กก.ผจก.จีเอ็มเอ็ม ไต่สวนคุ้มครองจอดำบอลยูโร ยันแกรมมี่เป็นผู้ได้รับลิขสิทธิ์แห่งเดียว และมีข้อบังคับสัญญายูฟาผูกพัน แก้ต่างไม่ได้ระงับส่งสัญญาณ แต่ระงับแค่เนื้อหาฟุตบอล โบ้ยข้อความขออภัยทีวีจอมืด เป็นเรื่องของสถานี ไม่เกี่ยวแกรมมี่ ขณะศาลแพ่ง ออกหมายเรียก ผู้แทนช่อง 3, 5, 7, 9, ไทยพีบีเอส ไต่สวนพรุ่งนี้ต่อ
วันนี้ (27 มิ.ย.) ที่ห้องพิจารณาคดี 310 ศาลแพ่งนัดไต่สวนฉุกเฉินคดีหมายเลขดำ ผบ.1841/2555 ที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กับพวก รวม 5 ราย ซึ่งเป็นผู้บริโภคใช้บริการสาธารณะฟรีทีวี และผู้ใช้ระบบเคเบิลทีวีและดาวเทียม ร่วมเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องคดีผู้บริโภค บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสถานีโทรทัศน์ทีวีช่อง 3, กองทัพบก ผู้ให้บริการสถานีโทรทัศน์ ททบ.5, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสถานีโทรทัศน์ โมเดิร์นไนน์ และบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-4 เรื่องร่วมกันทำละเมิด และผิดสัญญา โดยขอให้ศาลไต่สวนเพื่อขอคุ้มครองฉุกเฉิน ให้จำเลยที่ 1-4 แพร่ภาพถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโรโดยด่วนที่สุดก่อนการแข่งขันจะสิ้นสุดในวันที่ 2 ก.ค.นี้
โดยวันนี้เป็นการไต่สวนพยานของ บ.จีเอ็มเอ็ม จำเลยที่ 4 ซึ่ง นายเดียว วรตั้งตระกูล กรรมการผู้จัดการสายงาน Platform Strategy บ.จีเอ็มเอ็ม ซึ่งเป็นผู้ดูแลกลยุทธ์ทั่วไปของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด เบิกความว่า บริษัท แกรมมี่ ซึ่งเป็นผู้ได้รับลิขสิทธิ์แห่งเดียวในประเทศไทยจากสมาคมฟุตบอลยุโรป (ยูฟา) และมีหนังสือสัญญาร่วมกันว่าขอบเขตของการถ่ายทอดสดจะมีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งแกรมมี่ ยังมีคู่สัญญาด้วยกันกับช่อง 3, 9 ฟรีทีวีที่มาช่วยแบกรับต้นทุน ส่วนช่อง 5 เพิ่งจะมีการเจรจาภายหลัง ส่วนสัญญาที่ยูฟา ระบุว่าการถ่ายทอดให้มีขอบเขตเฉพาะในประเทศไทยนั้น ในทางเทคนิคแล้วการควบคุมจะให้อยู่ในขอบเขตได้ คือ ทางเสาอากาศ เคเบิลทีวี และอินเทอร์เน็ต ฯลฯ
ซึ่งยูฟาระบุด้วยว่า ในการถ่ายทอดผ่านระบบจานดาวเทียมต้องมีการป้องกันแบบสูงสุด เพราะในระบบดาวเทียมจะมีอยู่ 2 ระบบ คือ C-band ซึ่งรับสัญญาณจากดาวเทียมไทยคมจะสามารถส่งสัญญาณไปได้ถึง 22 ประเทศทั่วโลก และ Ku-band ซึ่งส่งสัญญาณได้ในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง
นายเดียว เบิกความด้วยว่า สำหรับช่อง 3, 5, 9 ซึ่งเป็นฟรีทีวีนั้น ตามสัญญาลิขสิทธิ์ที่ทำไว้กับยูฟาจะให้ได้รับสัญญาณจากทางภาคพื้นดิน ส่วนการจะส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมนั้น ต้องได้รับการอนุญาตจากยูฟาก่อน ซึ่งช่องสัญญาณที่ได้รับการอนุญาตแล้ว คือ เฉพาะ จีเอ็มเอ็ม แซท และ ดีทีวี ส่วนทรูวิชั่นส์ และช่องอื่นๆ เคยมีการเจรจากันแล้วแต่ไม่สำเร็จ ขณะที่ทางเทคนิคการส่งสัญญาณทางภาคพื้นดินอย่างเดียว อาจทำให้ช่องฟรีทีวี 3, 5, 9 มีภาพที่ไม่คมชัด จีเอ็มเอ็ม จึงได้ปล่อยสัญญาณดาวเทียมคู่ขนานไป เพื่อให้ได้รับชมภาพชัดเจน แต่จะตั้งค่าสัญญาณดาวเทียมไว้เพื่อไม่ให้ส่งสัญญาณไปยังประเทศอื่นด้วย เพราะเกรงจะเป็นการผิดสัญญากับยูฟา จึงเป็นสาเหตุที่จอทีวีขึ้นสัญญาณมืดและมีตัวหนังสือขออภัย โดยสัญญาณที่ส่งจาก บ.จีเอ็มเอ็ม เป็นการส่งสัญญาณไม่ได้มีการตั้งรหัส เพราะรหัสนั้นแต่ละช่องจะเป็นผู้ตั้งเอง ซึ่งข้อความขออภัยในทีวีที่จอมืดก็เป็นข้อความของสถานีนั้นเอง ไม่ใช่ข้อความของทางแกรมมี่
นายเดียว ระบุด้วยว่า “แกรมมี่ไม่ได้ระงับการส่งสัญญาณ แต่ระงับแค่เนื้อหาที่เป็นฟุตบอลยูโรเท่านั้น” เรื่องนี้แกรมมี่ได้เคยเจรจากับยูฟาแล้ว เพื่อขอให้ปล่อยสัญญาณเป็นกรณีพิเศษให้ได้ชมทุกช่องทางแล้ว แต่ยูฟาไม่อนุมัติ ขณะที่ นายเดียว เบิกความยอมรับที่ทนายโจทก์ซักค้านด้วยว่า การดำเนินการถ่ายทอดสดบอลยูโรครั้งนี้ ได้ประโยชน์จากสปอนเซอร์ที่ได้จากลิขสิทธิ์ ค่าโฆษณา การขายกล่องจีเอ็มเอ็ม แซท และการขยายฐานธุรกิจเครือข่ายดาวเทียมแกรมมี่ในอนาคต
โดยวันนี้ นายเดียว ยังได้นำเอกสารสัญญาที่ทำไว้กับยูฟา ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษมาแสดงให้ศาลเพื่อให้ฝ่ายโจทก์ได้ตรวจสอบแล้วฝ่ายโจทก์ได้แปลสัญญา อ้างว่า ข้อตกลงกับยูฟาไม่มีส่วนไหนที่บังคับให้ส่งสัญญาณถ่ายทอดสดเฉพาะเสาอากาศ ขณะที่ นายเดียว ได้ยืนยันว่า ยังคงยืนยันว่าในสัญญามีข้อบังคับ แต่สัญญาที่นำมาในวันนี้เป็นฉบับย่อ ไม่ใช่ฉบับเต็ม อย่างไรก็ดี จากการโต้แย้งของสองฝ่าย ศาลจึงแจ้งคู่ความว่าจะนำเอกสารภาษาอังกฤษแปลเองอีกครั้ง
ทั้งนี้ ศาลยังได้สอบถามนายเดียว ถึงผลการรับชมโทรทัศน์ในประเทศไทยเป็นอย่างไร ซึ่งนายเดียว ระบุว่า ได้สำรวจตลาดจากหน่วยงานที่เป็นสากล คือ บริษัท เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด พบว่า มีผู้รับชมโทรทัศน์ทั้งหมด 22 ล้านครัวเรือน แบ่งเป็นระบบจานดาวเทียม 2 ล้านครัวเรือน ระบบเคเบิ้ล 2.8 ล้านครัวเรือน และระบบทรูวิชั่นส์ 1.8 ล้านครัวเรือน ที่เหลือ 10 ล้านครัวเรือน เป็นเสาอากาศแบบก้างปลา
ศาลยังได้สอบถามอีกว่า หาก จีเอ็มเอ็ม ไม่ส่งสัญญาณผ่านฟรีทีวีช่อง 3, 5, 9 แล้ว การเข้าถึงผู้ชมจะเป็นอย่างไร นายเดียว กล่าวว่า เนื่องจากยูฟา ทำการตกลงและกำหนดกลุ่มผู้ชมในประเทศไว้แล้ว จีเอ็มเอ็ม จึงต้องร่วมกับทั้ง 3 ช่องเพื่อให้ได้กลุ่มผู้ชมตามที่กำหนด ซึ่งการร่วมถ่ายทอดสดได้มีการแจ้งสปอนเซอร์ด้วยว่าจะมีการถ่ายทอดผ่านช่องใดบ้าง ส่วนเรื่องการกำหนดรหัสเพื่อไม่ให้รับชมผ่านดาวเทียม ทางช่อง 3 ทราบ และรู้อยู่ว่าต้องจอดำ
เมื่อศาลถามว่า หากช่อง 3, 5, 9 รู้ว่าการร่วมลงทุนจะมีปัญหาแล้วจะไม่ร่วมได้หรือไม่ นายเดียว กล่าวว่า จะไม่ตกลงก็ทำได้ แต่การที่ ช่อง 3, 5, 9 มาร่วมถ่ายทอดทำให้การเข้าถึงผู้ชมแพร่หลายขึ้น
ขณะที่ นายทนงศักดิ์ สุขะนินทร์ อายุ 47 ปี รักษาการผู้อำนวยการกลุ่มงานขับเคลื่อนกิจการโทรทัศน์เคลื่อนที่และโทรทัศน์ระบบไอพี พยานศาลเบิกความสรุปว่า บลิสคีย์ เป็นหนึ่งในการเข้ารหัสมาตรฐานของการส่งสัญญาณที่เกี่ยวกับการทำภาพเคลื่อนไหว ซึ่งมาตรฐานต่างๆ จะแตกต่างกัน เพื่อให้เกิดเงื่อนไขในการเข้าถึง บลิสคีย์เป็นการป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นลักสัญญาณภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยสามารถใส่บลิสคีย์ได้ตั้งแต่ต้นสัญญาณเครือข่ายหรือปลายทาง แต่จะทำได้เฉพาะการส่งสัญญาณในระบบดิจิตอลเท่านั้น ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีการดำเนินงานกิจการทีวีภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ดังนั้น ในการส่งสัญญาณจึงทำได้แค่เฉพาะการส่งระหว่างสถานีกับสถานีที่เป็นการยิงสัญญาณระบบดิจิตอลขึ้นดาวเทียมและดาวน์ลิงค์มาที่สถานีปลายทางเท่านั้น การส่งสัญญาณที่รับแบบก้างปลาหรือหนวดกุ้งซึ่งเป็นระบบอนาล๊อคทำไม่ได้ และเมื่อสถานีหรือช่อง 3, 5 และ 9 ได้แพร่ภาพไปถึงบ้านเรือนก็ใช้ระบบความคมชัดของโหมดภาพ (PAL) ไม่เกี่ยวกับการใส่บลิสคีย์
“การใส่บลิสคีย์เป็นการป้องกันเนื้อหา ไม่ให้บุคคลอื่นที่ไม่รู้รหัสเข้าถึงเนื้อหานั้นได้ แต่ไม่ได้ครอบคลุมหรือป้องกันถึงพื้นที่ในการให้บริการ ซึ่งมีอยู่ถึง 22 ประเทศ หากนำกล่องรับสัญญาณที่มีตัวถอดสัญญาณไปดูในต่างประเทศที่อยู่ในพื้นที่ให้บริการก็สามารถรับชมเนื้อหาได้ พูดง่ายๆ ก็คือ กล่องจีเอ็มเอ็ม แซทก็สามารถใช้ดูที่ประเทศลาวได้”
ภายหลังไต่สวนพยานวันนี้เสร็จสิ้นแล้วเมื่อเวลา 18.30 น.ศาลได้ออกหมายเรียกผู้แทนช่อง 3, 5, 7, 9 และไทยพีบีเอส มาเป็นพยานศาล เพื่อมาสอบถามถึงการถ่ายทอดสดว่ามีขั้นตอนอย่างไรเพื่อเปรียบเทียบกับกรณี ด้วยในวันพรุ่งนี้ (28 มิ.ย.) เวลา 09.00 น.โดยศาลยังได้กล่าวกับคู่ความด้วยว่า ผลคำสั่งของครั้งนี้ จะเป็นอย่างไรไม่สำคัญเท่าผลในอนาคต เพราะจะเป็นแนวทางในการทำธุรกิจซื้อลิขสิทธิ์ในอนาคตว่ารัฐควรต้องปกป้องสิทธิผู้บริโภคอย่างไร ขณะที่ศาลต้องคำนึงถึงการประกอบธุรกิจที่จะมีผลกระทบต่อต่างประเทศด้วย