xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค วอนศาลแพ่งลงโทษแกรมมี่ เซ่นจอดำบอลยูโร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศึกจอดำ “บอลยูโร” ยังยืดเยื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ออกแถลงการณ์ 4 ข้อ “สังคมไทยไม่ต้องมีฟรีทีวีจอดำอีกต่อไป” ซัด “บีอีซี-เทโร - กองทัพบก - อสมท - แกรมมี่” ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานและเอาเปรียบผู้บริโภคกว่า 11 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ในการดูฟรีทีวี ขอให้ศาลพิพากษาเชิงลงโทษ แกรมมี่ ช่อง 3 5 และ 9 พร้อมจี้รัฐบาลผุดองค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภค
แฟ้มภาพ
หลังศาลแพ่งไม่รับเรื่องคำร้องคัดค้านของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด จำเลยที่ 4 ซึ่งขอคำร้องชั่วคราว กรณีทีวีจอดำบอลยูโร ล่าสุด วันนี้ (28 มิ.ย.) ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 14.00 น.นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วย นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค นางสาวเรณู ภู่อาวรณ์ นายขวัญมนัส พูลมิน และ นายเฉลิมพงษ์ กลับดี ได้ออกคำแถลงการณ์ “สังคมไทยไม่ต้องมีฟรีทีวีจอดำอีกต่อไป” โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.ฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว
โจทก์ที่ 1 เป็นเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมไทยมานาน โจทก์ที่สองเป็นประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคซึ่งเป็นเครือข่ายขององค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ โจทก์ที่สามเป็นหัวหน้าศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม โจทก์ที่สี่เป็นผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิจังหวัดราชบุรี โจทก์ที่ 5 เป็นหัวหน้าทนายอาสาของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โจทก์ไม่ได้ต้องการฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว และมีความต้องการให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยดำเนินคดีแทนผู้บริโภคจำนวน 11 ล้านครัวเรือนที่ไม่สามารถดูฟรีทีวีในครั้งนี้ได้ แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ไม่ได้ให้อำนาจหรืออนุญาตให้มูลนิธิ ดำเนินการฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้ซึ่งแตกต่างจากคดีปกครอง และ พ.ร.บ.ความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 จึงจำเป็นต้องฟ้องคดีนี้ในฐานะส่วนตัวที่เป็นผู้เสียหาย
การฟ้องครั้งนี้ขององค์กรผู้บริโภคไม่ได้ต้องการเพียงแค่การดูถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร แต่ในฐานะองค์กรที่ทำงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เห็นว่า ปรากฏการณ์จอดำครั้งนี้ นับเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคมากกว่าครึ่งประเทศในการเข้าถึงบริการสาธารณะในการดูฟรีทีวี ซึ่งสถานีโทรทัศน์ในฐานะผู้รับใบอนุญาตให้บริการฟรีทีวีไม่ควรสมยอมกับเอกชนในการหยุดดำเนินการให้บริการสาธารณะกับผู้บริโภค และสัญญาใดที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยย่อมเป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เอกชนย่อมกระทำไม่ได้

2.พฤติการณ์ของจำเลย
บริษัท แกรมมี่ ได้ร่วมกันกับช่อง 3, 5 และ 9 สมคบกันทำธุรกิจละเมิดสิทธิและเอาเปรียบผู้บริโภคในการเข้าถึงบริการสาธารณะฟรีทีวีอันเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภค ด้วยการตัดสัญญาณการถ่ายทอดรายการฟรีทีวีผ่านจานรับสัญญาณดาวเทียม ทั้งๆ ที่รู้ดีว่า ผู้บริโภคและประชาชนชาวไทยในฐานะผู้บริโภคสื่อมากกว่า 11 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศใช้การดูฟรีทีวีด้วยอุปกรณ์จานดาวเทียมที่ในปัจจุบันมีราคาถูกกว่าเสาอากาศแบบเดิมและคุณภาพดีกว่าอุปกรณ์ประเภทอื่นๆ ด้วยเล่ห์เหลี่ยมทางธุรกิจกีดกันกันเข้าถึงสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภคในการรับชมฟรีทีวี เพื่อให้ได้มาซึ่งการขยายฐานลูกค้าและช่องทางการจำหน่ายกล่องรับสัญญาณดาวเทียม GMMZ ในราคาประมาณ 1,590 บาท ของตนเองได้ ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนเสียหายจากการปิดกั้นผู้บริโภคมิให้เข้าถึงฟรีทีวี โดยหวังประโยชน์ในการขายกล่องสัญญาณดาวเทียม GMMZ ซึ่งมียอดจำหน่ายไม่น้อยกว่า 800,000 กล่องในปัจจุบัน เป็นมูลค่าสูงถึง 1,272 ล้านบาท ขณะที่ค่าธรรมเนียมกล่องสัญญาณรวมค่าภาษี เพียง 214 บาทเท่านั้น นอกจากนี้ GMMZ ยังได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น สปอนเซอร์ ค่าโฆษณาสินค้าในรายการฟรีทีวี อีกมากมาย
การอ้างการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ได้มา มีเพียงข้อห้ามเรื่องการเผยแพร่และทำซ้ำ แต่ระบบลิขสิทธิ์มีขึ้นมาเพื่อสร้างสมดุลระหว่างความคุ้มครองเจ้าของสิทธิ และผลประโยชน์สาธารณะและการคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาทั้งของไทยและต่างประเทศต่างกำหนดข้อยืดหยุ่นเพื่อไม่ให้การคุ้มครองสิทธิ มารุกล้ำสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การศึกษาและประโยชน์ของสาธารณะ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้จะมีความพยายามในการแก้ไขเพื่อคุ้มครองเจ้าของสิทธิให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้นภายใต้ข้อตกลงใหม่ (Anti Counterfeit Trade Agreement, ACTA) จนกระทบสิทธิผู้บริโภค ก็ยังไม่สามารถใช้บังคับได้ในประเทศไทยและแม้แต่สหภาพยุโรปซึ่งเป็นผู้ผลักดันการเจรจา ล่าสุด คณะกรรมาธิการค้าสหภาพยุโรปก็มีมติไม่เห็นด้วยกับความตกลงดังกล่าว เพราะเห็นว่าความตกลงใหม่นี้ละเมิดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ความรู้ของประชาชนผู้บริโภค

3.หน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องโดยตรงไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้จริง
นับตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน จนถึงวันฟ้องคดี (วันที่ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมา) โจทก์ได้มีบทบาทและดำเนินการเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องทั้งหลายแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณะ กรณีบริการฟรีทีวี (จอดำของฟุตบอลยูโร) ให้ทำงานตามกฎหมายและบทบาทของตนเองอย่างเต็มที่ เช่น การจัดประชุมองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ 302 องค์กรเพื่อพิจารณาเรื่องนี้และทำจดหมายถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) จำนวน 2 ฉบับเพื่อเรียกร้องให้แก้ปัญหาจอดำ และมีคำสั่งทางปกครองกับช่อง 3 , 5 และ 9 และบริษัท แกรมมี่ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้แต่ไม่สามารถดำเนินได้เพียงและกรรมการกสท.ที่เห็นด้วยกลับเป็นเพียงเสียงข้างน้อย พร้อมทั้งได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหากับคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภคของสภาผู้แทนราษฎร การจัดประชุมร่วมกับนักวิชาการและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) การเข้าพบเพื่อขอความร่วมมือและหาทางออกเรื่องนี้กับผู้บริหารระดับสูงของ สคบ.
การจัดเวทีด้วยตนเอง การมีส่วนร่วมกับการจัดเวทีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง การสื่อสารสาธารณะเท่าที่มีโอกาสและช่องทางเอื้ออำนวยในเรื่องนี้ และเมื่อเห็นว่า ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ได้ดำเนินการร้องเรียนเพื่อให้มีการตรวจสอบการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของ กสท.ผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ผลการตรวจสอบการละเลยการปฏิบัติหน้าที่อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคพื้นฐานในการเข้าถึงฟรีทีวีในครั้งนี้ได้ และยังมีผู้เสียหายสองกลุ่มที่เป็นผู้บริโภคทั่วไปได้ดำเนินการใช้สิทธิฟ้องคดี กสท.ต่อศาลปกครองกลาง แต่ไม่มีคำสั่งให้มีการคุ้มครองชั่วคราวให้แก้ปัญหาและคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคได้

กลุ่มองค์กรผู้บริโภคโจทก์ทั้ง 5 จึงได้มีมติดำเนินการสองเรื่องที่สำคัญ คือ 1.นำเรื่องมาฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้มีการคุ้มครองก่อนมีคำพิพากษา 2.การบอยคอตสินค้าและบริการของบริษัท แกรมมี่ ทั้งหมด ซึ่งนั่นคงเป็นคำตอบได้อย่างดีว่า ทำไมถึงเพิ่งจะมาฟ้อง เพราะฟุตบอลใกล้จะจบแล้ว เกือบ 3 อาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้บริโภคหมดเวลาไปกับการกดดันให้กลไกหน่วยงานของรัฐทุกส่วนได้ทำหน้าที่ แต่ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามกฎหมาย หรือทำหน้าที่บกพร่อง ไม่มีประสิทธิภาพ มีเพียง กสท.เสียงข้างน้อยที่ต้องการให้มีการดำเนินการแก้ปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเท่านั้น ผู้บริโภคประชาชนจึงไม่มีที่พึ่งที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนจึงนำคดีมาสู่ศาลเพื่อให้คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคในเรื่องนี้

4.องค์กรผู้บริโภคต้องการอะไรในการฟ้องคดี
เพื่อให้ศาลคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภคในการดูฟรีทีวี และห้ามการกระทำละเมิดผู้บริโภคมากกว่า 11 ล้านครัวเรือนในการดูฟรีทีวี ซึ่งมีมาก่อนการทำสัญญาบุคคลของแกรมมี่ จะล้มล้างไม่ได้ หรือสัญญาบุคคลจะละเมิดสิทธิของการคุ้มครองผู้บริโภค (มหาชน)ไม่ได้ชดเชยความเสียหายให้กับผู้บริโภคที่ฟ้องทั้งหมดคนละ 1,590 บาท ซึ่งต้องถือว่า เป็นความเสียหายที่น้อยมากเมื่อเทียบกับความเสียหายของผู้บริโภค ผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับ สถานะทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ

ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเชิงลงโทษเนื่องจากบริษัทแกรมมี่และช่อง 3 , 5 และ 9  ทราบดีว่า ผู้บริโภคไม่น้อยกว่า 11 ล้านครัวเรือนใช้ดาวเทียมเป็นอุปกรณ์ในการดูฟรีทีวี แต่จงใจให้ผู้บริโภคเสียหายและไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค ทั้งๆ ที่สามารถจัดการในทางเทคนิคต่อการแพร่ภาพที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ได้

ขอให้มีคำแนะนำไปยังรัฐบาลให้เร่งผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อเป็นกลไกเสริมให้สามารถคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคได้จริงในสังคมไทย

สุดท้ายปัจจุบันธุรกิจการแพร่ภาพและกระจายเสียง ผ่านเทคนิคต่างๆ หลากหลายช่องทาง และเป็นธุรกิจอนาคตที่สามารถทำกำไรสูง ดังนั้นผู้บริโภคจึงหนีไม่พ้นการถูกละเมิดสิทธิจากธุรกิจด้านนี้มากขึ้น การฟ้องคดีในครั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ผู้ประกอบธุรกิจไปทำสัญญาเพื่อประโยชน์ส่วนตน แต่ละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชนส่วนใหญ่ในประเทศอย่างเช่นปัจจุบัน และเพื่อให้เกิดคำตัดสินที่เป็นบรรทัดฐานในการเข้าถึงบริการฟรีทีวีในอนาคต หากไม่ดำเนินการในครั้งนี้ก็มิสามารถป้องกันการเกิดเหตุการณ์เช่นนี้แบบซ้ำซากได้
กำลังโหลดความคิดเห็น