xs
xsm
sm
md
lg

“โกร่ง” ชี้ ทิศทาง ศก.โลกเปลี่ยน แนะจุดแข็งหนุนไทยก้าวสู่ภาคอุตฯ ชั้นนำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“วีรพงษ์” ร่ายมนต์กำหนดทิศทาง ศก.ไทย หลังก้าวสู่อุตสาหกรมชั้นนำ ชี้แนวโน้ม ศก.โลก ย้ายขั้วจาก ตต. สู่เอเชีย หนุนไทยได้เปรียบ แนะรัฐบาลต้องเร่งปรับโครงสร้างพื้นฐาน-ระบบขนส่ง เพื่อรองรับการขยายตัว แต่ไม่คาดหวังจะทำได้ 100%

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวบรรยายพิเศษในงานสัมมนาเรื่อง “เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ : การสร้างภูมิคุ้มกัน” ที่จัดโดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม วุฒิสภา

ดร.วีรพงษ์ มองว่า อำนาจการเป็นผู้นำของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ได้ย้ายมาอยู่ในแถบเอเชีย เช่น จีน อินเดีย แทนอเมริกา และยุโรป ที่ได้ลดความสำคัญลง และจากการเปิดประเทศของประเทศพม่านั้น ถือว่าประเทศไทยมีส่วนได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ เพราะมีพรมแดนติดกันเป็นระยะทางกว่า 1.5 พันกิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม สถานะของประเทศไทยขณะนี้มีความล้าหลังมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมองว่ามี 2 เรื่องที่ต้องเร่งพัฒนา คือ 1.โครงสร้างด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านการขนส่ง เช่น สนามบิน ที่ขณะนี้ที่รองรับผู้ใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เกินขีดความสามารถแล้ว โดยปีที่ผ่านมา มีจำนวน 48 ล้านคน ทั้งที่ ความสามารถทำได้เพียง 36 ล้านคนเท่านั้น

ดังนั้น สิ่งที่ตนได้ทำแผนให้แก่รัฐบาลนอกจากจะขยายสนามบินสุวรรณภูมิ เฟสสอง ที่ต้องใช้เวลาถึง 6 ปีแล้ว จำเป็นต้องพัฒนาสนามบินดอนเมืองให้กลับมาใช้ ซึ่งขณะนี้สายการบินของแอร์เอเชีย ตอบรับว่าจะเข้าร่วมงานส่วนดังกล่าว ทั้งนี้ยังติดปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อกับสนามบินสุวรรณภูมิ

นอกจากนี้ ตนจึงมีความคิดว่าจะใช้ชัตเตอร์บัสเข้ามาดูแลการขนส่งประเด็นนี้ ส่วนแผนระยะยาวได้คิดให้ทำแอร์พอร์ตลิงก์ เชื่อมจากสถานีมักกะสัน มายังสนามบินดอนเมือง แต่ก็ต้องใช้เวลานานถึง 3 ปี

“สายการบินของไทยที่เก่าแก่ ตอนนี้ขายได้เฉพาะรอยยิ้มเท่านั้น ดังนั้น เราต้องสนับสนุนให้เขาลงทุนใหม่ รัฐบาลต้องยอมไปค้ำประกันหนี้ให้เขา ทั้งนี้ ต้องดูว่ากฎหมายอนุญาตมากน้อยแค่ไหน”

ดร.วีรพงษ์ กล่าวต่อว่า เราต้องพัฒนานิคมอุตสาหกรรมหนัก ที่ขณะนี้มีเพียงพื้นที่ตะวันออกเท่านั้น แต่ในพื้นที่ตะวันออกมีปัญหาคือ ขาดการพัฒนาแหล่งน้ำจืด ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาเรื่องดังกล่าว ตั้งแต่เมืองปากน้ำ จ.สมุทรปราการ เมืองแปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี จันทบุรี และระยอง

ส่วนภาคอุตคสาหกรรมเบา เช่น การผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ ฮาร์ดดิสก์ ควรขยายพื้นที่สร้างแหล่งนิคมอุตสาหกรรม และส่งเสริมภาคการบิน เช่น ที่จ.เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี เพื่อมารองรับการขนส่งชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมเบาด้วย ขณะที่พื้นที่ภาคใต้ควรพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว

นายวีรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ต้องพัฒนาระบบเทคโนโลยี (ไอที) รวมถึงค่าใช้บริการด้านดังกล่าวให้มีราคาถูก ทั้งนี้ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากเดิมที่คิดจะหารายได้เข้ารัฐวิสาหกิจอย่างเดียว ต้องเปลี่ยนเป็นให้รัฐบาลเข้ามากำหนดราคา ต้องเปิดประมูลว่าจะให้รัฐบาลเท่าไร และไม่ยึดว่าใครให้มากกว่าชนะ เพราะจะทำให้เกิดการผลักภาระไปยังผู้บริโภคได้

“การคิดทำการใหญ่ ต้อมีความมั่นใจ และแน่ใจว่าทำให้ได้ สิ่งหนึ่งที่ผมต้องการปฏิรูป คือ การขนส่งระบบรางที่บ้านเราล้าสมัยมาก ผมจะไม่รื้อรถไฟรางคู่ หรือรถไฟหวานเย็นที่เป็นของคนจน แต่ต้องเสริมไฮบรีดราง สำหรับวิ่งโดยสาร ที่มีความเร็ว 250-300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และไว้ขนส่งสินค้า วิ่งได้ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และไม่ตกรางบ่อย”

นายกฯ เคยประกาศว่าจะสร้างรถไฟความเร็วสูงสายแรกจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เมื่อทำงานจริงพบว่า ต้องเวนคืนที่คืนมากกว่าที่กำหนด และใช้เวลานานหลายปี เอาง่ายๆ สร้างแค่กรุงเทพฯ-พิษณุโลกก่อน เมื่อทำเสร็จค่อยขยายไปยัง จ.เชียงใหม่ เพราะหากรอก็ไม่ได้ทำสักที

ส่วนสายอีสาน ที่บอกว่าจะทำถึงหนองคาย ผมมองว่าให้ทำถึงแค่โคราชก่อน เพราะแถบนั้นเรียกว่าเป็นดงพญาเย็น กว่าออกแบบเสร็จก็นาน สายตะวันออก ที่เดิมบอกว่าจะทำถึงท่าเรือแหลมฉบังให้ทำแค่พัทยาก่อน เพราะยังมีปัญหาเรื่องของจำนวนผู้ใช้บริการ และสายใต้ ผมมองให้ทำเฟสแรกถึง อ.หัวหิน จ.ประจวบคิรีขันธ์ ส่วนที่อื่นๆ ก็ทำเฟสต่อไป

นอกจากนั้นแล้ว การพัฒนาระบบราง จำเป็นต้องมีการคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศจีน ที่ได้จับมือกับประเทศญี่ปุ่นในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่ทวาย ซึ่งประเทศไทยจะเป็นจุดผ่าน ดังนั้น ต้องคุยว่าจะพัฒนาระบบรางให้เป็นมาตรฐานเพื่อรองรับในส่วนดังกล่าวอย่างไร ทั้งนี้ โครงการที่ตนเสนอจะสามารถทำได้ภายใน10 ปี และมีค่าใช้จ่าย 2.2 ล้านล้าน หรือ 6หมื่นล้านดอลล่าห์

นายวีรพงษ์ กล่าวว่า ต้องพัฒนาในส่วนของสังคม การศึกษาควบคู่กันไป สิ่งแรกที่ต้องดู คือ แรงงาน ขณะนี้ประเทศไทยขาดแคลนแรงงาน แต่ยังไม่รู้สึก เพราะมีคนจากเพื่อนบ้าน ประมาณ 8-10 ล้านคน ที่แอบมาทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องคิดเรื่องการศึกษา การฝึกอบรม การยกระดับฝีมือแรงงาน

“อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก ต้องให้ย้ายไปที่ประเทศเพื่อนบ้าน อุตสาหกรรมที่ไม่มีประสิทธิภาพจะอยู่ไม่ได้ เพราะความทันสมัยเข้ามาแทนที่ ดังนั้น ระบบทางด้านสังคมต้องมีการลงทุนและดูแลมากขึ้น อีกทางหนึ่งที่ห่วงกันมาก คือ ช่องว่างระหว่างรายได้ของประชากร ทั้งนี้ เราต้องเปลี่ยนความคิดว่าช่องว่างระหว่างรายได้ ไม่ใช่ตัวที่ทำให้เกิดความตึงเครียดในสังคม แต่ความแตกต่างกันของรายจ่ายต่างหากที่ทำให้เกิดความตึงเครียดของคน”

นายวีรพงษ์ กล่าวเสริมว่า มาตรการทางภาษีถือเป็นด้านลบที่ทำลายความจูงใจการลงทุน เพราะมาตรการทางภาษีอย่างเดียวเป็นแค่การหารายได้ให้แก่รัฐบาล ซึ่งความคิดสมัยใหม่ คือการลดช่องว่างความเป็นอยู่ โดยเป็นรายจ่ายของรัฐบาลในโครงการต่างๆ เพรามาตรการทางภาษีก็มีข้อยกเว้นจำนวนมาก

ส่วนกรณีที่มีการพูดกันมาก คือ ภาษีทรัพย์สิน ได้คิดเมื่อสมัยที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นนายกฯ ทั้งนี้ ประเทศไทยดีอยู่อย่าง คือ คนรวย คนจน มีที่อยู่ใกล้กันหมด ถ้าเก็บภาษีสูง คนจนจะอยู่ในที่ที่แพงไม่ได้ เพราะไม่มีเงินเสียภาษี ในที่สุดจะกลายเป็นย่านคนรวยและย่านคนจน แบบยุโรปและอเมริกา ซึ่งจะสร้างความแตกแยกในสังคมมากยิ่งขึ้น แล้วคนจนจะต้องขายที่มาเสียภาษี เพราะผ่าไปอยู่ที่คนรวย

อย่างไรก็ดี ในที่สุดจึงได้เปลี่ยน เพราะเก็บภาษีที่ดินตอนขายในอัตราก้าวหน้าถึง 20% ของมูลค่าในการขาย ถ้าได้มรดกมา ตอนโอนจากกองมรดกเป็นของทายาทไม่เก็บภาษี แต่หากทายาทขายเก็บภาษี ถ้าเกิดไปใช้ภาษีที่ดินประจำปีก็ต้องเลิกอันนี้ ซึ่งตนว่าอันนี้ดีกว่าอันนั้น เพราะตนอยู่ร่วมกับคณะที่พิจารณาในเรื่องดังกล่าวในสมัยนั้น

ตรงนี้ ไม่ใช่ว่าเราไม่มีภาษีทรัพย์สิน แต่เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่เหมือนกับยุโรปหรืออเมริกา เพราะเราเก็บภาษีหลังการขาย และเป็นภาษีที่ทำให้คนไม่อยากขายที่ แต่ภาษีประจำปีที่นักวิชาการพูดกัน เป็นภาษีที่บีบให้ขายที่ ผลจะกลับกันคนละอย่าง เพราะภาษีดังกล่าวในตอนบูม เคยได้ภาษีถึง 2-3 หมื่นล้านบาท/ปี ซึ่งถือว่ามาก และดีอย่างตอนซบเซา คนซื้อขายที่น้อย ภาษีก็เก็บได้น้อย เพราะตอนบูมภาษีที่ได้มากเป็นตัวดึงเศรษฐกิจไม่ให้ร้อนแรง

ดังนั้น การที่มีคนถามว่า 2.2 ล้านล้าน ใน 10 ปี ข้างหน้า จะระดมทุนแบบไหน จากเงินออมที่เรามีอยู่เกินการลงทุน ทางหนึ่งคือ การขึ้นภาษี และอีกทางคือ กู้จากประชาชนจากตลาดทุน ซึ่งเห็นว่าหนี้สาธารณะของประเทศยังไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นหนี้รัฐวิสาหกิจ ที่สามารถบริหารต้นและดอกได้ จึงยังไม่น่าขึ้นภาษีในช่วงนี้ ควรจะระดมทุนผ่านตลาดทุนโดยการออกพันธบัตรเงินบาทมากกว่า

ถ้าจะขึ้นภาษีที่ได้เป็นกอบเป็นกำ ก็ควรเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนภาษีอย่างอื่นมันมีอยู่แล้วทั้งนั้น แล้วแนวโน้มข้างหน้าการแข่งขันระหว่างประเทศค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลไทยสูงกว่าเพื่อนบ้านและคู่แข่ง จะขึ้นไปอีกก็คงไม่ได้ ควรจะมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ลดลง ซึ่งขณะนี้ โครงการต่างๆ ก็ยังล่าช้า จึงยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องขึ้นภาษี และภาษีที่ควรจะขึ้นในทางการเมืองก็ยาก เพราะฝ่ายการเมืองไม่ชอบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งไม่ทราบว่าทำไม

“ทั้งๆ ที่เป็นภาษีหนีได้ยาก ฐานใหญ่กว่าภาษีอื่นๆ ทั้งหมด ดังนั้น อยากให้ฝ่ายการเมือง รัฐสภา วุฒิสภา ลองคิดดู ว่าภาษีที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดขณะนี้ คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าขึ้นอันนี้ 1% ขณะนี้ได้ภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 6 หมื่นล้านบาท และสามารถนำไปลดภาษีอย่างอื่นได้มากขึ้น”

นอกจากนั้น บริการต่างๆ ของประชาชนผ่านทางด้านรายจ่าย การเสริมสร้างประสิทธิภาพในการลงทุนรากหญ้า ส่วนคนรายได้ชั้นต่ำ รายได้น้อย 5 แสนล้านบาท รัฐบาลได้มาปรึกษาตน ซึ่งก็บอกให้ระวัง เพราะจะถูกโจมตีเรื่องวินัยของผู้กู้ แต่ที่ผ่านมาจากการพักหนี้ เมื่อตอนรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ 1 ก็เคยทำ หรือเวลามีภัยพิบัติน้ำท่วมก็มีการพักหนี้ให้ แต่ปรากฎว่าผู้มีรายได้น้อยในชนบท ไม่เสียวินัย หรือเครดิตทางการเงินเลย

หลังจาก 3 ปี ก็กลับมาเดินบัญชีตามเดิมไม่มีผิดแปลกไปจากปกติ ดังนั้น ข้อกังวลในเรื่องดังกล่าวจึงไม่จริง ข้อที่สอง การพักหนี้จะสร้างภาระให้รัฐบาล 3 หมื่นล้านบาท ใน 3 ปี แต่ก็ตกลงกันว่า สถาบันการเงินของรัฐบาลรับไปครึ่งหนึ่ง 1.5 หมื่นล้านบาท และรัฐบาลรับอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือ ซึ่งก็ไม่ได้อยู่ในวิสัยที่เป็นภาระหนักอะไร ซึ่งเราก็คาดหวังว่าเขาจะลงทุนในการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการผลิต เพราะค่าแรงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และควรลงทุนในเครื่องจักร เครื่องกลในการเกษตร หรือเครื่องมือเครื่องไม้สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมมากยิ่งขึ้น

สำหรับกองทุนหมู่บ้านถือว่าประสบความสำเร็จอยู่มาก เม็ดเงินไม่ได้หายไปไหน และมากขึ้นด้วย และน่าจะพิจารณาหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จที่จะเพิ่มวงเงินให้ เพราะไม่ได้หายไปไหน หากสามารถพัฒนาไปเป็นนิติบุคคลขึ้นมาได้ ซึ่งอาจใช้ชื่อธนาคารไม่ได้ เพราะผิด พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ ก็น่าจะพิจารณา

“เชื่อว่ากองทุนพัฒนาสตรีก็เหมือนกองทุนหมู่บ้าน ที่เป็นการลงทุนของรัฐบาลในระดับรากหญ้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และลดช่องว่างในเรื่องฐานะความเป็นอยู่รวมถึงคุณภาพของชีวิตระหว่างคนรวย คนจน ลงได้”

ส่วน 30 บาทรักษาทุกโรคประสบความสำเร็จมาก รัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี ไม่เข้าใจไปยกเลิกเก็บ 30 บาท แต่เรื่องดังกล่าวมีจุดประสงค์คือ ให้เขามีศักดิ์ศรี ไม่ใช่คนไข้อนาถา เข้าไปในโรงพยาบาลอย่างมีศักดิ์ศรีเพราะเขาจ่าย และเขายินดีจะจ่าย อันนี้น่าจะเอากลับมาใหม่ ดีกว่าเดินเข้าไป และขอความเมตตาจากผอ.โรงพยาบาล รวมถึงขยาย แม้ตอนนี้การบริการเหมือนเดิมแต่ไม่ต้องจ่าย ซึ่งไม่คิดว่าเขาชอบ

“ทั้งหมดเป็นวิสัยทัศน์ที่ผมมอบให้นายกฯ แต่เรียนอยู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ้าสอบได้ 60% ก็ได้ปริญญา แต่ถ้าได้ 75% ได้เกียรตินิยมอันดับ 2 ถ้า 85% ขึ้นไป ได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ผมไม่ได้หวังว่าจะสามารถทำได้ 100%” นายวีรพงษ์ กล่าวสรุปทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น