ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- เป็นเรื่องที่คนไทยจำนวนมากต่างเจ็บกระดองใจไปตามๆ กัน เมื่อเราเสียแชมป์ส่งออกข้าวของโลก ให้แก่คู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนามไปแล้ว ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาของปี 2555
การเสียแชมป์ส่งออกข้าวไม่ใช่เรื่องของศักดิ์ศรี แต่เป็นเรื่องของความล้มเหลวในการพัฒนาการค้าข้าว ที่เราเคยเป็นเบอร์หนึ่งของโลกมายาวนาน จนได้ฉายาว่า “ชามข้าวของโลก”
นอกจากนั้น ข้าวยังถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่นำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับต้นๆ มาช้านาน หากต้องเสียตลาดไปให้คู่แข่ง ก็หมายถึงเม็ดเงินเข้าประเทศที่ลดลงด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น การเสียแชมป์คราวนี้ ไม่ใช่เสียแค่อันดับ แต่เป็นการเสียยอดการส่งออก ที่ลดลงในปริมาณมากอย่างน่าใจหาย
ทั้งนี้ น.ส.กอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ว่า ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2555 ไทยส่งออกข้าวรวม 3.45 ล้านตัน ปริมาณการส่งออกทุกตลาดรวมกันลดลงถึงร้อยละ 45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนมูลค่าส่งออกรวม 71,438 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่ารวมกว่า 107,644 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34 หากคิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐลดลงร้อยละ 35
ขณะที่ สถานการณ์ตลาดข้าวโลก จนถึงวันที่ 10 ก.ค.2555 อินเดียส่งออกได้มากเป็นอันดับหนึ่ง 3.61 ล้านตัน เวียดนามส่งออกได้เป็นอันดับสอง 3.52 ล้านตัน ไทยส่งออกได้ 3.45 ล้านตัน อยู่อันดับสาม
ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลังคาดว่าไทยจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 3.05 ล้านตัน มูลค่ารวมประมาณ 50,000 ล้านบาท รวมแล้วตลอดปี 2555 ไทยจะส่งออกข้าวได้รวม 6.5 ล้านตัน มูลค่ารวม 120,000 ล้านบาท ปริมาณส่งออกลดลงร้อยละ 39 จากที่ปี 2554 ส่งออกข้าวรวม 10.65 ล้านตัน
จึงคาดว่าปี 2555 ไทยจะกลายเป็นผู้ส่งออกตกลงมาเป็นอันดับ 3 รองจากอินเดีย และเวียดนาม ที่คาดว่าจะส่งออกได้มากถึง 8 และ 7 ล้านตัน ตามลำดับ
นับว่าสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยยังเกรงใจรัฐบาลอยู่บ้าง ที่ไม่ได้กล่าวตำหนิหรือโจมตีรัฐบาล กรณีที่ทำให้ไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าว พร้อมเสนอทางออกว่าพร้อมจะร่วมหารือกับภาครัฐเพื่อหาแนวทางในการบริหารจัดการสต๊อกข้าวรัฐบาล
แต่นั่นก็แสดงว่า สมาคมผู้ส่งออกข้าว มองต้นเหตุที่ทำให้ไทยส่งออกข้าวได้น้อยลงชนิดรูดมหาราชนั้น เป็นเพราะนโยบายการสต๊อกข้าว ที่มาจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนั่นเอง
หลังจากภาคเอกชนผู้ส่งออกข้าวออกมาเปิดเผยถึงการเสียแชมป์ส่งออกข้าวของไทย ฝ่ายค้านได้เข้ามาย้ำแผลรัฐบาลทันที โดยนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ว่า โครงการจำนำข้าวได้สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศจนเสียแชมป์ผู้ส่งออกข้าวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือนของปีนี้ นอกจากนั้นยอดการส่งออกยังลดลงถึง 46% มูลค่าความเสียหายหลายแสนล้านบาท ขณะที่เกษตรกรไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างทั่วถึง เพราะมีการทุจริตในขั้นตอนการรับจำนำข้าว ขณะที่ ธ.ก.ส.ต้องแบกรับภาระหนี้สินนับแสนล้านบาท เป็นหายนะทางการคลังของประเทศ
ภายหลังปรากฏเป็นข่าวครึกโครมว่าไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ชี้แจงแบบเลี่ยงๆ เมื่อ 26 ก.ค.ว่า การส่งออกข้าวมีอยู่ 2 อย่างคือ การส่งออกข้าวจากผู้ค้ารายย่อย และการขายแบบลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้มีการแถลงข่าวไปแล้ว ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นปัญหาที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนั้น ต้องรอให้กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงก่อน
ขณะที่นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อ้างว่า สาเหตุที่ไทยส่งออกข้าวน้อยลงจนตกมาเป็นอันดับ 3 ของโลกนั้น เนื่องจากไทยปรับเปลี่ยนนโยบายการค้าข้าวในช่วงที่ผ่านมา เพื่อต้องการผลักดันราคาให้ขยับสูงขึ้น เพราะต้องการดูแลเกษตรกรชาวนาให้มีรายได้สูง ขณะที่อินเดียและเวียดนามเร่งส่งออกจึงทำปริมาณเพิ่มขึ้น ส่วนไทยต้องการขยับราคาข้าวให้สูงขึ้นเพื่อเน้นการขายข้าวที่มีคุณภาพ
“ต่อไปรัฐบาลจะเน้นขายข้าวคุณภาพที่ได้ราคา ไม่เน้นการส่งออกเพื่อหวังปริมาณให้สูง” นายยรรยงกล่าวอ้าง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวมาโดยตลอดทุกปี แต่เมื่อส่งออกได้น้อยลง กลับบอกว่า ไม่เน้นปริมาณ
ส่วนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า การที่ผู้ส่งออกข้าวมองว่าประเทศไทยส่งออกข้าวเป็นรองจากอินเดียและเวียดนามส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลส่งผลให้ราคาแพงกว่าประเทศคู่แข่งขันนั้น เป็นการรีบด่วนสรุปข้อมูลเร็วจนเกินไป มุ่งหวังผลกำไรโดยไม่ได้ให้ความสนใจในคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร
นายบุญทรงอ้างว่า การเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก ไม่สำคัญเท่าการกินดีอยู่ดีของประชาชน และโครงการรับจำนำข้าวรอบใหม่ที่จะถึงนี้จะยังคงเดินหน้าในราคาที่ไม่เปลี่ยนไปจากเดิม พร้อมกับเร่งระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐที่มีปริมาณสูง จึงขอให้หลายฝ่ายดูข้อมูลเพิ่มเติมก่อนพูด เพราะอาจเกิดความสับสนได้ ขอให้ประชาชนสบายใจได้ว่าข้าวจะได้รับการระบายในปริมาณที่เหมาะสมตามช่วงเวลา
อย่างไรก็ตาม คำถามที่นายบุญทรงและคนในรัฐบาลยังไม่ได้ตอบก็คือ หากมีการระบายข้าวในปริมาณที่เหมาะสมแล้ว เหตุใดจึงยังมีข้าวจากโครงการรับจำนำค้างสต๊อกอยู่ในโกดังอยู่เป็นปริมาณมาก จนรัฐบาลต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลอย่างมหาศาล
และโครงการรับจำนำข้าว ทำให้ชาวนาอยู่ดีกินดีขึ้น ตามวาทกรรมที่รัฐบาลเอามาโฆษณาชวนเชื่อ จริงหรือไม่
ทั้งนี้ นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย บอกว่า ข้าวในสต๊อกของรัฐบาลมีอยู่ประมาณ 10 ล้านตัน หากจะระบายออกสู่ตลาดโลก ราคาขายจำเป็นต้องลดลงอยู่ในระดับที่แข่งขันกับเวียดนามได้ที่ตันละ 430-450 ดอลลาร์สหรัฐ จากที่ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 800 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่งผลให้รัฐบาลมีผลขาดทุนตันละ 350 ดอลลาร์สหรัฐ
นั่นหมายถึงว่า หากระบายข้าวออกทั้งหมด รัฐบาลจะขาดทุน 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 110,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ นายชูเกียรติ ยังพูดถึงโครงการรับจำนำข้าวว่า แม้รัฐบาลตั้งราคารับจำนำข้าวเปลือกสูงกว่าราคาตลาดค่อนข้างมาก เพื่อดึงราคาข้าวทั้งในประเทศและส่งออกให้สูงขึ้น แต่ขณะนี้ราคาภายในประเทศก็ยังไม่ได้สูงขึ้นตามต้องการเพราะไม่มีแรงหนุนซื้อในตลาด เนื่องจากการส่งออกที่ลดลง
ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวในงานเสวนาทางวิชาการ“วิพากษ์ผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล” เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ว่า โครงการประชานิยมของรัฐบาลที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือโครงการรับจำนำข้าวที่มีมากถึง 15-16 ล้านตัน และขณะนี้ยังขายไปได้น้อยมาก คาดว่าจะสร้างภาระขาดทุนนับแสนล้านบาท และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นหากยังรับจำนำต่อไป ในอนาคตจะนำไปสู่ปัญหาการคลังในที่สุด
นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานเดียวกันว่า นโยบายประชานิยม ล้วนเป็นนโยบายของคนจนตรอกที่อยากจะชนะการเลือกตั้ง โดยโครงการที่อยากให้ยกเลิกเร็วที่สุดคือ การรับจำนำข้าวที่คาดว่าจะขาดทุน 1 แสนล้านบาท แต่ช่วยดูแลชาวนาเพียง 1 ล้านคนที่ส่วนใหญ่ฐานะดี จากชาวนาทั้งหมด 3.7-3.8 ล้านคน ขณะที่รัฐบาลหมกหนี้จากโครงการนี้ไว้กับ ธ.ก.ส.2 แสนล้านบาท
ส่วนนายอัมมาร์ สยามวาลา นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ ฟันธงว่า ถ้าหากรัฐบาลยังเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป รัฐบาลอาจจะถึงทางตัน และจะเกิดความเสียหายทั้งการก่อหนี้และทำให้ราคาข้าวตกต่ำ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกฤดูกาลผลิต 2554/2555 ที่ใช้เงินไปแล้วมากกว่า 2 แสนล้านบาท ยังไม่มีการระบายข้าว ทำให้รัฐบาลมีข้าวในสต๊อกจำนวนมาก จะสร้างภาระทางการคลังของประเทศในระยะยาว และเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า จึงต้องการให้รัฐบาลทบทวนนโยบายนี้โดยเร็ว
ทั้งหมดนี้ เป็นคำถามที่ปลัดกระทรวงฯ รมว.พาณิชย์ นายกรัฐมนตรี รวมทั้งคนต้นคิดที่เร่ร่อนอยู่ต่างประเทศ ยังให้ความกระจ่างไม่ได้ นอกจากอ้างแบบลมๆ แล้งๆ ว่า ทำเพื่อความอยู่ดีกินดีของชาวนา ตามสคริปต์ เพื่อหาเสียงเท่านั้น