xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ธีรยุทธ” ตอบโจทย์ ทำไม “อำมาตย์” ตีบตัน ทำไม “รากหญ้า” เฟื่องฟู ทำไม “บิ๊กบัง” เปลี่ยนสี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธีรยุทธ บุญมี
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-หลังจากหายหน้าหายตาไป 2 ปี การกลับมาสวม “เสื้อกั๊ก” ชำแหละการเมืองไทยอีกครั้งของ “ธีรยุทธ บุญมี” ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2555 ก็ยังคงสร้างแรงกระเพื่อมและความสั่นสะเทือนทางการเมืองได้อย่างคงเส้นคงวา

โดยประเด็นใหญ่ที่สุดในการใส่เสื้อกั๊กวิพากษ์วิจารณ์บ้านเมืองครั้งนี้ อาจารย์ธีรยุทธพุ่งเป้าไปที่ 2 กลุ่มการเมืองที่เขามองว่าทรงอิทธิพลยิ่งแห่งราชอาณาจักรไทย อันได้แก่ กลุ่มอำมาตย์และกลุ่มรากหญ้า พร้อมทั้งนำไปเชื่อมโยงกับตัวละครทางการเมืองอย่าง นช.ทักษิณ ชินวัตร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ทั้งนี้ ภายหลังการเผยแพร่ความคิดต่อสาธารณชนได้ก่อให้เกิดคำถามตามมามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฝั่งเสื้อแดงที่ดาหน้ากันออกมาตอบโต้ ทั้งนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์และนายนพดล ปัทมะ เนื่องเพราะอาจารย์ธีรยุทธชี้เอาไว้ชัดเจนว่า นช.ทักษิณจะต้องกลับมารับโทษเสียก่อน กลับมาสารภาพอย่างลูกผู้ชายว่าผิด จากนั้นจึงหาทางสู้คดี ซึ่งเป็นการวิจารณ์ที่ไปกระทบกับนายทาสของตัวเอง

ทว่า ประเด็นใหญ่ที่สุดอยู่ตรงที่ 2 คำถามสำคัญคือ

หนึ่ง -ทำไมอาจารย์ธีรยุทธถึงมองว่า รากหญ้าที่ยึดโยงอยู่กับระบอบทักษิณกำลังจะเฟื่องฟู

และสอง-ทำไมอาจารย์ธีรยุทธถึงมองว่า กลุ่มอำมาตย์กำลังถึงทางตีบตัน ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ทั้งระบอบทักษิณและระบอบอำมาตย์จำเป็นจะต้องถอดบทเรียนทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอำมาตย์หรือฝ่ายอนุรักษ์ที่นับวันจะเพลี่ยงพล้ำมากขึ้นเป็นลำดับ

หรือแปลความด้วยคำถามเรียบๆ ง่ายๆ ว่า ทำไมอำมาตย์ถึงกำลังพ่ายแพ้ต่อระบอบทักษิณ

กรณีรากหญ้า อาจารย์ธีรยุทธวิเคราะห์การเมืองโดยสะท้อนผ่านตัวตนของชายชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้ซึ่งเป็นประมุขสูงสุดของคนเสื้อแดง ด้วยความเห็นว่า ในรอบเกือบ 15 ปีที่ผ่านมา นช.ทักษิณคือผู้มีบารมีทางการเมืองเพราะสามารถชนะการเลือกตั้งและสามารถขยายฐานรากหญ้า เสื้อแดงให้ไปชุมนุมประท้วงได้อย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งยก นช.ทักษิณให้เป็น 1 ใน 3 ของผู้มีบารมีทางการเมืองในช่วงหลัง พ.ศ.2500 ที่มีบทบาทเปลี่ยนโฉมการเมืองไทย เทียบชั้นได้กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

กระนั้นก็ดี อาจารย์ธีรยุทธไม่เชื่อว่า นช.ทักษิณจะมีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะสร้างประชาธิปไตยรากหญ้าจริงๆ ดังเห็นได้จากการปราศรัยกับชาวบ้านที่ไม่เคยได้เห็นประเด็นที่เป็นโครงสร้างที่ยั่งยืน จะมีก็แต่อ้อนวอนขอกลับมาเมืองไทย ดังที่อาจารย์ธีรยุทธเปรียบเปรยเอาไว้ว่า “ทักษิณมีลักษณะเป็นผู้นำการตลาดมากกว่าผู้นำประชาธิปไตย ทักษิณมุ่งหวังรากหญ้าเป็นลูกค้าซื้อสินค้าของตนเป็นประจำสม่ำเสมอ ให้เป็นลูกค้าขาประจำตัวเองมากกว่าจะให้รากหญ้าเป็นรากฐานที่ยั่งยืนมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย”

เหมือนดังเช่นที่ ผศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โต้แย้งเอาไว้ว่า  ในความเป็นจริงแล้วศูนย์อำนาจรากหญ้าเป็นเพียงเปลือกนอกที่ห่อหุ้มของทุนนิยมสามานย์ เพื่อเป็นข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรม และกดทับความเป็นประชาธิปไตยหรือความเห็นที่แตกต่างจากผลประโยชน์ของทุน สามานย์ ทั้งนี้ แม้คนเสื้อแดงจะดำรงอยู่จริง แต่ก็ถูกผนึกรวมให้อยู่ในกลไกของพรรคการเมืองทุนสามานย์ และเป็นจักรกลทางการเมืองของทุนสามานย์ มากกว่าที่จะมีอุดมการณ์และจิตสำนึกทางชนชั้นของตนเอง

สำหรับบทเรียนทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากบทวิเคราะห์ของอาจารย์ธีรยุทธก็คือ ทักษิณสามารถชนะใจรากหญ้าด้วยกรรมวิธีอะไร และทำไมคนรากหญ้าถึงไม่สนใจการกระทำความผิดและการคอรัปชันที่ปรากฏให้เห็นชัดจากคำพิพากษาของศาล ไม่ว่าจะเป็นในคดีที่ดินรัชดาฯ หรือกรณีการยึดทรัพย์ก็ตาม

คำตอบในเรื่องนี้มีบทสรุปที่ชัดเจนยิ่งว่า นั่นมิใช่สิ่งสำคัญหรับรากหญ้า

คนรากหญ้ารับรู้และสัมผัสได้กับสิ่งที่ นช.ทักษิณหยิบยื่นให้จากนโยบายประชานิยมทั้งหลาย เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น แม้ นช.ทักษิณจะไม่ยอมจ่ายแม้สตางค์แดงเดียวก็ตาม ขณะที่รัฐบาลที่พวกเขาถูกล้างสมองว่าเป็นตัวแทนของอำมาตย์ ทั้งรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รวมทั้งรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะมิเคยให้อะไรกับรากหญ้าชนิดที่เป็นรูปธรรมและสัมผัสได้

นี่คือความจริงที่มิอาจปฏิเสธได้

ด้วยเหตุดังกล่าว จงอย่าแปลกใจที่อาจารย์ธีรยุทธจะวิเคราะห์เอาไว้ว่า อำมาตย์กำลังตีบตัน เพราะเมื่อวิเคราะห์ด้วยเหตุและผลก็ต้องบอกว่า มีเค้าลางของความเป็นจริงไม่น้อย ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรากหญ้าอย่างคนเสื้อแดงภายใต้ระบอบทักษิณด้วยแล้วยิ่งเห็นได้ชัด เพราะนอกจากอำมาตย์จะมิได้เลี้ยงและดูแลมวลชนของตนเองให้อยู่ดีกินดีแล้ว ยังพยายามบ่อนทำลายความเข้มแข็งของมวลชนที่มีความคิดเป็นอิสระอีกต่างหาก

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือกรณีที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศนำเงินภาษีของประชาชนร่วม 2,000 ล้านจ่ายให้กับคนเสื้อแดง ตลอดรวมถึงผู้ได้รับการบาดเจ็บ-ล้มตายจากการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลที่คนเสื้อแดงกล่าวหาว่าเป็นรัฐบาลอำมาตย์อย่างรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ กลับมิเคยช่วยเหลือหรือดูแลเฉกเช่นคนเสื้อแดงเลย

ยิ่งกรณีของ “ทหาร” ที่เสียชีวิตจากการหยุดยั้งม็อบเผาบ้านเผาเมืองด้วยแล้ว ก็ยิ่งเห็นชัดเจน เพราะรัฐบาลอภิสิทธิ์และฝั่งอำมาตย์เคยคิดที่จะเยียวยาให้สมกับการปฏิบัติงานที่ทุ่มเททั้งชีวิตและเลือดเนื้อตามคำสั่งบ้างหรือไม่ ซ้ำร้ายทำไปทำมายังส่อแววที่จะปรองดองกับระบอบทักษิณอีกต่างหาก ดังจะเห็นได้จากการที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตัดสินใจตอบรับคำเชิญของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไปร่วม “ปาร์ตี้เอาอยู่” หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “รักประเทศไทย เดินหน้าประเทศไทย” เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 ณ ทำเนียบรัฐบาล

ดังนั้น จงอย่าแปลกใจที่มวลชนคนเสื้อแดง-รากหญ้าจะโตเอาๆ ขณะที่ฝ่ายอำมาตย์กลับสาละวันเตี้ยลงทุกที

ดังนั้น จงอย่าแปลกใจที่ “บิ๊กบัง-พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” ผู้ที่นำกองทำรัฐประหารรัฐบาลทักษิณจะแปรพักตร์ไปรับใช้นายใหญ่ของคนเสื้อแดงอย่างขะมักเขม้นในขณะนี้จนหลายคนพร้อมใจกันมอบตำแหน่งใหม่ให้ด้วยความเต็มใจว่า “ประธาน ค.(คน) ช.(ใช้) ม.(แม้ว)

แน่นอน นี่คือสิ่งที่ นช.ทักษิณเข้าใจอย่างลึกซึ้งด้วยหัวสมองอันชาญฉลาดและนั่นนำไปสู่การวางแผนเพื่อหล่อเลี้ยงมวลชนทั้งเบื้องสูงเบื้องต่ำเอาไว้อย่างอยู่หมัด ดังจะเห็นได้จากโครงการประชานิยมล่าสุดกับการแจก “แท็บเล็ต” ให้เด็กนักเรียนชั้น ป.1 ทั่วประเทศที่กำลังเร่งผลักดันเพื่อซื้อใจมวลชนในขณะนี้ รวมทั้งอีกหลากหลายโครงการด้วยงบประมาณและกระสุนดินดำที่ไม่จำกัด แม้สารพัดโครงการประชานิยมเหล่านั้นบรรดานักวิชาการทั่วโลกจะมองเห็นตรงกันว่า เป็นความล้มเหลวและจะนำระบบการคลังของประเทศไปสู่ความพินาศฉิบหายก็ตาม

เฉกเช่นเดียวกับการทำงานใต้ดินขยายความคิดเชิดชูชนชั้นรากหญ้าด้วยวาทกรรมไพร่-อำมาตย์ในการเปิด “หมู่บ้านเสื้อแดง” กระจายออกไปในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งนั่นคือมวลชนที่ทรงพลังยิ่งของระบอบทักษิณ

กล่าวสำหรับนายอภิสิทธิ์และนางสาวยิ่งลักษณ์นั้น ชัดเจนยิ่งว่า อาจารย์ธีรยุทธไม่ได้ให้ราคาเท่าใดนัก ประหนึ่งว่าทั้งสองคนเป็นหุ่นเชิด มิใช่ผู้นำตัวจริง โดยในช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็มิได้มีผลงานอะไรที่โดดเด่น

เริ่มจากนายกฯ ยิ่งลักษณ์ที่อาจารย์ธีรยุทธระบุว่า “คุณยิ่งลักษณ์แต่งตัวดี สมาร์ทมาก ท่านจะติด 1 ในผู้นำสตรีที่แต่งตัวดีที่สุดของโลกในปลายปี 2555 นี้ และจะได้คะแนนนิยมเยอะมาก เพราะชาวบ้านชอบให้คนสวยแต่งตัวดีๆ ชาวบ้านจะยิ้มย่อง เป็นโฟโต้จีนิกคือถ่ายรูปขึ้น”

แปลไทยเป็นไทยคือ อาจารย์ธีรยุทธกำลังจะบอกต่อสังคมว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์ “ข้างนอกสดใส ข้างในต๊ะติ๊งโหน่ง” หรือถ้าจะให้ฟันธงอย่างเจ็บๆ และโดนๆ ก็ต้องว่า “สวยสมองกลวง” ซึ่งก็คงจะไม่มีคำถามหรือข้อโต้แย้งจากลิ่วล้อตระกูลชิน รวมทั้งเจ้าตัวเท่าใดนัก

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ก็โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างเจ็บแสบด้วยการนำไปเปรียบเทียบกับ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” และตั้งฉายาให้กระซวกเข้าตรงปลายคางนอนดิ้นลงไปกองกับพื้นว่า “มาร์คเมาอู้”

“คุณอภิสิทธิ์ ผมตั้งฉายา มาร์คเมาอู้เหมือนเฉลิมเมารัก คุณอภิสิทธิ์พูดกับชาวบ้านไปเรื่อย ท่านควรเจาะประเด็นลึกๆ มากกว่า คุณอภิสิทธิ์ควรเขียนบทความ คิดลึกๆ มากกว่าสัมภาษณ์ เราต้องการคนที่มีพลังความคิดที่บอกว่าสังคมควรไปทางไหน มากกว่าพูดเรื่องปลีกย่อย”

นายธีรยุทธกำลังจะสื่อสารต่อสังคมใช่หรือไม่ว่า กลุ่มอำมาตย์ล้มเหลวในการเลือกนายอภิสิทธิ์ให้ขึ้นมาบริหารประเทศ เพราะตลอดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ “ดีแต่พูด” มิได้มีผลงานอะไรเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งใครที่เฝ้าติดตามการทำงานก็คงจะรู้ซึ้งถึงสัจธรรมข้อนี้ได้เป็น

ยิ่งเมื่อเจอกรณี “วิกฤตน้ำมันปาล์ม” ด้วยแล้ว ยิ่งสะท้อนให้เห็นความจริงชนิดที่คนไทยลืมไม่ลงกันเลยทีเดียว

เรียกว่า ทั้งนางสาวยิ่งลักษณ์และนายอภิสิทธิ์ไม่มีราคาในสายตาของนายธีรยุทธ

สุดท้ายสิ่งที่น่าสนใจยิ่งก็คือ ภายหลังการตัดสินใจสวมเสื้อกั๊กออกมาวิเคราะห์การเมืองของอาจารย์ธีรยุทธแล้ว จะทำให้ทั้งฝ่ายอำมาตย์และฝ่ายรากหญ้านำกลับไปขบคิดบ้างหรือไม่

ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดงที่มักคุยโวโอ้อวดเสมอว่าเป็นนักประชาธิปไตยก็ควรจะรับฟังความคิดเห็นของอาจารย์ธีรยุทธในประเด็นเหล่านี้ มิใช่แสดงอากัปกิริยาเชลียร์นายอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูเหมือนเช่นที่นายนพดล ปัทมะ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ หรือคนอื่นๆ กระทำ เพราะสิ่งที่อาจารย์ธีรยุทธวิเคราะห์เอาไว้คือความจริง

มิฉะนั้นแล้ว สังคมคงไม่เห็นภาพการทะเลาะกันของคนเสื้อแดงปรากฏให้เห็นเป็นระยะ ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือกรณีการสาวไส้แฉกันไปมาในเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มสมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตย กับ “นายขวัญชัย ไพรพนา” ประธานชมรมคนรักอุดร

หรือกรณีแก๊งแดงจังหวัดนครราชสีมาที่แตกกันเละทะในศึกชิงเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นต้น

เช่นเดียวกับฝ่ายอำมาตย์ในทัศนะของอาจารย์ธีรยุทธที่จะต้องกลับมาทบทวนบทเรียนของตัวเองเช่นกันว่า ทำไมถึงสาละวันเตี้ยลงไปทุกที
กำลังโหลดความคิดเห็น