xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ยื่นตีความ พ.ร.ก.จันทร์นี้ ซัดลดศักยภาพแบงก์ชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรณ์ จาติกวณิช
ปชป.พร้อมยื่นตีความ พ.ร.ก.2 ฉบับ 30 ม.ค.นี้ มั่นใจขัด รธน.อัดรัฐชำเราระบบเศรษฐกิจไทย ลดศักยภาพแบงค์ชาติดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ผลักภาระให้ประชาชน จวก รัฐอ้างวิกฤตน้ำท่วมหวังกู้นอกระบบหนีการตรวจสอบ ย้ำพฤติกรรมเผด็จการ แฉ กิตติรัตน์ จงใจให้ข้อมูลเท็จตัวเลขภาระหนี้ต่องบประมาณ


วันนี้ (27 ม.ค.) นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังการประชุมแกนนำพรรคเกี่ยวกับการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พระราชกำหนด 4 ฉบับ หลังจากการประกาศให้มีการใช้ในประกาศพระราชกิจจานุเบษา เมื่อวานนี้ ว่า ทางพรรคยืนยันว่า การออก พ.ร.ก. มีอย่างน้อย 2 ฉบับ ที่ขัดรัฐธรรมนูญ คือ พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท ให้ ธปท.และ พ.ร.ก.กู้เงิน สามแสนห้าหมื่นล้านบาท เพราะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วยตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังไม่มีผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจตามที่รับบาลกล่าวอ้างด้วย นอกจากนี้ พ.ร.ก.ทั้งสองฉบับยังเป็นการออกกฎหมายที่ควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยฝ่ายนิติบัญญัติด้วยการออกเป็นพระราชบัญญัติ แต่การที่รัฐบาลเร่งรีบในการหาทางลัดตรากฎหมายโดยไม่ผ่านการตรวจสอบจากรัฐสภา เป็นเรื่องที่พรรคมั่นใจว่า ขัดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 184 ซึ่งพรรคจะยื่นผ่านประธานสภาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในวันจันทร์ที่ 30 มกราคมนี้

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า ในกรณี พ.ร.ก.โอนหนี้ฯนั้น ผลลัพธ์ที่มีต่อรัฐบาลมีเพียงแค่รัฐบาลจะประหยัดเงินดอกเบี้ยภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ โดยโอนไปให้กองทุนฟื้นฟูฯรับภาระหาเงินมาชำระดอกเบี้ยแทน ซึ่งเป็นเม็ดเงินไม่กี่หมื่นล้านบาทอีกทั้งในงบประมาณปี 55 รัฐบาลได้ตั้งวงเงินรองรับส่วนนี้ไว้อยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่ใช่ว่ารัฐบาลไม่มีเงิน เงินมี และนำไปใช้ทำอย่างอื่นไม่ได้ด้วย จึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะออกกฎหมายฉบับนี้ในรูปของ พ.ร.ก.เพราะมีเวลาถึงสิ้นปีงบประมาณที่จะมีเงินงบประมาณรองรับการชำระหนี้ส่วนนี้อยู่แล้ว และหากถามว่าผลต่อรัฐบาลในการออกกฎหมายฉบับนี้คืออะไร คือ การประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ซึ่งเมื่อเทียบกับงบประมาณโดยรวมทั้งหมดของประเทศ 2.38 ล้านล้านบาท ถือว่าประหยัดเพียงนิดเดียวไม่ได้มีผลต่อความมั่นคงของประเทศแต่อย่างใด เพราะแม้จะไม่มีกฎหมายนี้ประเทศก็ไม่มีความเสี่ยงในเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ตรงกันข้ามการออก พ.ร.ก.นี้จะมีผลกระทบกับประชาชนผู้ฝากเงินกว่า 60 ล้านบัญชี เพราะรัฐบาลกำลังลักภาระการชำระดอกไปให้กับผู้ใช้บริการธนาคารผ่านการจัดเก็บค่าธรรมเนียมธนาคารเพิ่มขึ้นมาชำระดอกเบี้ย จึงควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และต้องมีคำตอบให้ประชาชนว่าสิ่งที่รัฐบาลทำจะมีผลอย่างไรต่อความมั่นคงในส่วนของการค้ำประกันบัญชีเงินฝากของประชาชนที่สำนักงานค้ำประกันเงินฝากในปัจจุบัน เพราะมีแนวโน้มว่าจะมีการนำรายได้ส่วนนี้มาใช้ในการชำระดอกเบี้ยแทนรัฐบาล

“เหล่านี้เป็นสาเหตุที่เรามั่นใจว่ากฎหมายฉบับนี้ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ ต้องรอบคอบในการพิจารณาป้องกันไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ส่วน พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ก็เช่นเดียวกัน คือ ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพราะรัฐบาลอ้างว่ามีข้อจำกัดทางกฎหมายในการกู้ยืมเงินระบบปกติ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะรัฐบาลสามารถกู้เงินในกรอบงบประมาณได้ ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 เปิดช่องให้รัฐบาลขาดดุลได้ 5.5 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลเลือกที่ขาดดุล 4 แสนล้านบาท คำถามของผม คือ ทำไมไม่กู้ในงบประมารเพื่อให้มีการตรวจสอบในสภา มีความโปร่งใสชัดเจนในโครงการที่จะนำเงินไปใช้ ในขณะที่ปัจจุบันไม่มีความชัดเจนในเรื่องโครงการ และไม่มีการเบิกจ่ายในเวลาอันสั้น ผมคิดว่าการที่รับบาลพยายามที่จะผลักดันกฎหมายสี่ฉบับในรูป พระราชกำหนดก็เพื่อหนีการตรวจสอบ ผมถือว่าเป็นการใช้อำนาจเผด็จการทางสภา โดยรัฐบาลหาทางลัดใช้อำนาจฝ่ายบริหารเท่านั้น ไม่ให้โอกาสฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล” นายกรณ์ กล่าว

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังแสดงความเป็นห่วงว่า ผลจาก พ.ร.ก.โอนหนี้ฯจะทำให้ศักยภาพในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทยลดลง เนื่องจากมีภาระเพิ่มเติมในการชำระดอกเบี้ยหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ และยังทำลายความเชื่อมั่นที่นักลงทุนในและต่างประเทศมีต่อแนวทางการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยด้วย เพราะชัดเจนว่ามีการแทรกแซงการทำงานของแบ๊งค์ชาติ ผลักภาระที่ไม่ควรเป็นของแบงก์ชาติไปให้แบงก์ชาติ ซึ่งจะลดศักยภาพในการทำหน้าที่ดูแลนโยบายด้านการเงินของประเทศอย่างปฏิเสธไม่ได้ ทั้งในส่วนของ พ.ร.ก.โอนหนี้ และ พ.ร.ก.ที่ให้ ธปท.ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจำนวน 3 แสนล้านบาทด้วย เพราะเท่ากับทำให้แบงก์ชาติต้องพิมพ์เงินสามแสนล้านบาทเข้าสู่ระบบ เหมือนกับให้แบงก์ชาติทำหน้าที่กระตุ้นเศรษฐกิจแทนรัฐบาล ตรงนี้มีผลต่อความน่าเชื่อถือ และเป็นผลลบโดยรวมต่อเศรษฐกิจประเทศ

ผู้สื่อข่าวถามว่า เงินสามแสนล้านที่แบงก์ชาติต้องอัดฉีดเข้าสู่ระบบ จะมีผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้ออย่างไร นายกรณ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับแบงก์ชาติว่าจะมีต้นทุนในการดูดซับเม็ดเงินนี้กลับคืนไปเท่าใด ซึ่งแบงก์ชาติก็คงกังวลไม่อยากให้มีผลต่อเงินเฟ้อ สุดท้ายก็ต้องออกพันธบัตรในการดูดซับเม็ดเงินส่วนนี้กลับคืนไปซึ่งจะเป็นต้นทุนเพิ่มเติมสำหรับแบงก์ชาติ ตอนนี้เนื้อหาใน พ.ร.ก.โอนหนี้ที่ให้กองทุนฟื้นฟูรับภาระหนี้นั้นไม่มีความชัดเจนว่าเมื่อโอนไปแล้วทั้งที่กองทุนฟื้นฟูไม่มีสินทรัพย์ และรายได้เพียงพอที่จะรับผิดชอบต่อภาระหนี้ดังกล่าวได้ ตรงนี้คือประเด็นที่รัฐบาลกำลังสร้างความคลุมเครือต่อภาระหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้ระดับความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจของประเทศลดลง

“ประเด็นปัญหานี้เคยมีเมื่อสิบกว่าปีก่อน และสองรัฐบาลได้แก้ปัญหาด้วยการสร้างความชัดเจนในการโอนภาระให้รัฐบาล คือ รัฐบาลประชาธิปัตย์ในปี 2541 และรัฐบาลไทยรักไทยในปี 2545 ยึดหลักเดียวกันในการแก้ปัญหา แต่รัฐบาลนี้กำลังกลับไปสู่ปัญหาเดิม คือ สร้างความครุมเครือโดยการโอนภาระให้กองทุนฟื้นฟูไม่ได้แสดงความรับผิดชอบในการพุดให้ชัดเจนว่า ในกรณีที่กองทุนฟื้นฟูฯไม่สามารถชำระเงินต้นได้จะทำอย่างไร ซึ่งผมยืนยันว่าสถานะกองทุนฟื้นฟูฯไม่สามารถรับภาระการชำระเงินต้นได้ตามที่ พ.ร.ก.กำหนด คำถามคือ เมื่อเป็นเช่นนี้ใครจะรับผิดชอบ ซึ่งสุดท้ายรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบอยู่ดี แต่รัฐบาลก็เลือกที่จะสร้างความคลุมเครือโดยไม่จำเป็นว่าตอนนี้ภาระหนี้ไม่ได้อยู่กับรัฐบาล ซึ่งจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้กับประเทศชาติ และจะมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน” นายกรณ์ กล่าว

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า รู้สึกเป็นห่วงประชาชนที่เป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์มากกว่าตัวธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีความสามารถในระดับหนึ่งในการผลักภาระให้กับประชาชนที่มีเงินออมหรือกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ กลายเป็นต้นทุนของประชาชนและสังคมไทย นี่คือสาเหตุที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีความกังวลนอกเหนือจากผลกระทบกับสถาบันการเงินโดยรวม เป็นการเพิ่มความลักลั่น ความเหลื่อมล้ำระหว่างสถาบันการเงินของเอกชนกับของรัฐที่ไม่มีภาระในส่วนนี้

นายกรณ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาระบุตัวเลขภาระหนี้ต่องบประมาณที่ 12% แต่ถูกโต้แย้งจาก นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ว่า เป็นตัวเลขที่คลาดเคลื่อนเพราะภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ที่ 9.33 % สะท้อนให้เห็นปัญหาหลายด้าน คือ ความหละหลวมในการทำงานของรัฐบาลที่ขาดการประสานงานกันอย่างชัดเจน เพราะในวันที่รับบาลอ้างภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ที่ 12% ทางพรรคประชาธิปัตย์ชี้แจงทันทีว่าตัวเลขดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะรัฐบาลตั้งงบประมาณชำระต้นและดอกเบี้ยเท่ากับ 9.33% ซึ่งคิดได้ง่ายๆ ไม่ควรเกิดความผิดพลาดและนำมาใช้ใน ครม.เป็นเหตุผลอ้างความจำเป็นเร่งด่วนออก พ.ร.ก.และถึงจะมีภาระหนี้ต่องบประมาณ 12% ก็ไม่ได้เป็นปัญหาเพราะกรอบอยู่ที่ 15% ปีหน้าก็กลับไปเริ่มต้นใหม่ไม่ใช่เริ่มจาก 12%

ผู้สื่อข่าวถามว่า การให้ข้อมูลเท็จของนายกิตติรัตน์ ต่อสาธารณะถือว่าขัดหลักจริยธรรมในการบริหารประเทศหรือไม่ นายกรณ์ กล่าวว่า การให้ข้อมูลของนายกิตติรัตน์ที่อ้างว่าภาระหนี้ต่องบประมาณลดลงจาก 12% เป็น 9.33% เพราะไม่มีภาระในการชำระดอกเบี้ยกองทุนฟื้นฟูทั้ง ๆที่ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ได้ตั้งวงเงินในการชำระดอกเบี้ยไปแล้วนั้น ยิ่งสะท้อนถึงเจตนาในการบิดเบือนข้อเท็จจริง แต่การที่ นายธีระชัย ได้ยืนยันข้อมูลเดียวกับที่พรรคประชาธิปัตย์เคยพูดมาโดยตลอดก็เป็นประเด็นที่มีผลต่อการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญด้วย ส่วนจะมีการตรวจสอบเรื่องจริยธรรมในการบริหารประเทศของรัฐบาลจากการออก พ.ร.ก.นี้หรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่พรรคจะพิจารณาในอีกชั้นตอนหนึ่ง แต่ภารกิจเร่งด่วนคือการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังมั่นใจด้วยว่า ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะวินิจฉัย ว่า พ.ร.ก.ทั้งสองฉบับขัดรัฐธรรมนูญ แม้ว่าที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่เคยวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ขัดรัฐธรรมนูญมาก่อน โดยอ้างถึงอำนาจของฝ่ายบริหารที่จะพิจารณาความจำเป็นเร่งด่วน แต่ในกรณีนี้แตกต่างจากสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยพิจารณา เนื่องจากในรัฐธรรมนูญกำหนดวินัยการคลังไว้ในรัฐธรรมนูญสะท้อนระดับความสำคัญของการรักษาวินัยการคลัง จึงหยิบยกเป็นหมวดหนึ่งในรัฐธรรมนูญ คือหมวด 8 มีการตีกรอบรัฐบาลจะกู้ยืมเงินได้ไม่เกินเท่าไหร่ในแต่ละปีงบประมาณ ถ้าหากปล่อยให้รัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เท่าไหร่ก็ได้โดยไม่อยู่ในกรอบวินัยการคลังและกรอบงบประมาณก็เท่ากับเป็นการทำลายหลักวินัยการคลังทั้งหมด ขัดเจตนาของรัฐธรรมนูญแต่แรก หมวด 8 ของรัฐธรรมนูญ ระบุชัดว่า เรื่องงบประมาณเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่อย่างนั้นจะลงทุนลงแรงเขียนเรื่องเหล่านี้ทำไม เพราะสุดท้ายรัฐบาลหนีไปกู้เงินข้างนอกไม่ผ่านสภา อีกทั้งเราก็พิสูจน์ว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนจริง เพราะภาระหนี้มีมาสิบกว่าปีแล้ว การโอนภาระไปตอนนี้ก็ไม่มีผลเพราะตั้งงบประมาณชำระไปแล้ว การกู้ยืมเงินก็เช่นเดียวกันสามารถทำในปีงบประมาณ 56 และ 57 ได้อยู่ดี เพราะไม่ได้เบิกจ่ายในขณะนี้

“ผลของการยื่นตีความครั้งนี้ จะทำให้รัฐบาลต้องหยุดการดำเนินการการพิจารณา พ.ร.ก.ในสภา แม้ว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถให้สภาพิจารณาได้จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลว่าจะเรียกนายธีระชัยมาเป็นพยานเพื่อให้ข้อมูลในคดีนี้เพิ่มเติมหรือไม่ แต่ความเห็นของนายธีระชัย นั้น ทางพรรคได้ยื่นประกอบในคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องนี้ด้วย” นายกรณ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น