นายอำพล ตั้งนพกุล หรือ “อากง” นักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา เสียชีวิตแล้วด้วยโรคมะเร็งเมื่อเช้าวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมาที่โรงพยาบาลของกรมราชทัณฑ์
ทันทีที่ข่าวการสิ้นลมของนายอำพลแพร่ออกไป ความตายของอากงก็ถูกพวกเสื้อแดงและนักวิชาการสายล้มเจ้าหยิบฉวยเป็นเครื่องมือปั่นกระแสแก้ไข-ล้มเลิกมาตรา 112 อีกครั้งหนึ่ง โดยใช้ความตายของนายอำพล เป็นเงื่อนไข มีการนัดชุมนุมเพื่อไว้อาลัยที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศพของนายอำพลถูกขบวนการล้มเจ้าแห่แหนไปทำพิธีรดน้ำศพที่หน้าศาลอาญา
ยามมีชีวิตอยู่ นายอำพลหรืออากงถูกขบวนการล้มเจ้าหลอกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่การล้มเลิกกฎหมายมาตรา 112 ตายไปแล้วก็ยังถูกใช้เป็นเหยื่อเพื่อปลุกกระแสแก้ไขมาตรา 112 ที่จุดไม่ติดเพราะสังคมไม่เห็นด้วยอีกครั้งหนึ่ง
ความตายของนายอำพลถูกนักวิชาการเสื้อแดงจากรั้วจามจุรีบิดเบือนว่าตายเพราะมาตรา 112 ตายเพราะศาลไม่ให้ประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์จึงไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและต้องเสียชีวิตคาเรือนจำ
ความจริงคือนายอำพลตายเพราะเป็นมะเร็ง ไม่ได้ตายเพราะไม่ได้ประกันตัว นายอำพลโชคร้ายที่ไม่มีที่พึ่งพาที่จะช่วยให้เขาได้รับการดูแลรักษาที่ดีกว่า ที่ได้รับในขณะที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำได้ เพราะครอบครัวยากจน ส่วนนักวิชาการเสื้อแดงก็เอาแต่จะใช้เขาเป็นเครื่องมือทางการเมืองของตน ไม่มีใครเลยที่ใส่ใจกับทุกข์สุขส่วนตัวของเขา
ถ้าศาลจะต้องปล่อยตัวนายอำพลเพราะว่านายอำพลเป็นมะเร็ง ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างดี หากมีนักโทษรายอื่นๆ ที่เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงศาลก็ไม่สามารถปฏิเสธได้เช่นกัน
ครั้งที่ศาลตัดสินจำคุกนายอำพล 20 ปี ด้วยข้อหาส่งเอสเอ็มเอสที่มีข้อความดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ก็ถูกนักวิชาการเสื้อแดง บิดเบือนว่าแค่ส่งเอสเอ็มเอสต้องติดคุกถึง 20 ปี แต่ความจริงคือนายอำพลทำผิดมาตรา 112 หลายครั้ง โดยไม่ยอมรับสารภาพ แต่ไม่สามารถหักล้างข้อกล่าวหาและหลักฐานอ้างอิงของอัยการได้ ทั้งคำให้การของตัวเองยังมีพิรุธจนไม่น่าเชื่อถือ
อากงไม่ได้ผิดเพราะส่ง SMS ที่ผิดเพราะส่งข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์และข้อความนั้นเข้าข่ายการดูหมิ่นอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ และเป็นการทำความผิดอย่างเดียวกันซ้ำซากถึง 4 ครั้ง จึงถูกลงโทษจำคุกกระทงละ 5 ปี รวมเป็น 20 ปี ทั้งๆ ที่ศาลอาจจะลงโทษมากกว่านี้ก็ได้เพราะความผิดตามมาตรา 112 มีโทษจำคุกระหว่าง 3-15 ปี
อากงหรือนายอำพล ชายวัย 61 ปี ถูกกล่าวหาว่าส่ง SMS ข้อความเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปเข้าโทรศัพท์ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนะสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 4 ครั้ง ระหว่างวันที่ 9-22 พฤษภาคม 2553 ในช่วงที่คนเสื้อแดงกำลังจุดไฟเผาเมือง
ศาลอาญาตัดสินจำคุก 20 ปี ตามมาตรา 112 และกฎหมายความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนปีที่แล้ว
การบิดเบือนประเด็นว่าส่ง SMS สี่ครั้งถูกลงโทษหนักจำคุกถึง 20 ปี ก็ไม่ต่างอะไรจากตรรกะแบบบิดๆ เบี้ยวๆ ที่ว่า "ทักษิณ แค่เซ็นชื่อ ยินยอมให้เมียไปซื้อที่ดิน ทำไมต้องติดคุก 2 ปี" หรือ "สมัคร หลุดจากตำแหน่ง เพียงเพราะไปทำกับข้าวออกรายการทีวี" ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงที่ว่าการกระทำที่พยายามอ้างกันว่า ไม่เห็นจะเป็นความผิดตรงไหนนั้น แท้จริงแล้วมีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดด้วยเหตุผลที่กระจ่างชัด และกำหนดบทลงโทษไว้ชัดเจน ผู้พิพากษาไม่ได้คิดเอาเองตามใจชอบ
หากนายอำพลส่ง SMS เพียง 2 ครั้ง ก็จะติดคุกเพียง 10 ปี ถ้าส่งครั้งเดียวก็ติด 5 ปี และหากอากงรับสารภาพก็จะได้รับการลดโทษกึ่งหนึ่ง และอาจจะได้รับการรอการลงโทษก็ได้ เหล่านี้คือกระบวนการพิจารณาโทษตามปกติของศาล หาใช่การกลั่นแกล้งหรือความอยุติธรรมที่ "อากง" ได้รับไม่
แต่เมื่อไม่รับว่าผิดและไม่สามารถแก้ข้อกล่าวหาจนศาลสิ้นสงสัยได้ ก็ไม่มีเหตุในการลดโทษหรือรอการลงโทษ
คำให้การปฏิเสธของอากงนั้นผู้ที่ได้อ่านสรุปคำพิพากษาทั้งหมดก็น่าจะเห็นว่า แค่คำให้การที่ว่าเคยนำโทรศัพท์ที่เสียไปซ่อม แต่วันเวลาที่นำไปซ่อมที่อ้าง 2 ครั้ง ก็ไม่ตรงกัน และข้ออ้างว่าจำไม่ได้ว่าไปซ่อมร้านไหน ทั้งๆ ที่ต้องไปส่งไปรับโทรศัพท์ที่ร้านถึงสองครั้ง ก็ทำให้คำให้การของ อากงหมดความน่าเชื่อถือไปเลย
ในขณะที่การพิสูจน์ทางเทคนิคว่าหมายเลขอีมี่หรือรหัสประจำเครื่องโทรศัพท์ของอากงอาจถูกผู้อื่นปลอมแปลงนั้น ก็ได้มีการพิสูจน์กันต่อหน้าศาลว่าหมายเลขอีมี่นั้นเป็นของโทรศัพท์ของ"อากง"จริง ทั้งยังจับได้ว่ามีการเปลี่ยนซิมจากเครือข่ายทรูเป็นซิมดีแทคในช่วงที่มีการส่ง SMS เพื่อปกปิดหมายเลขผู้ส่ง แต่สถานที่ส่งเป็นที่เดียวกันคือ ละแวกบ้านของ"อากง"นั่นแหละ
ข้อเท็จจริงอันเป็นพยานแวดล้อมเหล่านี้ถูกขบวนการล้มเจ้าตัดตอน และบิดเบือนให้เป็นว่าหมายเลขอีมี่เป็นหลักฐานที่อ่อน ไม่น่าจะรับฟังได้
"อากง"จะคิดอย่างไรกับสถาบันพระมหากษัตริย์จะเป็นผู้ส่ง SMS ด้วยตัวเองหรือมีผู้อื่นส่งให้ก็ตามแต่ เขาคือเหยื่อของขบวนการล้มเจ้าที่น่าสงสาร ชะตากรรมของเขาถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความแตกแยก
วันนี้เขาตายไปแล้ว ศพของเขายังไม่วายถูกใช้เป็นเครื่องมือของขบวนการล้มเจ้าอีกครั้งหนึ่ง