๋ยและสารเคมีที่ใช้ในนาข้าว จะมีเงินของรัฐจากโครงการรับจำนำข้าวประมาณ 2,400 บาท/ไร่ ไหลไปสู่กระเป๋าของบริษัทค้าปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือคิดเป็นเงินประมาณ 72,000 ล้านบาท/ปี การรับจำนำหรือแม้แต่การ “ประกันรายได้” เท่ากับการเอางบประมาณของรัฐไปสนับสนุนธุรกิจเคมีเกษตรโดยเฉพาะพวกบรรษัทเคมีเกษตรข้ามชาติ

6. ระบบการผลิตที่ไร้ประสิทธิภาพและไม่อาจแข่งขันได้ระยะยาว เกษตรไทยอยู่ได้เพราะเงินรับจำนำ การใช้เงินเช่นนี้ทำให้ไปสนับสนุนระบบการทำนาที่ไร้ประสิทธิภาพให้ดำรงอยู่ต่อไป ดังข้อมูลของ IRRI ที่บอกว่าชาวนาไทยในเขตชลประทานมีต้นทุนค่าสารเคมีสูงที่สุดเมื่อเทียบกับชาวนาในเจ้อเจียง ทมิฬนาดู ลูซอน ลุ่มน้ำโขง ลุ่มแม่น้ำแดง และชวา แต่ผลผลิตกลับต่ำกว่า

7. ปัญหาการอุดหนุนเกษตรกรภายใต้ WTO

ตามข้อตกลงเดิมของ WTO ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น อียูได้ให้การอุดหนุนแก่เกษตรกรภายในโดยผูกพันไว้ปีละ 3.3 ล้านล้านบาท ญี่ปุ่นปีละ 1.4 ล้านล้านบาท ขณะที่ไทยได้ให้การอุดหนุนเกษตรกรภายใน โดยผูกพันไว้ปีละประมาณ 20,000 ล้านบาท ดังนั้น ภายใต้กลไกโครงการรับจำนำขณะนี้เราได้ใช้เงินเกินเพดานที่เราผูกพันไว้มากแล้ว นี่เป็นที่มาของข่าวว่าสหรัฐฯ และหลายประเทศกำลังจับตาโครงการนี้ของไทย

ที่จริงสหรัฐฯ เป็นประเทศที่อุดหนุนเกษตรกรตัวเองเป็นจำนวนมหาศาล แต่ได้ใช้ระบบ “สนับสนุนรายได้โดยตรงแก่เกษตรกร” ทำให้หลีกเลี่ยงหรือลดการถูกกดดันจากประเทศคู่แข่งได้ นโยบายของรัฐบาลที่แล้วเรื่อง “ประกันรายได้” ก็มาจาก “แรงบันดาลใจ” มาจากสหรัฐฯ นั่นเอง

ปัญหาที่ไทยยังไม่ถูกกดดันเรื่องนี้เป็นเพราะกลไกที่เราทำขณะนี้แทนที่จะทำให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันได้หรือขายแข่งได้ แต่กลับเป็นว่ากลับทำให้คู่แข่งขายข้าวได้มากขึ้นจึงยังไม่ทำให้มีการฟ้องร้ององค์การการค้าโลก แต่เมื่อใดก็ตามที่ไทยทุ่มข้าวไปขายในราคาถูกและตัดราคา ประเทศไทยจะเป็นเป้าที่จะถูกฟ้องร้อง

ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีมีข้อเสนอต่อรัฐบาลให้ทบทวนและยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวด้วยเหตุผลต่างๆ ดังนี้

1. ฟันธงว่ารัฐบาลควรเลิกโครงการนี้ได้แล้ว เพราะเป็นการทำร้ายประเทศ ทำร้ายเกษตรกร ทำร้ายการพัฒนาการเกษตรในระยะยาว เงินมหาศาลที่ใช้อย่างไร้ประสิทธิภาพและเกิดผลข้างเคียงมากมาย เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการของรัฐบาลที่แล้ว โครงการนั้นมีผลข้างเคียงน้อยกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่เข้าไปทำลายกลไกตลาด พ่อค้าและกลไกตลาดทำงานได้ สร้างความเป็นธรรมต่อชาวนาทุกกลุ่มได้มากกว่า แต่ข้อเสียของโครงการประกันรายได้ก็คือ การไม่ได้ทำอะไรที่เป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตหรือลดต้นทุนการผลิตเลย

2. เสนอให้เอาระบบสนับสนุนรายได้โดยตรงแก่เกษตรกรมาใช้ แต่เอามาใช้โดยอย่าตั้งราคาส่วนต่างให้สูงกว่าตลาดมาก เอาให้เกษตรกรอยู่ได้ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ต้องได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และตั้งเงื่อนไขให้เกษตรกรที่สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพผลผลิต ได้รับการสนับสนุนมากกว่าเกษตรกรทั่วไป
 
เช่น ชาวนาอินทรีย์ควรได้รับเงินสนับสนุนมากกว่าชาวนาทั่วไป 30% แต่ระบบที่ว่านี้ไม่ใช่ให้รัฐเป็นคนดำเนินการแบบรวมศูนย์ แต่กระจายให้พื้นที่ กลุ่มต่างๆ ในท้องถิ่น และผู้ประกอบการที่ทำตลาดสินค้าอินทรีย์เป็นผู้ดำเนินการแทนรัฐ รัฐเพียงแต่ทำหน้าที่สนับสนุนให้กลุ่มเหล่านี้ทำงานของเขาต่อไป ถ้านึกไม่ออกว่าควรทำเรื่องนี้อย่างไร ให้ไปขอคำแนะนำจาก โครงข้าวขวัญสุพรรณ ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างหอการค้าไทย มูลนิธิข้าวขวัญ และชาวนาที่ จ.สุพรรณบุรี หรือขอแนวทางการทำงานนี้จากเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดสุรินทร์ และยโสธรก็ได้

หากทำได้แบบที่เสนอ เงินส่วนเกิน 30% นั้นรัฐแทบจะไม่ต้องควักกระเป๋าเพิ่มขึ้นเลย เพราะเงินประมาณ 70,000-80,000 ล้านบาทที่เคยไหลออกนอกประเทศจากค่าปุ๋ยและสารเคมีจะไหลเข้ามาชดเชยแทน รวมไปถึงผลตอบแทนในรูปต่างๆ

3. หากรัฐบาลนี้ต้องการไปให้ไกลกว่าทุกรัฐบาลที่เคยผ่านมา และแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการเกษตร ก็ควรนำเอาเงินที่ต้องใช้ 200,000-300,000 ล้านบาทจากการใช้ในโครงการรับจำนำนั้นมาทำโครงการปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรที่ขาดที่ดินทำกิน และสนับสนุนการจัดการชลประทานจะยอดเยี่ยมมาก วิธีนี้จะช่วยแก้ปัญหาโครงสร้าง ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างถึงราก ซึ่งแน่นอนต้องทำควบคู่ไปกับการปฏิรูปภาคเกษตรดังที่ได้พูดถึงในหัวข้อ 2.2 ด้วย ไม่เช่นนั้นวงจรหนี้สินและการสูญเสียที่ดินทำกินจะวนมาเกิดขึ้นอีกรอบอยู่ดี

จากการสำรวจความเห็นโดยสอบถามจากเครือข่ายเกษตรในพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศ ประมาณการว่าชาวนา 65-70% ที่เห็นว่าโครงการรับจำนำของรัฐบาลนี้แย่กว่าโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลที่แล้ว มีส่วนน้อยที่คิดว่ารับจำนำดีกว่า แต่มีอีกกลุ่มก้อนใหญ่ที่ยังสับสนและไม่อาจตัดสินใจได้ในขณะนี้ว่าจะเลือกนโยบายแบบไหนดี

รัฐบาลควรใช้โอกาสครบรอบหนึ่งปีของโครงการรับจำนำข้าวมาทบทวนเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ไม่เช่นนั้นผลกระทบในแง่ลบทั้งระยะสั้นและระยะยาวจะทำลายความนิยมของรัฐบาลลงอย่างรวดเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น