xs
xsm
sm
md
lg

โครงการจำนำข้าว ฉิบหายยิ่งกว่าเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ก้าวเข้าสู่ขั้นตอนการคอร์รัปชั่นขั้นตอนที่สองอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อ กระทรวงพาณิชย์ ประกาศ ระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาล ที่ได้จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 54/55 และโครงการรับจำนำนาปรังปี 55 ด้วยวิธีการเปิดให้ผู้สนใจยื่นซองเสนอราคาประมูล เพื่อขายทั้งในประเทศและส่งออก ซึ่งจะเปิดระบายในปริมาณเท่าไร ราคาใด และเป็นข้าวชนิดใดบ้าง ไม่ได้กำหนด แต่ให้เริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงสิ้นเดือน ธ.ค.นี้

ทำไมจึงเรียกว่า การคอร์รัปชั่นรอบที่สอง และการคอร์รัปชั่นรอบที่หนึ่งในโครงการรับจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทยนั้นเป็นอย่างไร จะขอยกเอาข้อเขียนเรื่อง “ โครงการรับจำนำสินค้าเกษตร “ ของ นายวีรพงษ์ รามางกูร ในคอลัมน์ คนเดินตรอก จากหนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม 2554 มาฉายซ้ำ เพราะนายวีรพงษ์ ได้ชื่อว่า เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เก่งที่สุดในประเทศไทย ที่สามารถอธิบายเรื่องยากๆให้คนทั่วไปเข้าใจได้ ทั้งยัง เป็นผู้ที่ไม่มีอคติกับรัฐบาล และชื่นชมในความสามารถของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นายวีรพงษ์ เขียนถึง โครงการรับจำนำข้าว ตอนหนี่งว่า

“ เมื่อรัฐบาลตั้งราคารับจำนำไว้สูงกว่าราคาตลาด สมมุติ 10 เปอร์เซ็นต์ โรงสีก็จะซื้อข้าวเปลือกในราคาตลาด หรือไม่ก็ไม่ซื้อเลย แล้วทำใบประทวน สินค้าปลอมว่าซื้อข้าวใส่โกดังแล้วให้ชาวนาหรือลูกจ้างของตนมาลงชื่อว่าเอาข้าวมาจำนำเท่านั้นเท่านี้เกวียน เอาค่า ลงชื่อไป 50 บาท 100 บาท อาจจะซื้อข้าวชาวนาอิทธิพลบางรายในราคาที่รัฐบาลประกาศบ้าง เวลาทางการมาตรวจเช็กก็จะให้เอาชาวนา 5-6 คนนี้มายืนยัน

เวลาทางการมาตรวจสต๊อก ก็เอา สต๊อกข้าวของตนเองมาแสดงพอเป็นพิธี ชาวนาโดยทั่วไปเมื่อขายข้าวให้โรงสีก็ขายในราคาตลาดนั่นเอง นี่คือการฉ้อราษฎร์บังหลวงในรอบแรก

ต่อมาเมื่อข้าวเปลือกที่นำมาจำนำเป็นของรัฐบาล อาจจะมีข้าวจริงบ้าง ข้าวลมบ้าง กระทรวงพาณิชย์ก็เอาไปขายเป็นข้าวรัฐบาล โดยจะมีบริษัท ส่งออกที่รู้กันกับรัฐมนตรี ไปเร่ขายใน ตลาดต่างประเทศ และกล้ารับคำสั่งซื้อเพราะรู้กันกับรัฐมนตรีว่าจะสามารถซื้อข้าวจากรัฐบาลได้ในราคาเท่าใด รายอื่นไม่กล้ารับคำสั่งซื้อ เพราะไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะขายให้หรือไม่ในราคาเท่าใด ผู้ส่งออกรายอื่น ๆ จึงไม่อาจจะรู้ต้นทุนของตน ยกเว้นรายที่ทำมาหากินกับรัฐมนตรีพาณิชย์หรือนายกรัฐมนตรี ประเทศเราส่งออกปีละ 9-10 ล้านตัน บางปีข้าวรับจำนำของรัฐบาลมีปริมาณถึง 3.5 ล้านตัน

โครงการนี้จึงเป็นโครงการทำลายโครงสร้างตลาดข้าวในประเทศ โรงสีที่ไม่มีเส้นสายเข้าร่วมโครงการก็ล้มละลายไป เพราะไม่มีข้าวส่งออก ทำให้โรงสีมี น้อยลง โรงสีที่เคยมีการแข่งขันก็กลายเป็นการผูกขาดโดยโรงสีที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้เท่านั้น เป็นการเพาะศัตรูให้กับพรรครัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา เพราะโรงสีที่ไม่ได้ร่วมโครงการ หรือผู้ส่งออกที่ไม่ใช่ พวกรัฐมนตรี มีมากกว่าที่เป็นพวกรัฐมนตรี

ในกรณีรับจำนำมันสำปะหลังก็ดี ยางพาราก็ดีหรือแม้แต่ลำไยก็มีลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ โรงมัน โรงเก็บยางแผ่น ซื้อมัน ซื้อน้ำยาง ยางแผ่นในราคาตลาด ให้ชาวไร่ชาวสวนยางลงชื่อเพื่อรับเงินค่าลงชื่อ แล้วก็เอามาจำนำกับรัฐบาลในราคาสูงกว่าราคาตลาด เมื่อรัฐบาลจะขายก็ขายในราคาต่ำกว่าราคาตลาดให้กับผู้ส่งออกที่หาเงินให้รัฐมนตรีไป ขายในตลาดโลกตัดราคาผู้ส่งออกรายอื่น เอาคำสั่งซื้อไป เพราะตนรู้อยู่คนเดียวว่าจะสามารถซื้อจากรัฐบาลได้ในราคาเท่าใด

เมื่อรัฐบาลจะขายข้าว ขายมัน ขายยาง โดยรับคำสั่งซื้อแล้วก็จะไม่ส่งออกเอง แต่มอบให้พ่อค้าผู้ส่งออกประมูลไป การประมูลก็ทำหลอก ๆ เพราะมีการกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติให้ตรงกับผู้ส่งออกที่รัฐมนตรีกำหนดตัวไว้แล้ว แบ่งกำไรกินกัน

นี่คือการฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือคอร์รัปชั่นจากโครงการจำนำสินค้าเกษตรรอบสอง รัฐบาลเสียเงินขาดทุนมากมายส่วนเกษตรกรไม่ได้อะไรเลย ขายของได้ในราคาตลาดเท่านั้นเองที่ ประชาธิปัตย์ทำไว้โดยการประกันรายได้นั้นดีแล้ว จ่ายส่วนต่างระหว่างราคาตลาดกับราคาประกันตรงให้ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนเลย ถ้าชาวนา ผู้ใหญ่บ้าน กำนันจะโกง ก็ยังดีกว่าโรงสีผู้ส่งออก รัฐมนตรีโกง “

น่าเสียดายที่ ตั้งแต่นายวีรพงษ์ ไปทำงานเพื่อชาติ รับตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟู และสร้างอนาคตประเทศ หรือ กยอ. และ ประธานคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ก็ไม่เคยแสดงความคิดเห็นต่อโครงการรับจำนำข้าวอีกเลย คงจะถือคติ พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง

ในความเป็นจริง การระบายข้าวที่รับจำนำมานั้น คนในวงการค้าข้าวรู้ดีว่า ได้เริ่มอย่างลับๆ เงียบๆ มาได้เดือนกว่าแล้ว โดยมี “ เจ้าเก่า” ที่ผงาดขึ้นเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ในยุคการจำนำข้าวรอบแรกสมัยรัฐบาลทักษิณ ผูกขาดซื้อข้าวเพียงเจ้าเดียว ในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนที่รัฐบาลรับจำนำมาถึงตันละ 8,000-9,000 บาท ซึ่งว่ากันว่า พ่อค้าที่ซื้อข้าวในสต๊อคของรัฐบาล ต้องจ่ายส่วนแบ่งให้รัฐมนตรีตันละ 500 บาท ล้านตันก็เป็นเงิน 500 ล้านบาท

การประกาศระบายข้าวในสต๊อคของรัฐบาล จึงเป็นเพียงพิธีกรรม เพื่อลบล้างข้อครหาว่า มีการขายข้าวลับๆให้เอกชนบางรายเท่านั้น อีกทั้งยังไม่มีรายละเอียดว่า จะระบายข้าวประเภทใด กำหนดราคาขั้นต่ำไว้เท่าไร ปริมาณเท่าไร ก็ยิ่งน่าเชื่อว่า การฉ้อราษฎร์บังหลวงรอบที่ สอง จากโครงการรับจำนำข้าวได้เริ่มขึ้นแล้ว

บริษัทสยาม อินดิกา เป็นชื่อที่ถูกกล่าวขานกันว่า มีสต็อดคข้าว ของรัฐบาลอยูในมือแล้ว 2 ล้านตัน จากจำนวน 10 ล้านตันที่รัฐบาลรับจำนำมาในปีนี้

เมื่อปลายปี 2554 สมัยที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บริษัทสยามอินดิกา ชนะการประมูล ข้าวเพื่อส่งมอบให้รัฐบาลอินโดนีเซีย จำนวน 300,000 ตัน แต่มีข้าวบางส่วนคือ 70,000 ตัน ที่ถูกรัฐบาลอินโดนีเซียปฏิเสธ ไม่ยอมรับมอบ เพราะคุณภาพต่ำ และหันไปซื้อจากเวียดนามแทน

สยาม อินดิกา ความจริงแล้วก็คือ บริษัท เพรสซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง ของนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร ซึ่งกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุด ในเวลาชั่วข้ามคืน สมัยรัฐบาลทักษิณ ซึ่งตอนนั้น เป็นพรรคไทยรักไทย และมีนายวัฒนา เมืองสุข เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพราะประมูลข้าวในสต็อคของรัฐบาลจากโครงการรับจำนำข้าวปี 2546-2548 ได้ถึง 2 ล้านตัน แต่เนื่องจากไม่ได่มีประสบการณ์ในการค้าข้าวจริง แต่เป็นนักฉวยโอกาสทางการเมือง เพรสซิเดนท์ ฯ จึงไปไม่รอด ตกเป็นหนี้ธนาคาร 8 แห่งเป็นเงินกว่า 12,000 ล้านบาท ข้าวที่ประมูลไป ยังตกค้างอยู่ในโกดังที่สระบุรี และปทุมธานี ทั้งยังถูกแจ้งความดำเนินคดีต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ฐานฉ้อโกงทรัพย์

นอกจากนี้ บริษัท เพรสซิเดนท์ฯและนายอภิชาต ยังเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรในช่วงที่นายวัฒนา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งสำนักงายอัยการสูงสุดได้มีมติสั่งฟ้องนายวัฒนากับพวกต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีเรียกรับเงินผู้ประกอบการเอกชนในโครงการดังกล่าว

ถึงวันนี้แล้ว แทบทุกฝ่ายต่างมีความเห็นพ้องต้องกันว่า โครงการรับจำนำข้าว หรือถ้าจะเรียกให้ถูก คือ โครงการรับซื้อข้าวราคาสูงกว่าตลาดจากชาวนา กำลังจะกลายเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงสำหรับประเทศไทย หากยังดำเนินต่อไป เพราะไม่เพียงแต่ รัฐบาลจะต้องขาดทุนถึงปีละ 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเงินภาษีอากรของประชาชน แต่ยังเป็นการทำลายธุรกิจค้าข้าวทั้งส่งออก และในประเทศ จากการที่รัฐบาลผูกขาดซื้อข้าวแต่เพียงรายเดียว เมื่อซื้อมาแล้ว ขายไม่ออก ก็เก็บไว้ รอให้พรรคพวกมาประมูลซื้อไปในราคาต่ำๆ ผู้ส่งออกข้าวที่แท้จริงที่มีความสามารถ ถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงสต็อคข้าวของรัฐบาล หากรัฐบาลนี้ยังอยู่ต่อไปจนครบเทอม และรับจำนำข้าวทุกปี คงไม่มีผู้ค้าข้าวเหลืออยู่ในประเทศไทยแน่

หลอกคนเสิ้อแดงให้มาตาย ให้เผาบ้านเผาเมืองว่าชั่วร้ายแล้ว ยังสร้างความฉิบหายให้ชาติบ้านเมืองน้อยกว่า โครงการรับซื้อข้าวในราคาสูงหลายสิบเท่า
กำลังโหลดความคิดเห็น