xs
xsm
sm
md
lg

แฉ “แกรมมี่” สั่ง อสมท ตัดสัญญาณยูโร 2012

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แฉ “แกรมมี่” ร่อนคำสั่งให้ อสมท ตัดสัญญาณยูโร 2012 จับพิรุธเล่นละครตบตาตั้งโต๊ะถก “ทรู” ถี่ยิบ แต่ไม่คืบ เหตุยื่นเงื่อนไขที่ใครก็รับไม่ได้ ขอถ่ายสดพรีเมียร์ลีกทั้งปี ทำเจรจาชะงัก แถมรัฐรู้เห็นปล่อย อสมท จับมือเอกชนละเมิดสิทธิ ปชช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดช่วง 2 สัปดาห์กว่าที่ผ่านมา ที่การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือยูโร 2012 ได้ระเบิดศึกขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ความสนใจของประชาชนผู้บริโภคนอกเหนือจากผลการแข่งขันที่เกิดขึ้นแล้ว ยังให้ความสนใจกับกรณี “จอดำ” ซึ่งเป็นผลมาจากการเจรจาที่ไม่ลงตัวระหว่าง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ บ.แกรมมี่ ในฐานะเจ้าของกล่องรับสัญญาณดาวเทียม GMMZ ที่ได้ลิขสิทธิ์การถ่ายสัญญาณการแข่งขัน และ บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมทรูวิชั่นส์ เจ้าของระบบบอกรับสมาชิกรายใหญ่ของเมืองไทย ซึ่งจนถึงบัดนี้การเจรจาตลอดห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ จนการแข่งขันเข้าสู่รอบรองชนะเลิศ เหลือการถ่ายทอดสดอีกเพียง 3 นัดเท่านั้น

เป็นที่เชื่อกันว่า ข้อตกลงที่ไม่ลงตัวระหว่าง บ.แกรมมี่ กับ บ.ทรูฯ ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเหตุมาจากการที่ บ.ทรูฯ ไม่ยอมจ่ายเงินให้เจ้าของลิขสิทธิ์ เพื่อเชื่อมต่อสัญญาณผ่านระบบของทรูวิชั่นส์เท่านั้น แต่มีเงื่อนไขแลกเปลี่ยนที่ทาง บ.ทรูฯ ยอมรับไม่ได้ โดยการเสนอขอแลกสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ ผ่านทางกล่องรับสัญญาณ GMMZ เป็นเวลา 1 ฤดูกาล (ฤดูกาล 2012-2013) ซึ่ง บ.ทรูฯ ถือลิขสิทธิ์เป็นปีสุดท้าย และจะมีการประมูลลิขสิทธิ์ใหม่ภายในปีนี้ โดยมีข่าวว่า ทาง บ.แกรมมี่ สนใจจะเข้าร่วมการประมูลแข่งขันด้วย และเป็นที่ทราบกันว่า ทาง บ.ทรูฯ ไม่ยินยอม ทำให้ข้อตกลงเชื่อมสัญญาณยูโร 2012 ผ่านทรูวิชั่นส์ไม่สำเร็จ

ขณะที่ทาง บ.แกรมมี่ ก็หวังใช้แรงกดดันจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐบาล คณะกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตลอดจนไปถึงเสียงไม่พอใจของประชาชนเมื่อไม่ได้รับความสะดวกในการชมกีฬาที่ตนเองชื่นชอบ แต่ก็ไม่เป็นผลเมื่อ บ.ทรูฯตัดสินใจเก็บสมบัติล้ำค่าอย่างการถ่ายทอดสดฟุตบอลอังกฤษไว้กับตัว แลกกับการถูกปรับจากทาง กสทช.ในอัตราวันละ 20,000 บาท และถูกตำหนิจากสมาชิกของตัวเองเป็นเวลาสั้นๆ เพราะหากเปรียบเทียบความคุ้มค่าในการนำลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ที่เตะกันยาวนานถึง 8 เดือน รวม 380 แมตช์การแข่งขัน กับทัวร์นาเมนต์ระดับทวีปที่เตะกันเพียง 1 เดือน และมีแมตช์การแข่งขันเพียง 31 นัดเท่านั้น ชัดเจนว่า ย่อมไม่คุ้มค่าในเชิงธุรกิจอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ “ทีมข่าวการเมือง เอเอสทีวีผู้จัดการ” ยังได้รับเอกสารสำคัญฉบับหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ความพยายามในการเจรจาเพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคสามารถรับชมฟุตบอลได้ทางทรูวิชั่นส์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น เป็นเพียงการแสดงละครฉากหนึ่งของ บ.แกรมมี่ เท่านั้น โดยเอกสารดังกล่าว คือ หนังสือด่วนที่สุดของ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ที่ GMMSP 05029/2555 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2555 เรื่อง “ขอความร่วมมือในการดำเนินการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป EURO 2012” ถึง บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ลงนามโดย นายกอบเกียรติ แสงวนิชย์ กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจกีฬา บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เนื้อหาเป็นการขอความร่วมมือการออกอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี ในฐานะพันธมิตร จำนวน 6 ข้อด้วยกัน ความน่าสนใจอยู่ที่เนื้อหาในข้อที่ 5 และ 6 ที่เกี่ยวกับการตัดและบล็อกสัญญาณการถ่ายทอดสด

ข้อ 5. ตัดสัญญาณการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลยูโรในระบบต่างๆ ดังนี้
- สัญญาณการถ่ายทอดจากช่อง 9 ผ่าน TRUEVISIONS
- สัญญาณการถ่ายทอดจากช่อง 9 ผ่าน WEB SITE
- สัญญาณการถ่ายทอดจากช่อง 9 ผ่าน ระบบการดูทีวีย้อนหลัง

ข้อ 6.การตั้งรหัส (BLISS KEY) ในการส่งสัญญาณดาวเทียมต้องเข้ารหัสทุกครั้ง และก่อนเข้าสัญญาณการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2 ชั่วโมง จะต้องมีการเปลี่ยนเลขการเข้ารหัสของทุกคู่การแข่งขัน โดยทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวีจะเป็นผู้กำหนด”

ข้อสังเกตแรกจากหนังสือฉบับนี้ คือ การที่ บ.แกรมมี่ อ้างมาโดยตลอดว่า สมาคมฟุตบอลยุโรป หรือยูฟ่า เจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2012 ไม่อนุญาตให้เครือข่ายใดรับสัญญาณเพิ่มเติมอีกแล้ว เนื่องจากเวลาล่วงเลยมาเกินกว่าที่จะอนุมัติได้ทัน แต่หากย้อนกลับไปดูที่วันที่ลงนามทำหนังสือไปถึง อสมท คือ ในวันที่ 5 มิ.ย.ก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น 3 วัน ซึ่งเชื่อว่า ไม่เพียงแต่ อสมท เท่านั้นที่ได้รับ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ในฐานะผู้ร่วมถ่ายทอดสดย่อมได้รับหนังสือในลักษณะเดียวกัน แสดงว่า ทาง บ.แกรมมี่ ปิดประตูตายตั้งแต่ต้นว่าจะไม่ให้ บ.ทรูฯ เข้าร่วมถ่ายทอดสด เพราะทราบดีว่าอย่างไรเสีย บ.ทรูฯ ก็ไม่ปล่อยลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกให้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ หากจำกันได้ในวันที่ 8 มิ.ย.ซึ่งเป็นวันแรกของการแข่งขัน ทั้งสองฝ่าย บ.แกรมมี่ และ บ.ทรูฯ ยังปิดห้องประชุมกันนานหลายชั่วโมง ก่อนที่จะไม่ได้ข้อยุติใดๆออกมา เช่นเดียวกับอีกหลายครั้งหลายเวทีที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนคนกลาง โดยเฉพาะการแสดงบทบาทของ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล อสมท พยายามเรียกทั้งสองฝ่ายมาไกล่เกลี่ยเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.แต่ก็ไม่เป็นผล จนมองได้ว่าเป็นความพยายามแสดงบทบาทเพื่อให้การแสดงของ บ.แกรมมี่ ดูมีน้ำหนักมากขึ้นเท่านั้น เพราะหากสาวลงลึกไปถึงกลุ่มทุนที่สนับสนุนรัฐบาล ก็ทราบกันดีว่า มีชื่อของ บ.แกรรมมี่ เป็นหนึ่งในนั้นด้วยนั่นเอง

ข้อสังเกตถัดมาจะเห็นได้ว่า การขอความร่วมมือดังกล่าว ไม่ต่างกับการออกคำสั่งให้ อสมท ปฏิบัติตาม โดยให้ดำเนินการตัดสัญญาณการถ่ายทอดสดในทุกช่องทาง คำถามจึงมีว่า บมจ.อสมท ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แม้จะมีสถานภาพเป็นนิติบุคคล เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้วก็ตาม แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ในปัจจุบันก็ยังเป็น กระทรวงการคลัง ที่ถืออยู่ร้อยละ 65 ดังนั้น การที่ยังเป็นหน่วยงานของทางราชการ และมีอำนาจในการดูแลควบคุมจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุและโทรทัศน์ แต่เหตุใดจึงต้องปฏิบัติตามคำสั่งของบริษัทเอกชน ที่สำคัญต้องมีหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนผู้เสียภาษีมากกว่าเลือกอยู่ข้างนายทุน

ยิ่งเมื่อย้อนกลับไปดู “สัญญาร่วมดำเนินการให้บริการโทรทัศน์ทางสายระบบบอกรับสมาชิก” ระหว่าง องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.เดิม) กับ บริษัท ไทยเคเบิ้ลวิชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นสัญญาต้นแบบการออกอากาศของทรูวิชั่นส์ มาจนถึงทุกวันนี้ โดยมีส่วนหัวข้อ “การให้บริการ” ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า

2.การให้บริการ
การดำเนินกิจการโทรทัศน์ทางสายระบบบอกรับเป็นสมาชิกตามสัญญานี้ จะให้บริการในกรุงเทพมหานคร และเขตปริมณฑล และจะขยายเขตบริการไปยังต่างจังหวัด เมื่อ อ.ส.ม.ท.อนุญาตตามสัญญาข้อ 11.และการให้บริการจะแบ่งช่องสัญญ่ณรายการออกเป็นประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้

“2.1 Basic Channel
2.1.1 ช่องสัญญาณรายการที่ถ่ายทอดรายการจากสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 3, 5, 7, 9 และ 11 เพื่อให้สมาชิกสามารถรับรายการได้อย่างชัดเจน จำนวน 5 ช่อง....”
หรือแม้ว่าในเวลาต่อมาจะมีการแก้ไขข้อสัญญา แต่ก็เป็นเพียงการขยายนิยามการให้บริการฟรีทีวี มากขึ้นจากเดิม 5 ช่องเป็น 10 ช่อง ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายว่าช่อง 3 5 7 9 และ 11 ยังต้องมีอยู่ตามเดิม และฝ่ายเจ้าของระบบบอกรับสมาชิก ก็มีหน้าที่ถ่ายทอดสัญญาณจากฟรีทีวีให้สมาชิกสามารถรับรายการได้อย่างชัดเจนเช่นเดิม

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่าการที่ อสมท ปฏิบัติตามหนังสือขอความร่วมมือ หรือเรียกได้ว่าเป็นคำสั่งของ บ.แกรมมี่ ก็อาจเข้าข่ายสมรู้ร่วมคิดปิดกั้นไม่ให้ประชาชนหรือสมาชิกระบบตอบรับของทรูวิชั่นส์สามารถรับชมฟรีทีวีได้ ในที่นี้หมายถึงสถานีโทรทัศน์ช่อง 3, 5 และ 9 ที่ร่วมถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2012 กลายเป็นว่าภาครัฐโดย อสมท กับภาคเอกชน โดย บ.แกรมมี่ เข้าข่ายการกระทำที่ละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างชัดเจน
กำลังโหลดความคิดเห็น