xs
xsm
sm
md
lg

“นพดล” เดือดแทนนาย! สับ “ธีรยุทธ” วิพากษ์อคติป้ายสี “ทักษิณ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฏหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (แฟ้มภาพ)
“นพเหล่” ชี้ไม่แปลก “ธีรยุทธ” โผล่วิพากษ์เพื่อไทย สับอคติ “แม้ว” จวกไม่พูดรัฐประหาร, ตั้ง คตส., ยุบไทยรักไทย, 2 มาตรฐาน โอ่ “ปู” เร่งสร้างปรองดอง สับพล่ามประชานิยมล้มเหลว สรุปไม่ตรงข้อเท็จจริง โว “ทักษิณ” ชนะเลือกตั้ง 3 หน ยังไม่ใช่ผู้นำประชาธิปไตยอีกหรือ ยันไม่เคยมองเป็นลูกค้า แต่ให้ประชาธิปไตยที่กินได้ ชี้ ส่อหมิ่นประมาทใส่ร้ายป้ายสี

วันนี้ (19 มี.ค.) ที่พรรคเพื่อไทย นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีที่ดินรัชดาฯ กล่าวถึงกรณีที่ นายธีรยุทธ บุญมี ได้แถลงการวิเคราะห์การเมืองไทยแนวโน้มของวิกฤตปัจจุบัน ว่า เรื่องนี้ไม่อยู่เหนือความคาดหมาย และเป็นไปตามเทศกาล และคิดอยู่แล้วว่าเมื่อเพื่อไทยเป็นรัฐบาล นายธีรยุทธ จะใส่เสื้อกั๊กออกมาวิเคราะห์การเมืองไทยแน่นอน หลังจากที่หายไปช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล แม้ไม่เห็นด้วยในบางประเด็น แต่ก็เคารพสิทธิและเสรีภาพทางวิชาการของนายธีรยุทธ ซึ่งเนื้อหาการวิเคราะห์การเมืองไทยของนายธีรยุทธโดยทั่วไป ก็ถือว่า สะท้อนปัญหาและเสนอทางออกการเมืองไทยได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังมีการละเลยและละเว้นที่จะพูดถึงปัญหาสำคัญของประเทศอย่างถึงแก่น และยังมีอคติและความไม่เข้าใจต่อตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ในหลายประเด็น

นายนพดล กล่าวต่อว่า การวิเคราะห์การเมืองไทยของ นายธีรยุทธ จงใจที่จะละเลยไม่พูดถึงการยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากประชาชน 19 ล้านเสียง ซึ่งเป็นการทำลายการพัฒนาประชาธิปไตย และส่งเสริมวัฒนธรรมอำนาจนิยมว่าอำนาจ คือ ความถูกต้อง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่สร้างความแตกแยกของคนในชาติ และทำลายความฝันและความหวังของคนไทยที่จะได้รับจากนโยบายของรัฐบาลที่ประชาชนเลือกเข้ามา นายธีรยุทธ ไม่ได้พูดถึงการทำลายหลักนิติธรรมที่ตั้งผู้เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองมาตรวจสอบทรัพย์สินของอดีตนายกรัฐมนตรีในรูปแบบ คตส.นายธีรยุทธ ไม่พูดถึงการใช้กฎหมายย้อนหลังยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการพรรคการเมือง นายธีรยุทธ ไม่พูดถึงความอยุติธรรมที่กฎหมายสูงสุดของประเทศ คือ รัฐธรรมนูญปี 50 ได้สร้างขึ้น เช่น มาตรา 237 ที่เขียนขึ้นมาเพื่อทำลายความเข้มแข็งของฝ่ายบริหารและขุดหลุมพรางของการยุบพรรค และตัดสิทธิ์นักการเมืองที่เป็นกรรมการบริหาร แม้ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในการกระทำความผิด และที่สำคัญที่สุด นายธีรยุทธ ละเลยไม่พูดถึงการแทรกแซงกระบวนการตัดสินของฝ่ายตุลาการในบางกรณีจนทำให้คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นมี 1 ประเทศ แต่ 2 มาตรฐาน

ส่วนกรณีที่ นายธีรยุทธ ระบุว่า การขยายตัวของขั้วทักษิณ-รากหญ้า มีโอกาสทำให้เกิดการแตกร้าวระดับโครงสร้างและสถาบันมากขึ้นนั้น นายนพดล กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยในการวิเคราะห์นี้เพราะรัฐบาลของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีนโยบายเร่งด่วนที่จะสร้างความปรองดองของคนในชาติโดยยึดมั่นในนิติรัฐและนิติธรรม การสร้างความเท่าเทียมกันและการสร้างประชาธิปไตยโดยผ่านกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ให้เป็นประชาธิปไตย ทั้งนี้ถ้า นายธีรยุทธ เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขความไม่ถูกต้อง ตนก็อยากให้นายธีรยุทธ ได้เรียกร้องให้นักการเมืองฝ่ายค้าน รวมถึงแนวร่วม และกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ได้ดำเนินการทางการเมืองอย่างมีวุฒิภาวะและสร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน

นายนพดล ยังกล่าวต่อว่า ตนไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปของนายธีรยุทธ ที่ว่านโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทยจะล้มเหลวในท้ายที่สุด คำว่า ประชานิยมเป็นคำกว้าง และมิได้เป็นสิ่งเลวและมิได้หมายความว่า นโยบายทุกนโยบายของพรรคเพื่อไทยเป็นประชานิยม นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค นโยบายการสร้างโอกาสให้คนยากจนเข้าถึงเงินทุน เช่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุน SML การให้ทุนนักเรียนไปเรียนต่อต่างประเทศ โครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ ที่ปลดปล่อยศักยภาพของคนในท้องถิ่น นโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายที่ยั่งยืนที่จะลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน แม้กระทั่งองค์การอนามัยโลกยังยกย่อง โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่จะใช้เป็นโมเดลที่ใช้ไปทั่วโลก การพูดแบบเหมารวมของนายธีรยุทธ ว่านโยบายประชานิยมเป็นสิ่งเลวร้ายไปทั้งหมดเป็นการสรุปที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและเต็มไปด้วยหมอกควันทางวิชาการ

นายนพดล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ นายธีรยุทธ สรุปว่า ตนเองเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้เชื่อมั่นการสร้างประชาธิปไตยรากหญ้าจริงๆ จะเห็นได้จากการอ้างว่าเวลาปราศรัยกับชาวบ้านไม่ได้เห็นโครงสร้างแบบยั่งยืนและสรุปว่าพ.ต.ท.ทักษิณมีลักษณะการเป็นผู้นำทางการตลาดมากกว่าผู้นำประชาธิปไตย ในประเด็นนี้ตนไม่เห็นเหตุและผลของนายธีรยุทธ แต่เห็นอคติ ทัศนคติทางการเมือง ความรู้สึกของนายธีรยุทธอย่างชัดเจน พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นมหาเศรษฐีก่อนเข้าสู่สนามเลือกตั้งให้ประชาชนเลือกก่อนเป็นนายกรัฐมนตรีและสร้างประวัติศาสตร์ชนะการเลือกตั้งถึง 3 สมัยติดต่อกัน และสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ถ้าประชาธิปไตย คือ การปกครองที่ประชาชนเป็นผู้กำหนดและตัดสินความเป็นไปของบ้านเมือง การผ่านการตัดสินของประชาชนและชนะการเลือกตั้งอย่างท้วมท้นถึง 3 ครั้ง ยังไม่เพียงพออีกหรือที่จะเรียกว่าเป็นผู้นำทางประชาธิปไตยและถ้าไม่ถูกยึดอำนาจไปเสียก่อนก็จะชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 4

“นายธีรยุทธ มีสิทธิ์ที่จะเชื่อตามที่ตนเองอยากจะเชื่อซึ่งผมไม่ขอลบหลู่ แต่ประชาชน 10 กว่าล้านคนไม่เชื่อนายธีรยุทธ” นายนพดล กล่าว

นายนพดล กล่าวอีกว่า นายธีรยุทธ ยังสรุปว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มุ่งหวังให้รากหญ้าเป็นลูกค้าซื้อสินค้าของตนเป็นประจำสม่ำเสมอมากกว่าจะใช้รากหญ้าเป็นรากฐานมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย ซึ่งเท่ากับประเทศเราแตกแยก ด่าทอกันเอง ใช้ความรุนแรงต่อกันเพียงเพื่อแก้ปัญหาการซุกหุ้น หนีภาษี ความไม่รู้จักอิ่มในทรัพย์สิน อำนาจของพ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น ในประเด็นนี้ข้อสรุปของนายธีรยุทธ ได้ลดความน่าเชื่อถือและคุณค่าการวิเคราะห์ทางวิชาการลงไปมาก ข้อสรุปสวนทางกับความจริง 180 องศา เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เคยมองรากหญ้าเป็นลูกค้าที่มาซื้อสินค้าของตนแต่มองว่าประชาชนเพื่อนร่วมชาติควรจะได้รับโอกาสจากการบริหารจัดการทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพ มีนโยบายที่เป็นรูปธรรมที่เรียกว่าประชาธิปไตยที่กินได้

“น่าเสียดายที่นักวิชาการอย่างนายธีรยุทธ ไม่ได้เก็บข้อมูลนโยบายและความสำเร็จของพ.ต.ท.ทักษิณที่เป็นมรดกทางการเมืองเช่นที่กล่าวมาแล้ว โครงการ 30บาทรักษาทุกโรคที่คนจนไม่ต้องตายเพราะไม่มีเงินผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ โครงการ SML และกองทุนหมู่บ้านที่คนจนลืมตาอ้าปากได้เพราะมีแหล่งเงินทุนและไม่ต้องขูดรีดจากนายทุนเงินกู้ โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนที่ให้นักเรียนชนบทไปเรียนต่อต่างประเทศปีละร่วมพันทุน การคืนลูกหลานให้พ่อแม่จากการปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง หรือการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิจนเสร็จ ไม่ว่าจะมองมุมใดก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นนโยบายที่ฉาบฉวยแต่เป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้กับประเทศ การสรุปว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้รากหญ้าเพื่อแก้ปัญหาการซุกหุ้น หนีภาษี ความไม่รู้จักอิ่มในทรัพย์สิน และอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นข้อสรุปที่ถือไม่ได้ว่าเป็นงานทางวิชาการ แต่เป็นการรำพึงรำพันทางวิชาการที่สะท้อนความรู้สึกและอคติของนายธีรยุทธ ซึ่งทำให้เห็นว่านายธีรยุทธ ยังไม่หลุดพ้นจากกรอบความคิดของคนบางกลุ่มในสังคมไทยที่ปฏิเสธการรับรู้ถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมแต่ใช้อคตินำทางสู่ข้อสรุป นอกจากนั้น ข้อสรุปของนายธีรยุทธหมิ่นเหม่และเข้าข่ายการใส่ร้ายป้ายสีและเป็นการหมิ่นประมาท พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งนักวิชาการที่มีมาตรฐานไม่พึงกระทำ อาจทำให้ นายธีรยุทธ ถูกมองว่า เป็นขาประจำที่มาตามนัด เพื่อฟัดพ.ต.ท.ทักษิณ เท่านั้น” นายนพดล กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น