xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

"โต้ง" ปากว่าตาขยิบ ซุกหนี้ 2 ล้านล้าน เย้ยวิกฤตยูโรโซน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติรัตน์ ณ ระนอง
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- ท่ามกลางวิกฤตกลุ่มประเทศยูโรโซนยังคงติดหล่มไร้ทางออกนอกจากอุ้มกรีซกับประเทศสมาชิก อีกฟากหนึ่งของโลกอย่างไทยแลนด์ กำลังเดินหน้านโยบายประชานิยมพร้อมอัดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในงบประมาณและนอกงบประมาณโดยอ้างตัวเลขทางบัญชีว่าประเทศมีหนี้สินต่อจีดีพีแค่ 42% ห่างไกลปัญหาหนี้สาธารณะล้นพ้นตัวอย่างยูโรโซน

ถึงชั่วโมงนี้ต้องประณามรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่าหลอกลวงว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับวิกฤตยูโรโซน การประชุม ครม.แล้วออกมาแถลงเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนที่อ้างว่านายกฯ สั่งให้ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธานในการประชุม ครม.เศรษฐกิจ 9 กระทรวงทุกสัปดาห์ เป็นเพียงการสร้างภาพ!!!

น่าสนใจมากเมื่อวันครบรอบ 15 ปี "ต้มยำกุ้ง" ที่ผ่านมา (2 ก.ค.) "กิตติรัตน์" ออกมายอมรับอย่างภาคภูมิว่ากำลังผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 1.6-2 ล้านล้านบาทให้สภาพิจารณาใน 6-7 เดือนข้างหน้า โดยอ้างว่าไม่ใช้เงินผ่านงบประมาณปกติ เพราะต้องการให้งบประมาณเข้าสู่สมดุล เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาขาดดุลเรื้อรังจนสร้างความไม่เชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ

เงินกู้ก้อนนี้จะเน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมทุกระบบทั่วประเทศ ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า ท่าเรือ สนามบิน ใช้เวลาในการดำเนินการภายใน 7 ปี ทำให้ประเทศอยู่ได้ไปอีก 15 ปี โดยเห็นว่าโครงการดังกล่าวควรจะดำเนินการมาตั้งนานแล้ว แต่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงจะทำบัญชีแยกต่างหากออกมาจากระบบงบประมาณ มีการแยกการกู้เงินและใช้เงินในโครงการต่างๆ ไว้อย่างชัดเจนซึ่งจะทำให้งบประมาณของประเทศขาดดุลลดลงและเดินหน้าเข้าไปสู่สมดุลในที่สุด แต่หนี้สินต่างๆ จะถูกแยกออกมาอยู่นอกงบประมาณ

ขุนคลังมั่นใจว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะจะไม่สูง เพราะการลงทุนทำให้เศรษฐกิจการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้สัดส่วนหนี้ลดลง "กิตติรัตน์" เห็นว่าฐานะของประเทศไทยในเวลานี้ มีเงินออมสูงมาก มีหนี้สาธารณะเพียง 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีมีอยู่ในระดับ 4.6 ล้านล้านบาท หักภาระชดเชยหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) ออก 1.14 ล้านล้านบาท ก็จะเหลือเป็นหนี้รัฐบาลโดยตรงเพียง 3.5 ล้านล้านบาท

ขณะเดียวกันสภาพคล่องในระบบยังเหลืออยู่มาก ที่ยังเป็นภาระของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะต้องดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบและทำให้มีต้นทุนในการดำเนินงาน การออกพ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะใช้การกู้ยืมในประเทศเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยดูสภาพคล่องแทน ธปท.ได้ด้วย ขณะที่กระทรวงการคลังยังคงมีแผนบริหารรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้นอีก 1.2-1.5 แสนล้านบาท ที่เป็นการบริหารงบประมาณตามปกติ ซึ่งจะสอดคล้องกับกรอบการลงทุนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) วงเงิน 2.27 ล้านล้านบาท ในระยะเวลา 7 ปี ที่จะรองรับความสามารถทางเศรษฐกิจได้ถึง 15 ปี

"กิตติรัตน์" เชื่อมั่นความคิดของตัวเองโดยเน้นการใช้เงินมากกว่าออมเงินท่ามกลางวิกฤตการจัดเก็บรายได้ จึงถือว่าอันตรายและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะถ้าหากดูฐานะการคลังล่าสุดครึ่งปีแรกพบว่าขาดดุลการคลังมาหศาล โดยฐานะการคลังของภาครัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามระบบ สศค.ในไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 2555 (ม.ค.-มี.ค.) ขาดดุล 250,000 ล้านบาท ส่งผลให้ครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2555 ดุลการคลังภาครัฐบาลขาดดุล 401,251 ล้านบาท!!!

หากลงรายละเอียดไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 2555 ดุลการคลังภาครัฐบาลขาดดุล 251,800 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 155,953 ล้านบาท โดยรัฐบาลมีรายได้ทั้งสิ้น 706,573 ล้านบาท สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 46,989 ล้านบาท เนื่องจากการจัดเก็บภาษีที่สำคัญสูงขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังเหตุการณ์อุทกภัย และรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้สูงขึ้น ขณะเดียวกัน อปท.ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนจากรัฐบาลสูงขึ้น รวมทั้งบัญชีเงินนอกงบประมาณได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลสูงขึ้นที่สำคัญ คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

เรื่องนี้ "กรณ์ จาติกวณิช" อดีต รมว.คลัง แสดงความเห็นอย่างเผ็ดร้อนตีแสกหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่า บวก ลบ คูณ หาร ตัวเลขเศรษฐกิจไทย ด้วยตัวเลขอย่างง่าย GDP ในช่วงนี้ของประเทศไทย ประมาณปีละ 10 ล้านล้านบาทหนี้สิน ของประเทศไทยปีล่าสุด มีอยู่ประมาณ 4 ล้านล้านบาทหนี้ ต่อ GDP เท่ากับ 4 หาร 10 ล้านล้านบาท เท่ากับ 40% หากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะโต 5% แปลว่า 10 ล้านล้านบาท จะโตเพิ่มอีกเป็นมี GDP ได้ 10.5 ล้านล้านบาท หากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กระสันอยากกู้ 1.6 ล้านล้านบาทแปลว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก่อหนี้สินให้ประเทศเพิ่มอีก 16% นับจาก GDP ล่าสุด

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทำให้เศรษฐกิจโตได้แค่ 5% แต่กู้หนี้เพิ่ม 16% ทางเราเข้าใจว่าการลงทุนพื้นฐานสาธารณูปโภคเป็นเรื่องดีที่ควรต้องทำแต่เราแค่ "ไม่ไว้วางใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์"ให้บริหารเงินกู้ ด้วยเงินมหาศาลเพราะประสบการณ์การใช้เงินของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ผ่านมา ด้อยประสิทธิภาพ

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หากการกู้ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เกิดขึ้นจริง ก็ขอให้พิจารณาตัวอย่างนี้ซึ่งคือการบริหารเงินกู้ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง 4 แสนล้านบาท คิดเป็นแค่ 4% ของGDPและในผลการทำงานที่สอดคล้องกัน ปี 2553 เราทำให้เศรษฐกิจโตได้เกือบ 10% จากการบริหารประเทศในช่วงนั้น

"กรณ์" ยังระบุครบรอบทำงาน 1 ปี ของรัฐบาลทำแต่ประชานิยมสร้างหนี้ ไม่มีแผนที่ชัดเจนว่าประเทศจะเดินไปทางไหน นับตั้งแต่น้ำท่วม แพงทั้งแผ่นดิน ค่าแรง 300 ปริญญาตรี 15,000 (สำหรับข้าราชการ) รถคันแรก จำนำข้าวที่นักวิชาการวิเคราะห์ว่างบ 100บาท ถึงมือชาวนาแค่ 17บาท และส่งออกข้าวที่ทรุดฮวบประมาณ 50% การกู้เงินมหาศาลโดยรัฐบาลที่เคยอ้างว่าเป็นห่วงเรื่องหนี้ การพักหนี้ที่บอกว่าพักให้ทุกคนสุดท้ายก็ให้แค่ลูกหนี้ธกส. และเป็นการเอาเงินภาษีไปละเลงแต่ไม่ได้ตอบโจทย์ว่าจะแก้ปัญหาหนี้สินชาวบ้านอย่างไร นอกนั้นก็มีการผลักดันการอภัยโทษ นิรโทษกรรม และยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ อันนี้ใครได้ประโยชน์ รู้ๆกันอยู่แล้ว

ขณะที่ "โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์" ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ มองการกู้เงินของภาครัฐเพื่อการลงทุน ควรจะบรรจุอยู่ในงบประมาณประจำปี เพื่อให้สามารถตรวจสอบการใช้เงิน และให้สาธารณชนสามารถรับทราบความคืบหน้าของการใช้จ่าย เนื่องจากการใช้เงินมีผลต่อสถานะการเงินการคลังของประเทศ เช่น สัดส่วนหนี้สาธารณะ หากมีการกู้เงินแล้วแยกบัญชีไม่บรรจุเข้าในงบประมาณของประเทศ ถือเป็นความเสี่ยงของประเทศเหมือนกัน

"โฆสิต" ซึ่งเคยเป็น รมว.คลัง ย้ำว่าโครงการลงทุนต้องเป็นโครงการที่ดี สามารถเพิ่มสถานะของประเทศ และต้องมีการเตรียมการที่ดี มีความพร้อมในการลงทุน เช่นหน่วยงานเจ้าของโครงการต้องจัดทำความเป็นไปได้ของโครงการก่อน โดยการลงทุนของรัฐที่ผ่านมาบางส่วนเกินความจำเป็นและไม่สมดุล เช่นการลงทุนด้านถนนในบางพื้นที่มากเกินความจำเป็น แต่การลงทุนเพื่อพัฒนาการขนส่งด้านรถไฟควรต้องลงทุนนานแล้ว

สรุปแบบฟันธง นักวิชาการหรือภาคเอกชน ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการกู้หนี้นอกงบฯ งานนี้ชัวร์แล้วว่าขุนคลังของน้องปู ซุกหนี้โดยอ้างกู้เงินพัฒนาประเทศบังหน้า ประชาชนกำลังจับตามอง เป็นห่วงว่ารัฐบาลนอมินีแม้วจะพาประเทศลงเหว ตามรอยวิกฤตหนี้ในประเทศยุโรป หรือเป็นความตั้งใจของนายใหญ่??@@!!...
กรณ์ จาติกวณิช
กำลังโหลดความคิดเห็น