xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ดันร่างงบปี 56 แบบขาดดุล 2.4 ล้านล้าน “มาร์ค” สับ 1 ปีก่อหนี้สาธารณะ 1 ล้านล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ยิ่งลักษณ์” ดันร่างงบปี 56 แบบขาดดุล วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท ฟุ้งรัฐบาลได้แก้วิกฤตอุทกภัยจนเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ต่างชาติเชื่อมั่น คาดเก็บรายได้ 2.1 ล้านล้านบาท ศก.ขยายตัว 4-5% เงินเฟ้อ 3.8% วาง 8 ยุทธศาสตร์ เดินหน้าบริหารประเทศ ด้าน “มาร์ค” อัดรัฐบาลปูจัดตัวเลขลวงตา ขาดการวางแผนรองรับเศรษฐกิจผันผวน บริหารแผ่นดินไม่ถึง 1 ปี ก่อหนี้สาธารณะจากนโยบายที่ผิดพลาดรวมแล้วเกือบ 1 ล้านล้านบาท ห่วงรีดภาษีรายได้ซ้ำเติมประชาชน


วันนี้ (21 พ.ค.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฏรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวรายงานในหลักการและเหตุผลว่า รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 เป็นจำนวนไม่เกิน 2,400,000,000,000 บาท เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นได้มีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 สำหรับใช้เป็นหลักในการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ซึ่งนับแต่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ประเทศไทยเผชิญกับมหาอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง แต่ได้ดำเนินการทุกวิถีทางในการเร่งแก้ไขปัญหา ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว รวมทั้งกำหนดแนวทางและมาตรการเพื่อจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและสถานการณ์วิกฤตต่างๆ และด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการเร่งดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุน รวมทั้งระบบเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน รัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกระดับรายได้ของประชาชนให้เกิดความเป็นธรรมและทั่วถึง ผ่านมาตรการและโครงการต่างๆ เช่น การเพิ่มรายได้ของแรงงานและผู้จบปริญญาตรี โครงการรับจำนำสินค้าเกษตร เป็นต้น ควบคู่กับการพัฒนาสังคมและการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม เพื่อให้ประเทศและสังคมไทยสามารถพัฒนาไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปของโลก

แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2556 จึงเป็นงบประมาณแบบขาดดุล โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ 2 ประการ คือ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล ที่มีผลต่อการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูกลไกทางเศรษฐกิจและสังคมให้สามารถดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และเร่งรัดให้เศรษฐกิจขยายตัว กระจายผลประโยชน์สู่ประชาชนโดยตรงและทั่วถึงและเพื่อวางรากฐานต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาวให้ประเทศและสังคมไทยมีความเข้มแข็งทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม และรองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ภายนอกประเทศได้อย่างเหมาะสมและเท่าทัน

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 56 คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 4-5% อัตราเงินเฟ้อประมาณ 3.8% โดยปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญยังคงมาจากอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเรื่อง ส่วนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะมาตรการด้านการฟื้นฟูประเทศ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและลอจิสติกส์ การยกระดับคุณภาพชีวิตและการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการเพิ่มรายได้ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง

“ปัจจัยที่ต้องพึงระวังในการบริหารเศรษฐกิจปี 56 ได้แก่ ราคาสินค้าเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภคที่อาจมีแนวโน้มสูงขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันและราคาวัตถุดิบในตลาดโลกยังคงผันผวนอยู่ในระดับสูงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นและการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงจากปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศยุโรปที่อยู่ในระดับสูง” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว

ส่วนการประมาณการจัดเก็บรายได้สุทธิ 2,197,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% จากปีก่อน และเมื่อหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาลจำนวน 2.1 ล้านล้านบาท หรือ 16.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

นอกจากนี้ รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณไว้ 8 ยุทธศาสตร์ เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นใช้เป็นเป็นกรอบและแนวทาง คือ 1. การสร้างรากฐานการพัฒนาที่สมดุลสู่สังคม จำนวน 4.9 แสนล้านบาท หรือ 20.5% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมดเพื่อดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนสำคัญ เช่น การสร้างความปรองดองสมานฉันท์และพื้นฟูประชาธิปไตย จำนวน 413 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ปละความสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ โดยสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมให้ความรู้สร้างความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รณรงค์ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ปลูกฝังจิตสำนึกรวมทั้งการใช้กลไกในระดับพื้นที่ในการขับเคลื่อนวิถีประชาธิปไตย

อีกทั้งยังการจัดงบในการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ 4.3 หมื่นล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงการบริหารจัดการโครงข่ายลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ในการป้องกันอุทกภัยและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง การลดภาระค่าครองชีพ ส่งเสริมและรักษาเสถียรภาพราคาพลังงาน จำนวน 1.4 พันล้านบาท เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรม การพัฒนาระบบประกันสุขภาพ จำนวน 1.9 แสนล้านบาท เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ

2. ความมั่นคงแห่งรัฐ จำนวน 2.04 แสนล้านบาท หรือ 8.5% ของวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น เพื่อดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ จำนวน 12,506.8 ล้านบาท เพื่อเทิดทูน พิทักษ์ และธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ มิให้มีการล่วงละเมิด โดยพัฒนาระบบถวายความปลอดภัย ส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกให้มีความจงรักภักดี เทิดทูน ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนส่งเสริมและเผยแพร่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้ประชาชนตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณ และน้อมนำการดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง

3. การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน จำนวน 2.2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น9.5%ของวงเงินงบประมาณ 4. การศึกษา คุณธรรม จริยธรรม คุณภาพชีวิต และความเท่าเทียมกันในสังคม จำนวน 6.2 แสนล้านบาทหรือคิดเป็น 26.1%ของวงเงินงบประมาณ เพื่อสร้างและกระจายโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึงและเป็นธรรม ได้จัดสรรงบประมาณ และพัฒนาด้านสาธารณสุข ได้จัดสรรงบประมาณ 5. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 5.7หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.4 ของวงเงินงบประมาณเพื่อดำเนินงานสำคัญ เช่น การจัดการทรัพยากรน้ำ ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนา อนุรักษ์ และใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการภัยพิบัติ จำนวน 1.8 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการป้องกัน เตือนภัยให้มีความรวดเร็ว แม่นยำและทันเหตุการณ์ การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ จำนวน 107.4 ล้านบาท

6 .การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม จำนวน 1.9 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 0.8%ของวงเงินงบประมาณ ยุทธศาสตร์ที่ 7.การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศจำนวน 7.9 พันล้านบาทหรือคิดเป็น 0.3% ของวงเงินงบประมาณ และ 8. การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีจำนวน 3.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 13.8 % ของวงเงินงบประมาณ

จากนั้นสมาชิกได้ทยอยอภิปรายแสดงความเห็น เริ่มจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร ในการจัดงบประมาณของรัฐบาลยังไม่ตอบโจทย์ว่าจะสามารถนำไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดีขึ้นหรือการสร้างความเสมอภาคทางโครงสร้างความยากจนความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยในส่วนของการประมาณการทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 5.5- 6.5% ถือว่าสูงพอสมควร แต่เป็นตัวเลขหลายตัวเป็นภาพลวงตา เพราะการขยายตัวในระดับดังกล่าวอยู่บนเหตุผลที่จะเกิดแรงขับเคลือนของกรบริโภค การลงทุนของเอกชนเพื่อฟื้นฟูความเสียหายหลังอุทกภัย เพื่อให้กลับมามีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนช่วงก่อนน้ำท่วม แต่ไม่ได้สะท้อนสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การจัดงบประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุล 3 แสนล้าน​ ตัวเลขเสมือนจะทำให้การบริหารจัดการหนี้สาธารณะมีเสถียรภาพ แต่ยังไม่นับรวมกับการก่อหนี้ผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท โดยภาพรวมแล้วรัฐบาลทำงานมาไม่ถึงหนึ่งปีคำนวณแล้วก่อหนี้สาธารณะจากหนี้ และจากนโยบายที่ผิดพลาดรวมแล้วเกือบ 1 ล้านล้านบาท และรัฐบาลยังไม่ได้ตอบโจทย์การจัดงบประมาณเพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งในรูปแบบการบริหาร โดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปยังไม่น่าไว้วางใจ จึงจำเป็นต้องดูแลเงินทุกบาท การใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งและเป็นธรรม

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้มีการพูดโต้แย้งกันว่า​สถานการณ์ขณะนี้ แพงทั้งแผ่นดิน หรือถูกทั้งแผ่นดิน ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วมีทั้งแพงและทั้งถูก ที่ถูกคือราคาสินค้าการเกษตรที่ตกต่ำเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเดือดร้อน​ การจะจัดงบประมาณอีก 3 แสนล้านเพื่อนำไปทำโครงการรับจำนำซึ่งเชื่อว่าจะขาดทุนอีก 1 แสนล้านบาทใน 1 ปี จะเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณอีก นอกจากนี้ ยังเกิดปัญหาเกษตรกรไม่สามารถเข้าโครงการรับจำนำเข้าทุกเม็ดตันละ 1.5 หมื่นล้านบาทได้ การนำเงินไปชดเชยความเสียหายนับแสนล้านบาทไม่ถึงมือประชาชนโดยตรง ซึ่งหากทำให้ถึงมือประชาชนอย่างทั่วถึงก็จะเป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลคงทำใจยากที่จะยกเลิก โครงการนี้เพราะเป็นนโยบายที่รัฐบาลตั้งใจจะนำมาทดแทนโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งมีการใช้งบชัดเจน 3-4 หมื่นล้านบาท

ส่วนในเรื่องของแพงนั้นรัฐบาลตั้งงบไว้ 1,459.7 ล้านบาท ซึ่งแปลกใจว่าสวนทางกับสิ่งที่คนในรัฐบาลออกมาปฏิเสธว่าไม่มีปัญหาเรื่องของแพง แต่เหตุใดต้องใช้งบประมาณจำนวนนี้มาแก้ปัญหา ดังนั้น ถ้าเชื่อว่าของไม่แพงจริงก็ไม่ควรตั้งงบส่วนนี้ไว้ หรืออย่าเอาไปทำการตลาดเพื่อโฆษณาว่าของไม่แพง ซึ่งส่วนหนึ่งที่เกิดปัญหาของแพงก็มาจากนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลโดยเฉพาะนโยบายเรื่องพลังงานที่กระทบต่อต้นทุนราคาสินค้าอื่นๆ

“การจะนำงบประมาณ 1,459 ล้านไปจำหน่ายสินค้าราคาถูกนั้น เป็นการนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้ อีกทั้งไม่สามารถกระจายไปถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นโครงการ ธงฟ้า หรือ ร้านถูกใจ ซึ่งตั้งใจจะเปิด 2,000 ล้านบาท แต่สัปดาห์ที่ผ่านมายังเปิดได้แค่ร้านเดียวที่กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งการปล่อยให้ราคาสินค้าราคาสูง จะทำให้เงินเฟ้อสูงมีผลต่อการบริหารจัดการเศรษฐกิจภาพรวม”

ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวอีกว่า การประเมินว่ารัฐจะจัดเก็บรายได้ 2.1 ล้านล้านบาท จะต้องชี้แจงว่าจะมาจาการขึ้นภาษีอีกหรือไม่ ซึ่งเข้าใจว่าจะเป็นเช่นนั้น ดังนั้นงบประมาณกำลังจะกลายเป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชน ซึ่งมีคนในแวดวงระบุว่ามีแนวคิดที่จะเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชน ซ้ำเติมค่าครองชีพที่สูงขึ้น และรัฐบาลต้องส่งเสริมเศรษฐกิจในภาพรวมไม่ใช่แค่นโยบายประชานิยม ที่ไม่เพิ่มขีดความสามารถในระยะยาว เพราะการเปลี่ยนแปลงในอีก 3 ปี ซึ่งจะต้องเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่งบประมาณที่เห็นยังเป็นเพียงแค่โครงการจัดอบรม แต่ไม่พอเพียงไม่มีงบประมาณในส่วนของการรองรับการปรับตัวภาคธุรกิจกับการแข่งขันที่เปลี่ยนไป

ส่วนของงบประมาณด้านการศึกษารัฐบาลมุ่งเน้นไปที่โครงการแทบเล็ต 2 พันกว่าล้านบาท แต่ในส่วนของงบวิจัยไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง สกว. แต่ยังมีเครือข่ายมหาวิทยาลัย ที่เคยได้รับงบหลายพันล้านบาทแต่รัฐบาลนี้กลับถูกปรับลดลงจำนวนมาก อีกทั้งในส่วนของอาชีวศึกษานอกจากไม่ได้รับการสนใจแล้วยังถูกซ้ำเติมด้วยนโยบายเงินเดือนคนจบปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท ไม่เห็นการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศให้เป็นธรรม โดยเฉพาะการเกษตร และอุตสาหกรรบริการอย่างการท่องเที่ยว ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับการปรับลดงบประมาณทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกระทรวงเกษตร ซึ่งไม่ทราบว่าเพราะเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่แล้วหรือจึงถูกตัดงบทั้งที่เป็นส่วนที่จำเป็นอยากให้ดูแลเพราะรายได้ที่เข้ามาจะกระจายไปในชุมชนอย่างทั่วถึงเป็นธรรม นอกจากนี้ ในส่วนนโยบายลดความเลื่อมล้ำทางที่ดินอย่างธนาคารที่ดินงบประมาณถูกปรับลดลงเหลือ 48.2 ล้านบาท จากรัฐบาลที่แล้วเคยให้ถึง 700 ล้านบาท ในขณะที่นโยบายเรื่องภาษีที่ดินรัฐบาลก็เพิกเฉย

ส่วนงบประมาณที่นำไปสู่ความปรองดองประมาณ 400 ล้านบาท แต่ความเป็นจริงการทำเรื่องเหล่านี้ให้เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ที่จะใช้เงินเท่าไหร่ แต่อยู่ที่การจัดสรรทรัพยากรอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม หลายโครงการทั้งกองทุนหมู่บ้าน กองทุนพัฒนาสตรี หรือการเยียวยาผู้ชุมนุมซึ่งต้องใช้เงินเป็นหลักพันล้านแต่ยังไม่ปรากฏในงบประมาณ ส่วนนี้อยากให้ระวังจะจะนำไปความขัดแย้งเพิ่มเติม ไม่เช่นนั้นงบ 400 ล้านบาทก็จะสูญเปล่า

นายอภิสิทธ์กล่าวย้ำว่า เรื่องการใช้งบประมาณต้องอย่าให้รั่วไหลเพราะที่ผ่านมางบกลาง 1.2 แสนล้านบาทที่นำไปใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมไม่มีหลักประกันความโปร่งใส การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปด้วยวิธีพิเศษซึ่งอยากให้รัฐบาลเปิดเผยรายละเอียด และในงบประมาณส่วนจากพ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่ระบุเหตุผลถึงความจำเป็นเร่งด่วนแต่ตัวเลข ณ วันที่ 8 พ.ค. พบว่ามีการเบิกจ่ายไป 2.4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น





กำลังโหลดความคิดเห็น