xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” ตอบโจทย์ แปรรูป ปตท.โกยกำไรผูกขาดพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรณ์ จาติกวณิช
“กรณ์” ตอบโจทย์ รัฐบาลหมกเม็ดแปรรูป ปตท. ให้เอกชนผูกขาดพลังงาน ปล่อยชาวบ้านแบกรับภาระค่าก๊าซ ค่าน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น เผยรัฐบาลยังสร้างหนี้เพิ่มได้โดยไม่ต้องตกแต่งบัญชีซุกซ่อนหนี้ จับตาใกล้ชิดเครือข่าย “แม้ว” สนใจลงทุนพลังงาน

เมื่อเวลา 18.10 น. นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Korn Chatikavanij” เรื่อง รัฐมนตรีคลังคุยกัน ระบุว่า...

“เรื่อง พ.ร.ก.4 ฉบับ เป็นเรื่องที่ผมกล่าวถึงมาแล้วหลายครั้ง นอกจากผิดหลักการการบริหารนโยบายทางการคลังแล้ว ยังผิดหลักการออกกฎหมายด้วย ผมจึงได้รับมติ พรรคให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความ และรอให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจในลักษณะ 'เผด็จการในสภาฯ' ต่อไป

แต่ที่น่าสนใจ คือ หลังจากมีการปรับ ครม.โดยมีการปรับคุณธีระชัยออกจากตำแหน่ง รมว.คลัง และแต่งตั้งคุณกิติรัตน์ในตำแหน่งนี้แทน ก็ปรากฏว่าคุณธีระชัยได้ออก มาแสดงจุดยืนคัดค้านแนวความคิดของรัฐบาลในหลายเรื่อง

ล่าสุด วันนี้ได้ออกมายืนยันว่าคุณกิติรัตน์ได้ใช้ตัวเลขผิดในการให้คำอธิบายต่อ ครม.ว่าจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องออก พ.ร.ก.

ในประเด็นเดียวกันนี้ผมได้ชี้แจงไว้นานแล้ว ตั้งแต่คุณธีระชัยยังอยู่ในตำแหน่ง แต่ก็ดีใจครับที่คุณธีระชัยเข้าใจข้อเท็จจริงแล้ว คำถามคือเมื่อใดรัฐบาลจะยอมรับในความผิดพลาดของตนเอง

นี่คือบทสัมภาษณ์ผมวันที่ ๑๓ มกราคม ลง นสพ.ไทยโพสต์ :-

“เขา(รัฐบาล)บอกว่าเป็นภาระการบริหารหนี้ต่องบประมาณที่ไม่ควรเกิน 15 เปอร์เซ็นต์ อันนี้ยิ่งไม่ใช่ใหญ่ และเขาอ้างตัวเลขที่ผิดด้วย เขาอ้างว่าตอนนี้ 12 เปอร์เซ็นต์แล้ว จึงอยากที่จะเพิ่มช่องเพื่อที่จะกู้ได้เพิ่มเติม แต่ในงบประมาณปี 2555 ที่รัฐบาลเองเป็นคนทำและเสนอสภาฯ พิจารณาไปสองอาทิตย์นี้เอง เขาก็ตั้งงบ ประมาณเพื่อดูแลเรื่องของดอกเบี้ยและเงินต้นมูลค่าโดยรวม เพียงแต่ 2.1 แสนล้าน เทียบกับงบประมาณรายจ่ายโดยรวม 2.38 ล้านล้าน พูดง่ายๆ คือแค่ 9 เปอร์เซ็นต์เอง เมื่อสมัยของผมมันอยู่ที่ระดับ 10-12 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ลงไปเหลือ 9 ฉะนั้น ไม่ได้มีข้อจำกัดให้กับรัฐบาลในการที่จะกู้ยืมเพิ่มเติม แม้แต่ถ้าเขาต้องการที่จะกู้ยืม นอกงบประมาณในปี 2555 คือพูดง่ายๆ ถ้ารัฐบาลจะกู้ 3.5 แสนล้านนี้ ภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นก็ยังบริหารจัดการได้ในกรอบ 15 เปอร์เซ็นต์สบายๆไม่มีความจำเป็นเร่ง ด่วนที่จะต้องทำเรื่องนี้เลย และงบประมาณเพิ่งออก เขามีเวลาใช้งบประมาณนี้ไปจนถึงสิ้นเดือน ก.ย. มีเวลาอีก 8 เดือนก่อนที่จะต้องตั้งงบใหม่ ถึงตั้งงบใหม่ก็ไม่ได้มี ข้อจำกัดต่อการเพิ่มหนี้ตามที่เขาอ้าง”

ส่วนวันนี้คุณธีระชัยเขียนว่า (ขออนุญาตนำมาลง) :-

“รองนายกฯ (นายกิตติรัตน์) แจ้งคณะรัฐมนตรีว่า ขณะนี้อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 12 จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟู เพื่อมิให้ภาระดอกเบี้ยสำหรับหนี้กองทุนฟื้นฟู เป็นภาระแก่งบประมาณต่อไป มิฉะนั้นจะไม่มีช่องว่างพอเพียงที่รัฐบาลจะกู้ยืมเพิ่มเติมเพื่อใช้บริหารจัดการน้ำ

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าที่ผมจะพ้นตำแหน่งเพียงหนึ่งวัน เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลังได้นำข้อมูลจากสำนักบริหารหนี้สาธารณะมาแจ้งให้ผมทราบว่า สำหรับปีงบ ประมาณ 2555 นั้น อัตราส่วนดังกล่าวเป็นเพียงร้อยละ 9.33 มิใช่ร้อยละ 12 ดังที่รองนายกฯ (นายกิตติรัตน์) แจ้งต่อคณะรัฐมนตรี

อัตราส่วนดังกล่าวเกิดจากการชำระหนี้เงินต้นร้อยละ 1.97 และจากการชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.36 รวมเป็นร้อยละ 9.33 และเป็นการคำนวณจากตัวเลขที่เป็นทางการ ในกฎหมายงบประมาณที่เพิ่งผ่านสภาไปเร็วๆ นี้

ผมเองต้องยอมรับว่าตกใจมากเพราะทำให้เหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนในการที่จะต้องออกกฎหมายในรูปแบบพระราชกำหนดเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

สองอดีตรัฐมนตรีมองตรงกัน ชัดเจนแล้ว แต่สำคัญอยู่คนเดียวครับ คือผู้ที่มีอำนาจรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ท่านจะว่าอย่างไร”

นายกรณ์กล่าวผ่านรายการ “ตอบโจทย์” ทางไทยพีบีเอส ระบุว่า ขณะนี้หากรัฐบาลต้องการสร้างหนี้เพิ่ม ก็สามารถทำได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะดูจากการรักษาวินัยการคลัง ไม่สร้างหนี้สาธารณะของรัฐบาล ให้เกิน 60%ของจีดีพี หรือจากข้อกำหนดเรื่อง ภาระหนี้ต่องบประมาณของรัฐบาลที่ต้องไม่เกิน 15% ซึ่งขณะนี้หนี้สาธารณะของ รัฐบาลอยู่ที่ประมาณ 40%ของจีดีพี ขณะที่ภาระหนี้ต่องบประมาณของรัฐบาล ก็อยู่ที่ประมาณ 9%

กรณีการที่รัฐบาลจะกระจายหุ้น ปตท. และหุ้นการบินไทย ให้กองทุนวายุภักษ์ เพื่อแปรรูป เป็นบริษัทเอกชน นายกรณ์กล่าวว่า ในกรณีของ ปตท.ถ้าแปรรูปจากรัฐ วิสาหกิจเป็นเอกชน ซึ่งหน้าที่ของกรรมการบริหารของบริษัทเอกชน จะต้องดูแลผลประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น ต้องแสวงหากำไร ทำให้บทบาทหน้าที่ในการเป็นรัฐ วิสาหกิจที่ต้องดูแล ผลประโยชน์ของประชาชนหายไป ซึ่งนโยบายของรัฐบาลนี้ได้เตรียมการมาแล้ว เพื่อรองรับการขายหุ้นครั้งนี้ เช่น การปล่อยลอยตัวราคาก๊าซเอ็นจีวี ก๊าซแอลพีจี ด้านราคาน้ำมัน ก็จะจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น

นายกรณ์กล่าวว่า เรื่องนี้ ปตท.ได้ประโยชน์ นโยบายได้เตรียมไว้แล้วเพื่อปลดล็อคให้ปตท. ทำให้ประชาชนต้องจ่ายแพงขึ้น โดยไม่มีองค์กรอิสระเพื่อปกป้องผล ประโยชน์ของประชาชนในเรื่องนี้ เพราะรัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซงไม่ได้เหมือนตอนที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องชี้แจง ว่าทำไปทำไม การอ้างว่าทำเพื่อ จะกู้เงินเพิ่มเติม ตอนนี้ถ้าจะกู้ก็กู้ได้อยู่แล้ว ตามที่ตนได้กล่าวไปแล้ว ประการที่สอง ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน การปล่อยให้ราคาพลังงานสูงขึ้น รัฐบาลจะดูแลอย่างไร แต่ตอนนี้ไม่มีคำตอบนี้เลย

นายกรณ์กว่าวว่า เรื่องการแปรรูป ปตท.นั้น ตนสนับสนุนให้เปิดเสรี ให้มีการแข่งขันในทุกๆอุตสาหกรรม แต่ต้องแปรรูปเพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขัน เพื่อเป็นการค้ำประกันผลประโยชน์ของผู้บริโภค เช่น กรณีการแปรรูปองค์การโทรศัพท์ มีการเปิดเสรีให้เอกชนแข่งขันกันให้บริการ ค่าบริการก็ถูกลง แต่กรณีของ ปตท.ครั้งนี้ ปตท.ยังมีอำนาจผูกขาด ไม่มีการส่งเสริมให้มีการแข่งขัน เช่น ท่อก๊าซ ปตท.ก็ใช้ได้คนเดียว การไฟฟ้า หรือบริษัทผลิตไฟฟ้าจะซื้อก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้าก็ต้องซื้อจาก ปตท.รายเดียว

“ต้องคุยเรื่องการแข่งขัน ก่อนจะแปรรูป เพราะในอนาคต ถ้า ปตท.แปรรูปเป็นเอกชน รัฐบาลก็ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้”

นายกรณ์กล่าวว่า ถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจผูกขาดแต่ประชาชนไม่เสียผลประโยชน์จะดีกว่าให้ประชาชนเป็นผู้รับเคราะห์ การผูกขาดของรัฐ ดีกว่าการผูกขาดแล้วเป็นของเอกชน ถ้าจะปรับ ปตท.ให้เป็นเอกชน ควรรอให้มีการแข่งขันเกิดขึ้นจริงก่อน ต้องทำก่อนที่จะกระจายหุ้น ปตท.ออกมา ส่วนกรณีของการบินไทย ตนไม่กังวล เพราะมีการแข่งขันอยู่แล้ว ทั้งจากสายการบินต่างชาติ และสายการบินของบริษัทอื่นในประเทศ และการบินไทยมีผลกระทบต่อประชาชนน้อยกว่า ปตท.ที่มีผลต่อคนไทยทุกคนทุกวัน

ในฐานะที่ตนเป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน ได้ติดตามเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะจากที่ผ่านมา มีการทุจริตเชิงนโยบาย ทำประโยชน์ส่วนตน เคยมีประวัติมาในอดีต พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยทำจนถูกศาลสั่งยึดทรัพย์ ตอนนี้มีความสนใจลงทุนในพลังงาน มีการลงทุนในอัฟริกาใต้ก็มีเรื่องฟ้องร้องเรื่องถ่านหิน ตอนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปประเทศพม่า ก็มีการไปคุยเรื่องพลังงาน เรื่องของ ปตท. ถ้ารัฐขายหุ้น ปตท.ไปแล้ว ใครที่มีเงินทุนหนาก็จะมายึดไปได้ เพราะเป็นบริษัทในตลาดหุ้น ประชาชนต้องติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด เรื่องลดหนี้สาธารณะเพื่อจะขอกู้เพิ่มนั้นฟังไม่ขึ้น ต้องดูว่ามีเหตุผลแอบแฝง หรือวาระซ่อนเร้น ต้องคิดว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

เบื้องหลังแนวความคิดการโอนหนี้ออกจากหนี้สาธารณะนี้ มาจาก ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ซึ่งเคยเป็นประธานธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ ที่เป็นต้นตอของวิกฤตการเงินในอดีต ก็เพราะมีปัญหาการซุกซ่อนหนี้เสีย โดยการโยกหนี้ การซุกหนี้ จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติ เพราะถึงจะซุกหนี้ แต่หนี้ก็ยังเท่าเดิม เพียงแต่แต่งบัญชีให้ดูรวยขึ้น แต่หนี้ยังเท่าเดิม

นายกรณ์กล่าวว่า การลงทุนนั้นมีความจำเป็น ทั้งลงทุนเพื่อป้องกันน้ำท่วม การลงทุนในสาธารณูปโภค ระบบขนส่ง จำเป็นต้องรีบทำ แต่กรณีนี้ต้องทำด้วยความโปร่งใส ให้สภาได้ทำหน้าที่ตรวจสอบ ควรทำในระบบงบประมาณ ซึ่งรัฐบาลสามารถทำได้ เพราะมีเสียงเกินครึ่งอยู่แล้ว ไม่มีเหตุผลที่จะต้องซุกซ่อน โดยทำเป็นพระราชกำหนด หรือ พรก. การทำอย่างนี้ถือเป็นเป็นเผด็จการทางเศรษฐกิจ เป็นการหลบหลีกการตรวจสอบโดยระบบรัฐสภา
กำลังโหลดความคิดเห็น