ผ่าประเด็นร้อน
ยังไม่มีคำแถลงอย่างเป็นทางการจากอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ว่าสุดท้ายอัยการมีความเห็นอย่างไรกับคดีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก ไปแจ้งความดำเนินคดีต่อนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เพื่อไทยและแกนนำ นปช. ในความผิดมาตรา 112 พร้อมพวกในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ สน.สำราญราษฎร์ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554
อันเป็นเหตุที่เกิดจากกรณีที่จตุพรไปขึ้นเวทีปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อ 10 เมษายน 2554 ในโอกาสครบรอบหนึ่งปีเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553
คดีนี้ ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ออกมาแถลงอย่างเป็นทางการคล้อยหลังแค่วันเดียว หลัง ฉลอง เรี่ยวแรง ส.ส.นนทบุรี เพื่อไทยซึ่งออกมาขวางไม่ให้จตุพรเป็น รมต.ว่า หากคดีนี้ดีเอสไอและอัยการสั่งไม่ฟ้องจริงก็ให้จตุพร แถลงมา
ดีเอสไอรู้งานกว่า จตุพรรีบชิงแถลงให้จบเรื่องจบราวว่า
คดีนี้ยุติไปแล้ว ดีเอไอสั่งไม่ฟ้อง
“คางคกตู่-จตุพร” หมดมลทินคดีความในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทันที จ่อขึ้นเป็น รมช.มหาดไทยเห็นๆ ส่วน ธาริต ทำท่าจะได้นั่งเบาะนุ่มๆ บนเก้าอี้อธิบดีดีเอสไอแบบไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังได้อีกหนึ่งคำรบ จากงานช่วยปูพรมแดงให้จตุพร
ทว่า ยังมีด่านอัยการอีกด่านหนึ่งซึ่งการทำงานก็แตกต่างจากดีเอสไอ ไม่ได้ต้องเอาใจฝ่ายการเมืองอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู จึงไม่จำเป็นต้องแสดงความชัดเจนใดๆ ในเรื่องนี้โดยรีบเร่ง แม้ จตุพรจะออกมาบอกไปแล้วหลายวันว่าคดีนี้อัยการก็สั่งไม่ฟ้องตามดีเอสไอ
แต่หากจะให้ดี ควรที่อัยการจะทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องเป็นราว ไม่ให้นักการเมืองอย่างจตุพรมาให้ข่าวฝ่ายเดียว ถ้าจะสั่งไม่ฟ้องหรือยังไม่ได้ทำความเห็นใดๆ ก็ควรบอกให้ชัด เคลียร์กันให้รู้เรื่องตั้งแต่ตอนนี้
จุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด ผู้นำสูงสุดขององค์กรต้องรีบออกมาแอ็กชัน
เพราะเรื่องที่สังคมยังคาใจก็คือ ตอนที่จตุพร และนิสิต สินธุไพร อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด และ ผอ.โรงเรียนนปช.ต้องเข้าคุกนานหลายเดือน ก็เป็นเพราะทั้งดีเอสไอและอัยการ มีความเห็นร่วมกันว่า จตุพร กับนิสิต ที่ตกเป็นจำเลยคดีก่อการร้ายด้วยกันทั้งคู่ ทางนิสิตนั้นติดคุกอยู่หลายเดือน ต่อมาก็ได้ประกันตัว แต่จตุพร รอดตลอดไม่ต้องติดคุก เพราะการเป็น ส.ส. จึงได้เอกสิทธิ์คุ้มครอง
แต่ทั้งสองคนพร้อมกับแกนนำนปช.อีกหลายคน ทางดีเอสไอกับอัยการ เห็นว่า ได้ร่วมกันปราศรัยบนเวทีดังกล่าว ส่อไปในทางที่อาจจะทำให้ประชาชนทั่วไปสับสนในข้อเท็จจริงจนถึงขั้นก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ซึ่งนับว่าเป็นการก่อเหตุอันตรายและเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร อันเป็นเหตุที่ศาลจะเพิกถอนสัญญาประกัน จึงเสนอให้ศาลอาญามีคำสั่งเพิกถอนสัญญาประกัน
ในตอนไต่สวนคำร้องเพิกถอนการประกันตัว ทั้งดีเอไอและอัยการ ก็นำเนื้อหาถ้อยคำการปราศรัยของจตุพรและนิสิต ไปเป็นหลักฐานเพื่อสร้างน้ำหนักในคำร้องดังกล่าว ซึ่งคนที่ปราศรัยหนักสุดในวันนั้น ก็คือจตุพรกับนิสิต
จนในวันที่ 12 พฤษภาคม 2554 ศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานที่ดีเอสไอและอัยการยื่นต่อศาลแล้วจึงความเห็นดังนี้
“เมื่อพิจารณาคำปราศรัยตามคำฟ้องของอัยการเห็นว่า มีคำพูดของจำเลยที่ 2 (นายจตุพร พรหมพันธุ์) และจำเลยที่ 8 (นายนิสิต สินธุไพร) บางตอนที่อาจจะส่อไปให้เกิดความวุ่นวายต่อบ้านเมือง ซึ่งผิดเงื่อนไขประกันที่ศาลกำหนดไว้ในการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีก่อการร้าย จึงให้ถอนประกันจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 8 ดังกล่าว ส่วนจำเลยอื่นให้ยก”
สุดท้าย วันนี้ดีเอสไอกลับจะยุติการดำเนินการใดๆ ต่อจตุพร เพียงเพราะเพื่อไทยเป็นรัฐบาล รมว.ยุติธรรม ที่มีอำนาจเปลี่ยนตัวอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทุกเมื่อ คือ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก แกนนำเพื่อไทย
ทั้งที่หลังการปราศรัยดังกล่าวที่ยังอยู่ในช่วงรัฐบาลประชาธิปัตย์เพียงแค่หนึ่งวัน ธาริตได้เปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการกับสื่อมวลชนระบุว่า
“เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ถอดเทปการปราศรัยการชุมนุมของกลุ่ม นปช. โดยเฉพาะคำปราศรัยของนายจตุพร ซึ่งมีคำและกิริยาที่มีลักษณะการกระทำที่ผิดกฎหมายความมั่นคงแห่งรัฐ หมวดสถาบันและพระมหากษัตริย์ และพบถ้อยคำที่ส่อไปในทางดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูงอย่างรุนแรง”
เหตุใดวันนี้ คดีจึงพลิกเปลี่ยนไปได้มากถึงเพียงนี้ ถ้าไม่ใช่เพราะใบสั่ง ธาริตก็ออกมาชี้แจง...
สิ่งที่ดีเอสไอยังแจงไม่เคลียร์มีบางประเด็นซึ่งยังคาใจคน ซึ่งได้ดูเทปหรือคลิปการปราศรัยแบบเต็มๆ ของจตุพรบนเวที ที่เห็นว่าเนื้อหาคำพูดบางอย่างมันช่างล่อแหลมเหลือเกิน เมื่อสั่งไม่ฟ้องจตุพร ดีเอสไอโดยนายธาริตต้องเคลียร์คำสั่งในคดีให้มากกว่านี้
เพราะถ้าประชาชนสงสัยว่าความยุติธรรมเอนเอียงได้ตามแรงโน้มถ่วงทางการเมือง ดีเอสไอในฐานะต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ไม่ทำหน้าที่ให้ตรงไปตรงมา มัวแต่เกรงกลัวอำนาจการเมือง แล้วใครจะเชื่อถือศรัทธา
เรื่องการสั่งฟ้อง-ไม่ฟ้อง การขออนุมัติเข้าสอบสวนคดีต่างๆ เป็นคดีพิเศษของดีเอสไอ แน่นอนว่า เป็นอำนาจของดีเอสไอและคณะกรรมการคดีพิเศษ หลายเรื่องก็เห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ
อย่างกรณีล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ ดีเอสไอชงเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ ขอเข้าสอบสวนคดีรุกที่เขาแพง สุราษฎร์ธานี ทั้งที่เกิดเรื่องนานแล้วแต่ดีเอสไอก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เรื่องฉาวโฉ่มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตอนนั้นดีเอสไอเงียบ แต่พอเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ดีเอสไอก็จัดให้
ตั้งแท่นทำจ่อทำสำนวนเอาไว้ ทำให้รัฐบาลเพื่อไทย พออกพอใจที่ทำงานรู้ใจ คิดทันฝ่ายการเมืองตลอดว่าต้องการให้ดีเอสไอไปเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลในเรื่องไหน
การที่ดีเอไอยุติคดี ผังล้มเจ้าและคดีจตุพร ปราศรัยผิดมาตรา 112 จากที่มีคนจำนวนไม่น้อยแคลงใจดีเอสไอยุคนี้ในเรื่องหลักการการทำงาน ที่เอนไปตามแรงลมการเมือง ก็ได้รู้สันดานแท้ๆ ชัดเจนแล้วในคราวนี้
เหลือก็แต่อัยการ ที่ผู้คนกำลังรอฟังอยู่ว่า จะยึดหลักการและเหตุผลอย่างไรในการสั่งคดีนี้ หรือสุดท้ายจะกลืนน้ำลายตัวเองตามดีเอสไอหรือไม่