xs
xsm
sm
md
lg

“ธีรยุทธ” ชี้ “แม้ว” ผู้นำการตลาด บารมีสูงเทียบ “ป๋า” - เรียกกลับมาติดคุกพร้อมหนุนนิรโทษฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย แถลงข่าวในหัวข้อ “การวิเคราะห์การเมืองไทย แนวโน้มของวิกฤตปัจจุบัน” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
“ธีรยุทธ” วิเคราะห์วิกฤตชาติ ยก “ทักษิณ” อิทธิพลเทียบ “สฤษดิ์-ป๋าเปรม” แต่เป็นผู้นำการตลาดมากกว่าจะสร้างประชาธิปไตยยั่งยืน กวักมือเรียกกลับมาติดคุก พร้อมช่วยเชียร์ให้ได้นิรโทษฯ ดักคออย่าเร่งเกมหวั่นมวลชนเผชิญหน้ายืดเยื้อ ปรามกองทัพอย่าริรัฐประหารอีก มิช่นนั้นชาติเจ๊งถาวร แขวะ “ปู” ได้รางวัลผู้นำแต่งตัวดีแน่ แนะ “มาร์ค” เลิกจ้อตามประเด็นเล็กน้อย เน้นลงลึดรายละเอียดดีกว่า

วันที่ 18 มี.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย แถลงข่าวในหัวข้อ “การวิเคราะห์การเมืองไทย แนวโน้มของวิกฤตปัจจุบัน” โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ขอเรียกการเมืองปัจจุบันว่าเป็น “ยุคทักษิณ การเมืองรากหญ้า ประชานิยม” ที่น่าสนใจว่า แม้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หลบหนีคดีอยู่นอกประเทศ แต่ว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา พรรคการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชนะเลือกตั้งตลอด และขยายฐานรากหญ้าคนเสื้อแดง รวมพลไปเลือกตั้งหรือชุมนุมประท้วงได้กว้างขวาง ดังนั้นต้องถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนักการเมืองที่มีบารมีในช่วงหลังปี 2500 ร่วมกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณจะช่วยให้การเมืองไทยดีขึ้นหรือประเทศล่มจมเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันอีกพอสมควร

“ส่วนตัวผมอยากให้คุณทักษิณกลับเมืองไทย เพราะคิดถึงเพื่อนเก่า ขาประจำซึ่งกันและกัน คุณทักษิณเคยท้าพนันผมผ่านสื่อเมื่อราวปี 2546 ว่าแกจะหลุดออกจากอำนาจ หรือเสื้อกั๊กของผมจะขาดก่อนกัน แต่ตอนนี้แกก็ออกไปจากประเทศเกือบ 6 ปีแล้ว เสื้อกั๊กผมก็ขาดแล้วเหมือนกัน ถือว่าเจ๊ากัน ผมคิดว่าถ้าคุณทักษิณกลับมารับโทษ หาทางสู้คดีอย่างลูกผู้ชาย ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่เห็นใจอยากให้มีนิรโทษกรรม ผมจะช่วยถ้าหากคุณทักษิณกลับมายอมรับติดคุก เพื่อเป็นการรักษาระบบยุติธรรมของบ้านเรา” นายธีรยุทธกล่าว

นายธีรยุทธกล่าวต่อถึงประเด็นวิกฤตการเมืองไทยที่มีความรุนแรงว่า เกิดจากการไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน ไม่ยอมรับการดำรงอยู่ของอีกฝ่าย เพราะมองว่าไม่ใช่ของจริง เช่น ฝ่ายอนุรักษนิยมมองเสื้อแดงว่าไม่มีตัวตนเพราะถูกจ้างมา ไร้การศึกษา ขณะที่ฝั่งรากหญ้ามองว่านโยบายสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนโครงการต่างๆ นโยบายการปราบปรามยาเสพติด ได้ช่วยคนจน เป็นการช่วยเหลือทางวัตถุโดยตรงและจริงจังแก่ชาวบ้าน ในขณะเดียวกันก็ไม่ยอมรับคนเสื้อเหลือง มองเป็นพวกที่ไม่มีเหตุผล ความคิดคลั่งชาติมากเกินไป

นายธีรยุทธกล่าวต่อถึงรากเหง้าวิกฤตของปัญหาประเทศว่า 1. เกิดจากการรวมศูนย์อำนาจมากเกินไป จนศูนย์กลางเอาไม่อยู่ กล่าวคือ รัฐเชิดชูความเป็นส่วนกลาง และกดเหยียดความเป็นอยู่เดิมทำให้เกิดความไม่เหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ความน้อยเนื้อต่ำใจในหลายๆ ด้านยังฝังลึก ทุกอย่างรวมศูนย์ที่รัฐ ทั้งอำนาจและทรัพยากร กระทั่งชนชั้นนำที่เข้ามามีอำนาจการเมืองล้วนหยิบฉวยใช้ประโยชน์จากรัฐทั้งสิ้น ขณะที่ชาวบ้านเกือบไม่เคยได้อะไรจากรัฐ ทั้งนี้ ความไม่ชอบธรรมเนื่องจากการรวมศูนย์มากเกินไป ส่งผลในทุกมิติ เช่น ความเหลื่อมล้ำในเรื่องรายได้ คุณภาพชีวิต อำนาจในการใช้ทรัพยากรพื้นฐาน สุขอนามัย ประวัติศาสตร์ความภาคภูมิใจ ภาษาขนบธรรมเนียมท้องถิ่นหายไป 2. ความต่างในค่านิยม ความคิดพื้นฐานระหว่างรากหญ้ากับชนชั้นนำที่แตกต่างกัน ตอกย้ำความไม่เข้าใจกันเพิ่มมากขึ้น

นายธีรยุทธกล่าวด้วยว่า จะเข้าใจปรากฏการณ์คนเสื้อแดงได้ดีขึ้น เริ่มจากการมองทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยให้ลึกระดับโครงสร้าง โดยมองเห็นวงจรการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจการเมืองที่ซ้อนทับอยู่ คือ ชนบทเป็นแหล่งที่มาของทรัพยากร แรงงานที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นแหล่งที่มาที่ชอบธรรมให้กับประชาธิปไตย ส่วนเมืองเป็นแหล่งผลิตทรัพยากร และเป็นผู้ใช้อำนาจประชาธิปไตย และเพื่อให้วงจรนี้ดำรงต่อไปก็มีการครอบงำชาวบ้าน โดยวาทกรรมความสำคัญของศูนย์กลาง ของประชาธิปไตยคนดี และมาตรการสุดท้ายคือ การรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านรู้ดีว่าอำนาจต่อรองทำให้เกิดผลประโยชน์ได้ เมื่อคนเมืองต้องการให้พวกเขาเลือกตั้ง เกิดการซื้อ-ขายเสียงอย่างเป็นระบบ การของบโครงการเข้าหมู่บ้านจึงเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2521 และขยายตัวเรื่อยมา และในมุมของชาวบ้านนี่คือการแบ่งปัน ขอคืนทรัพยากรของชาวชนบท ทั้งนี้ การเกิดขึ้นของการเมืองรากหญ้าจึงเสมือนเป็นกระบวนการย้อนกลับที่จะดึงเอาอำนาจ ความมั่งคั่ง ศักดิ์ศรี ความภูมิใจ กลับคืนสู่ชนบท

นายธีรยุทธกล่าวว่า การเมืองไทยกำลังก่อรูปเป็น 2 ศูนย์อำนาจ คือ ศูนย์อำนาจฝ่ายอนุรักษนิยม กับศูนย์อำนาจรากหญ้า ซึ่งเป็นภาวะที่น่าสนใจและน่าเป็นห่วง เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ผ่านมา เพราะภาวะ 2 ศูนย์อำนาจจะแบ่งประเทศเป็น 2 ส่วน และแต่ละส่วนมีฐานที่มั่นที่มีความชอบธรรม การควบคุมอำนาจที่แตกต่างกัน อาทิ กลุ่มอนุรักษนิยมจะควบคุมสังคมในด้านความชอบธรรมจากจารีตประเพณี คุมชนชั้นกลาง ตุลาการ จิตวิญญาณ ชนชั้นกลาง ชั้นสูง ชาวบ้านที่มีความคิดแนวอนุรักษนิยม นามธรรมความดี ส่วนกลุ่มรากหญ้าควบคุมได้ในเชิงการบริหาร งบประมาณ การออกกฎหมาย การเลือกตั้ง ได้รับความนิยมจากชาวบ้าน รากหญ้า ชนบท นักธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อย เป็นต้น ทั้งนี้เป็นที่มาของความต่างระหว่างประชาธิปไตยกินได้ของชาวบ้าน กับประชาธิปไตยดูได้ของชนชั้นสูง อย่างไรก็ตาม มองว่ากลุ่มรากหญ้านับวันยิ่งขยายตัวเร็วขึ้น ขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยมอยู่กับที่และยิ่งเสื่อมถอยลง

นายธีรยุทธยังได้กล่าวในส่วนของบทสรุปว่า ในระยะเวลาอันใกล้นี้จะยังคงไม่มีทางออก แต่จะมีสิ่งที่ต้องทำเพื่อทางออกในระยะยาว พร้อมอธิบายว่าปัญหาฝังลึกมานาน ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าถูกเอาเปรียบ ไม่มีปากเสียงมานาน ขณะที่อีกฝ่ายศรัทธาในสถาบันที่อยู่คู่บ้านเมืองมานาน ต่างฝ่ายระแวงว่าอีกฝ่ายจะล้มล้างหรือซ้ำเติมฝ่ายตน ขณะที่การขยายตัวของขั้วระบอบทักษิณ และรากหญ้า ก็มีโอกาสทำให้เกิดการแตกร้าวระดับโครงสร้างและสถาบันมากขึ้น และจะขัดแย้งรุนแรงหากขยายไปสู่สถาบันกองทัพ และศาล อย่างไรก็ตาม บ้านเมืองอาจจะผ่านความรุนแรงไปได้ หาก พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทย ไม่พยายามกดดันให้เกิดการเผชิญหน้าของมวลชน และใช้เวลาในการแก้ไขความไม่ถูกต้อง โดยมุ่งในเชิงโครงสร้างและค่านิยม

นายธีรยุทธกล่าวด้วยว่า สังคมจำเป็นต้องมีการปรับกระบวนทัศน์ หรือแม่บทความคิดใหม่ ทั้งในด้านการเมือง การปกครอง การปฏิรูปปรับปรุงสถาบัน องค์กรสำคัญต่างๆ อาทิ สถาบันพระมหากษัตริย์ ที่นักวิชาการที่ใกล้ชิดราชสำนัก เช่น นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส หรือนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ควรที่จะค้นคว้าเพื่อสร้างความรู้ที่ถูกต้องว่าสถาบันควรดำรงอยู่ในระบบเสรีประชาธิปไตยและโลกาภิวัตน์อย่างไร

“ผมไม่เห็นด้วยกับนักวิชาการอนุรักษ์สุดขั้ว ที่พยายามหวนกลับมายกย่องให้พระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ มีพระราชอำนาจทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งเป็นการย้อนยุค สถาบันกษัตริย์ที่จะดำรงอยู่ในสังคมและโลกยุคข่าวสารได้อย่างยั่งยืนต้องเป็นสถาบันที่มีสถานะเป็นสัญลักษณ์ของประเทศอย่างแท้จริง” ผอ.สถาบันสัญญาฯ กล่าว

นายธีรยุทธกล่าวต่อว่า แม้ว่านโยบายประชานิยมจะมีส่วนดีในหลายด้าน แต่ก็ล้มเหลวที่สุดในประเทศที่เคยใช้มาแล้ว เพราะทำให้เกิดปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน และเงินเฟ้อที่รุนแรง ดังนั้นสังคมต้องช่วยกันกดดัน วิพากษ์วิจารณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทย ที่จะพัฒนาและเปลี่ยนรูปแบบนโยบายนี้ในทางที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ผู้ที่ควรมีส่วนร่วมคิดผลักดันในเรื่องเหล่านี้ควรที่จะเป็นนักวิชาการเสื้อเหลือง-เสื้อแดง และนักวิชาการทั่วไปที่ไม่ยึดแนวสุดขั้วจนปฏิเสธอีกฝ่ายหนึ่ง อีกทั้งภาคธุรกิจที่อยู่ตรงกลางความขัดแย้ง แต่มีผลได้เสียมากที่สุดก็ควรที่จะมีบทบาทชดเชยสิ่งที่ควรทำและไม่ได้ทำ ด้วยการลงทุนสร้างความยุติธรรม บรรยากาศ ค่านิยมประชาธิปไตยให้กว้างขวางที่สุด

นายธีรยุทธกล่าวย้ำอีกว่า สิ่งที่สังคมไทยต้องทำเพื่อทางออกในระยะยาวนั้น คือ ทุกฝ่ายต้องเคารพสิทธิของผู้อื่น ขณะเดียวกัน ต้องเคารพสิทธิและกล้าใช้สิทธิของตัวเองด้วย โดยไม่ควรให้ฝ่ายใดทำความรุนแรงเกินเหตุ เช่น การยึดทำเนียบรัฐบาล การล้มประชุมระดับนานาชาติ การยึดสนามบินสุวรรณภูมิ รวมไปถึงการยึดสี่แยกราชประสงค์ จนเกิดการปราบปรามและเผาราชประสงค์อีกต่อไป และแม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะอ้างว่าทำด้วยเจตนามุ่งหมายที่ดี แต่เมื่อเกิดผลเสียหายขึ้นแล้วก็ต้องมีผ็รับผิดชอบ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเท่าเทียม ส่วนจะมีการนิรโทษกรรมหรือไม่ สังคมต้องร่วมกันพิจารณา

ในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น นายธีรยุทธมองว่า ไม่เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณต้องการสร้างประชาธิปไตยรากหญ้าที่แท้จริง จะเห็นได้จากที่ผ่านมาไม่เคยปราศรัยในประเด็นการสร้างความยั่งยืนใดๆ มีเพียงการอ้อนวอนขอกลับมาเมืองไทย ดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ถือว่าเป็นผ็นำการตลาด มากกว่าผู้นำประชาธิปไตย มุ่งหวังเพียงให้รากหญ้ามาซื้อสินค้าของตนเองอย่างสม่ำเสมอ มากกว่าให้รากหญ้าเป็นรากฐานที่ยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจ หรือเป็นขบวนการการเมืองที่มีเป้าหมายอุดมการณ์ เท่ากับว่าต้องการให้ประเทศแตกแยก ขัดแย้งใช้ความรุนแรงต่อกัน เพื่อแก้ปัญหาซุกหุ้น ซุกภาษี ความไม่รู้จักอิ่มในทรัพย์สิน และอำนาจของตัวเองเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามกระบวนการเรียกร้องให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในขณะนี้ที่อาจส่งผลต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และการเมืองไทย นายธีรยุทธตอบว่า ส่วนตัวคิดว่าในอนาคตจะมีการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรงมากขึ้น ดังนั้น สังคมไทยต้องเปิดพื้นที่เสรีภาพในการร่วมกันรับผิดชอบประเทศในมทุกมิติทุกปัญหา ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นส่วนหนึ่งในพทื้นที่เสรีภาพดังกล่าวที่ต้องมีการพูดถึง โดยตนจะสนับสนุนให้มีการพูดหรือวิเคราะห์ปัญหาในทางกว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบบเสรีประชาธิปไตย และในโลกาภิวัตน์ เพื่อเสนอแนะหนทาง ส่วนเรื่องมาตรา 112 นั้น หากพูดในเชิงหลักการ เบื้องต้นอยากให้นักคิดนักวิชาการที่มีความรู้ในเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องสถาบันและการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ มาถกเถียงกันถึงสถานะ บทบาท หน้าที่อำนาจภารกิจให้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ตนจะออกมาพูดในเรื่องนี้โดยเฉพาะอีกครั้งในเร็วๆ นี้

“ถ้าเรื่องมาตรา 112 โดยตรงนั้น โดยส่วนตัวผมรู้สึกเป็นปลายทางของการถกเถียง ต้องให้มีการถกในหลักการใหญ่ๆ ให้ได้ก่อน และปัญหาเหล่านี้จะได้คำตอบ ก่อนอื่นนักกฎหมายต้องช่วยกันนิยามคำว่าพระบรมเดชานุภาพคืออะไร เพราะตอนนี้พูดกันคนละทาง ทั้งตำรวจ ศาล นักวิชาการ และชาวบ้าน หากไม่รู้ความหมายจะตกลงกันไม่ได้ ดังนั้น การหมิ่นที่ไม่เข้าใจชัดเจนจะถูกตีความหลากหลาย ผมมองเห็นทางหากมองภารกิจหน้าที่ของสถาบันจะรู้ว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นอย่างไร และจะไม่ถูกใช้มั่วๆ หรือใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง” นายธีรยุทธกล่าว

เมื่อถามถึงหากฝ่ายการเมืองใช้หลักการตลาดในช่วงเปลี่ยนผ่าน ประเทศไทยจะเป็นไปในทิศทางไหน กล่าวว่า ต้องถือว่าน่าผิดหวัง กล่าวรากหญ้าสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ที่มีอำนาจเชิงงบประมาณ หากใช้เพื่อการตื่นตัวในทางอำนาจ การบริหารทรัพยากรท้องถิ่น แต่หากใช้เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ จะเกิดผลเสียที่นักเศรษฐศาสตร์วิจารณ์เรื่องประชานิยม ทำเกิดเงินเฟ้อ และเสียหายต่ออัตราแลกเปลี่ยน

เมื่อถามต่อว่า ด้วยบรรยากาศการเมืองในปัจจุบันจะนำไปสู่การนองเลือดหรือไม่ นายธีรยุทธกล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อ เกิดปัญหาเป็นระลอกๆ อย่างในช่วงปลายปีนี้ หากสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็เชื่อว่าจะมีฝ่ายที่ไม่ยอมร่วมลงประชามติด้วย และจะมีการรวมตัวรณรงค์เพื่อให้เกิดการยอมรับ ซึ่งถึงตอนนั้นรัฐจะไม่สามารถควบคุมได้ สุดท้ายจะมีมวลชนออกมาผลักดันในสิ่งที่ตนสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ไม่คิดว่าจะมีมวลชนออกมาทั้งสองฝ่าย เพราะเชื่อว่าคนเบื่อและอ่อนล้าแล้ว ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องไม่พยายามผลักดัน ควรให้เวลาช่วยเสาะหาหนทาง เพราะเมื่อเกิดความรุนแรงย่อยๆ สถานการณ์จะไม่หยุด จนหากมีรัฐประหารอีกครั้งประเทศไทยเราจะพังอย่างเด็ดขาด ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องอย่าคิดทำ

ถามต่ออีกว่า เหตุใดจึงมองว่าไม่สามารถเกิดการปรองดองรอมชอมได้ในระยะเวลาอันสั้น นายธีรยุทธกล่าวว่า หากเป็นความปรองดองที่ระบุว่าให้เขียนนิรโทษกรรมคดีความทั้งหมดที่เกิดจาก คตส. และให้ผ่านรัฐธรรมนูญด้วยการลงประชามติ เชื่อว่าการคัดค้านจะมีพลังพอสมควร เพราะมีปัจจัยที่สะเทือนไปถึงระบบยุติธรรม จากที่หลายคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว หากทำก็เหมือนไปล้มล้างคำพิพากษาของศาล เป็นเรื่องที่มีน้ำหนักความรุนแรงของปัญหา ประการต่อมา หากล้มล้างคดีความได้ ก็ต้องถือว่าเครื่องมือของฝ่ายอนุรักษ์ที่ใช้ในการแก้ปัญหา คือ รัฐประหาร 19 ก.ย.49 เป็นเครื่องมือสุดท้าย และพลังอนุรักษนิยมไม่สามารถนำมาใช้ ดังนั้นฝ่ายอนุรักษนิยมจะไม่ยอมในเรื่องนี้แน่นอน

ผู้สื่อข่าวให้ประเมินถึงการทำงานของรัฐบาลปัจจุบัน นายธีรยุทธกล่าวว่า มองว่าหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยี่ยมคนต่างจังหวัดบ่อยๆ จะเป็นผลดีต่อคะแนนนิยม เพราะต้องยอมรับว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นคนที่แต่งตัวสวย ชาวบ้านเห็นแล้วชอบ เช่นเดียวกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทั้งคู่เป็นคนที่เป็นคนหนุ่มคนสาว มีการศึกษาดี

“ผมขอเป็นหมอดูทำนายว่า คุณยิ่งลักษณ์จะติดอันดับ 1 ในผู้นำที่แต่งตัวดีที่สุดในโลกในปลายปีนี้ และจะได้คะแนนนิยมเยอะมาก เพราะเป็นคนสวยแต่งตัวดี ยิ้มแย้ม ชาวบ้านจะรักมาก เรียกได้ว่าเป็นยิ่งลักษณ์โฟโตจีนิก คือถ่ายรูปขึ้น ผมให้กำลังใจและสนับสนุนให้ไปเยี่ยมชาวบ้านบ่อยๆ จะเป็นผล เพราะคน กทม.ไม่ชอบนายกฯ เท่าไร ต้องไปหาฐานที่ต่างจังหวัด ส่วนคุณอภิสิทธิ์เคยคิดจะตั้งฉายาว่ามาร์คเมาอู้ ที่พูดจนคนเมา จึงอยากแนะนำให้คุณอภิสิทธิ์ปรับแนวทางมาเจาะประเด็นลึกๆ มากกว่า และควรที่จะเขียนบทความมากกว่าให้สัมภาษณ์ในประเด็นปลีกย่อยของอีกฝ่าย” นายธีรยุทธระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น