xs
xsm
sm
md
lg

"ปานเทพ" มั่นใจต้านม.112 ทำเป็นขบวนการ - "พิภพ" ชี้ถึงเวลาต้องพิจารณากฎหมายนี้อย่างจริงจัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ปานเทพ" เชื่อกระแสต้านมาตรา 112 ทำเป็นขบวนการ กรณี "ทูตสหรัฐฯ - ยูเอ็น" ก็มีคนยิงคำถามล่อเป้า เพื่อนำมาเป็นประเด็น รวมไปถึงการที่เฟซบุ๊ก "ปู" ขึ้นพระบรมฉายาลักษณ์ผิด ชัดเจนว่าจงใจ ด้าน "พิภพ" รับกฎหมายนี้ยังมีช่องโหว่ จนถูกนำไปใช้ผิดๆทำให้สถาบันฯเสื่อมเสีย ชี้ถึงเวลาที่สังคมต้องร่วมกันพิจารณาหาทางแก้ไขอย่างจริงจัง ภายใต้คำถามสำคัญคือ "ประเทศไทยต้องมีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขต่อไป ต้องทำอย่างไร"

วันที่ 16 ธ.ค. เมื่อเวลา 20.30 น. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมพูดคุยในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

ผู้ดำเนินรายการกล่าวเปิดประเด็น กรณีปลุกกระแสต่อต้านมาตรา 112 โดยเอาคดีอากง นายโจ กอร์ดอน และดา ตอร์ปิโด ออกมาปลุกกระแส และเอาต่างประเทศเข้ามาข้องเกี่ยวด้วย ทั้งยูเอ็น และสหรัฐฯ ลองประมวลเหตุการณ์ พ.ต.ท.ทักษิณพยายามใช้คนกลุ่มหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

นายปานเทพกล่าวว่า คิดว่าขบวนการดังกล่าวไม่ได้เป็นธรรมชาติ แต่มีคนจัดตั้งเรื่องต่างๆให้เกิดขึ้นมาพร้อมๆในเวลาไล่เลี่ยกัน อย่างกรณีเฟซบุ๊กน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่โพสต์พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 8 ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างปกติ เพราะเป็นภาพที่หาได้ยาก เป็นภาพที่กำลังพระราชทานรัฐธรรมนูญให้นายปรีดี พนมยงค์ มีทั้งรัชกาลที่ 8 และนายปรีดี อยู่ในรูปเดียวกัน คิดว่าคนโพสต์มีเจตนา

นายกฯบอกว่าเป็นเรื่องของทีมงาน แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าทีมงานนั้นชื่ออะไร เป็นกระบวนการอย่างไร และมันบังเอิญอย่างเหลือเชื่อที่ต่อจากนั้นก็มีพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 8 และเขียนคำว่าทรงพระเจริญ เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของคนเสื้อแดง มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ มันเป็นกระบวนการจัดตั้ง

นายปานเทพ กล่าวต่อว่า คดีอากง ยังดีที่ศาลออกมาอธิบาย แต่คนก็ไม่ค่อยพูดถึงว่าอากงถูกสร้างให้เป็นตัวละคร เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ เนื่องจากเวลาต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม มีอยู่เพียง 2 กรณี คือทำผิดจริง กับไม่ได้ทำ ถ้าไม่ได้ทำ ทำไมถึงสู้คดีโดยข้ออ้างฟังไม่ขึ้น บอกว่าเอาโทรศัพท์ไปซ่อมแต่บอกไม่ได้ว่าร้านไหน รู้ว่าตัวเองสู้คดีไม่ได้แต่ก็ไม่ยอมรับผิด คนที่ต่อสู้คดีนี้ถ้าไม่มีความรู้ความสามารในการต่อสู้คดีก็แสดงว่าตั้งใจให้คดีเป็นแบบนี้  เหมือนเจตนาให้คดียืดเยื้อ และอาจมีคนพึงพอใจด้วยซ้ำไป ที่มีคนให้เอามาตราหน้าเป็นตัวละครเรียกว่าอากง

ส่วนกรณีเอกอัครราชทูตอเมริกาเกิดจากทวิตเตอร์ ที่มีคนไปล่อถาม ล่อถามแล้วหยิบมาขยายผล แสดงว่าเป็นกระบวนการ กรณีข้าหลวงยูเอ็นก็เป็นการตั้งคำถามล่อในเรื่องสิทธิเสรีภาพ แล้วก็เอามาปะติดปะต่อข่าว ในลักษณะให้เห็นว่าโลกล้อมประเทศไทยอยู่ กดดันเราอยู่ แล้วก็มีฝ่ายการเมืองออกมาว่าย้ำว่าสากลไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ แต่พอศาลยุติธรรมออกมาพูดก็เงียบไปเลย

ประการต่อมาเกิดมวลชนต่อต้านอย่างมโหฬาร เฟซบุ๊กของสถานทูตสหรัฐฯโดนถล่ม ในที่สุดก็ต้องออกมาแถลงการณ์ว่าสหรัฐฯเคารพสถาบันกษัตริย์ไทย โอบามา-ฮิลลารี ได้ถวายพระพรในหลวงในด้วย และเคารพกฎหมายไทย แต่สนับสนุนให้เกิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ไม่มีคำว่าขอโทษเลย เหมือนกับว่าสิ่งที่ตัวเองทำไม่ผิด ทั้งที่ความจริงแล้วการวิพากษ์วิจารณ์แทรกแซงกระบวนการของประเทศไทย ผิดกฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา 2 วรรค 7 ว่าไม่มีอำนาจไหนให้สหประชาชาติ หรือสมาชิก เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น

นายปานเทพ กล่าวอีกว่า ขอยกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อปีที่แล้วที่สหรัฐฯ มีคนเขียนกลอนลักษณะข่มขู่อาฆาตมาดร้ายต่อโอบามา ประธานาธิบดีได้รับเลือกตั้งมาแล้วก็ไป แต่พระมหากษัตริย์อยู่ตลอดรัชกาล มันต่างกันมาก ขนาดชายคนนั้นยังถูกจับกุมขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรม ศาลตัดสินให้จำคุก 33 เดือน หรือเกือบ 3 ปี นี่กระทงเดียว ถ้า 4 กระทง ก็เป็น 12 ปี ถ้าเทียบเคียงแล้ว แม้แต่ผู้นำที่เป็นประธานาธิบดีก็ไม่สามารถถูกข่มขู่ได้ เขาก็มีกฎหมายปกป้องผู้นำประเทศ

เพียงแต่ว่ากระบวนการก็มีปํญหาเหมือนกัน ในการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างเช่นปี 2548 ตำรวจทั่วประเทศฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อนายสนธิ ลิ้มทองกุล และนางสโรชา พรอุดมศักดิ์ ไม่เห็นนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ ออกมาพูดเลย ไม่เห็นคำ ผกา ออกมาโต้แย้งว่าทำไม่ถูกต้อง ในทางตรงกันข้าม นายสนธิพูดถึงดา ตอร์ปิโด กลับโดนข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แบบนี้กระบวนการเป็นปัญหาอยู่เหมือนกัน ถ้าปล่อยให้การเมืองนำไปใช้แบบผิดๆ  

"เพราะว่าเนื้อแท้แล้วเขามีความคิดไม่ใช่กฎหมายเสรีภาพ เขามีความคิดเห็นด้วยต่อการหมิ่นสถาบันฯ หลายคนเห็นชอบและอยากทำอย่างนั้นมานานแล้ว กระบวนการกฎหมายมันอยู่ที่สังคม และวิวัฒนาการของกระบวนการฝ่ายนิติบัญญัติ ว่าออกกฎหมายอย่างไรในสังคมที่เขายอมรับแบบไหน ถ้าโทษหนักไป สังคมก็ต้องบอก ว่าต้องการเปลี่ยนแปลงลดโทษลง หรือถ้าสังคมเห็นว่ามันเป็นกฎหมายในวิธีการในดำเนินคดีความ ก็ต้องสร้างขั้นตอนให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองและดูว่าเจตนานั้นหมิ่น หรือดูอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันกษัตริย์หรือไม่ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  

แต่นี่มันมีความคิดถึงขั้นล้มออกไป ลบออกไป เพื่อตัวเองจะได้มีเสรีภาพในการด่าทอสถาบันฯได้ อันนั้นคนไทยไม่ยอม ดูจากปฏิกิริยาครั้งนี้ที่ประชาชนลุกขึ้นมาพร้อมๆกัน ผ่านกระบวนการเฟซบุ๊ก ชัดเจนมากว่าคนไทยรักและเทิดทูนสถาบันฯ" นายปานเทพ กล่าว

นายปานเทพ ยังกล่าวต่อว่า ด้วยเสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำให้รัฐบาลนี้อยู่ได้ถึง 4 ปี แต่ก็มีคนบางกลุ่มพยายามเคลื่อนไหวเพื่อให้ประชาธิปัตย์กลับมาเป็นรัฐบาล อยากจะเรียนว่าในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ เพราะหากโครงสร้างทางการเมืองที่เป็นแบบนี้ จะเลือกตั้งอีกกี่ครั้งเพื่อไทยก็ชนะ ก็อาจอยู่ในอำนาจไม่ใช่แค่ 4 ปี อาจ 8 ปี ถ้ายังไม่มีใครคิดเปลี่ยนแปลงตัวระบบโครงสร้าง

ประการต่อมาสิ่งที่เข้ามาเป็นระลอกๆ ก่อให้เกิดแรงกดดันเป็นความเสี่ยงต่อรัฐบาลเอง ถามว่าตนมองว่าอะไรเป็นจุดตายของรัฐบาลที่สุด นั่นคือ การเผชิญหน้าของประชาชน ซึ่งมีโอกาสเพราะรัฐบาลต้องการได้ทุกอย่างตามอำเภอใจ บีบคนให้เกลียดมากขึ้น อีกทั้งฝ่ายรัฐบาลลุแก่อำนาจ เสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายหลายประเด็น ส.ส.หลายคนอาจถูกถอดถอนจากตำแหน่ง หรืออาจถึงขั้นยุบพรรคก็ได้ ซึ่งขณะนี้กำลังใกล้ความเสี่ยงมากขึ้น

ประการสุดท้ายกระบวนการไต่สวนผู้เสียชีวิตคนเสื้อแดง กระบวนการผ่านไปแล้ว 30 วัน เหลืออีก 60 วัน ไม่เกินเมษายน ต้องมีทหารเข้าสู่กระบวนการไต่สวน ตนเดาใจทหารว่าไม่มีทางยอมให้ลูกน้องที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาซึ่งเป็นฝ่ายถูกกระทำ ถูกยิง ขึ้นสู่ศาลเมื่อไหร่ ระบบบังคับบัญชาล่มสลายในฝ่ายทหารทันที ฝ่ายหนึ่งถูกมวลชนกดดัน อีกฝ่ายมีข้อจำกัดที่ปล่อยไม่ได้  สถานการณ์เปราะบางมากใน 60 วันที่จะมาถึง มีความเสี่ยงสูงสุดต่อรัฐบาล  

ด้านนายพิภพ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยว่ามันเป็นขบวนการ แต่เราต้องแยกดังนี้ 1. มีขบวนการล้มเจ้าและต้องการเสนอล้มมาตรานี้ เพื่อนำไปสู่การไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สุด อันนี้จะต้องถาม เพราะตราบใดที่ระบอบการปกครองยังมีประมุขอยู่ ทุกประเทศจะมีกฎหมายปกป้องทั้งนั้น ก็ต้องแยกขบวนการล้มเจ้าออกมา อันนี้ต้องตินักวิชาการและนักกฎหมาย ต้องทำเรื่องนี้ให้ชัดเจน ต้องออกมาได้แล้ว อย่าปล่อยให้คลุมเครือ

2.กลุ่มคนที่ต้องการการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และเห็นว่ามาตรา 112 ในกระบวนการวิธีปฏิบัติมีปัญหา ก็ต้องแยกออกมา ซึ่งสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เคยดำเนินการที่จะแก้ปัญหากรณีที่ใครสามารถฟ้องก็ได้ แต่ยังทำไม่สำเร็จ ตอนนี้กฎหมายมีช่องโหว่คือให้ทุกคนมีสิทธิ์ไปฟ้องได้

3.ต้องถามต่อไปว่าถ้าเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงมาตรา 112 จะทำให้กระทบกระเทือนความเป็นสถาบันฯหรือไม่ และยังคงต้องการให้มีสถาบันฯภายใต้รัฐธรรมนูญต่อไปหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องมาดูว่ามาตรา 112 ที่มีขณะนี้ เป็นการทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติเพราะถูกนำไปใช้ผิดๆ หรือเพื่อป้องกันพระเกียรติยศ เราก็ต้องมาจำแนก ต้องมาดูตรงนี้ และทำประเด็นนี้ให้ชัดเจน

นายพิภพ กล่าวอีกว่า ตอนนี้กลุ่มเคลื่อนไหวพยายามจะให้ล้มเลย ถามว่าแล้วจะรักษาพระเกียรติและสถาบันฯด้วยมาตราไหน ซึ่งทุกประเทศเขาก็ต้องมี อันนี้ต้องแยกให้ชัดเจนว่ามาตรา 112 ขณะนี้จำเป็นต้องมี แต่ถูกนำไปใช้ในทางที่อาจทำให้เสื่อมพระเกียรติยศ เรามาพิจารณาเรื่องนี้ว่าจะแก้ไขและปรับปรุงอย่างไร อันนี้ตนคิดว่า นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์  นักกฎหมาย ควรออกมา เอาคดีทั้งหมดขึ้นมาดู และดูว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างไรบ้าง อันนี้ต้องทำเป็นเรื่องเป็นราว

ทุกวันนี้มีการบิดเบือนประเด็น อย่างดา ตอร์ปิโด ก็จะไม่อุทธรณ์ ไม่ขอพระราชทานอภัยโทษ ก็ไม่รู้ว่าเขาคิดอย่างไร ส่วนอากงก็ยังอุทธรณ์ได้ แต่พวกบิดเบือนก็สื่อไม่หมด ทูตอเมริกาก็พลาด คิดว่าถึงเวลาที่สังคมไทยต้องพูดเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง คำถามที่สำคัญคือต้องมีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขต่อไป ต้องทำอย่างไร  



กำลังโหลดความคิดเห็น