ผู้ประกอบการ เผย ไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าว ออกสตาร์ทต้นปี 55 ยอดวูบ 41.6% พร้อมระบุ ตัวเลขเดือน ม.ค.ลดลงทุกรายการ 71% โดยไทยไม่สามารถปรับลดราคาเพื่อแข่งขันได้ เนื่องจากราคาข้าวไทยถูกกำหนดราคาด้วยโครงการรับจำนำ
นางกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยภาพรวมสถานการณ์ส่งออกข้าวไทยในปัจจุบัน โดยยอมรับว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 จนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา ไทยมียอดการส่งออกข้าวประมาณ 4.65 แสนตัน ลดลงถึงร้อยละ 41.6 หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบปริมาณการส่งออกข้าวในเดือนมกราคม 2555 กับเดือนมกราคมปี 2554 ไทยส่งออกข้าวลดลงในทุกรายการ อาทิ ต้นข้าวนึ่ง ส่งออกลดลงถึงร้อยละ 71.23 และต้นข้าวขาว ส่งออกลดลงถึงร้อยละ 54.04 รวมทั้งต้นข้าวหอมมะลิ ส่งออกลดลงร้อยละ 20.67 เนื่องจากผู้ซื้อส่วนใหญ่หันไปซื้อข้าวขาว และข้าวนึ่งจากปากีสถาน อินเดีย และเวียดนาม ที่เสนอราคาขายต่ำกว่าไทยมาก โดยไทยไม่สามารถปรับลดราคาเพื่อแข่งขันได้ เนื่องจากราคาข้าวไทยถูกกำหนดราคาด้วยโครงการรับจำนำ
“ตอนนี้ เราพบว่า เวียดนามได้เสนอขายข้าวขาว 5% ต่ำที่สุดในโลกแทนที่ประเทศอินเดีย ในราคา 415 ดอลลาร์ต่อตัน และยังมีแนวโน้มลดต่ำลงอีก เนื่องจากผลผลิตกำลังจะทยอยออกมาอีก ขณะที่อินเดีย เสนอราคา 445 ดอลลาร์ต่อตัน ส่วนปากีสถาน เสนอราคา 445 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ ไทยราคากลับเพิ่มสูงถึง 525 ดอลลาร์ต่อตัน”
อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่า การส่งออกข้าว จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2555 จะมียอดส่งออก ทะลุ 5 แสนตันแน่นอน เนื่องจากตลาดประจำในแถบเอเชีย ยังคงมีการสั่งซื้อข้าวหอมมะลิฤดูใหม่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าปริมาณจะไม่มากเท่ากับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประกอบกับช่วงนี้ ประเทศอินเดียยังคงมีปัญหาด้านการส่งมอบทำให้ไม่สามารถส่งมอบข้าวได้ทัน ทำให้ผู้ซื้อข้าวนึ่งบางส่วนเริ่มหันกลับมานำเข้าข้าวนึ่งจากไทย นอกจากนี้ จากการที่ประเทศไนจีเรีย ได้ประกาศเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าข้าวจึงทำให้ผู้นำเข้าข้าวของไนจีเรีย เร่งนำเข้าข้าวมากขึ้น
ทั้งนี้ มองว่า การส่งออกข้าวของไทยในช่วงครึ่งปีแรกยังคงชะลอตัว เพราะการส่งออกข้าวไทยได้รับผลกระทบจากการดำเนินโยบายส่งออกข้าวของประเทศคู่แข่ง ทั้งอินเดีย ที่ปรับเพิ่มเป้าการส่งออกจาก 2 ล้านตัน เป็น 4 ล้านตัน และเวียดนาม ที่เริ่มเข้ามาทำตลาดข้าวหอมมะลิ ซึ่งจะเป็นการแย่งส่วนแบ่งตลาดเอเชียไปจากไทย โดยได้ปรับเพิ่มการส่งออกข้าวนึ่งเป็นปีละ 4 แสนตัน และข้าวหอมมะลิ ปีละ 8 แสนตัน รวมทั้งกัมพูชา พม่า บราซิล อุรุกวัย และปากีสถาน ที่เริ่มประกาศนโยบาย ขยายตลาด และเพิ่มปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในตลาดรุนแรงมากขึ้น ผู้ส่งออกไทยต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะตลาดข้าวเปลี่ยนแปลงเร็วมาก โดยในปีนี้ ยังคงเป้าหมายการส่งออกข้าว ไม่ต่ำกว่า 6,500,000 ตัน แต่หากมีสัญญาณที่ดีขึ้น จะมีการทบทวนตัวเลขอีกครั้ง ในช่วงปลายไตรมาสแรกนี้