ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -รัฐบาลชุดนี้ไม่เคยสนใจว่า การบริหารเงินของประชาชนจะเสียหายอย่างไร เพราะถือว่าไม่ใช่เงินของพวกเขา
ที่สำคัญยังเปิดไฟเขียวให้หัวคะแนน นักการเมือง และนายทุนร่วมมือกันเขมือบเงินของประชาชนนับแสนล้านบาทจากโครงการจำนำข้าว
ประเมินกันว่า โครงการจำนำข้าว สร้างความเสียหายอย่างน้อย 100,000 ล้านบาท
นอกจากนั้นหากรัฐบาลระบายข้าวในสต็อกจำนวน 8.5 ล้านตัน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้ จะขาดทุนประมาณ 1.07 แสนล้านบาท
ที่สำคัญผลการระบายข้าวดังกล่าว จะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกลดลงทันที
นั่นจึงทำให้นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และนักวิชาด้านเศรษฐศาสตร์คนอื่น ต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินโครงการนี้อย่างรุนแรง
เหตุผลสำคัญก็คือ โครงการจำนำข้าว ทำให้
1. ตลาดข้าวของไทยพังพินาศ เพราะราคาข้าวลดต่ำลง นั่นหมายความว่า ในอนาคตอันใกล้ ไทยต้องขายข้าวในราคาที่ถูกลง
2. เกิดความเสียหายนับแสนล้านบาท จากการที่ไทยจะต้องขายข้าวในราคาถูก แต่ซื้อมาแพงเกินจริง
3. เกิดการคอรัปชั่นอย่างมโหฬาร จากโครงการ เพราะมีการสวมสิทธิ์ และจำนำข้าวลม
“โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลเป็นการให้ความสำคัญด้านราคาอย่างเดียวโดยไม่สนใจคุณภาพ ทำให้ข้าวของไทยพินาศ คาดว่ารัฐบาลจะขาดทุนจากการรับจำนำ 9 หมื่นล้านบาท ถึง 1.1 แสนล้านบาท หากต้องระบายข้าวทั้งหมดประมาณ 11 ตันข้าวสารออกไป” ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธาน ทีดีอาร์ไอ วิจารณ์ความล้มเหลวของโครงจำนำข้าว
นอกจากนี้ การรับจำนำเป็นการสร้างความเสียหายให้ตลาดส่งออกข้าวไทย โดยในช่วงเดือน ต.ค. 2554-มิ.ย. 2555 ไทยส่งออกข้าวได้ 4.7 ล้านตัน มูลค่า 1 แสนล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันก่อนหน้าส่งออกได้ 9.4 ล้านตัน เป็นมูลค่า 1.6 แสนล้านบาท มูลค่าการส่งออกหายไปถึง 6 หมื่นล้านบาท การรับจำนำข้าว ยังมีต้นทุนเงินกู้อีกปีละ 5,000 ล้านบาท และยังมีผลเสียจากที่รัฐบาลรับจำนำข้าวที่ต้องส่งออกไว้ทั้งหมด
“รัฐบาลรับจำนำข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 45% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ส่งผลให้เกิดการผูกขาดตลาดส่งออก กีดกันไม่ให้เอกชนเข้าไปดำเนินการได้อย่างเสรี ด้วยการอ้างว่าต้องการยกระดับราคาและรายได้เกษตรกรนั้น ส่วนตัวเชื่อว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้การยกระดับราคาและรายได้ไม่ประสบความสำเร็จ แต่จะทำให้เกิดกระบวนการทุจริต โดยการเวียนเทียนข้าวเพื่อมาเข้าโครงการใหม่มากกว่า” ดร.นิพนธ์ตอกย้ำการฉ้อราษฎร์บังหลวงภายใต้โครงการจำนำข้าว
กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กลับไม่มีสำนึกรับผิดชอบเงินภาษีของประชาชน
เขาบอกว่า นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดนี้ยืนยันว่ายังเป็นไปตามแผนงานทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปริมาณข้าวที่เข้าร่วมโครงการวงเงินในการรับจำนำข้าว รวมไปถึงการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี)ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่มีอะไรต้องห่วง
กิตติรัตน์ เชื่อลมๆแล้งๆว่า สาเหตุที่รัฐบาลชุดนี้เลือกวิธีรับจำนำข้าว เพราะสามารถจัดการด้านอุปทาน เพราะเชื่อว่ารัฐบาลสามารถทำให้ราคาข้าวขยับขึ้นมาได้ในระดับที่สูงกว่าการใช้กลไกการประกันรายได้ซึ่งก็เห็นชัดเจนว่าราคาข้าวได้กระเตื้องขึ้นมา
ราคาข้าวกระเตื้องมาจริงหรือ ??!
โกหกกันคล่องคอทีเดียว
“รัฐบาลชุดนี้ไม่เชื่อในวิธีประกันรายได้ เพราะทำให้ข้าวไทยมีราคาถูกและกลายเป็นว่าผู้เสียภาษีเป็นคนช่วยอุดหนุนให้คนต่างประเทศบริโภคข้าวในราคาที่ถูกเกินควร แต่รัฐบาลเลือกวิธีจำนำข้าว เพื่อไปจัดการด้านอุปทานเพราะเชื่อว่าเราสามารถทำให้ราคาข้าวขยับขึ้นมาได้” เดอะโต้ง ใช้ความเชื่อสร้างความเสียหายนับแสนล้านบาท
นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันคลังสมองของชาติ ใช้ข้อมูลอธิบายการจำนำข้าวของรัฐบาลที่แตกต่างกับกิตติรัตน์
เขาบอกว่า “โครงการรับจำนำข้าวจะทำให้รัฐบาลกลายเป็นผู้ผูกขาดตลาดไปโดยอัตโนมัติ จากราคารับจำนำที่ 1.5 หมื่นบาทต่อตัน สูงกว่าตลาดที่ 1 - 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งการรับจำนำในอัตราที่สูงนี้ ทำให้มีข้าวค้างอยู่ในสต็อกเป็นจำนวนมาก ทำให้ในแต่ละปีรัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการระบายข้าวในสต็อกอย่างต่ำถึง 1 แสนล้านบาท”
“การดำเนินนโยบายรับจำนำของรัฐบาลในขณะนี้ กำลังทำให้อุตสาหกรรมข้าวของไทยเข้าสู่ความหายนะได้ในไม่ช้า ด้วยความไม่ชัดเจนในการขับเคลื่อนนโยบายด้านสินค้าเกษตรและอาหาร” สมพร ย้ำความเสียหายครั้งมโหฬาร ที่เกิดขึ้นกับข้าวไทย
ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ขยายความพิษสงของโครงการจำนำข้าวว่า
“โครงการรับจำนำถือเป็นระบบที่มีการจัดการไว้อย่างชัดเจน และคาดว่าโครงการนี้จะมีอยู่ต่อไป โดยสต็อกข้าวที่มีอยู่จะเสื่อมสภาพและกลายเป็นค่าใช้จ่ายในทุกๆ ปี เฉลี่ยปีละ 1 แสนล้านบาท แม้ในทางบัญชีรัฐจะตั้งงบประมาณไว้ที่ 3 แสนล้านบาท แต่การระบายข้าวออกไป จะเป็นรายได้คืนมาเพื่อเดินหน้าสำหรับโครงการในปีต่อๆ ไป ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้เป็นความเสื่อมสภาพที่ประเมินเป็นตัวเลขได้ยาก ประชาชนไม่ค่อยรับรู้ และรัฐบาลก็มีความสามารถในการซุกเงินอย่างดี”
ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ปัจจุบันอินเดียและเวียดนามส่งออกข้าวจนทำให้ไทยสูญเสียแชมป์การส่งออกข้าวอันดับหนึ่ง
ความเสียหายของโครงการจำนำข้าว ยังทำให้ ป.ป.ช.เตรียมเอาผิดรัฐบาลในด้านกฎหมาย โดย รศ.ดร.สิริลักษณ์ คอมันตร์ ที่ปรึกษา ป.ป.ช. และอนุกรรมการฝ่ายวิจัย ป.ป.ช. บอกว่า ศูนย์วิจัยยังยืนยันว่า รัฐบาลควรยกเลิกโครงการ แต่คิดว่ารัฐบาลคงไม่ฟัง และจะให้เหตุผลว่าเป็นนโยบายที่ได้หาเสียงไว้แล้ว
“ดังนั้นศูนย์วิจัยจะพยายามผลักดันให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาว่าการกระทำของรัฐบาลเข้าข่ายทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่ และจะใช้มาตรา 157 หรือมาตราใดเอาผิดกับรัฐบาลได้บ้าง เพราะถือว่าเป็นการดำเนินนโยบายผิดพลาดโดยจงใจ ก่อให้เกิดการทุจริต ก่อให้เกิดความเสียหายกับงบประมาณเป็นแสนล้านบาท”
แม้ว่า ป.ป.ช.ก็ได้เสนอมาตรการไปยังรัฐบาลต่อเนื่อง แต่กลับเพิกเฉย ถือเป็นเอาผิดในการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ ซึ่งการตัดสินใจจะเป็นอำนาจของ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ส่วนทางศูนย์วิจัยมีหน้าที่เพียงศึกษาทางวิชาการที่มีหลักเหตุผลและข้อเท็จจริง
โครงการจำนำข้าวนั้น ทางศูนย์วิจัย ป.ป.ช.ได้ศึกษาและเสนอมาตรการไปยังรัฐบาลตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่เพิ่งได้รับการตอบรับในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ปรับเปลี่ยนโครงการจำนำ มาเป็นการประกันรายได้แทน แม้ไม่ตรงกับสิ่งที่ ป.ป.ช. เสนอให้ปรับมาเป็นการประกันความเสี่ยง แต่ก็ถือว่าใกล้เคียงในระดับหนึ่ง แต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ กลับนำโครงการจำนำกลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่ง ป.ป.ช.เองก็ได้มีจดหมายส่งไปอีกว่า นโยบายก่อให้เกิดความสูญเสียโดยใช่เหตุ ซึ่งก็ได้พิสูจน์แล้วว่า สิ่งที่ ป.ป.ช.เสนอแนะไปเป็นเรื่องจริงและไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้น
มีแต่โรงสีและนักการเมืองที่บอกว่า โครงการนี้เป็นประโยชน์เพราะ เงินจำนวนมหาศาลกองอยู่ตรงหน้านั่นเอง !!!