xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฯเมินคำร้องคัดค้าน ไต่สวนแกรมมี่ต่อวันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ศาลแพ่ง เมินคำร้องคัดค้านบริษัทจีเอ็มเอ็ม ขอคุ้มครองชั่วคราวทีวีจอดำ ชี้เป็นคดีผู้บริโภคตามคำร้อง มีเจตรมย์ในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เดินหน้า ไต่สวนจำเลยต่อวันนี้ แกรมมี่ฉวยโอกาสกฎเกณฑ์ล้าหลัง ยืมมือบอร์ดกสท. อนุมัตินำเข้ากล่องรับสัญญาณจีเอ็มเอ็มแซทอีก 5.1 แสนกล่องเสียแค่ค่าธรรมเนียม 200 บาท

วานนี้ (26 มิ.ย.) ที่ห้องพิจารณาคดี 310 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดไต่สวนฉุกเฉินคดีหมายเลขดำ ผบ.1841/2555 ที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาฯมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กับพวกรวม 5 ราย ซึ่งเป็นผู้บริโภคใช้บริการสาธารณะฟรีทีวี และผู้ใช้ระบบเคเบิลทีวีและดาวเทียม ร่วมเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีผู้บริโภค บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสถานีโทรทัศน์ทีวีช่อง 3, กองทัพบก ผู้ให้บริการสถานีโทรทัศน์ ททบ.5, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ และบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด เป็นจำเลยที่1-4 เรื่องร่วมกันทำละเมิด และผิดสัญญา โดยขอให้ศาลไต่สวนเพื่อขอคุ้มครองฉุกเฉิน ให้จำเลยที่ 1-4 แพร่ภาพถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโรโดยด่วนที่สุด ก่อนการแข่งขันจะสิ้นสุดในวันที่ 2 ก.ค.นี้

*** ทนายแกรมมี่อ้างศาลแพ่งไม่มีอำนาจ

โดยก่อนเริ่มการไต่สวน ทนายความบริษัทจีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องคัดค้านคำขอฉุกเฉิน ระบุว่า จำเลยที่ 4 ขอคัดค้านคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา เนื่องจากคำขอของโจทก์ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่มีมูล ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นการขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้ง 4 แพร่ภาพการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 อันจะส่งผลให้จำเลยที่ 4 เป็นกระทำผิดตามกฎหมาย จึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งอันจะนำไปสู่การปฏิบัติผิดกฎหมาย และจะเกิดความเสียหายแก่จำเลยได้ ดัวยเหตุผลดังกล่าวคำขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์จึงไม่มีมูล ไม่มีเหตุจำเป็น และเพียงพอที่ศาลจะมีคำสั่งใช้วิธีการชั่วคราวได้ ขอให้ศาลยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์

ภายหลังรับคำร้องคัดค้านของจำเลย องค์คณะผู้พิพากษาศาลแพ่ง มีความเห็นพักการไต่สวนไว้ก่อน พร้อมนำคำร้องไปหารือ ก่อนจะนัดฟังคำสั่งในเวลา 13.30 น.ต่อไปว่าจะดำเนินการไต่สวนหรือไม่

ขณะที่ นางสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เนื่องจากบริษัท จีเอ็มเอ็มฯ ยื่นคำร้องคัดค้านไม่ให้มีการไต่สวนอ้างว่าไม่ใช่คดีผู้บริโภค และโต้แย้งว่าโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 5 เป็นหน่วยงานของรัฐ ต้องไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ศาลแพ่งจึงนำคำคัดค้านไปพิจารณาก่อน ซึ่งตนเห็นว่าเป็นเพียงแค่เรื่องเทคนิคในการยื้อคดีไม่ให้ทันกาล

*** พยาน4ปากให้ข้อมูล

อย่างไรก็ตาม ที่ห้องพิจารณาคดี 711 หลังทนายความบริษัทจีเอ็มเอ็ม จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องคัดค้านคำขอฉุกเฉิน หลังพิจารณาแล้วในช่วงบ่าย นางสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เบิกความเป็นพยานปากแรก ว่า ได้รับการร้องเรียนมากจากประชาชนจำนวนมากที่ใช้จานดาวเทียมได้รับความเสียหาย เนื่องจากจำเลยทั้ง 4 ร่วมมือกันไม่ปล่อยสัญญาณการการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือ ยูโร 2012 ทำให้ไม่สามารถรับชมผ่านช่อง 3 , 5 และ 9 ได้ตามปกติ อีกทั้งไม่มีรายการทดแทน การกระทำของจำเลยทั้ง 4 เป็นการละเมิดโจทก์ ที่ควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค จำเลยทั้ง 4 ใช่เล่ห์เหลี่ยมทางธุรกิจในการกีดกันไม่ให้โจทก์ได้รับชม หากใครอยากรับชมการแข่งขันต้องซื้อกล่องราคากล่องรับสัญญาณของจำเลยที่ 4 ราคากล่องละ 1,590 บาท ทำให้ผู้บริโภคราว 11 ล้านครัวเรือนที่ไม่ได้รับชม หากผู้บริโภคทั้ง 11 ล้านครัวเรือนต้องการรับชมต้องเสียเงินซื้อกล่อง คิดเป็นเงินสูงถึง 15,000 ล้านบาท เป็นการรุกรานสิทธิของผู้บริโภค

นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตเลขาธิการ คตส. เบิกความเป็นพยานปากที่ 2 ว่า กรณีดังกล่าว หากตนมีหน้าที่ในการตัดสินใจแทน ช่อง 3 , 5 และ 9 จะไม่รับถ่ายทอดฟุตบอลจาก บ.จีเอ็มเอ็ม เพราะทั้งช่อง 3 , 5 และ 9 ได้รับสัมปทานจากรัฐไป ย่อมมีหน้าที่เผยแพร่ให้ปวงชนชาวไทยได้รับชม ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดหน้าที่ จะเอาสัญญาเรื่องลิขสิทธิ์ มาลบล้างกฎหมายเรื่องสิทธิของปวงชนชาวไทยตามกฎหมายมหาชนไม่ได้

สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หาก บ.จีเอ็มเอ็ม จะหาสมาชิกในเวลารวดเร็วจริงๆ การกระทำเช่นนี้ทำไม่ถูก เมื่อคุณได้รับประโยชน์จากทั้งฟรีทีวี สปอนเซอร์จนคุ้ม และขายกล่องรับสัญญาณ เป็นการบีบเอาสมาชิก ทำให้ประชาชนที่ดูโทรทัศน์โดยปกติมาตลอดกลับมาถูกปฏิบัติเช่นนี้ ประเทศที่เจริญแล้วเขาไม่ทำกัน

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการ กสทช. เบิกความว่า การส่งสัญญาณดาวเทียมสามารถจำกัดพื้นที่ได้ด้วยการเข้ารหัส เมื่อปลายทางไม่ทราบรหัสก็ไม่สามารถเข้าชมได้ ดังนั้นกรณีที่จะจำกัดพื้นที่ให้ครอบคลุมอยู่ในประเทศไทยสามารถทำได้ด้วยการเข้ารหัส

ด้านน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการ กสทช. เบิกความว่า กฎหมายให้ กสทช. กำกับดูแปลคลื่นความถี่ รวมไปถึงบังคับผู้ประกอบกิจการดาวเทียมด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่มีกฎเกณฑ์ในการบังคับใช้ผู้ประกอบการกิจการดาวเทียม โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการร่างยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งนี้ยอมรับว่าไม่เคยให้ช่อง 3,5 และ 9 แก้ไขปัญหาจอดำ แต่เคยมีมติให้ทางช่อง 3,5 และ 9 อย่าเลือกปฏิบัติ

***ศาลเมินGMM ร้องค้าน

ส่วนที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องคัดค้านนั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในมาตรา 10 ประกอบมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล บัญญัติให้ในกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาล ให้ศาลรอการพิจารณาไว้ชั่วคราวและให้ทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่เป็นคู่ความร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจศาลโดยเร็ว ซึ่งรวมถึงวิธีการคุ้มครองชั่วคราวมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่เนื่องจากวันนี้ศาลนัดไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ซึ่งมีเจตรมย์ในการคุ้มครองคู่ความแตกต่างจากการคุ้มครองชั่วคราวในกรณีปกติ ซึ่งต้องกระทำเป็นการด่วน มิเช่นนั้นอาจเกิดความเสียหายก่อนจะมีการวินิจฉัยชี้ขาด นอกจากนี้คดีนี้โจทก์ทั้ง 5 ฟ้องจำเลยทั้ง 4 เป็นคดีผู้บริโภค ซึ่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคมีเจตรมย์ในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค เมื่อมาตรา 15 วินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล บัญญัติให้นำมาตรา 10 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ศาลสามารถใช้ดุลพินิจในการนำมาตรา 10 มาใช้แก่การพิจารณาได้ โดยไม่เป็นอุปสรรคแก่การอำนวยความยุติธรรมแก่คู่ความ ศาลจึงเห็นว่าคำว่า รอการพิจารณาดังกล่าวไม่รวมถึงการคุ้มครองสิทธิ์ของคุ้มความและผู้บริโภคในกรณีฉุกเฉินด้วย หากปรากฏว่ามีเหตุที่ศาลควรจะใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในเหตุฉุกเฉินจริง แต่ศาลปฏิเสธการคุ้มครองสิทธิ์ดังกล่าว โดยอ้างเหตุตามบทบัญญัติข้างต้น ย่อมเป็นการไม่ชอบ เมื่อยังไม่แน่ชัดว่ามีเหตุแห่งความเสียหายเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และมีความจำเป็นที่ต้องกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวให้แก่คู่ความ และผู้บริโภคอื่นหรือไม่ ในชั้นนี้จึงให้ไต่สวนฉุกเฉินก่อนมีคำสั่ง

ส่วนคำร้องโต้แย้งว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีผู้บริโภค แห่งว่า มาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ไม่ได้บัญญัติให้ศาลรอการพิจารณาไว้ก่อน ศาลจึงมีอำนาจไต่สวนเพื่อประกอบการมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ในระหว่างรอคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ สำหรับคำร้องโต้แย้งว่าคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 4 เป็นคดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯนั้นเห็นว่า ในชั้นนี้เป็นการไต่สวนคำขอในเหตุฉุกเฉินซึ่งเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความ แม้ประธานศาลฎีกาจะมีคำวินิจฉัยเป็นที่สุดว่า คดีอยู่ในอำนาจศาลนี้ หรือศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ คำสั่งใดๆ ของศาลในชั้นนี้ก็ไม่กระทบต่อกระบวนการพิจารณาคดีซึ่งจะมีต่อไปในภายภาคหน้า ทั้งศาลแพ่งและศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ต่างก็เป็นศาลในระบบยุติธรรมด้วยกัน ย่อมมีอำนาจดำเนินกระบวนการพิจารณาของคู่ความในกรณีฉุกเฉินได้ ให้ส่งคำร้องของจำเลยที่ 4 ไปยังประธานศาลฎีกา และประธานอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัยต่อไป ในส่วนที่โต้แย้งเกี่ยวกับอำนาจศาลปกครองให้โจทก์ทั้ง 5 ทำคำชี้แจ้งยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันนี้ หากไม่ยื่นในกำหนดถือว่าไม่ติดใจ

***กสทช.ให้GMMนำเข้าอีก5.1แสนกล่อง

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยถึงกรณีการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมามีมติปล่อยให้นำเข้ากล่องรับสัญญาณที่ติดอยู่ที่ท่าเรือทั้งหมดจำนวนเกือบ 1 ล้านเครื่องของทั้ง 7 บริษัทหมดแล้ว เนื่องจากบอร์ดกสท.มีมติอนุญาตให้นำเข้าอุปกรณ์กล่องรับสัญญาณ Set Top Box ที่มีวัตถุประสงค์นำมาจำหน่ายเพื่อการรับชมทีวีฟรี โดยไม่เสียค่าสมาชิกรายเดือน หรือเข้าเกณฑ์ เพย์ ทีวี ซึ่งจะต้องขออนุญาตนำเข้าตามมาตรา 70 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551

โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่บริษัท จีเอ็ม เอ็มแซท จำกัด ที่ขอนำเข้ามาใหม่อีกจำนวน 510,000 เครื่อง เนื่องจากมองว่า จีเอ็มเอ็มแซทมีพฤติกรรมที่บ่งบอกว่าจะนำไปดำเนินกิจการแบบบอกรับสมาชิก มากกว่าจะนำไปขายเพื่อไปทำให้ทีวีชัดขึ้นเท่านั้น น่าจะเข้าข่ายธุรกิจบอกรับสมาชิกที่ต้องขออนุญาตตามหลักเกณฑ์

ก่อนหน้านี้จีเอ็มเอ็มแซทมีการนำเข้ากล่องรับสัญญาณจำนวนกว่า 800,000 กล่อง โดยแบ่งเป็นการนำเข้าในชื่อบริษัท วันสกาย 200,000 กล่อง

และในชื่อบริษัท จีเอ็มเอ็มแซทอีก 600,000 กล่อง ทั้งนี้กล่องทั้งหมดของจีเอ็มเอ็มแซทนำเข้ามาเพื่อดำเนินกิจการแบบบอกรับสมาชิกทั้งหมด โดยเสียค่าธรรมเนียมเพียงครั้งละ 200 บาทเท่านั้น

สำหรับขั้นตอนต่อไปบอร์ดกสท.จะเร่งดำเนินการออกร่างประกาศการจัดระเบียบการนำเข้าเครื่องวิทยุโทรคมนาคมประเภทอุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมหรือกล่องรับสัญญาณ (Set Top Box) ให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือนจากนี้

อนึ่งผู้นำเข้ากล่องรับสัญญาณทั้ง 7 รายที่ติดอยู่ที่ท่าเรือในตอนแรก ได้แก่ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำนวน 510,000 เครื่อง, บริษัท ไทยคม จำนวน 2,001 เครื่อง, บริษัท ลีโอ เทคโนโลยี แอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำนวน 5,660 เครื่อง, บริษัท ไทยเอนเนอร์ยี่ อินสทรูเม้นส์ จำนวน 3 เครื่อง, บริษัท อินโฟแซท อินเตอร์เรด 300,000 เครื่อง, บริษัท โทมัส เอ็นเตอร์ไพรส์ 10,000 เครื่อง และบริษัท สตรองบราเดอร์ส 1916 จำกัด อีกจำนวน 131 เครื่อง

แต่เนื่องจากปัจจุบันสำนักงาน กสทช. ยังจัดทำร่างหลักเกณฑ์ขออนุญาตนำเข้ากล่องรับสัญญาณที่มีระบบเข้ารหัสสัญญาณ (CA) ซึ่งเข้าข่ายประกอบกิจการเพย์ทีวี ที่ต้องได้รับใบอนุญาต ตามมติเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2555 ยังไม่แล้วเสร็จดังนั้นผู้ประกอบการที่นำเข้ากล่องรับสัญญาณที่ค้างสต็อกอยู่ และที่กำลังจะนำเข้ามาใหม่ ให้ดำเนินการตามพ.ร.บ.วิทยุโทรคมนาคม พ.ศ.2489 ไปก่อนในช่วงนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น