xs
xsm
sm
md
lg

กรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมมือหน่วยงานรัฐต่อยอดงานทรัพย์สินทางปัญญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมทรัพย์สินทางปัญญาบูรณาการความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมลงนาม MOU กับ สมอ. และ มกอช. เพื่อพัฒนางานด้านสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สู่มาตรฐานสากล สานต่อความร่วมมือ MOU สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนางานทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง พร้อมประกาศผลรางวัลผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 20 ปี กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมฯ ได้รับเกียรติจากนายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในการเปิดงาน โดยภายในงานมีกิจกรรมที่สำคัญได้แก่ การลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ระหว่างสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยได้รับเกียรติจากผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ) และเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (นายชัยยง กฤตผลชัย) ร่วมลงนามในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อถือและการยอมรับในกระบวนการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นเครื่องมือทางการตลาดให้แก่สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ต่อไป

นอกจากนี้ กรมฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อร่วมกันพัฒนางานด้านทรัพย์สินทางปัญญาในสถาบันอาชีวศึกษา โดยมีรองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (นายสมบัติ แสงสว่างสัจกุล) ให้เกียรติร่วมลงนาม โดย MOU ดังกล่าวมีขอบเขตความร่วมมือคือ ด้านการสร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญา ด้านการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ด้านการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และความร่วมมือด้านอื่นๆ

ในส่วนของการมอบรางวัล IP Champion 2012 ให้แก่ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์นั้นได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและแรงจูงใจในความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาในทางธุรกิจ โดยคัดเลือกจากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ รวมทั้งมีภาพลักษณ์กิจการที่ดีและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ ซึ่งรางวัลจำแนกออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตร ประเภทสิทธิบัตรการออกแบบ ประเภทเครื่องหมายการค้า และประเภทลิขสิทธิ์
รางวัล IP Champion ประเภทสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตร 4 รางวัล ได้แก่ 1) รศ.ดร.สุกัญญา เจษฎานนท์ 2) มหาวิทยาลัยมหิดล 3) สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา 4) บริษัท เทิร์ม เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

รางวัล IP Champion ประเภทสิทธิบัตรการออกแบบ 3 รางวัล ได้แก่ 1) นายเอกรัตน์ วงษ์จริต 2) บริษัทเศรษฐ์อินเตอร์เทรด จำกัด 3) บริษัท สามมิตร กรีนพาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)
รางวัล IP Champion ประเภทเครื่องหมายการค้า 3 รางวัล ได้แก่ 1) บริษัท บางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) 2) บริษัท บอนนี่ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 3) บริษัท ไลท์ติ้งแอนอิควิปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) รางวัล IP Champion ประเภทลิขสิทธิ์ 2 รางวัล ได้แก่ 1) นางสาวรัตน์พร ปิ่นทอง 2) บริษัท ทัช อะ โมเม้นท์ จำกัด

นอกจากนี้ ในปีนี้ยังมีรางวัลพิเศษ 2 รางวัล คือ รางวัล Commercialized IP Diamond ซึ่งเป็นรางวัลที่ได้จากการคัดเลือกผู้ประกอบการที่เคยได้รับรางวัล IP Champion จาก 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อเชิดชูเกียรติแก่เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลคือ บริษัท เอสซีเจ ผลิตภัณฑ์ ก่อสร้าง จำกัด รวมทั้งมอบรางวัลเพชร IP ซึ่งเป็นการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาตั้งแต่กรมฯ ได้มีการก่อตั้งขึ้น และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างโดดเด่น ชัดเจน และเป็นรูปธรรม โดยผู้ได้รับรางวัลเพชร IP คือบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

นางปัจฉิมากล่าวเพิ่มเติมถึงก้าวสู่ปีที่ 21 ของกรมฯ ว่ามีเป้าหมายสำคัญคือ การสร้างให้ทรัพย์สินทางปัญญากลายเป็นเครื่องมือทางการค้าที่แข็งแกร่ง โดยจะมีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งระบบเพื่อให้การจดทะเบียนและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ระบบ IPAS (Industrial Property Automation System) การจัดตั้งศูนย์ป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ การพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ รู้กว้าง รู้ลึก และมีทักษะด้านภาษาอังกฤษ เพื่อรองรับ AEC

การนำองค์กรสู่ Green Department รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมที่สนับสนุนการเตรียมการของสมาชิกอาเซียนเพื่อรองรับการเข้าเป็นประชาคมอาเซียน (AEC) เช่น เข้าเป็นภาคีสมาชิกพิธีสารกรุงมาดริด (Madrid Protocol) ภายในปี พ.ศ. 2558 การทำโครงการแลกเปลี่ยนผลการตรวจสอบสิทธิบัตรของอาเซียน (ASEAN Patent Search Examination Cooperation หรือ ASPEC) การจัดทำเว็บไซต์เดี่ยว (single website) ที่จะเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียน (ASEAN IP Portal) เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น