xs
xsm
sm
md
lg

ศาลเมิน GMM ร้องค้าน ชี้จอดำต้องคุุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เดินหน้าไต่สวนต่อ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลแพ่งเมินคำร้องคัดค้านบริษัท จีเอ็มเอ็ม ขอคุ้มครองชั่วคราวทีวีจอดำ ชี้เป็นคดีผู้บริโภคตามคำร้อง มีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เดินหน้าไต่สวนต่อ ด้านองค์กรผู้บริโภคให้การชัด รุกรานสิทธิผู้บริโภค หาก 11 ล้านครัวเรือน ต้องหันไปซื้อกล่องรับสัญญาณคิดเป็นมูลค่า 15,000 ล้าน ย้ำขัด รธน.ม.47 ที่ระบุว่า คลื่นวิทยุ โทรทัศน์ เป็นทรัพยากรของชาติ ให้ใช้ประโยชน์สาธารณะ ไต่สวนจำเลยต่อพรุ่งนี้

วันนี้ (26 มิ.ย.) ที่ห้องพิจารณาคดี 711 หลังทนายความบริษัท จีเอ็มเอ็ม จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องคัดค้านคำขอฉุกเฉิน ระบุว่า จำเลยที่ 4 ขอคัดค้านคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา อ้างคำฟ้องไม่ใช่คดีผู้บริโภค ศาลแพ่งจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีในช่วงเช้า หลังพิจารณาแล้วในช่วงบ่าย นางสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เบิกความเป็นพยานปากแรกว่า ทำงานในองค์กรผู้บริโภค ได้รับการร้องเรียนมากจากประชาชนจำนวนมากที่ใช้จานดาวเทียมได้รับความเสียหาย เนื่องจากจำเลยทั้ง 4 ร่วมมือกันไม่ปล่อยสัญญาณการการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือยูโร 2012 ทำให้ไม่สามารถรับชมผ่านช่อง 3, 5 และ 9 ได้ตามปกติ ก่อนหน้านี้ ที่บ้านใช้เสาอากาศโทรทัศน์ชนิดก้างปลาตามปกติ แต่ไม่สามารถรับชมภาพและเสียงได้คมชัด เนื่องจากบ้านมีคอนโดมิเนียมตั้งขวางสัญญาณ จึงตัดสินใจซื้อจากดาวเทียม PSI เพื่อรับชมช่องฟรีทีวีทั่วไป กระทั่งมีการแข่งขันฟุตบอล ยูโร 2012 จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันไม่ปล่อยสัญญาณ ทำให้ไม่สามารถรับชมได้ อีกทั้งไม่มีรายการทดแทน การกระทำของจำเลยทั้ง 4 เป็นการละเมิดโจทก์ ที่ควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค จำเลยทั้ง 4 ใช้เล่ห์เหลี่ยมทางธุรกิจในการกีดกันไม่ให้โจทก์ได้รับชม หากใครอยากรับชมการแข่งขันต้องซื้อกล่องราคากล่องรับสัญญาณของจำเลยที่ 4 ราคากล่องละ 1,590 บาท ทำให้ผู้บริโภคราว 11 ล้านครัวเรือนที่ไม่ได้รับชม หากผู้บริโภคทั้ง 11 ล้านครัวเรือนต้องการรับชมต้องเสียเงินซื้อกล่อง คิดเป็นเงินสูงถึง 15,000 ล้านบาท ที่ผ่านมา เคยได้ร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแล้ว แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงมาพึ่งบารมีศาล ส่วนที่จำเลยอ้างว่าต้องทำตามลิขสิทธิ์นั้น แต่ตนเห็นว่าเป็นการรุกรานสิทธิของผู้บริโภค

จากนั้น นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตเลขาธิการ คตส.เบิกความเป็นพยานปากที่ 2 ว่า หลังเกิดเหตุกรณีทีวีจอดำขึ้น มีนักวิชาการ สอบถามถึงปัญหาดังกล่าว ตนจึงเขียนบทความขึ้นรวม 3 ฉบับ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงติดต่อมาขอคำปรึกษาในแง่มุมกฎหมาย เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 47 วรรคแรกที่ระบุว่า คลื่นวิทยุ โทรทัศน์ เป็นทรัพยากรของชาติ ให้ใช้ประโยชน์สาธารณะ โดยมี กสทช.ตั้งขึ้นมาเพื่อกำกับดูแล ทำหน้าที่กำหนดเป้าหมาย การจัดการ ว่าคลื่นที่ได้รับการอนุญาตต้องเผยแพร่ความรู้ วัฒนธรรม เป็นทีวีสาธารณะ สำหรับกรณีดังกล่าวเป็นรูปแบบของทีวีการค้า มีรูปแบบการเข้าถึงเปลี่ยนแปลงไป เมื่อฟรีทีวีเอาสัญญาณยิงขึ้นดาวเทียม ประชาชนจึงหันไปซื้อจานดาวเทียม เนื่องจากภาพและเสียงมีความคมชัดกว่าเสาอากาศโทรทัศร์ชนิดก้างปลา กลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มจอดำ ส่วนอีกประเภทหนึ่งเป็นสมาชิกกับทีวีการค้า เช่น ทรูวิชั่นส์ บอกรับสมาชิกให้บริการเป็นแพกเกจ จากสัญญาที่ บ.จีเอ็มเอ็ม มีถึง อสมท ว่า การถ่ายทอดฟุตบอล ยูโร นั้น ให้ตัดสัญญาณที่ผ่านเครือข่ายของ ทรูวิชั่นส์ ที่มีผู้รับชมประมาณ 1 ล้านกว่าครัวเรือน และจานดาวเทียมที่มีผู้รับชมกว่า 8 ล้านครัวเรือน เมื่อทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3, 5, 9 จะถ่ายทอดสดต้องเข้ารหัสดูการแข่งขัน ทำให้ประชาชนที่ใช้จานดาวเทียม และ ทรูฯ ไม่สามารถเข้าถึงการรับชมได้ ราว 11 ล้านครัวเรือน

นายแก้วสรร เบิกความว่า เห็นว่า กรณีดังกล่าว หากตนมีหน้าที่ในการตัดสินใจแทน ช่อง 3, 5 และ 9 จะไม่รับถ่ายทอดฟุตบอลจาก บ.จีเอ็มเอ็ม เพราะทั้งช่อง 3, 5 และ 9 ได้รับสัมปทานจากรัฐไป ย่อมมีหน้าที่เผยแพร่ให้ปวงชนชาวไทยได้รับชม ถือว่า เป็นการกระทำที่ผิดหน้าที่ จะเอาสัญญาเรื่องลิขสิทธิ์ มาลบล้างกฎหมายเรื่องสิทธิของปวงชนชาวไทยตามกฎหมายมหาชนไม่ได้ ต้องเปิดให้ผู้บริโภคเข้าถึง ทีวีสาธารณะเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดทางคลื่น จะมาจำกัดสิทธิคนไทยว่า ต้องชมทางเสาอากาศเท่านั้นไม่ได้ ถือเป็นการลิดรอนสิทธิ ในต่างประเทศมีการออกกฎหมายกำหนดให้การถ่ายทอดเข้าถึงประชาชน ต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หาก บ.จีเอ็มเอ็ม จะหาสมาชิกในเวลารวดเร็วจริงๆ การกระทำเช่นนี้ทำไม่ถูก เมื่อคุณได้รับประโยชน์จากทั้งฟรีทีวี สปอนเซอร์จนคุ้ม และขายกล่องรับสัญญาณ เป็นการบีบเอาสมาชิก ทำให้ประชาชนที่ดูโทรทัศน์โดยปกติมาตลอดกลับมาถูกปฏิบัติเช่นนี้ ประเทศที่เจริญแล้วเขาไม่ทำกัน

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการ กสทช.เบิกความว่า ถึงกรณีแกรมมี่เป็นห่วงการส่งสัญญาณดาวเทียมจะไม่สามารถจำกัดพื้นที่ และเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ข้อเท็จจริงการส่งสัญญาณดาวเทียมสามารถจำกัดพื้นที่ได้ด้วยการเข้ารหัส เมื่อปลายทางไม่ทราบรหัสก็ไม่สามารถเข้าชมได้ ดังนั้นกรณีที่จะจำกัดพื้นที่ให้ครอบคลุมอยู่ในประเทศไทยสามารถทำได้ด้วยการเข้ารหัส แม้ในต่างประเทศจะมีการสุ่มเข้ารหัสเองก็มีความน่าจะเป็นไปได้น้อย อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มีผู้มาร้องเรียนศาลปกครองให้ กสทช.คุ้มครองกรณีจอดำด้วย แต่ทางศาลปกครองได้ยกคำร้องการไต่สวนฉุกเฉิน

ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการ กสทช.เบิกความว่า กฎหมายให้ กสทช.กำกับดูแลคลื่นความถี่ รวมไปถึงบังคับผู้ประกอบกิจการดาวเทียมด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่มีกฎเกณฑ์ในการบังคับใช้ผู้ประกอบการกิจการดาวเทียม โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการร่างยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งนี้ ยอมรับว่า ไม่เคยให้ช่อง 3, 5 และ 9 แก้ไขปัญหาจอดำ แต่เคยมีมติให้ทางช่อง 3, 5 และ 9 อย่าเลือกปฏิบัติ

ส่วนที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องคัดค้านนั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในมาตรา 10 ประกอบมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล บัญญัติให้ในกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาล ให้ศาลรอการพิจารณาไว้ชั่วคราวและให้ทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่เป็นคู่ความร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจศาลโดยเร็ว ซึ่งรวมถึงวิธีการคุ้มครองชั่วคราวมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่เนื่องจากวันนี้ศาลนัดไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ซึ่งมีเจตรมย์ในการคุ้มครองคู่ความแตกต่างจากการคุ้มครองชั่วคราวในกรณีปกติ ซึ่งต้องกระทำเป็นการด่วน มิเช่นนั้นอาจเกิดความเสียหายก่อนจะมีการวินิจฉัยชี้ขาด

นอกจากนี้ คดีนี้โจทก์ทั้ง 5 ฟ้องจำเลยทั้ง 4 เป็นคดีผู้บริโภค ซึ่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคมีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค เมื่อมาตรา 15 วินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล บัญญัติให้นำมาตรา 10 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ศาลสามารถใช้ดุลพินิจในการนำมาตรา 10 มาใช้แก่การพิจารณาได้ โดยไม่เป็นอุปสรรคแก่การอำนวยความยุติธรรมแก่คู่ความ ศาลจึงเห็นว่าคำว่า รอการพิจารณาดังกล่าวไม่รวมถึงการคุ้มครองสิทธิ์ของคุ้มความและผู้บริโภคในกรณีฉุกเฉินด้วย หากปรากฏว่า มีเหตุที่ศาลควรจะใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในเหตุฉุกเฉินจริง แต่ศาลปฏิเสธการคุ้มครองสิทธิ์ดังกล่าว โดยอ้างเหตุตามบทบัญญัติข้างต้น ย่อมเป็นการไม่ชอบ เมื่อยังไม่แน่ชัดว่ามีเหตุแห่งความเสียหายเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และมีความจำเป็นที่ต้องกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวให้แก่คู่ความ และผู้บริโภคอื่นหรือไม่ ในชั้นนี้จึงให้ไต่สวนฉุกเฉินก่อนมีคำสั่ง

ส่วนคำร้องโต้แย้งว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีผู้บริโภค แห่งว่า มาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ไม่ได้บัญญัติให้ศาลรอการพิจารณาไว้ก่อน ศาลจึงมีอำนาจไต่สวนเพื่อประกอบการมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ในระหว่างรอคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ สำหรับคำร้องโต้แย้งว่าคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 4 เป็นคดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญานั้น เห็นว่า ในชั้นนี้เป็นการไต่สวนคำขอในเหตุฉุกเฉินซึ่งเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความ แม้ประธานศาลฎีกาจะมีคำวินิจฉัยเป็นที่สุดว่า คดีอยู่ในอำนาจศาลนี้ หรือศาลทรัพย์สินทางปัญญา คำสั่งใดๆ ของศาลในชั้นนี้ก็ไม่กระทบต่อกระบวนการพิจารณาคดีซึ่งจะมีต่อไปในภายภาคหน้า ทั้งศาลแพ่งและศาลทรัพย์สินทางปัญญา ต่างก็เป็นศาลในระบบยุติธรรมด้วยกัน ย่อมมีอำนาจดำเนินกระบวนการพิจารณาของคู่ความในกรณีฉุกเฉินได้ ให้ส่งคำร้องของจำเลยที่ 4 ไปยังประธานศาลฎีกา และประธานอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัยต่อไป ในส่วนที่โต้แย้งเกี่ยวกับอำนาจศาลปกครองให้โจทก์ทั้ง 5 ทำคำชี้แจ้งยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันนี้ หากไม่ยื่นในกำหนดถือว่าไม่ติดใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น