xs
xsm
sm
md
lg

ค่าต๋งแบงก์ยุติ โต้งโวได้ข้อสรุป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “กิตติรัตน์” ฟุ้งได้ข้อสรุปแล้ว ค่าต๋งแบงก์ใช้หนี้กองทุนฟื้นฟู เผยตัวเลขสุดท้าย ธปท.ตกลงกับแบงก์โดยไม่กระทบลูกค้า ยืนยันไม่เก็บค่าต๋งแบงก์รัฐ พร้อมมั่นใจศาลรัฐธรรมนูญตีความเสร็จมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.ค.นี้ ธปท.ห่วงสู้แบงก์รัฐยากขึ้นจากค่าต๋งที่เหลื่อมล้ำ

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับตีความพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับตามที่ผ่านค้านยื่นเสนอในส่วนของการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมจากสถาบันการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินนั้น จากที่เคยระบุว่าอาจใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์จะประกาศอัตราเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมนั้นขณะนี้ทุกอย่างก็ต้องชะลอออกไปก่อน เพราะต้องรอการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรัฐบาลยืนยันว่าการออก พ.ร.ก.แก้ไขปัญหาหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูนั้นมีความจำเป็นเร่งด่วนและกระบวนการดำเนินงานในเรื่องนี้ก็ยังเดินหน้าต่อไป มองว่าไม่ได้ทำให้ล้าช้าออกไปมากนักเพราะกว่าจะเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนนั้นจะเริ่มในปลายเดือนกรกฎาคมนี้ จึงยังมีเวลาดำเนินการ

”ระหว่างที่รอศาลรัฐธรรมนูญตีความขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องไป ทั้งการกำหนดอัตราการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมว่าจะเก็บเท่าไร เก็บอย่างไร และลดการเรียกเก็บสถาบันคุ้มครองเงินฝากอย่างมีนัยสำคัญอย่างไร ซึ่งอัตราเรียกเก็บจากสถาบันการเงินเอกชนนั้นธปท.จะเป็นผู้กำหนดและคงมีอัตราใจใจแล้วและทางแบงก์เอกชนก็คงไม่มีปัญหาอะไร ส่วนแบงก์รัฐยืนยันว่าจะไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนฟื้นฟูอย่างแน่นอน แม้ว่าจะทำให้เกิดการลักลั่นในการดำเนินงานระหว่างแบงก์รัฐและแบงก์เอกชนก็จะหาแนวทางการแก้ไขต่อไป เช่น การคุ้มการปล่อยสินเชื่อบางประเภท เป็นต้น” นายกิตติรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้ ยอมรับว่าหากสามารถประกาศอัตราเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนฟื้นฟูจากสถาบันการเงินได้เร็วก็อาจจะทำให้แบงก์สารถคำนวณต้นทุนเงินฝาก เงินกู้ และการดเนินงานได้ง่ายขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมในการปฏิบัติตามที่ ธปท.กำหนดไว้

ธปท.ห่วงเงินฝากไหลสู่แบงก์รัฐ
นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ไทยกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐนั้น ปัญหานี้ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่เริ่มมีการทยอยลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งในปีนี้การคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท จึงเห็นว่ามีแนวโน้มเงินฝากจะไหลสู่สถาบันการเงินรัฐมากขึ้นและยิ่งสร้างแรงกดดันการแข่งขันเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ความแตกต่างต้นทุนที่เกิดจากหลักเกณฑ์การกำกับของธปท.ใช้ดูแลธนาคารพาณิชย์ในระบบให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล อาทิ หลักเกณฑ์บาเซิล ขณะที่สถาบันการเงินของรัฐทำบ้างในบางส่วน ทำให้สถาบันการเงินรัฐสามารถระดมเงินฝากได้มากขึ้นและช่วงหลังทำธุรกิจคาบเกี่ยวกับธนาคารพาณิชย์ได้มากขึ้น

“แบงก์ชาติเสนอทางออกให้เก็บอัตราเงินนำส่ง สำหรับเงินฝากของสถาบันการเงินรัฐด้วย เพื่อให้เกิดการแข่งขันในระนาบเดียวกัน เพราะหวังว่าสถาบันการเงินรัฐจะปรับกระบวนการทำธุรกิจของเขาได้บ้างและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจไม่ซ้ำซ้อนกับธนาคารพาณิชย์ จึงเห็นว่าเรื่องนี้สิ่งสำคัญน่าจะต้องเป็นการพูดคุยกันระหว่างกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ”

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) เปิดเผยว่า การประชุมร่วมกับสมาคมธนาคารไทยเมื่อวานนี้ (8 ก.พ.) ได้หารือถึงทางเลือกการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เพื่อนำมาชำระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ซึ่งเป็นแนวทางของ ธปท. 3 แนวทาง และเป็นข้อเสนอของสมาคมฯ 2 แนวทาง มาพิจารณาและให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น ซึ่งแนวทางทั้ง 5 ดังกล่าวมีทั้งเรื่องการกำหนดอัตราการจัดเก็บ รวมถึงระยะเวลานำส่งเงินเพื่อชำระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่กำหนดระยะเวลาสูงสุด 25 ปี

"เท่าที่คุยกันสมาชิกได้ให้ความเห็นตามแนวทางของแบงก์ชาติและของสมาคมมาคุยกันว่าเป็นอย่างไร มีข้อเสนอทั้งในเรื่องอัตราการจัดเก็บเป็นเท่าไร รวมถึงระยะเวลา ถ้าเก็บน้อยก็ส่งยาว เก็บเยอะก็ส่งสั้น สูงสุด 25 ปี"

สำหรับกรณีที่มีความกังวลการแข่งขันที่ลำบากขึ้นหากธนาคารของรัฐไม่ต้องนำส่งให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ นายอภิศักดิ์กล่าวว่า เป็นหน้าที่ ธปท.ต้องติดตามและประเมินผลในการใช้นโยบายการเงินโดยการลดดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมาใช้ได้ผลหรือไม่
ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-ฝากของธนาคารกรุงไทยหลัง กนง.ปรับลดดอกเบี้ยนั้น ไม่น่าจะส่งผลกดดันธนาคารพาณิชย์รายอื่น แต่เป็นแนวทางที่ธนาคารสามารถดำเนินการได้ และไม่มีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินฝาก.
กำลังโหลดความคิดเห็น