xs
xsm
sm
md
lg

“3ประเทศ” จับมือล้มแชมป์ส่งออกข้าวไทย! ม.หอการค้าฯ ชี้ “ปู” ตัวการ “เกษตรไทย” พ่ายต่างชาติ (ตอนที่1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


3 ประเทศค้าข้าว ‘เวียดนาม-พม่า-กัมพูชา’ จับมือพลิกกลยุทธ์ล้มแชมป์ส่งออกข้าวไทย-ทำการค้าแบบ WIN-WIN เชื่อบัลลังก์ข้าวหอมสั่นคลอน แจงนโยบายแทรกแซงราคา ตัวการทำให้ไทยพ่าย ขณะที่ ต่างชาติแห่ปลูกข้าวในอาเซียน ด้านพม่าเปิดเสรีให้ทุนต่างชาติเข้าทำการเกษตรได้กว่า 12,000 ไร่ แถมเว้นภาษี 8 ปี หวั่น 3 พืชไทยน่าห่วง ข้าว-ปาล์มน้ำมัน-กาแฟ แข่งดุหลังเปิด AEC! ด้านกลุ่มประเทศอาเซียนส่งสัญญาณกีดกันการนำเข้าข้าว ขณะที่ข้าวไทยเสียเปรียบและเสี่ยงข้าวต่างชาติทะลัก นายกผู้ส่งออกข้าวไทย คาดเดือน มิ.ย.-ส.ค.ยอดส่งออกข้าววูบ

หลังจากรัฐบาลคลอดโครงการรับจำนำข้าว ก็ยิ่งทำให้ช่องว่างราคาข้าวของไทยพุ่งสูงกว่าราคาข้าวในตลาดมาก เป็นเหตุให้ประเทศไทยเสียส่วนแบ่งตลาดการส่งออกข้าวในหลายประเทศ โดยเฉพาะข้าวขาวให้แก่คู่แข่งรายสำคัญอย่างเวียดนาม และตลาดข้าวนึ่งให้แก่อินเดียที่เพิ่งหวนคืนสู่ภาคการส่งออกเมื่อปีที่ผ่านมา และไม่มีทีท่าว่าตลาดดังกล่าวจะกลับคืนสู่ไทย

สำหรับตลาดส่งออกข้าว และการเกษตรในปัจจุบันถือเป็นตลาดที่หอมหวน มีหลายประเทศจับจ้องและเตรียมพร้อมกระโดดเข้ามาลงทุนในรูปแบบต่างๆ และอีกไม่นานคงได้เห็นผู้เล่นในสนามมากยิ่งขึ้น อาทิ พม่า, กัมพูชา หรือแม้แต่ในรูปแบบการลงทุนผลิตเพื่อบริโภคเองในประเทศ

ทั้งนี้เพราะมีการเปิดเสรี และเห็นว่าข้าวเป็นอาหารหลักของคนจำนวนมากในโลก แต่ปริมาณที่ผลิตได้นั้นยังถือว่าไม่มากนัก เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของประชากรโลก

อย่างไรก็ดีเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่จะเต็มรูปแบบในปี 2558 พบว่ากฎกติกาในการลงทุนนั้นง่ายยิ่งขึ้น ขณะที่รัฐบาลและเกษตรกรไทยยังไม่ค่อยให้ความสนใจ และยังไม่ให้ความสำคัญกับผลที่จะตามมาต่อตลาดข้าว รวมถึงพืชผลทางการเกษตรหลังเปิดเออีซีมากนัก

นอกจากนี้ยังไม่เห็นมาตรการในการดูแลของรัฐบาลที่ชัดเจน ทั้งที่ “ข้าว” ถือเป็นพืชที่ส่งออกอันดับ 1 และสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศมหาศาล หากไม่มีการเตรียมความพร้อมก็อาจส่งผลให้สถานการณ์ข้าวไทยที่สั่นคลอนอยู่แล้ว ต้องลงจากตำแหน่งแชมป์อย่างถาวรก็เป็นได้

เมื่อเทียบกับสถิติการส่งออกข้าวระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-15 มิ.ย. 2555 จำนวน 3,133,112 ตัน (ข้าวสาร) ถือว่าน้อยลง 45.48% ของเวลาเดียวกันเทียบปี 2554 อยู่ที่ 5,747,226 ตัน (ข้าวสาร) ส่วนยอดการค้าส่งออกสินค้าเกษตรไทย ไปอาเซียนของปี 2554 อยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท นำเข้า 6.5 หมื่นล้านบาท

อีกทั้งด้านการส่งออกข้าวเวียดนามกับข้าวไทยในตลาดอาเซียนระหว่างปี 2547-2551 ปรากฏว่าข้าวไทยมีอัตราการขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับข้าวเวียดนาม นับตั้งแต่ปี 2548 เวียดนามส่งออกข้าวไปยังตลาดอาเซียนมีการขยายตัว 94.2% ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 67.5% ขณะที่ไทยมีอัตราการขยายตัวเพียง 13.4% ส่วนแบ่งตลาด 31.1% ส่วนตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปฮ่องกงปัจจุบัน มีส่วนแบ่งตลาดลดลงเหลือเพียง 40-50% จากเดิม 85-90% สิงคโปร์ลดลงเหลือ 40-50%

ตลาด‘ข้าว’แข่งดุ-ต่างชาติแห่ปลูกข้าวรับAEC

สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และความอยู่รอดของข้าวไทยภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเป็นไปในทิศทางใดนั้น ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งได้เป็นหัวหน้าทีมวิจัยในหัวข้อ “โครงการศึกษาความอยู่รอดของข้าวไทยภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ระบุว่า อนาคตข้าวไทยจะได้รับความท้าทายจากหลายประเทศ จะมีผู้เล่นที่เตรียมเข้าลงทุนมากขึ้น จะเกิดการแข่งขันที่สูง โดยเฉพาะเมื่อเปิด AEC อาทิ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เตรียมเช่าพื้นที่ปลูกข้าวในกัมพูชา

ขณะเดียวกันประเทศพม่าก็มีนโยบายสนับสนุนให้เกิดการลงทุนด้านเกษตรกรรมในประเทศ โดยยกเว้นภาษีให้สูงถึง 8 ปี และให้นักลงทุนเช่าพื้นที่ทำการเกษตรได้สูงถึง 12,000 ไร่ ดังนั้นสินค้าเกษตรตัวอื่นๆ ก็ไม่อาจวางใจได้

‘3ประเทศ’ผนึกกำลังล้มแชมป์ส่งออกข้าวไทย

ผศ.ดร.อัทธ์บอกอีกว่า ประเทศเวียดนามคู่แข่งรายสำคัญที่ขณะนี้มีราคาข้าวที่ถูกกว่าไทยในทุกตัว และได้เปรียบด้านต้นทุนที่ต่ำกว่าไทย ภาครัฐให้การสนับสนุนในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวได้วางกลยุทธ์ตั้งบริษัทข้าวครบวงจร หรือ CAVIFOOD โดยเริ่มตั้งแต่ปลูกข้าว จนถึงส่งออกข้าว และหันมาจับมือกับประเทศพม่าในการร่วมมือตั้งคลังข้าวร่วมกัน รวมถึงการจับมือกับประเทศกัมพูชาด้วย

ในการร่วมมือระหว่าง 3 ประเทศที่มีการปลูกข้าวจำนวนมาก จะส่งผลให้เกิดความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น อาทิ เมื่อประเทศเวียดนามมีข้าวไม่พอในการส่งออกก็จะนำข้าวของกัมพูชามาขายในนามบริษัทของเวียดนาม เป็นการทำธุรกิจแบบ WIN-WIN

ขณะที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนหลายประเทศหันมาปลูกข้าวเพื่อรับประทานในประเทศมากขึ้น หรือบางประเทศมีข้อกำหนดในการนำเข้าข้าว อาทิ ประเทศอินโดนีเซียส่งเสริมให้ one day one rice, กำหนดให้นำเข้าข้าวก่อนถึงฤดูเก็บเกี่ยวในประเทศ 1 เดือน ฯลฯ เมื่อดูจากนโยบายก็จะคล้ายเป็นการลดการนำเข้าข้าวทางอ้อม

อย่างไรก็ดี แม้ข้าวหอมมะลิของไทยจะยังถือว่าเป็นจุดแข็ง และยังครองตลาดอยู่ในขณะนี้ แต่ก็ไม่อาจนิ่งนอนใจได้ เนื่องจากรัฐบาลเวียดนามได้มีแนวทางในการส่งเสริม พัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างจริงจัง ปัจจุบันพบว่าข้าวคุณภาพของเวียดนามมีขนาดเม็ดข้าวที่ใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิของไทยแล้ว เพียงแค่ความหอมยังสู้ข้าวหอมมะลิไทยไม่ได้เท่านั้น

เมื่อมองด้านราคา พบว่าราคาที่ต่างกันมากก็อาจทำให้ข้าวคุณภาพของเวียดนามแย้งตลาดบางส่วนของไทยไปได้แล้ว อาทิ ภัตตาคารบางแห่งของฮ่องกงก็หันไปใช้ข้าวคุณภาพของเวียดนามแทนข้าวหอมมะลิของไทย ส่วนบางพื้นที่ในประเทศกัมพูชาก็สามารถปลูกข้าวหอมมะลิได้คล้ายคลึงกับประเทศไทยมาก เพียงแต่มีพื้นที่ที่เหมาะสมไม่มากเท่าประเทศไทย

“ปัจจัยด้านราคามีบทบาทสำคัญในการเลือกซื้อข้าวของตลาดอาเซียน รองลงมาคือด้านคุณภาพ อย่างข้าวขาวของไทยเสียแชมป์การส่งออกในอาเซียนให้เวียดนามมาแล้ว 7-8 ปี หรือตั้งแต่ปี 2547 ทั้งนี้หากข้าวหอมมะลิราคาแตกต่างกับข้าวคุณภาพของเวียดนามมาก หรือคุณภาพเริ่มสูสีกันก็จะเป็นแรงจูงใจให้เสียตลาดมากยิ่งขึ้น ซึ่งข้าวหอมมะลิไทยอยู่ที่ประมาณ 1,100 เหรียญสหรัฐต่อตัน ข้าวคุณภาพเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 700 เหรียญสหรัฐต่อตัน”

‘3พืชเศรษฐกิจไทย’น่าห่วงหลังเปิดAEC

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์ถึงภาพรวมสถานการณ์ข้าวไทยภายใต้โครงการจำนำข้าวว่า หากรัฐบาลยังเข้าไปแทรกแซงราคา เข้าไปอุ้มสินค้าเกษตร ก็จะไม่เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาคุณภาพข้าวให้สูงขึ้น หรือพยายามลดต้นทุนการผลิต เพื่อการแข่งขันในตลาดอย่างแท้จริง

เนื่องจากเกษตรกรคิดว่าผลิตแล้วก็ขายข้าวให้แก่รัฐบาลเท่านั้น ซึ่งแท้จริงแล้วการจะแข่งขันในตลาดจะต้องเน้นที่การเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต และสู้กันที่ต้นทุน

ดังนั้น การเข้าแทรกแซงราคาของภาครัฐบาลในพืชเกษตรหลายตัวเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเมื่อเปิดเออีซี จะมีพืชเศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก 3 ตัวหลัก ประกอบด้วย 1. ข้าว 2. ปาล์มน้ำมัน 3. กาแฟ เนื่องจากต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าคู่แข่ง แต่แนวโน้มการพัฒนาประสิทธิภาพกลับไม่สูงมากนัก อีกทั้งเกษตรกรยังไม่ค่อยมีความเข้าใจต่อการเปิดเออีซีอีกด้วย

“การที่รัฐบาลเข้าไปอุ้มราคาสินค้าเกษตรบางชนิด หรือบิดเบือนราคาจะส่งผลกระทบให้ราคาพืชผลทางเกษตรชนิดอื่นในประเทศแพงขึ้นด้วย อาทิ ผัก ผลไม้ เนื่องจากเกษตรกรหันไปปลูกพืชเหล่านั้น อาทิ ข้าว ยางพารา เป็นต้น”

ต่างชาติรุกเข้าลงทุน‘ปลูกข้าว’เอง

ด้าน ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดจากการเปิดเออีซีที่จะถึงต่อการเทรดดิ้งว่าจะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าข้าวไทยเป็นหลัก อย่างประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย จัดสินค้าประเภทข้าวเป็นสินค้าอ่อนไหว ต้องมีมาตรการป้องกันเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในประเทศ จึงไม่ได้ให้ภาษี 0% แต่อาจลดภาษีลงบ้าง ไม่เหมือนกับประเทศไทยที่ให้ภาษีการนำเข้าข้าวเป็น 0%

ดังนั้น การที่กลุ่มประเทศเหล่านั้นไม่ได้ให้ภาษีการนำเข้าข้าวเท่ากับ 0 จึงไม่ค่อยมีประโยชน์กับภาคการส่งออกของไทย กลับมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น หากไทยยังให้ภาษีเป็น 0 และไม่มีมาตรการในการรองรับ จะส่งผลให้ข้าวต่างประเทศไหลเข้ามาผสม หรือขายในประเทศไทยจำนวนมาก อาทิ เขมร พม่า ซึ่งข้าวของประเทศเพื่อนบ้านราคาถูกกว่าไทยมาก

ทั้งนี้ เชื่อว่าเมื่อใกล้เปิดเออีซี รัฐบาลจะหาแนวทางในการรองรับ ตั้งกฎกติกา เพื่อปกป้องเกษตรกรไทย อีกทั้งจะเห็นการเคลื่อนย้ายทุนของผู้ประกอบการชาวไทยในการเข้าไปลงทุนปลูกข้าวในประเทศกลุ่มอาเซียน หรือประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ พม่า, เขมร, เวียดนาม เพราะราคาต้นทุนในการปลูกที่ต่ำกว่า ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่นับวันต้นทุนในการปลูกจะสูงขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบันมีหลายประเทศเข้าลงทุนด้านอุตสาหกรรมข้าวในอาเซียนแล้ว อาทิ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย เข้าไปลงทุนที่พม่า กัมพูชา หรือแม้กระทั่งจีน ก็ลงทุนเพื่อป้อนกลับไปบริโภคในประเทศ และหากมีการเปิดเสรีมากขึ้นภายใต้กรอบเออีซี ก็คาดว่าจะยิ่งทำให้ผู้ประกอบการต่างชาติสนใจเข้าลงทุนในอุตสาหกรรมนี้

ข้าวหอมมะลิไทยเตรียมตกอันดับ

อย่างไรก็ดีการตื่นตัวในภาคการเกษตรของประเทศในกลุ่มอาเซียนนับวันจะเห็นได้ชัดขึ้น จากการออกมาประกาศจุดยืน อย่างกัมพูชาตั้งเป้าหมายจะส่งออกให้ได้ 1 ล้านตันในปี 2015 รวมถึงพม่าที่เพิ่งเปิดประเทศก็มีความพร้อมด้านทรัพยากร มีศักยภาพในการเติบโต เพียงรอแหล่งทุนที่จะเข้ามา ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างมากในอุตสาหกรรมข้าว ออกมาแสดงจุดยืนว่าจะหวนคืนสู่การส่งออกที่เคยเป็นอันดับ 1 ให้ได้

จากความได้เปรียบของทั้งสองประเทศที่มีต้นทุนในการผลิตข้าวที่ต่ำกว่าไทย สามารถส่งออกได้ในราคาถูก จะกระทบกับตลาดส่งออกข้าวของประเทศไทยอย่างแน่นอน เนื่องจากราคาข้าวผ่านโครงการจำนำถือว่าสูงกว่าตลาดมาก

แม้จะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร แต่ก็ไม่ได้เป็นการเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ภาคการเกษตร ควรจะนำงบประมาณมาส่งเสริมประสิทธิภาพในการผลิตมากกว่า หรือนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อย่าง เขตชลประทาน ลอจิสติกส์ กลไกทางการตลาด ฯลฯ

นอกจากนี้แม้ข้าวหอมมะลิไทยจะเป็นที่นิยม แต่ราคาที่พุ่งสูง อยู่ที่ประมาณ 1,100 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่เวียดนามอยู่ที่ประมาณ 600 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่วนกัมพูชาอยู่ที่ประมาณ 800 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่งผลให้ข้าวหอมมะลิไทยมียอดการส่งออกที่ต่ำลงโดยประมาณ 11%

“ตลาดส่งออกข้าวไทยไปฮ่องกงลดต่ำลงจาก 90% เหลือประมาณ 50% ขณะที่เวียดนามสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นจาก 3% เป็นประมาณ 30% และมีบางส่วนไปซื้อข้าวกัมพูชา ซึ่งข้าวหอมมะลิไทย กับกัมพูชามีคุณภาพที่ใกล้เคียงกันมาก เพราะเป็นสายพันธุ์เดียวกัน”

คาดเดือนมิ.ย.-ส.ค.ยอดส่งออกข้าววูบ

สำหรับสถานการณ์ตลาดส่งออกข้าวไทยในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาถือว่าได้รับอานิสงส์จากการเร่งนำเข้าข้าวของผู้ประกอบการไนจีเรีย ส่งผลให้มียอดส่งออกประมาณ 6 แสนตันต่อเดือน หรือประมาณ 3 ล้านตัน โดยเฉพาะเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เนื่องจากรัฐบาลไนจีเรียได้ประกาศจะขึ้นภาษีการนำเข้าข้าวอีกประมาณ 20% ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 จึงรีบนำเข้า ขณะที่ยอดส่งออกข้าวไปยังประเทศอื่นน้อยลง ดังนั้น คาดว่าเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ยอดส่งออกจะลดต่ำลง เพราะไม่มีแรงหนุนแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น