xs
xsm
sm
md
lg

งบ56เทเข้าเพื่อไทย พรรคร่วมโดนตัดอื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- "ยิ่งลักษณ์" ดันร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 56 วงเงิน 2.4 ล้านล้าน อ้างไทยผ่านวิกฤตอุทกภัย เศรษฐกิจฟื้นตัว ต่างชาติเชื่อมั่น คาดเก็บรายได้ 2.1 ล้านล้าน วาง 8 ยุทธศาสตร์ เดินหน้าบริหารประเทศ ขณะที่ฝ่ายค้านอัดรัฐบาลจัด "งบกินรวบ" ตัดงบกระทรวงที่พรรคร่วมรัฐบาลดูแล ไปเพิ่มให้กระทรวงที่พรรคเพื่อไทยคุม ปั้นตัวเลขสร้างภาพลวงตา ขาดแผนรองรับเศรษฐกิจผันผวน หวั่นรีดภาษีซ้ำเติมประชาชน เพื่อให้ดูว่ามีรายได้เพิ่ม

วานนี้ ( 21 พ.ค.) มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวรายงานในหลักการ และเหตุผล ต่อที่ประชุม ว่า รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 เป็นจำนวนไม่เกิน 2.4 ล้านล้านบาท เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น สำหรับใช้เป็นหลักในการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า นับแต่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ประเทศไทยเผชิญกับมหาอุทกภัย ครั้งรุนแรงที่สุด แต่ได้ทำทุกวิถีทางในการแก้ไขปัญหา ทั้งในระยะเร่งด่วน และระยะยาว รวมทั้งกำหนดแนวทางและมาตรการเพื่อจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และสถานการณ์วิกฤตต่างๆ และด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการเร่งดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นของประชาชน และนักลงทุน รวมทั้งระบบเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวขึ้น อย่างต่อเนื่อง

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกระดับรายได้ของประชาชน ให้เกิดความเป็นธรรม และทั่วถึง ผ่านมาตรการ และโครงการต่างๆ อาทิ การเพิ่มรายได้ของแรงงานและผู้จบปริญญาตรี โครงการรับจำนำสินค้าเกษตร ควบคู่กับการพัฒนาสังคม และการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม เพื่อให้ประเทศและสังคมไทย สามารถพัฒนาไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปของโลก

แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2556 จึงเป็นงบประมาณแบบขาดดุล โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ 2 ประการ คือ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล ที่มีผลต่อการแก้ไขปัญหา และฟื้นฟูกลไกทางเศรษฐกิจ และสังคม ให้สามารถดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และเร่งรัดให้เศรษฐกิจขยายตัว กระจายผลประโยชน์สู่ประชาชนโดยตรง และเพื่อวางรากฐานต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาวให้ประเทศและสังคมไทยมีความเข้มแข็งทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคม และรองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ภายนอกประเทศได้อย่างเหมาะสม และเท่าทัน

**คุยศก.ขยายตัว4-5 % เงินเฟ้อ3.8 %

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 56 คาดว่า จะขยายตัวประมาณ 4-5 % อัตราเงินเฟ้อประมาณ 3.8 %โดยปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญยังคงมาจากอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเรื่อง ส่วนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการด้านการฟื้นฟูประเทศ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง และโลจิสติกส์ การยกระดับคุณภาพชีวิต และการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการเพิ่มรายได้ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการประมาณการจัดเก็บรายได้สุทธิ 2,197,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3 % จากปีก่อน และเมื่อหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คงเหลือเป็นรายได้สุทธิ ที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล 2.1 ล้านล้านบาท หรือ16.7 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

**วาง 8 ยุทธศาสตร์บริหารประเทศ

ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณไว้ 8 ยุทธศาสตร์ เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นใช้เป็นเป็นกรอบและแนวทาง คือ
1. การสร้างรากฐานการพัฒนาที่สมดุลสู่สังคม จำนวน 4.9 แสนล้านบาท
2 . ความมั่นคงแห่งรัฐ จำนวน 2.04 แสนล้านบาท
3. การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ และยั่งยืน จำนวน 2.2 แสนล้านบาท
4. การศึกษา คุณธรรม จริยธรรม คุณภาพชีวิต และความเท่าเทียมกันในสังคม จำนวน 6.2 แสนล้านบาท
5 . การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 5.7 หมื่นล้านบาท
6 . การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม จำนวน 1.9 หมื่นล้านบาท
7. การต่างประเทศ และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จำนวน 7.9 พันล้านบาท
8. การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี จำนวน 3.3 แสนล้านบาท

**"มาร์ค" อัดรัฐบาลสร้างภาพลวงตา

จากนั้น สมาชิกได้ทยอยอภิปรายแสดงความเห็น เริ่มจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การจัดงบประมาณของรัฐบาล ยังไม่ตอบโจทย์ว่าจะสามารถนำไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดีขึ้น หรือการสร้างความเสมอภาคทางโครงสร้างความยากจน ความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยในส่วนของการประมาณการทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะขยายตัว 5.5- 6.5 % ถือว่าสูงพอสมควร แต่เป็นตัวเลขหลายตัว เป็นเป็นภาพลวงตา เพราะการขยายตัวในระดับดังกล่าว อยู่บนเหตุผลที่จะเกิดแรงขับเคลือนของการบริโภค การลงทุนของเอกชน เพื่อฟื้นฟูความเสียหายหลังอุทกภัย เพื่อให้กลับมามีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนช่วงก่อนน้ำท่วม แต่ไม่ได้สะท้อนสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

** 1 ปีรัฐบาลก่อหนี้ 1 ล้านล้าน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การจัดงบประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุล 3 แสนล้าน ตัวเลขเสมือนจะทำให้การบริหารจัดการหนี้สาธารณะ มีเสถียรภาพ แต่ยังไม่นับรวมกับการก่อหนี้ผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท โดยภาพรวมแล้วรัฐบาลทำงานมาไม่ถึงหนึ่งปี คำนวณแล้ว ก่อหนี้สาธารณะจากหนี้ และจากนโยบายที่ผิดพลาด รวมแล้วเกือบ 1 ล้านล้านบาท และ รัฐบาลยังไม่ได้ตอบโจทย์การจัดงบประมาณเพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งในรูปแบบการบริหาร โดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปยังไม่น่าไว้วางใจ จึงจำเป็นต้องดูแลเงินทุกบาท การใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งและเป็นธรรม

**ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มซ้ำเติมประชาชน

ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวอีกว่า การประเมินว่ารัฐจะจัดเก็บรายได้ 2.1 ล้านล้านบาท จะต้องชี้แจงว่าจะมาจาการขึ้นภาษีอีกหรือไม่ ซึ่งเข้าใจว่าจะเป็นเช่นนั้น ดังนั้นงบประมาณกำลังจะกลายเป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชน ซึ่งมีคนในแวดวงระบุว่า มีแนวคิดที่จะเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชน ซ้ำเติมค่าครองชีพที่สูงขึ้น และรัฐบาลต้องส่งเสริมเศรษฐกิจในภาพรวมไม่ใช่แค่นโยบายประชานิยม ที่ไม่เพิ่มขีดความสามารถในระยะยาว เพราะการเปลี่ยนแปลงในอีก 3 ปี ซึ่งจะต้องเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่งบประมาณที่เห็นยังเป็นเพียงแค่โครงการจัดอบรม แต่ไม่พอเพียงไม่มีงบประมาณในส่วนของการรองรับการปรับตัวภาคธุรกิจกับการแข่งขันที่เปลี่ยนไป

** เพิ่มงบพรรคพท. ตัดงบพรรคร่วม

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงงบประมาณด้านการศึกษา ที่รัฐบาลมุ่งเน้นไปที่โครงการแทบเล็ต 2 พันกว่าล้านบาท แต่ในส่วนของงบวิจัย ของ สกว. และเครือข่ายมหาวิทยาลัย ที่เคยได้รับงบหลายพันล้านบาท กลับถูกปรับลดลงจำนวนมาก อีกทั้งในส่วนของอาชีวะศึกษา นอกจากไม่ได้รับการสนใจแล้วยังถูกซ้ำเติมด้วยนโยบายเงินเดือนคนจบปริญญาตรี 1.5หมื่นบาท

นอกจากนี้ ไม่เห็นการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศให้เป็นธรรม โดยเฉพาะการเกษตร และอุตสาหกรรมบริการ อย่างการท่องเที่ยว ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับการปรับลดงบประมาณ ทั้งกระทรวงการท่องเที่ยว และกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งไม่ทราบว่า เพราะเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่แล้วหรือจึงถูกตัดงบ ทั้งที่เป็นส่วนที่จำเป็น อยากให้ดูแลเพราะรายได้ที่เข้ามาจะกระจายไปในชุมชนอย่างทั่วถึงเป็นธรรม

** "โต้ง" ยันไม่ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล รัฐบาลไม่มีแผนนำภาษีตัวนี้เข้าไปรวมในราคาน้ำมัน และยืนยันว่า รายรับของปีงบประมาณ 2556 จำนวน 2.1 ล้านล้านบาท สามารถทำได้ตามเป้าแน่นอน หมายความว่า การปรับภาษีเพื่อเพิ่มรายรับ จึงไม่มีความจำเป็น

อย่างไรก็ตาม หากจะปรับภาษี จะเป็นไปในแนวทางเพื่อส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ตามสมควร ไม่ใช่ดำเนินการเพื่อหวังรายได้เพิ่มขึ้น

"ภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือน ภาษีสิ่งปลูกสร้าง ไม่ได้เป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับสิ่งดีๆ ทั้งสิ้นโดยพร้อมสานต่อนโยบายรัฐบาลในอดีตในบางเรื่อง แต่รัฐบาลปัจจุบัน ก็มีเหตุผลที่จะคิดแตกต่างกัน เพราะเห็นว่าไม่สอดคล้องกับแนวคิดในการนำพาประเทศนี้ไปสู่สภาวะการเจริญเติบโตที่ดี" นายกิตติรัตน์ กล่าว

** ห่วงรัฐบาลใช้จ่ายเกินตัว

จากนั้นสมาชิกทั้งส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและส.ส.ฝ่ายค้านได้สลับกันอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 56 ในวาระ 1 อาทิ นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า รัฐบาลชุดนี้มีงบประมาณรายจ่ายสูงสุดตั้งแต่มีประเทศไทยมา และเป็นรัฐบาลที่กู้เงินเร็วที่สุด มาถึงก็กู้ และเป็นรัฐบาลชุดที่กู้เงินมากที่สุดในประเทศไทยชุดหนึ่ง เพราะ 10 เดือนที่บริหารมากู้ไปแล้ว 1.1 ล้านล้านบาท ยังไม่นับเงินนอกงบประมาณอีกหลายแสนล้าน เป็นการตบแต่งบัญชี ผลักภาระให้ธปท.รับผิดชอบในการชดใช้ดอกเบี้ย ทั้งนี้ ในอนาคตเป็นห่วงกันว่า เงินสำรองของประเทศจะถูกล้วงออกมาใช้หรือไม่

** อัด"งบกินรวบ"ประเคนให้พท.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงการอภิปรายร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2556 ระหว่างวันที่ 21-23 พ.ค.ว่า การอภิปรายจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ภาคเศรษฐกิจ กับ ภาคสังคมการเมืองและความมั่นคง โดยเราจะให้น้ำหนักไปที่การอภิปรายด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ไม่ได้แปลว่า เราจะทิ้งด้านสังคมการเมือง และความมั่นคง แต่เราต้องการสะท้อนปัญหาการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล ในส่วนปี 2555 และปี 2556 ที่กำลังพิจารณาว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเรื่องค่าครองชีพ รวมถึงประเด็นซุกหนี้ เพราะภาวะหนี้สินสูงขึ้นมาที่จะซ่อนอยู่ในหลายกลไก โครงการประชานิยม ที่ล้มเหลวเกินความจำเป็น ความไม่ชอบมาพากลในการใช้งบประมาณ

"เราเตรียมคนอภิปรายไว้ 40 คน คิดว่า 3 วันน่าจะเสร็จได้ ตามที่ตกลงกันไว้ หากไม่มีการประท้วงยืดเยื้อโดยไม่จำเป็น"

เมื่อถามว่าฝ่ายค้านระบุงบประมาณรายจ่ายครั้งนี้ เป็นงบกินรวบ โดยเฉพาะกระทรวงที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ดูแล จะมีงบประมาณเพิ่มขึ้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า เป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะหลายกระทรวงที่พรรคเพื่อไทยดูแล จะมีงบประมาณเพิ่มขึ้นเยอะ เพิ่มเกินกว่า 100 % ก็มี แม้แต่สำนักนายกรัฐมนตรี ก็มี แต่กระทรวงที่ไม่ใช่แกนนำรัฐบาล งบประมาณจะติดลบ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏ
กำลังโหลดความคิดเห็น