xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” เตือนรัฐก่อหนี้ซ้ำรอยยุโรป เตือนขายหุ้น ธ.กรุงไทย ทิ้งสุดเสียเปรียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีต รมว.คลัง (ภาพจากแฟ้ม)
“กรณ์” เห็นพ้องผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเตือนรัฐบาลก่อหนี้สาธารณะพุ่งใน 4-5 ปี ชี้ ปชป.เคยเตือนตั้งแต่เป็นรัฐบาลใหม่ๆ แม้จะโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ แต่ก็ไม่พอลงทุนสาธารณูปโภค ลดภาษีนิติบุคคลเอาใจนายทุน แถมผลักดันนโยบายประชานิยมซ้ำเติมโดยไม่ก่อรายได้ หวั่นเกิดวิกฤตหนี้เหมือนยุโรป เตือนขายหุ้นแบงก์กรุงไทยคิดให้ดี เพราะจะไม่มีเครื่องมือกันแบงก์อื่นขูดรีด แถมผู้ประกอบการไทยจะเสียเปรียบเพื่อนบ้าน

วันนี้ (19 เม.ย.) นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงความเป็นห่วงโดยออกมาเตือนให้รัฐบาลระมัดระวังการสร้างหนี้ โดยเกรงว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มถึง 60% ภายใน 4-5 ปีว่า เป็นประเด็นเดียวกับที่พรรคประชาธิปัตย์เคยเตือนตั้งแต่ช่วงที่รัฐบาลเข้ามาบริหารงานใหม่ๆ และแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพราะรัฐบาลปฏิเสธการเดินไปสู่การมีงบสมดุลตามแนวทางและข้อตกลงที่รัฐบาลชุดที่แล้วมีไว้กับกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ว่าจะมีงบสมดุลภายในปี 2558 แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ยืนยันเรื่องนี้ ดังนั้น หากมีการจัดงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องในระดับประมาณ 3% ของจีดีพี หรือ 3-4 แสนล้านบาททุกปี ตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะขยับขึ้นมาอยู่ในระดับประมาณ 60% ตามที่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเป็นห่วง ซึ่งจะเป็นปัญหาเพราะภาระหนี้ต่องบประมาณจะสูงมาก

โดยตอนนี้รัฐบาลได้โอนภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาทให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรับผิดชอบไปแล้ว แต่ปัญหาคืองบประมาณก็ไม่เพียงพอต่อการลงทุนสาธารณูปโภค เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว สุดท้ายรัฐบาลจะต้องลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บภาษีมากขึ้น แต่รัฐบาลกลับมีนโยบายประชานิยมและเอาใจนายทุน ในรูปของการปรับลดภาษีนิติบุคคลก่อนเวลาอันควร ทำให้รายจ่ายเพิ่มขึ้นในขณะที่รายได้ลดลงด้วย โดยรัฐบาลยังไม่มีแนวทางแก้ไข และไม่มีความกล้าทางการเมืองที่จะเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตรน้ำมันในอัตราปกติ ทำให้กระทรวงการคลังขาดรายได้จำนวนมาก อีกทั้งไม่มีการวิเคราะห์ความจำเป็นในการปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งภาษีทรัพย์สินและที่ดิน รัฐบาลก็ปฏิเสธ จึงไม่มีความชัดเจนว่าแหล่งที่มาของรายได้ในอนาคตจะมาจากที่ใด แต่ค่าใช้จ่ายกลับเพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งการสร้างหนี้สาธารณะของรัฐบาล ก็จะเป็นหนี้ของคนไทยทุกคน และจะเป็นข้อจำกัดในการจัดงบประมาณในอนาคตเพื่อลงทุนในโครงการที่มีความสำคัญต่อประเทศ

อดีต รมว.คลังกล่าวด้วยว่า การก่อหนี้สาธารณะของรัฐบาลจะต้องเป็นการกู้เงินที่นำไปใช้อย่างคุ้มค่า และมีความโปร่งใส แต่รัฐบาลก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบการใช้เงินดังกล่าว โดยดูได้จากการใช้งบป้องกันอุทกภัยก็ไม่มีความโปร่งใส แตกต่างจากสมัยรัฐบาลที่แล้วซึ่งเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบทุกรายการจากงบไทยเข้มแข็งผ่านเว็บไซต์ ทั้งรายละเอียดโครงการ การประมูล และความคืบหน้าของโครงการ แต่งบประมาณฟื้นฟูของรัฐบาลปัจจุบันไม่มีความโปร่งใสเลย แม้จะมีเว็บไซต์แต่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้ตรวจสอบ ซึ่งคนในรัฐบาลเองก็ยอมรับว่าการใช้เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาทยังสะเปะสะปะขาดความชัดเจน นอกจากนี้ เม็ดเงินที่กระจายไปยังชุมชนจากนโยบายประชานิยมต่างๆ นั้นก็มีแนวโน้มที่จะถูกใช้ในลักษณะที่ไม่ก่อรายได้ แต่จะเป็นภาระต่อชุมชนเพิ่มเติม เพราะไม่มีความพยายามในการกลั่นกรองความเหมาะสมของโครงการแต่อย่างใด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงไม่แตกต่างจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะการกู้เงินนอกระบบแต่รัฐบาลยังไม่มีนโยบายว่าจะตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร ซึ่งรัฐบาลพยายามจะผลักดันนโยบายพักชำระหนี้ ซึ่งนอกจากจะไม่แก้ปัญหาแล้ว ยังทำลายระบบธนาคารด้วย เพราะการพักหนี้เป็นการเพิ่มสิทธิให้กับผู้มีสิทธิกู้ยืมผ่านธนาคารอยู่แล้ว ไม่ได้ตอบโจทย์คนจนหลายล้านคนที่ไม่สามารถกู้ยืมผ่านธนาคารได้ และยังต้องกู้เงินนอกระบบอยู่

เมื่อถามว่า ประเทศไทยจะประสบภาวะวิกฤตหนี้เหมือนประเทศในแถบยุโรปหรือไม่ นายกรณ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับอนาคตว่ารัฐบาลจะเดินหน้าต่อไปด้วยนโยบายลักษณะนี้โดยไม่มีความชัดเจนในการสร้างรายได้ให้กับประเทศหรือไม่ ก็เชื่อว่าจะมีปัญหาวิกฤตหนี้เกิดขึ้นได้ เพราะเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ไทยมีความเข้มแข็งอยู่ในขณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เกิดโดยนโยบาย ดังนั้น ถ้ารัฐบาลมีแต่จะสร้างความอ่อนแอต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ วิกฤตก็จะกลับมาเยือนประเทศไทยได้ ซึ่งยังไม่สายเกินไปสำหรับรัฐบาลที่จะปรับตัวและปรับนโยบายสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจของประเทศ แต่ถ้ายังเดินหน้านโยบายเช่นนี้เพื่อเอาใจประชาชนหวังได้ฐานคะแนนเสียง ใช้อ้างในการขับเคลื่อนนโยบายทางการเมือง หรือนโยบายส่วนตัว ตนคิดว่าอนาคตของประเทศมีปัญหาแน่

สำหรับกรณีที่มีข้อเสนอให้ขายหุ้นธนาคารกรุงไทยออกไป 5% เพื่อนำเงินมาชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ นั้น นายกรณ์กล่าวว่า เป็นเรื่องของนโยบายรัฐบาล แต่ตนไม่อยากให้คิดว่าการขายหุ้นมีเหตุผลเพื่อชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ เพียงอย่างเดียว เพราะจะมีผลต่อการเปลี่ยนโครงสร้างของธนาคารที่มีความสำคัญต่อนโยบายทางการคลังของรัฐบาลค่อนข้างมาก โดยที่ผ่านมาตนมองว่าธาคารกรุงไทยเป็นเครื่องมือที่สำคัญ เพราะเราไม่ถือว่าเป็นธนาคารของรัฐ แต่เป็นธนาคารพาณิชย์ที่รัฐบาลถือหุ้นใหญ่ ช่วยกำหนดทิศทางและอัตราค่าบริการให้ประชาชน เพราะธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ต้องแข่งกับธนาคารกรุงไทย เช่น ในอดีตตนต้องการลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ให้กับประชาชน ก็มีการเจรจากับธนาคารพาณิชย์ และใช้ธนาคารกรุงไทยเป็นตัวนำในการปรับลดค่าธรรมเนียม เป็นการบังคับกลายๆ ให้ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ด้วยเงื่อนไขของการแข่งขัน ก็มีความจำเป็นต้องปรับอัตราตามธนาคารกรุงไทยซึ่งจะเป็นประโยน์ต่อประชาชน แต่ถ้าขายหุ้นออกไปรัฐบาลก็จะไม่มีเครื่องมือส่วนนี้มาใช้

ทั้งนี้ ตนคิดว่าต้องคิดให้ดี เพราะที่ผ่านมารัฐบาลประชาธิปัตย์ก็คิดว่าไม่คุ้มจึงประกาศชัดว่าจะไม่มีการขายหุ้นธนาคารกรุงไทยที่รัฐถืออยู่ เนื่องจากเป็นเครื่องมือสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีธนาคารจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำธุรกิจในไทยมากมาย ในขณะที่ธนาคารของไทยที่เคยมีขนาดกิจการใหญ่ที่สุดในอาเซียนตอนนี้กลับมามีบทบาทในการขยายฐานธุรกิจออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เป็นเพราะอัตราการทำกำไรในตลาดภายในประเทศดีมากจนไม่จำเป็นต้องขยายฐานไปแข่งขันในประเทศอื่น ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยและนักธุรกิจไทยที่กำลังจะลงทุนในอาเซียนจะเสียเปรียบ ไม่สามารถใช้บริการธนาคารไทยในกรณีไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านได้ จึงเห็นว่าควรมีนโยบายให้ธนาคารกรุงไทยไปปักธงธนาคารพาณิชย์ไทยในประเทศต่างๆ แต่ถ้าขายหุ้นธนาคารกรุงไทยออกไปก็กำหนดนโยบายแบบนี้ไม่ได้ จะทำให้บริษัทไทยและผู้ประกอบการไทยเสียประโยชน์จากการพึ่งพาธนาคารไทยในการไปทำธุรกิจในต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น