xs
xsm
sm
md
lg

“พิชาย” แจง คกก.กรอง ม.112 ไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม “ยะใส” ชี้แค่ช่วยชะลอเวลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พิชาย” แจงอำนาจคณะกรรมการกลั่นกรองการฟ้องร้องมาตรา 112 แค่ให้คำปรึกษาพนักงานสอบสวน เพื่อให้มีดุลพินิจมากขึ้น ส่วนจะส่งฟ้องหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่เอง หวังช่วยลดความขัดแย้งของสังคม และช่วยปกป้องสถาบันฯได้ ด้าน “สุริยะใส” ชี้อาจแค่ชะลอเวลา ดึงพวกหลงผิดกลับมาได้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่สามารถหยุดขบวนการล้มเจ้าจริงๆ ได้


วันที่ 19 ธ.ค. รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และเป็น 1 ใน 15 นักวิชาการ ที่เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการฟ้องร้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ร่วมพูดคุยรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

รศ.ดร.พิชายกล่าวว่า เหตุที่ตนร่วมลงชื่อเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการดำเนินคดีมาตรา 112 เนื่องจากสถานการณ์ 4-5 ปีที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์ท้าทาย และทำลายสถาบันฯ มากมาย มีการบิดบือนใส่ร้ายสถาบันกระจายไปในหลายกลุ่ม

อย่างคดีนายอำพล หรืออากง ถูกตัดสินจำคุก 20 ปี นายอำพลเหมือนมาเป็นวีรบุรุษของคนที่ไม่ประสงค์ให้มีสถาบันฯ เพื่อปั่นกระแสทำให้ภาพสังคมไทยดูป่าเถื่อน ซึ่งศาลก็ทำตามหลักกฎหมาย พิจารณาเป็นกระทงๆไป แต่ก็กระทบเหมือนกัน เพราะคนที่ไม่ได้ติดตามรายละเอียด พอได้ยินสิ่งที่ถูกเอามาขยายผล ว่าแค่ส่ง SMS ก็ติดคุก 20 ปี เขาก็จะรับข้อมูลที่ถูกบิดเบือน แล้วไปเพิ่มความรู้สึกความเกลียดแค้น และอาจโยงไปถึงสถาบันฯ

รศ.ดร.พิชายกล่าวต่อว่า สถานการณ์ที่มีการท้าทายมากขึ้น ดูแล้วน่าจะมีเหตุผลใหญ่ๆ 4 เหตุผล 1.เกี่ยวข้องกับบุคคลที่เคยมีอำนาจในสังคมไทย ที่มีแนวโน้มเห็นว่าอาจจะพาสังคมไทยไปสู่หายนะ แต่ก็ถูกขัดขวางเสียก่อน และเขาก็เชื่อว่าสถาบันฯ อาจเข้ามาขัดขวางเส้นทางสู่อำนาจ จึงเกิดความโกรธแค้น เลยสนับสนุนให้มีการบ่อนทำลาย บวกกับบุคคลคนนี้มีทุนมากมาย ข่าวสารจึงออกไปยังมวลชนได้มาก หลายๆคนเมื่อก่อนอาจจงรักภักดี แต่พอถูกเป่าหูจากคนที่เขานิยม ก็อาจถูกล้างสมอง

2.เกิดมาจากฝ่ายซ้ายตกขอบที่ไม่ยอมเปลี่ยนความคิด พวกนี้สนับสนุนแนวคิดคอมมิวนิสต์ และมองว่าสถาบันฯขัดขวางความเจริญของประเทศ จึงไปผนวกรวมกับกลุ่มแรก 3.อีกพวกคือนักเสรีนิยมสุดขั้ว ส่วนใหญ่เป็นปัญญาชน ซึ่งอยากให้ประเทศมีเสรีภาพเต็มที่ สามารถวิจารณ์อย่างไรก็ได้ พวกนี้รับแนวคิดตะวันตกเข้ามา โดยไม่ได้เข้าใจรากฐานสังคมไทย  4.อีกอันที่เป็นเงื่อนไขให้สิ่งเหล่านี้แพร่กระจายได้รวดเร็ว ก็คือเทคโนโลยี ผนวกเข้ากับสามกลุ่มที่กล่าวมา

กฎหมายมาตรา 112 เป็นเสมือนเกราะในการป้องกันสถาบันฯ ในทางกลับกันถ้าสังคมใช้กฎหมายนี้ในทางที่ทำลายซึ่งกันและกันก็อันตราย จากการจับทัศนะของคนที่คิดเกี่ยวกับมาตรา 112 มีดังนี้ ฝ่ายแรกเป็นฝ่ายที่ต้องการให้ยกเลิก คือกลุ่มที่ต้องการล้มเจ้า ถัดมาคือกลุ่มต้องการให้มาตรา 112 คงเดิม แบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือรอยัลลิสต์ ประเภทนี้มีมากในสังคมไทย ปกป้องจงรักภักดีอย่างจริงจัง อีกกลุ่มเป็นฝ่ายที่ต้องการให้คงมาตรานี้ไว้ แต่เป็นแบบแอบแฝง ต้องการให้มาตรานี้ถูกบังคับใช้รุนแรง เพื่อหวังผลกระทบมุมกลับ ตอนนี้กระแสให้ยกเลิกและคงเดิมเป็นกระแสหลัก

ส่วนอีกกลุ่มที่อยากให้ปรับปรุง อาจมีสองส่วนที่ถกเถียงกันอยู่ คือ 1. ฝ่ายที่ต้องการปรับปรุงตัวบทกฎหมาย ในสองเรื่อง คือ ความรุนแรงของโทษ ที่ระบุไว้มีโทษจำคุก 3-15 ปี แต่ความรุนแรงของโทษก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลด้วย ว่ายึดตัวบทเป็นหลักหรือยึดผลที่จะตามมา อีกเรื่องคือต้องการปรับปรุงตัวลักษณะความผิด คือลักษณะความผิดของการลงโทษ เช่นดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย กับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างบริสุทธิ์ใจ อันนี้ควรแยกออกมา

2.ฝ่ายที่ต้องการปรับปรุงกระบวนการดำเนินคดี ปัจจุบันสิ่งที่ก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยง คือใครก็ได้สามารถแจ้งความได้ และแจ้งที่ไหนก็ได้ด้วย บางคนปกป้องสถาบันต้องการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดี แต่กลับถูกกลั่นแกล้งเสียเองก็มี

นายสุริยะใสกล่าวว่า ข้อเสนอตั้งคณะกรรมการฯ ยังแค่เสนอหลักคิด เพื่อให้เกิดการถกเถียง สิ่งที่เราต้องคิดต่อ คือ เราควรถือโมเดลแบบไหน คณะกรรมการนี้จะแค่เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของพนักงานสอบสวน หรือมีอำนาจผูกพันต่อการดำเนินคดี และที่มาของคณะกรรมการต้องเป็นที่ยอมรับจริงๆ อย่างเช่นนักวิชาการ ถ้าอาจารย์พิชายเข้าไป เสื้อแดงก็ไม่ยอม แล้วนักวิชาการเป็นกลางจะมีสักกี่คน ในทางกลับกัน ถ้าอาจารย์พิชายไปเป็นคณะกรรมการไม่น่ากลัว แต่ถ้านักวิชาการอีกฝ่ายหลุดเข้าไป แล้วมีธงอยู่แล้วว่าต้องการล้มล้างสถาบันฯ  ไม่ว่าคดีไหนเขาก็เห็นว่าไม่ควรฟ้องอยู่ดี

สุดท้ายมาตรา 112 เป็นแค่สงครามสัญลักษณ์ มาตรา 112 ถูกยกขึ้นมาเป็นเหยื่อ ลึกๆเบื้องหลังความขัดแย้ง เกิดจากระหว่างกลุ่มเอาสถาบันฯ กับไม่เอาสถาบันฯ

นายสุริยะใสกล่าวต่อว่า อีกประเด็นที่สำคัญ ถ้าเป็นองค์กรถาวรตนไม่เห็นด้วย เพราะอาจถูกแทรกแซงทางการเมือง แต่ถ้าคณะกรรรมการทำแค่ชั่วคราวค่อนข้างน่าสนใจ เช่นวางกรอบเวลาเอาไว้ และให้คณะกรรมการพิจารณาภูมิหลังของคนที่ผิดมาตรานี้ เพราะหลายคนเป็นชาวบ้านไม่รู้เรื่อง ไม่รู้จักคอมมิวนิสต์ ไม่รู้จักขบวนการล้มเจ้า แต่ถูกดึงเข้ามาเพราะการรับสื่อข้างเดียว

แล้วถ้าคณะกรรมการเห็นว่าไม่ควรฟ้อง แต่ประชาชนเห็นว่าควรฟ้อง ประชาชนสามารถเอาไปฟ้องศาลเองโดยตรงได้หรือไม่ หรือถ้าคณะกรรมการให้ฟ้อง แต่ศาลกลับยกฟ้อง สามารถฟ้องกลับคณะกรรมการได้หรือไม่ สุดท้ายกลัวคณะกรรมการชุดนี้จะตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง กลายเป็นตัวขัดแย้งจากทั้งฝ่ายเอาเจ้าและไม่เอาเจ้า เกิดความขัดแย้งยิ่งขึ้นไปอีก

รศ.ดร.พิชายกล่าวว่า ตนเห็นตรงกับนายสุริยะใส คือต้องให้มีการถกเถียงเรื่องนี้ในหลายกลุ่ม แต่กำลังเปรียบการมีกับไม่มีคณะกรรมการ การมีน่าจะดีกว่า ทีนี้องค์ประกอบน่าจะมีนักกฎหมาย นักวิชาการด้านกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ แต่ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับ ไม่ใช่เป็นพวกสุดขั้ว เป็นคนมีเหตุมีผล ตนเห็นว่าคณะกรรมการชุดนี้ถ้าสามารถทำได้ดีๆ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดความขัดแย้งของสังคมลงได้ สถาบันฯจะได้รับการเสริมให้มีความแข็งแกร่งขึ้น และต้องมีองค์กรสิทธิฯ ภาคเอกชน ฝ่ายความมั่นคงร่วมด้วย หลักๆคิดว่าเอาคนจากส่วนต่างๆเหล่านี้

ส่วนที่มาตนก็ยังไม่ชัดเจน แต่เรื่องอำนาจหน้าที่จะเป็นลักษณะให้คำปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนการดำเนินคดีหรือไม่นั้น เป็นอำนาจของคนที่มีหน้าที่ตามปกติ เพียงแต่ช่วยให้มีความคิดขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ถ้าเป็นอย่างนี้คณะกรรมการคงไม่ได้แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม อาจพิจารณาให้คำแนะนำ แต่อาจไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย

อีกทั้งหากคณะกรรมการเห็นต่างกันก็จะให้เหตุผลแก่เจ้าหน้าที่ไปว่าฝ่ายที่เห็นด้วยเพราะอะไร และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเพราะอะไร เพื่อให้เจ้าที่ไปไตร่ตรองเอา เราเพียงแต่แค่กลั่นกรองให้เหตุผล เพื่อให้การใช้ดุลยพินิจรอบคอบมากขึ้น เห็นด้วยที่ควรเป็นคณะกรรมการเฉพาะกิจ ถ้าเวิร์คอาจขยายออกไปได้ แต่ถ้าสร้างปัญหาก็ยกเลิกไป

นายสุริยะใสกล่าวว่า ต้องยอมรับความจริง ความขัดแย้งมันเป็นเรื่องล้มเจ้า สมมุติวันนี้มีคณะกรรมการ ก็จะได้สุจริตชนที่หลงผิดกลับมาได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถเบรกกระบวนการจริงๆได้ สุดท้ายอาจแค่ชะลอเวลาได้ระยะหนึ่งเท่านั้น ซึ่งก็ต้องแก้โจทย์นี้ก่อน แต่ขบวนการล้มเจ้ามันต้องคิดหลายชั้น มันซับซ้อนมาก

รศ.ดร.พิชายกล่าวว่า ฝ่ายที่ต้องการคงมาตรา 112 ไว้ ก็จะแตะไม่ได้เลย ส่วนฝ่ายที่ต้องการยกเลิกก็ต้องการยกเลิกหมดเลย สถานการณ์มันมีทิศทางของความรุนแรง ถ้าทั้งสองฝ่ายยึดจุดยืนอย่างเข้มข้น มันเลี่ยงไม่ได้ต่อการเผชิญหน้า และอาจรุนแรงมากขึ้นทุกวัน คนที่ต้องการแก้ไขมาตรา 112 ก็จะโดนวิจารณ์ว่าเป็นอีกฝ่าย

อยากให้ทุกฝ่ายพิจารณารอบด้าน อะไรแรงไปอาจเป็นแง่ลบ หย่อนไปก็จะเกิดความโกลาหล ทางสายกลางน่าจะทำให้สถาบันที่เรารักดำรงอยู่ได้ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นศูนย์รวมของจิตวิญญาณ เป็นศูนย์รวมของชาติ มีคุณค่าที่เราจะต้องช่วยกันรักษาต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น