xs
xsm
sm
md
lg

เรตติ้งบอลยูโรสุดห่วย-ศาลนัดชี้ขาดจอดับวันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการ - บริษัทวางแผนสื่อ MEC เผยเรตติ้งถ่ายทอดสดยูโร 2012 ไม่วิ่ง เฉลี่ยแค่ 2.8% แพ้บอลโลก 2010 และยูโร 2008 จาก 3 สาเหตุ คือ ถ่ายทอดดึก, จอดำเพราะแกรมมี่บล็อกคนดูผ่านดาวเทียม และพฤติกรรมคนเปลี่ยนใช้เน็ตมากขึ้น ขณะที่ศาลแพ่งนัดฟังคำสั่งวันนี้ กรณีองค์กรผู้บริโภคยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวคดีแกรมมี่ จำเลยร่วมละเมิดสั่งระงับถ่ายทอดสด

วานนี้ (28 มิ.ย.) MEC บริษัทวางแผนสื่อชั้นนำ ได้เผยแพร่รายงานผลการวิเคราะห์ตัวเลขเรตติ้งโทรทัศน์ การถ่ายทอดสดฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2012 หรือยูโร 2012 ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ในกลุ่มผู้ชายอายุ 15 ขึ้นไป พบว่าช่วงถ่ายทอดสดตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 2.8% ต่อแมตช์ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับเทศกาลฟุตบอลโลก 2010 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศแอฟริกาใต้ และยูโร 2008 ซึ่งมีการถ่ายทอดในเวลาใกล้เคียงกันแล้ว เรตติ้งในช่วงการถ่ายทอดสดของยูโร 2012 ถือว่าน้อยลงกว่าทั้ง 2 ทัวร์นาเมนต์ โดยฟุตบอลโลก 2010 จะอยู่ที่ 6.2% และยูโร 2008 อยู่ที่ 3.0% โดยกลุ่มคนดูหลักเป็นชายอายุ 35-39 ปี ซึ่งมีรายได้ปานกลางถึงสูง

ทั้งนี้ MEC วิเคราะห์ต่อไปด้วยว่า สาเหตุของการลดลงของเรตติ้งน่าจะมาจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ประกอบด้วย เวลาถ่ายทอดที่ดึกมาก, การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในการชมฟุตบอลผ่านอินเทอร์เน็ต และปัญหาจอดำ เนื่องจากปมปัญหากรณีบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด ผู้ถือครองลิขสิทธิ์ทำการล็อกสัญญาณถ่ายทอดสด ที่ออกอากาศผ่านทางฟรีทีวี ช่อง 3 ช่อง 5 และช่อง 9 โดยไม่ให้ผู้ชมที่ติดตั้งกล่องรับสัญญาณดาวเทียม และสมาชิกทรูวิชั่นส์ที่เสียค่าบริการรายเดือนรับชม โดยบังคับให้ซื้อเสาอากาศแบบก้างปลา หรือต้องซื้อกล่องรับสัญญาณดาวเทียมจีเอ็มเอ็ม แซทเพื่อรับชมการถ่ายทอดสด

** เสียโอกาสเนื่องจากจอดำ

MEC ระบุว่า การที่ไม่สามารถดูโทรทัศน์ Free TV ได้ในบ้านที่ติดตั้ง Cable TV ยังอาจเป็นอีกส่วนประกอบที่มีผลทำให้ rating ตกลง โดยข้อมูลจาก Nielsen ได้สอบถามกลุ่มตัวอย่างในการวัด rating พบว่าครึ่งหนึ่งของบ้านที่มีจานดาวเทียมหรือใช้ Cable TV ไม่มีเสาอากาศ และในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 5 ที่มีโครงการจะซื้อเสาใหม่

จากการวิเคราะห์ของ MEC สรุปได้ว่า ใน Euro 2012 การถ่ายทอดทาง TV ได้รับความสนใจน้อยลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ Euro 2008 แต่มีกลุ่มคนดูกลุ่มใหม่ที่ดูการถ่ายทอดและดูย้อนหลังผ่านทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

*** ศาลนัดฟังคำสั่งGMMละเมิดสิทธิจอดำวันนี้

วานนี้ ( 28 มิ.ย.) ที่ห้องพิจารณาคดี 310 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดไต่สวนฉุกเฉินคดีหมายเลขดำ ผบ.1841/2555 ที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาฯมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กับพวกรวม 5 ราย ซึ่งเป็นผู้บริโภคใช้บริการสาธารณะฟรีทีวี และผู้ใช้ระบบเคเบิลทีวีและดาวเทียม ร่วมเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีผู้บริโภค บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสถานีโทรทัศน์ทีวีช่อง 3, กองทัพบก ผู้ให้บริการสถานีโทรทัศน์ ททบ.5, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ และบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-4 เรื่องร่วมกันทำละเมิด และผิดสัญญา โดยขอให้ศาลไต่สวนเพื่อขอคุ้มครองฉุกเฉิน ให้จำเลยที่ 1-4 แพร่ภาพถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโรโดยด่วนที่สุด ก่อนการแข่งขันจะสิ้นสุดในวันที่ 2 ก.ค.นี้

นายองอาจ โพธิวร ฝ่ายเทคนิคสถานีโทรทัศสีช่อง 3 เบิกความว่า การถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2012 นั้นทางช่อง 3 ได้สัมปทานจากบริษัทจีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด โดยได้รับจดหมายขอความร่วมมือให้มีการเข้ารหัส หรือจอดำ ซึ่งปกติการยิงสัญญาณผ่านดาวเทียมของช่อง 3 จะไม่มีการเข้ารหัส ยกเว้นเฉพาะบางรายการที่เรื่องลิขสิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้องและมีการขอความร่วมมือมา ซึ่งไม่เฉพาะการถ่ายทอดสดยูโร 2012 แต่ก็มีรายการอื่นด้วย โดยทางแกรมมี่จะส่งรหัส มาให้ก่อนการแข่งขันฟุตบอลในแต่ละนัด ซึ่งประชาชนที่รับชมช่อง 3 ผ่านจานดาวเทียวและกล่องจีเอ็มเอ็มแซท ก็จะจอดำ เหมือนกัน

นายธนะชัย วงศ์ทองศรี รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักกฎหมาย บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เบิกความว่า การเซ็นสัญญาในเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อตอนเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา สมัยนายจักรพันธุ์ ยมจินดา เป็น ผอ.อสมท. จากนั้นวันที่ 5 มิ.ย. ทางแกรมมี่ได้ส่งหนังสือแจ้งเงื่อนไขให้อสมท ทำการเข้ารหัสเพื่อล็อคสัญญาณ ซึ่งเป็นช่วงที่นายเปรมกมลย์ ทินกร ณ อยุธยา รักษาการผอ.อสมท แต่นายเปรมกมลย์ ไม่ทราบเรื่องสัญญาดังกล่าว เนื่องจากเป็นการตกลงกันระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคของอสมท และแกรมมี่ ซึ่งเป็นคนสั่งการให้เข้ารหัสด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังตรวจสอบเรื่องนี้อยู่ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาก็เคยมีผู้เช่ารายอื่นมาขอให้ อสมท ให้ทำการเข้ารหัสเช่นกัน เช่นในการแข่งขันบอลโลกปีที่แล้ว แต่ก็ไม่มีข้อตกลงอะไรเป็นกรณีพิเศษแต่อย่างใด สำหรับการแก้ไขปัญหาของผู้ชมที่ไม่ได้รับชมรายการฟุตบอลนั้น ตนเองก็ไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร

พ.อ.บัณฑิต แสงอ่อน ตัวแทนสถานีโทรทัศน์สีช่อง 5 เบิกความว่า คลื่นความถี่ของทางช่อง 5 ที่ได้รับการจัดสรรตามพ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ไม่ใช่คลื่นเดียวกับดาวเทียม ซึ่งการทำสัญญากับแกรมมี่ทางช่อง 5 ทราบภายหลังว่ามีเงื่อนไขเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ โดยจะต้องใช้การเข้ารหัสเพื่อตีกรอบให้การถ่ายทอดสดอยู่ภายในประเทศไทย ซึ่งการที่ช่อง 5 รับสัญญาณช่วยถ่ายทอดสดบอลยูโร อยากให้มองอีกแง่หนึ่งว่าเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนดูได้รับชมฟุตบอล เพราะถ้าหากไม่ทำเช่นนี้ผู้ชมช่องฟรีทีวีก็จะไม่ได้รับชมฟุตบอลยูโรเลย หากจะรับชมฟุตบอลก็ต้องติดตั้งกล่องจีเอ็มเอ็มแซท และการดำเนินการดังกล่าวก็ไม่ได้ผิดพันธกิจและวัตถุประสงค์ของทางช่อง 5 เพราะเมื่อมีสัญญาณด่วนเข้ามา เช่น ความมั่นคง หรือภัยพิบัติสินามิ ทางช่อง 5 ก็สามารถตัดสัญญาณเพื่อถ่ายทอดสัญญาณด่วนได้ทันที ในส่วนผู้รับชมของทางช่อง 5 ก็ไม่ได้รับสัญญาณโดยตรงจากทางช่อง 5 แต่เป็นการรับจากผู้ประกอบดาวเทียมรายอื่นที่นำสัญญาของทางช่องไปเชื่อมต่อ

นายอภิเชษฐ์ ห่อหุ้ม ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายโครงข่ายระหว่างประเทศ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เบิกความว่า บริษัทแกรมมี่ซึ่งเป็นลูกค้าของกสท. ได้ขอให้กสท.ส่งสัญญาณบอลยูโรจากดาวเทียมต่างประเทศ โดยผ่านการเห็นชอบของกสทช. ซึ่งการส่งสัญญาณบอลยูโร กสท.ไม่มีอำนาจตรวจสอบเรื่องลิขสิทธิ์ระหว่างแกรมมี่และยูฟ่า

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการ กสทช. เบิกความว่า มาตรการเยียวยาสมาชิกทรูวิชั่นที่ประสบปัญหาจอดำ ทางกสทช.กำลังดำเนินการอยู่ ส่วนกรณีช่อง 3, 5 และ 9 หากทำผิดกฎหมายทางกสทช.ได้เรียกมาชี้แจงและสั่งปรับทางปกครอง แต่ไม่สามารถถอนใบอนุญาตได้ เนื่องจากการออกใบอนุญาตของช่อง 3, 5 และ 9 ได้ดำเนินการมาก่อนที่จะมีกสทช. อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวกสทช.สามารถนำมาประกอบพิจารณาอาจไม่ออกใบอนุญาตให้ในอนาคต

นายนภาศักดิ์ โคกวิบูลย์ กรรมการบริหารผู้ให้บริการโทรทัศน์ระบบดาวเทียมพีเอสไอ (PSI) เบิกความว่า ช่วงการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกเมื่อปี 2553 บริษัทอาร์เอส ซึ่งได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด มีการถ่ายทอดสัญญาณจนล้นไปที่ประเทศอินเดีย ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์แจ้งเตือนให้ทำการเข้ารหัส และภายหลังจากเข้ารหัสแล้วจานดาวเทียมอื่นก็สามารถดูได้ตามปกติโดยไม่ได้เสียเงินให้กับทางบริษัทอาร์เอสแต่อย่างใด

ภายหลังการไต่สวนเสร็จ 19. 50 น. ศาลนัดฟังคำสั่งวันนี้ (29 มิ.ย.) เวลา 14.00 น. พร้อมทั้งแจ้งคู่ความทั้งสองฝ่ายว่า ไม่สามารถทำคำสั่งได้ทันในวันนี้ เนื่องจากต้องนำคำเบิกความไปประกอบการพิจารณาด้วยความระมัดระวัง

***ผู้บริโภควอนศาลแพ่งลงโทษเซ่นยูโรจอดำ

ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค พร้อมพวก ได้ออกคำแถลงการณ์ "สังคมไทยไม่ต้องมีฟรีทีวีจอดำอีกต่อไป" โดยสรุป คือ 1. ฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว เพราะพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ไม่ได้ให้อำนาจหรืออนุญาตให้มูลนิธิฯ ดำเนินการฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้ซึ่งแตกต่างจากคดีปกครองและ พ.ร.บ. ความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551

การฟ้องครั้งนี้ขององค์กรผู้บริโภคไม่ได้ต้องการเพียงแค่การดูถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร แต่ในฐานะองค์กรที่ทำงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเห็นว่าปรากฏการณ์จอดำครั้งนี้นับเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคมากกว่าครึ่งประเทศในการเข้าถึงบริการสาธารณะในการดูฟรีทีวี ซึ่งสถานีโทรทัศน์ ในฐานะผู้รับใบอนุญาตให้บริการฟรีทีวีไม่ควรสมยอมกับเอกชนในการหยุดดำเนินการให้บริการสาธารณะกับผู้บริโภค และสัญญาใดที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยย่อมเป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2. พฤติการณ์ของจำเลย บริษัทแกรมมี่ได้ร่วมกันกับช่อง 3,5 และ 9 สมคบกันทำธุรกิจละเมิดสิทธิ และเอาเปรียบผู้บริโภคในการเข้าถึงบริการสาธารณะฟรีทีวีอันเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภค ด้วยการตัดสัญญาณการถ่ายทอดรายการฟรีทีวี ผ่านจานรับสัญญาณดาวเทียม ทั้ง ๆ ที่รู้ดีว่า ผู้บริโภคและประชาชนชาวไทย ในฐานะผู้บริโภคสื่อมากกว่า 11 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ใช้การดูฟรีทีวีด้วยอุปกรณ์จานดาวเทียม ที่ในปัจจุบันมีราคาถูกกว่าเสาอากาศแบบเดิมและคุณภาพดีกว่าอุปกรณ์ประเภทอื่น ๆ

ด้วยเล่ห์เหลี่ยมทางธุรกิจกีดกัน การเข้าถึงสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภคในการรับชมฟรีทีวี เพื่อให้ได้มาซึ่งการขยายฐานลูกค้า และช่องทางการจำหน่ายกล่องรับสัญญาณดาวเทียม GMMZ ในราคาประมาณ 1,590 บาท ของตนเองได้ ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนเสียหายจากการปิดกั้นผู้บริโภคมิให้เข้าถึงฟรีทีวี โดยหวังประโยชน์ในการขายกล่องสัญญาณดาวเทียม GMMZ ซึ่งมียอดจำหน่ายไม่น้อยกว่า 800,000 กล่องในปัจจุบัน เป็นมูลค่าสูงถึง 1,272 ล้านบาท ขณะที่ค่าธรรมเนียมกล่องสัญญาณรวมค่าภาษี เพียง 214 บาทเท่านั้น นอกจากนี้ GMMZ ยังได้รับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น สปอนเซอร์ ค่าโฆษณาสินค้าในรายการฟรีทีวี อีกมากมาย

การอ้างการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ได้มา มีเพียงข้อห้ามเรื่องการเผยแพร่และทำซ้ำ แต่ระบบลิขสิทธิ์มีขึ้นมาเพื่อสร้างสมดุลระหว่างความคุ้มครองเจ้าของสิทธิ และผลประโยชน์สาธารณะ และการคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งของไทยและต่างประเทศต่างกำหนดข้อยืดหยุ่น เพื่อไม่ให้การคุ้มครองสิทธิ มารุกล้ำสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การศึกษาและประโยชน์ของสาธารณะ

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้ จะมีความพยายามในการแก้ไขเพื่อคุ้มครองเจ้าของสิทธิ ให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้นภายใต้ข้อตกลงใหม่ (Anti Counterfeit Trade Agreement , ACTA) จนกระทบสิทธิผู้บริโภค ก็ยังไม่สามารถใช้บังคับได้ในประเทศไทยและแม้แต่สหภาพยุโรปซึ่งเป็นผู้ผลักดันการเจรจา ล่าสุดคณะกรรมาธิการค้าสหภาพยุโรปก็มีมติไม่เห็นด้วยกับความตกลงดังกล่าว เพราะเห็นว่าความตกลงใหม่นี้ละเมิดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ความรู้ของประชาชนผู้บริโภค

3. หน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องโดยตรงไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้จริง นับตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน จนถึงวันฟ้องคดี (วันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา) โจทก์ได้มีบทบาทและดำเนินการเรียกร้อง ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องทั้งหลาย แก้ปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณะ กรณีบริการฟรีทีวี (จอดำของฟุตบอลยูโร) ให้ทำงานตามกฎหมายและบทบาทของตนเองอย่างเต็มที่ แต่ไม่สามารถดำเนินได้เพียงและกรรมการ กสท. ที่เห็นด้วยกลับเป็นเพียงเสียงข้างน้อย

กลุ่มองค์กรผู้บริโภคโจทก์ทั้งห้าจึงได้มีมติดำเนินการสองเรื่องที่สำคัญคือข้อแรก นำเรื่องมาฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้มีการคุ้มครองก่อนมีคำพิพากษา ข้อสองการบอยคอตสินค้าและบริการของบริษัทแกรมมี่ทั้งหมด ซึ่งนั่นคงเป็นคำตอบได้อย่างดีว่า ทำไมถึงเพิ่งจะมาฟ้องเพราะฟุตบอลใกล้จะจบแล้ว เกือบสามอาทิตย์ที่ผ่านมาผู้บริโภคหมดเวลาไปกับการกดดัน ให้กลไกหน่วยงานของรัฐทุกส่วนได้ทำหน้าที่ แต่ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามกฎหมายหรือทำหน้าที่บกพร่อง ไม่มีประสิทธิภาพ มีเพียงกสท.เสียงข้างน้อยที่ต้องการให้มีการดำเนินการแก้ปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเท่านั้น ผู้บริโภคประชาชนจึงไม่มีที่พึ่งที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนจึงนำคดีมาสู่ศาลเพื่อให้คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคในเรื่องนี้

4. องค์กรผู้บริโภคต้องการอะไรในการฟ้องคดี เพื่อให้ศาลคุ้มครองสิทธิพื้นฐาน ของผู้บริโภคในการดูฟรีทีวี และห้ามการกระทำละเมิดผู้บริโภคมากกว่า 11 ล้านครัวเรือนในการดูฟรีทีวี ซึ่งมีมาก่อนการทำสัญญาบุคคลของแกรมมี่ จะล้มล้างไม่ได้ หรือสัญญาบุคคลจะละเมิดสิทธิของการคุ้มครองผู้บริโภค (มหาชน) ไม่ได้ชดเชยความเสียหายให้กับผู้บริโภค ที่ฟ้องทั้งหมดคนละ 1,590 บาท ซึ่งต้องถือว่า เป็นความเสียหายที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับความเสียหายของผู้บริโภค ผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับ สถานะทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ

ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเชิงลงโทษ เนื่องจากบริษัทแกรมมี่และช่อง 3 ,5 และ 9 ทราบดีว่า ผู้บริโภคไม่น้อยกว่า 11 ล้านครัวเรือนใช้ดาวเทียมเป็นอุปกรณ์ในการดูฟรีทีวี แต่จงใจให้ผู้บริโภคเสียหายและไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค ทั้ง ๆ ที่สามารถจัดการในทางเทคนิคต่อการแพร่ภาพที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ได้ และขอให้มีคำแนะนำไปยังรัฐบาลให้เร่งผลักดัน ให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อเป็นกลไกเสริมให้สามารถคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคได้จริงในสังคมไทย สุดท้าย การฟ้องคดีในครั้งนี้ เพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์เช่นนี้แบบซ้ำซาก
กำลังโหลดความคิดเห็น