xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจผักตลาดสด-หาบเร่ พบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลตรวจผักตลาดสดและหาบเร่ พบมีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน 38.1% ผักชีอันตรายสุด ที่ตลาดห้วยขวางพบสาร EPN เกินมาตรฐานยุโรป 102 เท่า มูลนิธิชีววิถีแนะปลูกผักกินเอง และเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้

วันนี้ (7 ส.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น.ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN : Thailand Pesticide Alert Network) ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ แถลงผลการดำเนินการสุ่มตรวจผัก 7 ชนิด ได้แก่ กะหล่ำปลี คะน้า ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ผักชี และพริกจินดา โดยสุ่มเก็บจากตลาดสดทั่วไป 2 ตลาด ได้แก่ ตลาดห้วยขวาง และตลาดประชานิเวศน์ รวมถึงผักที่ขายในรถเร่ ไปวิเคราะห์หาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้าง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต และคาร์บาเมต ที่ห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

นายพชร แก้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงผลการตรวจ ว่า ผักในตลาดสดทั่วไปและรถเร่พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน 38.1% ใกล้เคียงกับผลการสุ่มตรวจผักที่มีตรามาตรฐาน Q ของกรมวิชาการเกษตรและผักที่ขายในห้างซึ่งพบว่ามีผักที่พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน 43% ทั้งๆ ที่ผักดังกล่าวมีราคาแพงมากกว่าผักที่ขายในตลาดสดตั้งแต่ 2-10 เท่า
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
นายพชร กล่าวอีกว่า ผักที่พบสารพิษตกค้างมากที่สุดและอันตรายที่สุด คือ ผักชี โดยพบสารตกค้างเกินมาตรฐาน 5 ชนิด ได้แก่ Carbofuran, Chlorpyrifos, EPN, Methidathion และ Methomyl โดยเฉพาะผักชีจากกูร์เมต์ มาร์เก็ต (สยามพารากอน) พบ Carbofuran เกินค่ามาตรฐาน 37.5 เท่า ผักชีตลาดประชานิเวศน์ พบ Carbofuran เกิน 56.5 เท่า ในขณะที่ตลาดห้วยขวาง พบ EPN เกิน 102 เท่า

ด้าน น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า จากการตรวจสอบ ผักที่ไม่พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต และคาร์บาเมต ตกค้างเลย คือ ผักบุ้งจีน เนื่องจากเป็นผักที่มักมีศัตรูพืชน้อยกว่าผักประเภทอื่นๆ สำหรับกะหล่ำปลี และผักกาดขาว ซึ่งมีความเสี่ยงในการพบสารเคมีตกค้างค่อนข้างมากนั้น การสำรวจครั้งนี้ พบว่า มีการตกค้างของ Carbofuran และ Methomyl น้อยกว่ามาตรฐานที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (มกอช.) และของสหภาพยุโรปกำหนดไว้ ซึ่งอาจเกิดจากช่วงที่สุ่มเก็บตัวอย่างนั้น ยังไม่ใช่ฤดูกาลที่ศัตรูพืชของผักประเภทนี้ระบาดทำให้มีการใช้สารเคมีน้อยกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม แม้ไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่หากได้รับบ่อยๆ ก็จะสะสมในร่างกายจนก่อให้เกิดอันตรายได้

น.ส.ปรกชล กล่าวอีกว่า เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เตรียมยื่นเรื่องไปยังกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำเนินการควบคุมการส่งเสริมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของบริษัทสารเคมี และเกษตรกรให้เข้มงวดเท่าเทียมกับที่มีมาตรการที่ใช้กับผักส่งออก และให้การยกเลิกการขึ้นทะเบียนและห้ามมิให้มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่หลายประเทศห้ามใช้แล้วโดยทันที นอกจากนี้ จะยื่นเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้มีมาตรการในการสุ่มตรวจดูความปลอดภัยของผักและผลไม้ด้วย

“สำหรับผู้บริโภคสามารถลดผลกระทบจากปัญหานี้ได้ โดยการเลือกซื้อ หรือบริโภคผักที่มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชน้อย อาทิ ผักพื้นบ้าน ผักที่ได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ หรือปลูกผักเพื่อบริโภคเอง โดยอาจหาข้อมูลเบื้องต้นได้จากเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องส่วน การลดสารเคมีตกค้างในผัก สามารถทำได้โดยการล้างน้ำหลายๆ ครั้ง หรือการใช้ด่างทับทิม แต่อาจไม่ได้ผลเสมอไป เพราะสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหลายชนิดเป็นประเภทดูดซึม” น.ส.ปรกชล กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น