xs
xsm
sm
md
lg

แฉผักห้างดังหลายเจ้า มีสารเคมีตกค้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลตรวจผักที่วางจำหน่ายตามห้าง พบสารเคมีศัตรูพืช อาทิ เมโทมิล ตกค้างจำนวนมาก แม้ไม่เกินมาตรฐานไทย แต่เกินมาตรฐานยุโรป ชี้ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก ด้านมูลนิธิชีววิถี แฉ บริษัทผลิตและนำเข้าเมโทมิล อยู่เบื้องหลังการผลักดันขึ้นทะเบียนเมโทมิลในไทย ทั้งที่หลายประเทศทั่วโลกประกาศเลิกใช้แล้ว

วันนี้ (11 ก.ค.) ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า นิตยสารฉลาดซื้อได้ทำการคัดเลือกผักที่นิยมใช้ในครัวเรือนไทย 7 ชนิด ได้แก่ กะหล่ำปลี คะน้า ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ผักชี และ พริกจินดา ที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต มาทำการตรวจสอบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจำนวน 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกมีประกาศห้ามใช้และปฏิเสธการขึ้นทะเบียน เนื่องจากมีพิษร้ายแรงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
น.ส.สารี กล่าวต่อว่า การตรวจสอบได้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ผักที่ได้รับเครื่องหมาย Q ซึ่งเป็นตรารับรองสินค้าเกษตรคุณภาพ โดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ 2.ผักที่จำหน่ายโดยใช้ตรา หรือยี่ห้อของทางห้าง (House brand) พบว่า ทั้งสองกลุ่มล้วนเจอสารเคมีอันตรายหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคาร์โบฟูราน และเมโทมิล แม้จะไม่เกินค่ามาตรฐานประเทศไทย แต่เกินค่ามาตรฐานของยุโรป ได้แก่ ถั่วฝักยาว ผักชี คะน้า สะท้อนมาตรฐานการคุ้มครองสุขภาพคนไทยที่ต่ำกว่ายุโรป นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกผักของไทย ซึ่งที่ผ่านมาสินค้าของไทยถูกตีกลับจากยุโรป เนื่องจากไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ฉะนั้น จึงอยากเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว เร่งปรับมาตรฐานการตกค้างของสารเคมีเกษตรของไทยให้เป็นมาตรฐานเดียวกับยุโรป

ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา สมาคมชาวสวนมะม่วงไทยได้ออกมาแถลงข่าวผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนเมโทมิล ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ ทราบมาว่า บริษัทผู้ผลิตและนำเข้าเมโทมิลรายใหญ่ของโลกเป็นผู้จัดงานแถลงข่าวดังกล่าว จึงคาดว่าน่าจะเป็นกลยุทธ์ทางการค้าของบริษัทมากกว่า

นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการอ้างเรื่องไม่ขึ้นทะเบียนเมโทมิลแล้ว จะส่งผลกระทบต่อตลาดส่งออกมะม่วงไทยไปยังญี่ปุ่น และการอ้างว่า เมโทมิลมีราคาแพง ทั้งที่ในปี 2554 มีการนำเข้าเมโทมิล มากกว่าปี 2553 จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรฯ และคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีประกาศห้ามใช้ และไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียน เมโทมิล รวมไปถึงคาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส และ อีพีเอ็น โดยทันที เพื่อปกป้องสุขภาพของเกษตรกรผู้บริโภค และรักษาตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย

เมโทมิลเป็นสารเคมีที่หลายประเทศห้ามใช้แล้ว ในประเทศอาเซียน มีสิงคโปร์ มาเลเซีย และกัมพูชา ที่ห้ามใช้ และไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียน ส่วนสหภาพยุโรป (อียู) ได้ประกาศถอนเมโทมิลทั้งหมด ทั้งนี้เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบว่า เมโทมิลเป็นสารพิษที่ถูกพบมากที่สุดในผักและผลไม้ไทยที่ส่งออกไปยุโรป รองจากคาร์โบฟูราน แต่จากการที่มีบางฝ่ายออกมาผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนเมโทมิลนั้น จึงอยากเตือนให้สังคมไทยร่วมกันจับตาข้าราชการระดับสูงของกระทรวงเกษตรฯบางคน ที่ขณะนี้ทำหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทสารเคมียิ่งกว่าประโยชน์และความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภคที่ได้รับพิษภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช” ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าว

ติดตามรายละเอียดผลการสำรวจผักในห้างดัง ได้ที่ http://www.consumerthai.org
กำลังโหลดความคิดเห็น