คำต่อคำ “ธาริต เพ็งดิษฐ์” เคยแถลงขึงขัง เมื่อ 12 เม.ย. 54 เตรียมฟ้อง “จตุพร” ปราศรัยครบรอบ 1 ปี 10 เมษา หมิ่นเบื้องสูง ยันพิจารณารอบคอบแล้ว ผิด กม.แน่นอน แต่ล่าสุดกลับสั่งไม่ฟ้อง อ้างดูคำพูดโดยรวมไม่เข้าข่ายหมิ่นฯ และมีเป้าหมายโจมตีอยู่ที่ “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ไม่ใช่สถาบันฯ
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เคยแถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังเป็นนายกรัฐมนตรี ว่าดีเอสไอจะดำเนินคดีกับนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง ในข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีที่นายจตุพรปราศรัยเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2554 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เนื่องในวันครบรอบ 1 ปีของปฏิบัติการขอคืนพื้นที่จากการชุมนุมคนเสื้อแดง โดยระบุว่า นายจตุพรได้กล่าวถ้อยคำและแสดงอากัปกิริยาที่เป็นการล่วงละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งดีเอสไอได้พิจารณาอย่างรอบด้านแล้วที่จะดำเนินคดีและยื่นคำร้องต่ออัยการให้ถอนการประกันตัว
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล และมีกระแสข่าวว่านายจตุพรอาจจะได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี นายธาริตได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ดีไอเอสมีความเห็นไม่สั่งฟ้องนายจตุพรในฐานความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมาได้ชี้แจงในรายละเอียดถึงเหตุผลการสั่งไม่ฟ้อง โดยอ้างว่า เมื่อพิจารณาจากข้อความที่นายจตุพรพูดทั้งหมดไม่เข้าข่ายการหมิ่นเบื้องสูง และเป้าหมายที่นายจตุพรกล่าวโจมตีอยู่ที่นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ใช่สถาบันพระมหากษัตริย์
รายละเอียดคำแถลงของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ วันที่ 12 เมษายน 2554
“จากการถอดเทปออกมานี่นะครับ เราพบว่า แกนนำคนสำคัญอย่างน้อยคนหนึ่งก็คือ คุณจตุพร พรหมพันธุ์ ได้กล่าวถ้อยคำและอากัปกิริยา ที่มีลักษณะกระทำความผิดต่อกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงแห่งรัฐ ในหมวดที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และสถาบัน ด้วยการแสดงอากัปกิริยาและวิธีการปลุกระดมที่เป็นการล่วงละเมิดต่อพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้อยคำต่างๆ เหล่านั้น ผมไม่สามารถจะกล่าวได้ เพราะจะยิ่งเป็นการเผยแพร่ถ้อยคำที่ไม่บังควร แต่ขอเรียนว่าเราได้พิจารณากันอย่างรอบด้านแล้ว เห็นว่าเป็นถ้อยคำหลายช่วงหลายตอน และอากัปกิริยาหลายช่วงหลายตอน เข้าลักษณะของการกระทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจนแล้วก็ต่อเนื่อง
ประการสำคัญ สิ่งที่เราจะต้องพิจารณาอย่างยิ่งก็คือ ไม่ใช่เฉพาะผู้พูดเท่านั้น แต่บุคคลที่เข้าไปร่วมในลักษณะแกนนำที่ขึ้นเวที หรือยืนอยู่ด้านหน้า รุมล้อมคนพูด ในลักษณะของการยั่วยุ การรู้เห็นเป็นใจ เข้าลักษณะของการเป็นตัวการร่วมกระทำความผิด เพราะฉะนั้นในฐานะที่เราทำคดีความไม่สงบโดยเฉพาะเรื่องล้มเจ้านี่นะครับ เราได้พิจารณาแล้วว่าการกระทำของคุณจตุพรและพวก ซึ่งมีจำนวนหลายคน เดี๋ยวผมคงจะเอ่ยชื่อบางคนนี่นะครับ เข้าข่ายการกระทำความผิดในคดีล่วงละเมิดต่อสถาบัน
น่าสังเกตว่า เมื่อตอนเที่ยงวันนี่นะครับ คุณจตุพร พรหมพันธุ์ โทรศัพท์หาผม ซึ่งไม่เคยโทร.มาก่อนเลย ก็สอบถามว่าผมจะดำเนินคดีเขาใช่ไหม ผมก็ยืนยันว่า ดีเอสไอเราก็ได้หารือกันในหมู่หัวหน้าชุดพนักงานสอบสวนแล้วนะครับ แล้วเขาก็ถามว่า เขาจะต้องมามอบตัวหรือ สงกรานต์หยุดกันหลายวัน เขาจะต้องเตรียมตัวอย่างไร ผมก็บอกว่า สงกรานต์ คงจะเป็นช่วงการรวบรวมหลักฐานต่างๆ แล้วก็ทำคำร้อง หลังจากเปิดมาก็ว่ากันตามกระบวนการ ตามขั้นตอน และผมก็ได้ยืนยันกับเขาว่าผมทำหน้าที่ตามปกติ การทำหน้าที่ของดีเอสไอ คือผมนี่ไม่ได้เกิดจากตัวผมเอง แต่เกิดจากพฤติการณ์ของฝ่าย นปช.และแกนนำ เมื่อพฤติการณ์เป็นเช่นนี้ เราในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบก็ไม่สามารถเพิกเฉยได้
แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนหลายฝ่าย แม้แต่ส่วนงานราชการหลายส่วนนี่สอบถามมาทางเรามากเลย เหตุการณ์ 2 วันที่เกิดขึ้นนี่ ดีเอสไอวางเฉยได้อย่างไร ทำไมไม่ทำอะไร ผมก็บอกว่าเราอยู่ระหว่างการถอดเทปแล้วก็ดำเนินการต่างๆ
เพราะฉะนั้นชัดเจนนะครับ เราจะดำเนินการ 2 ส่วน ส่วนที่ 1 คือ ดำเนินคดีกับคุณจตุพรและพวก ในเรื่องของการล่วงละเมิดต่อสถาบัน คุณพงษ์อินทร์ (พ.ต.ท.พงษ์อินทร์ อินทร์ขาว) รับผิดชอบ
ส่วนที่ 2 ดำเนินการยื่นคำร้องต่อพนักงานอัยการเพื่อให้เพิกถอนการประกัน คนรับผิดชอบคือคุณถวัล (พ.ต.ท.ถวัล มั่งคั่ง) ส่วนท่านพงศกรนะครับ ก็จะมอนิเตอร์เรื่องนี้ติดตามต่อไป ทุกอย่างเราทำตามข้อเท็จจริง”
รายละเอียดคำแถลงของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ วันที่ 14 พฤษภาคม 2555
“ความหมายของคำพูดของผู้ต้องหานี่ เราจะต้องฟังตั้งแต่ต้นจนจบ เราจะมาตัดเฉพาะคำว่า กระสุน...ไม่ได้ เมื่อเราฟังตั้งแต่ต้นจนจบแล้วนี่เราจะจับความได้ว่า เป็นการที่ผู้พูดพยายามอธิบาย โดยเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจว่า การที่มีการสั่งให้หน่วยทหารออกมาปฏิบัติการนั้น เป็นความมุ่งหมายให้เกิดความเข้าใจผิดว่าสถาบันอยู่เบื้องหลัง ซึ่งความจริงแล้วไม่เป็นความจริง สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้อยู่เบื้องหลัง นี่คือความหมายของผู้พูดที่ดูทั้งบริบททั้งหมด ซึ่งไม่ใช่ตัดตอนเฉพาะแค่ประโยคเดียว
ข้อวินิจฉัยประการที่ 2 คือเรื่องเป้าหมายตัวบุคคลที่ผู้ต้องหาต้องการกล่าวโจมตี เมื่อดูทั้งบริบททั้งหมดแล้ว จะพบว่าผู้พูดคือคุณจตุพรกล่าวพาดพิงถึงนายอภิสิทธิ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็น ผอ.ศอฉ. และนายสุเทพ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะรอง ผอ.ศอฉ. ไม่มีส่วนใดที่ปรากฏว่าเป้าหมายของนายจตุพรที่พูดนี่ต้องการกล่าวอันเป็นการมุ่งร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พระราชินีและองค์รัชทายาทแต่อย่างใด
หากพิจารณาโดยตลอดทั้งการปราศรัย โดยไม่รวบรัดตัดตอน ตลอดจนคำนึงถึงสภาพแวดล้อมของการชุมนุม การเรียกร้อง การต่อต้านรัฐบาลอยู่ในขณะนั้นแล้ว จะเห็นได้ว่า ผู้พูดมีเจตนามุ่งหมายต่อนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพโดยเฉพาะ หาใช่มีเจตนาใส่ความดูถูกเหยียดหยามต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือองค์รัชทายาทแต่อย่างใด
จากเหตุผลนะครับ ทั้ง 3 ประเด็น ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นเนี่ย ไม่ใช่เกิดจากการวิเคราะห์ของพนักงานสอบสวนตามลำพังนะครับ แต่เป็นการวิเคราะห์จากพยานสำคัญ 3 กลุ่มในประเด็นที่ 2 ที่ผมกล่าวแล้ว คือกลุ่มนักภาษาศาสตร์ กลุ่มนักสื่อสารมวลชน แล้วก็กลุ่มพยานกลาง ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้วย”