xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละงบฯ ปี 56 “เพื่อไทย” กินรวบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานการเมือง

ระฆังเริ่มยกที่ 1 ของวาระการพิจารณา “ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556” วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาทเริ่มต้นขึ้นแล้ว

สำหรับวาระแรกนี้คงจะใช้เวลาไม่เยิ่นเย้อ ใช้เวลา 3 วัน 3 คืน ตั้งแต่ 21-23 พ.ค.นี้ ก่อนส่งต่อเข้าชั้นกรรมาธิการ และนำมากลับมาให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งในวาระ 2-3 เพื่อให้เสร็จสิ้นกระบวนการ และสามารถเบิกจ่ายได้ทันในเดือน ต.ค.ซึ่งเป็นเดือนเริ่มต้นของปีงบประมาณ

โดยกรอบวงเงิน 2.4 ล้านล้านบาทที่คณะรัฐมนตรีไฟเขียวส่งต่อมายังสภาฯ นั้น ถือว่าสูงขึ้นจากวงเงิน 2.25 ล้านล้านบาทของปี 55 เล็กน้อยราว 0.8 เปอร์เซ็นต์ แบ่งเป็นประมาณการจัดรายได้ จำนวน 2.1 ล้านล้านบาท และเงินกู้เพื่อจัดทำงบประมาณขาดดุล จำนวน 3 แสนล้านบาท

จำแนกแยกย่อยให้เห็นภาพกันอีกพบว่า งบประมาณปี 2556 ที่จะใช้ตั้งแต่เดือน ต.ค. 55 - ก.ย. 56 นั้น แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 1.9 ล้านล้านบาท รายจ่ายด้านการลงทุน 4.49 แสนล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 9.4 หมื่นล้านบาท และเป็นงบประมาณขาดดุล 3 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ การจัดทำงบประมาณปี 2556 ถือเป็นครั้งแรกของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ในการจัดทำตั้งแต่ต้นจนจบเคาะตัวเลขดังกล่าวออกมา หลังจากที่ “สวมตอ-ต่อยอด” งบประมาณปี 2555 มาจากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

จึงไม่แปลกที่จะได้เห็นงบประมาณที่ถีบตัวสูงในกระทรวงที่ “พรรคเพื่อไทย” ดูแลอยู่ ตามข้อมูลที่ฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ออกมาเรียกน้ำย่อยตั้งฉายาให้เป็น “การเมืองกินรวบ” พร้อมกางสถิติเทียบตัวเลขแบบกระทรวงต่อกระทรวง

จัดอันดับ “ท๊อปไฟว์” ของหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มในงวดนี้ กระทรวงที่มาวินเป็นที่หนึ่งได้แก่ กระทรวงแรงงาน ที่ปรับเพิ่มขึ้นด้วยตัวเลขที่น่าตกใจที่ 131.9 เปอร์เซ็นต์ ตามติดมาด้วย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพิ่มขึ้น 108.6 เปอร์เซ็นต์ สำนักนายกรัฐมนตรี ปรับเพิ่มไม่มากที่ 14.7 เปอร์เซ็นต์ ส่วน กระทรวงคมนาคม ก็เพิ่มที่ 4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ “งบฉุกเฉิน” ที่นายกฯ มีอำนาจสั่งจ่ายได้เลย ปรับเพิ่ม 11.67 เปอร์เซ็นต์

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น เมื่อกระทรวงที่พรรคร่มรัฐบาลดูแลอยู่กลับถูกปรับลดงบประมาณลงจากเดิม ทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาถูกปรับลด 10.5 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็น 1.8 พันล้านบาท และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถูกปรับลดไป 4.8 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นกว่า 3 พันล้านบาท โดยพรรคเพื่อไทยแกนนำรัฐบาลอ้างว่าได้มีการตั้งงบประมาณให้แล้วก่อนหน้านี้ในส่วนของ พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท และงบประมาณฟื้นฟูน้ำท่วม 1.2 แสนล้านบาทที่ผ่านไปก่อนหน้านี้

ไล่เลียงกันต่อที่หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ “แชมป์เก่า” กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 460,075 ล้านบาท คิดเป็นเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินงบประมาณทั้ง ต่อมาที่งบกลางจำนวน 319,207 ล้านบาท กระทรวงมหาดไทย จำนวน 309,205 แสนล้านบาท กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 214,845 ล้านบาท และอันดับ 5 กระทรวงกลาโหม ที่จำนวน 180,811 แสนล้านบาท ที่เบียดมากับกระทรวงการคลัง ได้ตั้งไว้จำนวน 179,249 แสนล้านบาท

โดยสคริปต์ที่ “ปูนิ่ม-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” งัดขึ้นมาอ่านแถลงต่อที่ประชุมได้ระบุถึง “หลักการและเหตุผล” ของการจัดทำงบประมาณครั้งนี้ไว้อย่าง “สวยหรู” ว่า ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานของหน่วยงานที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน 16 ข้อ และการดำเนินงานที่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ โดยส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการถ่ายโอนภารกิจบริการสาธารณะระดับท้องถิ่นให้แก่ประชาชนด้านคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และความเหลื่อมล้ำทางการคลังระหว่างท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และประสิทธิผลการใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

จัดได้เป็น “9 ยุทธศาสตร์ 51 แผนงาน” แจกจ่ายงบประมาณลดหลั่นกันไปตามลำดับความสำคัญ ที่เน้นที่สุดเห็นจะเป็น “ยุทธศาสตร์การศึกษา คุณธรรม จริยธรรม คุณภาพชีวิต และความเท่าเทียมในสังคม” ที่ได้รับไปกว่า 1 ใน 4 ของงบประมาณทั้งหมด ที่ 625,443 ล้านบาท

เท่าที่ติดตามบรรยากาศการประชุมพิจารณา “งบประมาณปี 56” ตลอดวันแรกจะเห็นได้ว่า “ศึกชำแหละงบ” รอบนี้ยังเป็นการขยับดูเชิงเต้นรอจังหวะกันอยู่ เหตุเพราะข้อจำกัดที่กำหนดไว้ในการอภิปรายวาระที่ 1 ทำได้เพียงการอภิปรายในภาพรวม ไม่สามารถลงลึกเจาะไปที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งได้อย่างถนัดถนี่

จะมีก็แต่เพียงความพยายามหยิบยกตัวอย่างของบางหน่วยงานขึ้นมากล่าวถึง โจมตีการทำงานของรัฐบาลในบางนโยบาย แขวะกันเรื่องของแพง-ค่าครองชีพสูงอยู่เป็นระยะๆ

เต็มที่ก็ได้แค่เฉี่ยวไปเฉี่ยวมา

ฝ่ายรัฐบาลเองก็ยังคงไม่เห็นความสำคัญของ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” เช่นเดิม

เมื่อ “ยิ่งลักษณ์” ที่ยกทัพหลวงทีมงานเศรษฐกิจที่มากันครบในช่วงเช้า แต่พอแถลงหลักการและเหตุผลกันคนละท่อนสองท่อน ก็ชิ่งออกจากรัฐสภาทันที และโยนหน้าที่ให้ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” รองนายกฯ ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็น “ตัวหลัก” อยู่โยงเฝ้าสภาฯคอยตอบโต้ฝ่ายค้านไปเสียอย่างนั้น

ทั้งที่น่าจะเป็น “บิ๊กโต้ง-กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกฯ และ รมว.คลัง ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจมากกว่า แต่จะได้ว่า “สารวัตรเหลิม” ก็ทำหน้าที่ได้สมฉายา “เป็ดเหลิม” ที่ทำได้ทุกอย่างแต่ดีไม่ดีเป็นอีกเรื่อง ลุกขึ้นชี้แจงพรรคประชาธิปัตย์แทบทุกข้อสงสัย ราวกับเป็น “กูรูเศรษฐกิจ” ทั้งที่ความรู้ด้านนี้ก็ไม่ต่างจากทักษะภาษาอังกฤษ “เยสโน โอเค โคคาโคล่า” แบบที่ถูกแซวอยู่บ่อยๆ

ไฮไลต์สำคัญของวันแรกก็น่าจะอยู่ที่คิวของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ผู้นำฝ่ายค้าน ที่ลุกขึ้น “สอนมวย” รัฐบาล โดยดักคอว่าประมาณการณ์จัดเก็บรายได้ของรัฐที่ว่าจะได้ 2.1 ล้านล้านบาทนั้น สุดท้ายก็หนีไม่พ้นมาตรการขึ้นภาษีเพิ่มภาระให้ประชาชน

แถมชี้ช่องจับประเด็น “ปัญหาของแพง” ขึ้นมาประจานเมื่อพบว่า รัฐบาลตั้งงบประมาณไว้ที่ 1,459 ล้านบาท สวนทางกับสิ่งที่รัฐบาลพยายามปฏิเสธมาตลอดว่า ไม่มีปัญหาเรื่องของแพง

ถัดมาที่ “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งรัฐ” ที่ได้จัดสรรกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงบประมาณของ กระทรวงกลาโหม ภายใต้การกุมบังเหียนของ “บิ๊กโอ๋-สุกำพล สุวรรณทัต” รมว.กลาโหม ที่ได้รับไปถึง 1.8 แสนล้านบาท ทำให้ภายในพรรคเพื่อไทยเองส่งเสียงไม่พอใจ เพราะเห็นว่ากระทรวงกลาโหมได้งบประมาณในระดับที่สูงมาอย่างต่อเนื่อง

ความน่าสนใจอยู่ในส่วนของงานเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่รัฐบาลตั้งงบประมาณไว้ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท ก็ชี้ให้เห็นอีกเช่นกันว่า รัฐบาลยอมรับว่ากลุ่มบุคคลหรือขบวนการที่มีะมีเจตนาร้ายต่อระบบการปกครองของไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือ “ขบวนการล้มเจ้า” ยังมีอยู่จริงและถือเป็นปัญหาใหญ่

ข้อสังเกตอีกจุดของ “ผู้นำฝ่ายค้าน” มองไปที่ “งบประมาณที่นำไปสู่การปรองดอง” ราว 400 ล้านบาท ที่อาจจะสูญเปล่า เพราะเป็นงบประมาณที่เตรียมจัดงาน-อีเว้นท์ต่างๆ ไม่สามารถครอบคลุมโครงการต่างๆ ที่ว่าด้วยความปรองดอง อาทิ กองทุนหมู่บ้าน กองทุนพัฒนาสตรี หรือการเยียวยาผู้ชุมนุม ที่ต้องใช้เงินเป็นหลักพันล้าน แต่ยังไม่ปรากฏในงบประมาณ จึงน่าเป็นห่วงว่าจะเป็นงบประมาณที่สร้างความขัดแย้งเพิ่มเติม

แปลความให้ชัดเจนก็น่าจะหมายถึงความเป็นห่วงว่า เงินก้อนนี้มีโอกาสที่จะเล่นแร่แปรธาตุผันงบประมาณไปสนับสนุน “หมู่บ้านเสื้อแดง” ในวาระต่างๆ ได้อีกต่างหาก

นี่คือภาพรวมของ “ยกแรก” ของศึกชำแหละงบประมาณปี 2556 ที่ต้องจับตามองกันต่อไปว่า เงินภาษีของประชาชน 2.4 ล้านล้านบาท จะถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ หรือจะถูกซุกซ่อนหมกเม็ดไว้เป็น “เงินทอน” ของคนบางกลุ่มเท่านั้น

กำลังโหลดความคิดเห็น