xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียน “ทีวีจอดำ” กับมาตรการป้องกันผู้บริโภคจากการถูกเอาเปรียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จาก นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 136 ประจำเดือน มิถุนายน 2555

การแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติยุโรป หรือ ศึกยูโร 2012 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะแต่สำหรับคนที่สนใจในเกมการแข่งขันแล้ว แต่สำหรับคนทำงานเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชน น่าจะใช้เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียน โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ชมโทรทัศน์ในบ้านเรา ที่จะมีการเปลี่ยนระบบส่งสัญญาณโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอลในอนาคตอันใกล้นี้

ใครที่เป็นสมาชิกทรูวิชั่นส์ ดูทีวีผ่านระบบเคเบิล หรือผ่านระบบดาวเทียมนั้น ต่างก็ก่นด่า และเบื่อหน่ายรำคาญ กับการเห็นแก่ได้ของฝ่ายทุน ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ทรู แกรมมี่ หรือแม้แต่ สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีเองก็ตาม การเอาเปรียบผู้บริโภคโดยอาศัยลิขสิทธิ์ในทางการค้านั้น แม้แต่ในประเทศเยอรมนีเอง ที่ภาคประชาชนเข้มแข็ง ภาคการเมืองเป็นอิสระจากระบบทุนมากกว่าของไทยเรา เพราะพรรคการเมืองไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัติของระบบทุนนิยมสามานย์ นั้น มีการจัดการอย่างไรในเรื่องนี้ บทความฉบับนี้ผมขออนุญาตนำบทเรียนจากทางเยอรมนีมาเล่าสู่กันฟังครับ

ผู้บริโภคโดนจำกัดสิทธิ เพราะเทคโนโลยีก้าวล้ำ แต่คุณธรรมที่ล้าหลัง

ในประเทศเยอรมนีเองนั้น หลังจากเปลี่ยนการแพร่สัญญาณโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกมาเป็นระบบดิจิตอลโดยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2012 แล้ว ผู้บริโภคก็ประสบปัญหาไม่สามารถรับชมรายการโทรทัศน์ทั้งจาก

** ฟรีทีวีได้ ถึงแม้ว่า จะมีช่องฟรีทีวีที่หลากหลาย และรายได้ของช่องสถานีฟรีทีวีจะมาจากโฆษณาก็ตาม

** ช่องรายการของโทรทัศน์สาธารณะที่มีอยู่ 2 ช่องในระดับสหพันธรัฐ และอีก 1 ช่องในระดับรัฐบาลท้องถิ่น ที่ทำหน้าที่และมีบทบาทเหมือนกับช่องไทยพีบีเอส บ้านเรา

ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทผู้ให้บริการเคเบิลทีวี และผู้ให้บริการทีวีดาวเทียม ต้องการจะขายเครื่องรับสัญญาณของตนให้กับผู้บริโภค โดยถือโอกาสใช้การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไปใช้ในการหาประโยชน์ในทางธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคส่วนมากก็จะต้องเสียค่าบริการรายเดือนเหมือนกับบ้านเรา และที่ร้ายไปกว่านั้น ในกรณีที่ผู้บริโภคย้ายที่อยู่จากมลรัฐหนึ่งไปอยู่อีกมลรัฐหนึ่ง กล่องรับสัญญาณที่ผู้บริโภคมีอยู่เดิมนั้น ไม่สามารถรับสัญญาณได้อีกต่อไป ต้องไปซื้อกล่องรับสัญญาณอีก เพราะในการเปลี่ยนผู้ให้บริการนั้น ก็ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์รับสัญญาณไปด้วย

ในกรณีนี้ ผู้บริโภคจะจ่ายสองเด้ง คือ จ่ายในรูปของภาษี เพราะช่องรายการโทรทัศน์สาธารณะนั้น จะได้รับเงินสนับสนุนจากภาษีของประชาชน แต่ถ้าผู้บริโภคอยากจะดูรายการก็ต้องจ่ายสตางค์เพื่อจะซื้อกล่องรับสัญญาณอีก ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายแล้ว รัฐจะต้องดำเนินนโยบายให้ประชาชนเข้าถึงรายการสาธารณะโดยทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

ในกรณีของฟรีทีวี ซึ่งมีรายได้จากการขายเวลาโฆษณา ถึงแม้นว่าประชาชนได้ชมรายการจากฟรีทีวี ก็ต้องดูโฆษณาจากฟรีทีวีด้วย ผู้ประกอบการฟรีทีวีได้รับรายได้สองต่อคือค่าโฆษณาและเงินรายได้จากสถานีโทรทัศน์ที่ต้องการเพิ่ม rating ให้กับสถานีของตน แต่ประชาชนขาดทุนสองเด้งเช่นกัน คือ จ่ายค่าสมาชิกให้กับบริษัทประกอบกิจการเคเบิลทีวี และจ่ายภาษีให้กับรัฐด้วย

ผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคในเยอรมนีทำอย่างไร

ผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคที่เกี่ยวข้อง เช่น สหพันธ์องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค (VZBV) และ สหพันธ์องค์กรคุ้มครองสิทธิคนอยู่บ้านเช่า (Der Deutsche Mieterbund) และสหพันธ์องค์กรผู้ประกอบกิจการที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ (Bundesverband deutscher Wohnungs- und Immobilienunternehmen) ได้ทำหนังสือแถลงการณ์ประท้วงไปยังรัฐบาลท้องถิ่น และรัฐบาลกลางเพื่อให้เปลี่ยนแปลงนโยบายที่ไม่ได้เป็นมิตรกับผู้บริโภคในเรื่องการเข้าถึงสื่อทีวีสาธารณะเช่นนี้ พร้อมกับสนับสนุนให้องค์กรผู้บริโภค ได้จัดเวทีสานเสวนา (Dialog) ถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค (น่าสังเกตว่านักการเมือง ของเขานั้น ไม่ได้เติบโตมาจากกลุ่มทุน แต่เติบโตมาจากพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองจริงๆ แยกออกมาจากกลุ่มธุรกิจอย่างสิ้นเชิง กรรมการบริหารพรรค ไม่ได้มีรากเหง้ามาจากแวดวงธุรกิจเหมือนกับนักการเมืองส่วนใหญ่ในบ้านเรา)

บทเรียนของเยอรมนีกับการกำกับดูแลภายใต้ กสทช.

สำหรับองค์กรคุ้มครองสิทธิคนอยู่บ้านเช่านั้น เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ เพราะคนเยอรมันส่วนใหญ่ ไม่มีบ้าน หรือที่ดินเป็นของตนเอง จะอยู่ห้องเช่า (Wohnung) เป็นส่วนมากของจำนวนประชากรทั้งหมด เพราะฉะนั้นมีความจำเป็นในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของคนที่อยู่บ้านเช่าเพื่อมิให้ถูกบริษัทธุรกิจทำบ้านให้เช่านั้นเอาเปรียบ เนื่องจากบ้านเช่า หรือห้องเช่าในเยอรมนีนั้นส่วนมากจะมีระบบรับสัญญาณเคเบิลทีวี อยู่ในห้องแล้วเรียบร้อย ผู้เช่าห้องสามารถบอกรับการเป็นสมาชิกได้เลย ไม่ต้องทำเรื่องติดตั้ง หรือต่อสายเข้ามาในบ้านเหมือนบ้านเรา สำหรับเรื่องการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณเคเบิลนั้น กสทช.สมควรจะเข้ามาควบคุมดูแล ร่วมกับบริษัทเอกชน เพราะเป็นเรื่องโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน หาก กสทช.กำกับดูแลดี ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์และเข้าถึงสัญญาณโทรทัศน์ได้อย่างทั่วถึง ประกอบกับจะเกิดการใช้ทรัพยากรของชาติอย่างคุ้มค่า ซึ่งได้กำหนดไว้ในแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฉบับที่ 1 พ.ศ.2555-2559 ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 3 การกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีการแก้ไขเยียวยาปัญหาอย่างรวดเร็วและไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งถึงแม้นว่า กสทช.จะออกคำสั่งทางปกครองสั่งปรับทรูวิชั่นส์ วันละสองหมื่นบาทนั้น ย่อมเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด มูลค่าในการสั่งปรับน้อยมาก ไม่กระทบกระเทือนกับธุรกิจ และไม่สามารถเยียวยาผู้บริโภคได้เลย

หลังจบฟุตบอลยูโรแล้ว กสทช.ฟรีทีวี และทีวีสาธารณะ อาจต้องร่วมกันหามาตรการป้องกันการผูกขาด ที่มาในรูปของลิขสิทธิ์ที่กลุ่มทุนนำมาใช้เป็นเครื่องมือ ในการจำกัดสิทธิผู้บริโภคในการเข้าถึง Event ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอลโลก ฟุตบอลยูโร และกีฬาโอลิมปิกในอนาคต เหมือนกับที่สื่อสาธารณะของเยอรมนี ไม่ยอมก้มหัวให้กับการหากำไรของทุนนิยมในประเทศของเขาครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น