xs
xsm
sm
md
lg

ศาลนัดฟังคำสั่ง GMM จอดำละเมิดสิทธิผู้บริโภค วันนี้

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(ภาพจากแฟ้ม)
ศาลแพ่งนัดฟังคำสั่งวันนี้ กรณีองค์กรผู้บริโภคยื่นขอคุ้มครองชั่วคราว คดีบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำเลยร่วมกันทำละเมิด และผิดสัญญา สั่งระงับถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร หลังฟรีทีวีเข้าให้การ ระบุ แกรมมี่ได้ส่งหนังสือแจ้งเงื่อนไขทางลิขสิทธิ์ ให้ทำการเข้ารหัสเพื่อล็อกสัญญาณ และหากจะรับชมฟุตบอลก็ต้องติดตั้งกล่องจีเอ็มเอ็ม แซท เท่านั้น

วันที่ 28 มิ.ย. ที่ห้องพิจารณาคดี 310 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดไต่สวนฉุกเฉินคดีหมายเลขดำ ผบ.1841/2555 ที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาฯมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กับพวกรวม 5 ราย ซึ่งเป็นผู้บริโภคใช้บริการสาธารณะฟรีทีวี และผู้ใช้ระบบเคเบิลทีวีและดาวเทียม ร่วมเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีผู้บริโภค บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสถานีโทรทัศน์ทีวีช่อง 3, กองทัพบก ผู้ให้บริการสถานีโทรทัศน์ ททบ.5, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ และบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-4 เรื่องร่วมกันทำละเมิด และผิดสัญญา โดยขอให้ศาลไต่สวนเพื่อขอคุ้มครองฉุกเฉิน ให้จำเลยที่ 1-4 แพร่ภาพถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโรโดยด่วนที่สุด ก่อนการแข่งขันจะสิ้นสุดในวันที่ 2 ก.ค.นี้

นายองอาจ โพธิวร ฝ่ายเทคนิคสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เบิกความว่า การถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2012 นั้น ทางช่อง 3 ได้สัมปทานจากบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด โดยได้รับจดหมายขอความร่วมมือให้มีการเข้ารหัส หรือจอดำ ซึ่งปกติการยิงสัญญาณผ่านดาวเทียวของช่อง 3 จะไม่มีการเข้ารหัส ยกเว้นเฉพาะบางรายการที่เรื่องลิขสิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้อง และมีการขอความร่วมมือมา ซึ่งไม่เฉพาะการถ่ายทอดสดยูโร 2012 แต่ก็มีรายการอื่นด้วย โดยทางแกรมมี่จะส่งรหัส มาให้ก่อนการแข่งขันฟุตบอลในแต่ละนัด ซึ่งประชาชนที่รับชมช่อง 3 ผ่านจานดาวเทียวและกล่องจีเอ็มเอ็ม แซท ก็จะจอดำ เหมือนกัน

นายธนะชัย วงศ์ทองศรี รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักกฎหมาย บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เบิกความว่า การเซ็นสัญญาในเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อตอนเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา สมัยนายจักรพันธุ์ ยมจินดา เป็น ผอ.อสมท จากนั้นวันที่ 5 มิ.ย.ทางแกรมมี่ได้ส่งหนังสือแจ้งเงื่อนไขให้ อสมท ทำการเข้ารหัสเพื่อล็อกสัญญาณ ซึ่งเป็นช่วงที่ นายเปรมกมลย์ ทินกร ณ อยุธยา รักษาการ ผอ.อสมท แต่ นายเปรมกมลย์ ไม่ทราบเรื่องสัญญาดังกล่าว เนื่องจากเป็นการตกลงกันระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคของ อสมท และแกรมมี่ ซึ่งเป็นคนสั่งการให้เข้ารหัสด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังตรวจสอบเรื่องนี้อยู่ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาก็เคยมีผู้เช่ารายอื่นมาขอให้ อสมท ให้ทำการเข้ารหัสเช่นกัน เช่น ในการแข่งขันบอลโลกปีที่แล้ว แต่ก็ไม่มีข้อตกลงอะไรเป็นกรณีพิเศษแต่อย่างใด สำหรับการแก้ไขปัญหาของผู้ชมที่ไม่ได้รับชมรายการฟุตบอลนั้น ตนเองก็ไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร

พ.อ.บัณฑิต แสงอ่อน ตัวแทนสถานีโทรทัศน์สีช่อง 5 เบิกความว่า คลื่นความถี่ของทางช่อง 5 ที่ได้รับการจัดสรรตาม พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ไม่ใช่คลื่นเดียวกับดาวเทียม ซึ่งการทำสัญญากับแกรมมี่ทางช่อง 5 ทราบภายหลังว่ามีเงื่อนไขเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ โดยจะต้องใช้การเข้ารหัสเพื่อตีกรอบให้การถ่ายทอดสดอยู่ภายในประเทศไทย ซึ่งการที่ช่อง 5 รับสัญญาณช่วยถ่ายทอดสดบอลยูโร อยากให้มองอีกแง่หนึ่งว่าเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนดูได้รับชมฟุตบอล เพราะถ้าหากไม่ทำเช่นนี้ผู้ชมช่องฟรีทีวีก็จะไม่ได้รับชมฟุตบอลยูโรเลย หากจะรับชมฟุตบอลก็ต้องติดตั้งกล่องจีเอ็มเอ็ม แซท และการดำเนินการดังกล่าวก็ไม่ได้ผิดพันธกิจ และวัตถุประสงค์ของทางช่อง 5 เพราะเมื่อมีสัญญาณด่วนเข้ามา เช่น ความมั่นคง หรือ ภัยพิบัติสินามิ ทางช่อง 5 ก็สามารถตัดสัญญาณเพื่อถ่ายทอดสัญญาณด่วนได้ทันที ในส่วนผู้รับชมของทางช่อง 5 ก็ไม่ได้รับสัญญาณโดยตรงจากทางช่อง 5 แต่เป็นการรับจากผู้ประกอบดาวเทียมรายอื่นที่นำสัญญาของทางช่องไปเชื่อมต่อ

นายอภิเชษฐ์ ห่อหุ้ม ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายโครงข่ายระหว่างประเทศ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เบิกความว่า บริษัทแกรมมี่ซึ่งเป็นลูกค้าของ กสท ได้ขอให้ กสท ส่งสัญญาณบอลยูโรจากดาวเทียมต่างประเทศ โดยผ่านการเห็นชอบของ กสทช.ซึ่งการส่งสัญญาณบอลยูโร กสท ไม่มีอำนาจตรวจสอบเรื่องลิขสิทธิ์ระหว่างแกรมมี่ และยูฟา

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการ กสทช.เบิกความว่า มาตรการเยียวยาสมาชิกทรูวิชั่นส์ที่ประสบปัญหาจอดำ ทาง กสทช.กำลังดำเนินการอยู่ ส่วนกรณีช่อง 3, 5 และ 9 หากทำผิดกฎหมายทาง กสทช.ได้เรียกมาชี้แจงและสั่งปรับทางปกครอง แต่ไม่สามารถถอนใบอนุญาตได้ เนื่องจากการออกใบอนุญาตของช่อง 3, 5 และ 9 ได้ดำเนินการมาก่อนที่จะมีกสทช.อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวกสทช.สามารถนำมาประกอบพิจารณาอาจไม่ออกใบอนุญาตให้ในอนาคต

นายนภาศักดิ์ โคกวิบูลย์ กรรมการบริหารผู้ให้บริการโทรทัศน์ระบบดาวเทียมพีเอสไอ (PSI) เบิกความว่า ช่วงการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกเมื่อปี 2553 บริษัท อาร์เอส ซึ่งได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด มีการถ่ายทอดสัญญาณจนล้นไปที่ประเทศอินเดีย ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์แจ้งเตือนให้ทำการเข้ารหัส และภายหลังจากเข้ารหัสแล้วจานดาวเทียมอื่นก็สามารถดูได้ตามปกติโดยไม่ได้เสียเงินให้กับทางบริษัท อาร์เอส แต่อย่างใด

ภายหลังการไต่สวนเสร็จ 19.50 น.ศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 29 มิ.ย. เวลา 14.00 น.พร้อมทั้งแจ้งคู่ความทั้งสองฝ่าย ว่า ไม่สามารถทำคำสั่งได้ทันในวันที่ 28 มิ.ย. เนื่องจากต้องนำคำเบิกความไปประกอบการพิจารณาด้วยความระมัดระวัง
กำลังโหลดความคิดเห็น