xs
xsm
sm
md
lg

“โกร่ง” เชื่อ ปตท.-การบินไทย พ้นจาก รสก. สร้างเครดิตให้ชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วีรพงษ์ รามากุล
ปธ.กยอ.การันตีซื้อโอนหุ้น ปตท.-การบินไทย เพื่อฟื้นฟูหนี้สาธารณะ ไม่หวั่นซ้ำรอยวิกฤตกรีซ-อาร์เจนติน่า ส่งผลดีสร้างเครดิตการเงินให้กับประเทศไทย ชี้ผู้บริหาร ปตท.แจงไม่มีปัญหาหากต้องออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่วนการบินไทยขอคุยกับสหภาพก่อน


วันนี้ (20 ม.ค.) นายวีรพงษ์ รางมากูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) กล่าวถึงแนวทางที่รัฐบาลจะเข้าไปซื้อหุ้น ปตท. การบินไทย ในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อฟื้นฟูหนี้สาธารณะ ขณะที่สมาคมธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.ก.กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เห็นว่าไม่ยุติธรรม และส่งผลเสียกับประเทศในระยะยาวว่า เมื่อเกิดปัญหาอุทกภัย และต้องวางระบบป้องกันอุทกภัย ขณะเดียวกันก็ว่างเว้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นเวลานาน จนประเทศเพื่อนบ้านแซงหน้าไทยไปหมดแล้ว เช่น ประเทศจีน มาเลเซีย ท่าเรือน้ำลึกก็เต็มแล้ว สนามบินสุวรรณภูมิสร้างเสร็จก็เต็มอีก ภูมิภาคเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ยุโรป อเมริกากำลังอยู่ในช่วงขาลง เอเชียกำลังขึ้น และประเทศเราโชคดีอยู่ใจกลางภูมิภาค

นายวีรพงษ์กล่าวต่อว่า เพราะฉะนั้นการที่จะลงทุนอย่างมากใน 5-10 ปีข้างหน้ามีความเป็นไปได้ เพราะเราอยู่ในฐานะที่ไม่ได้ยากจนแบบเดิม เป็นประเทศที่สะสมทุนสำรองระหว่างประเทศ อันเกิดจากการเกินดุลทางการค้า เกินดุลบัญชีเดินสะพัดตลอดมา เป็นเวลา 15 ปี และมีแนวโน้มว่าจะเกินดุลต่อไป เพราะฉะนั้นโอกาสเปิดแล้วที่จะทำให้เราพัฒนา ยกระดับมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานทางด้านแผนต่างๆ บังเอิญเกิดเรื่องน้ำท่วมจึงมีแผนป้องกันระยะยาวเข้ามา ก็ปรับ 2 ความคิดนี้เข้ามา ไม่ให้ขัดแย้งกัน ลงทุนไปพร้อมๆ กัน การลงทุนที่ว่านี้เรื่องที่สำคัญคือการจัดการในเรื่องของการเงินเสียก่อน เพราะถ้าไม่มีเงินแล้วก็ไม่ต้องไปคิดอะไร แต่ถ้าหน่วยงานต่างๆ สามารถเคลียร์เรื่องการเงินได้ก็จะมีช่องที่จะทำให้ข้าราชการ หน่วยงานต่างๆ นักวิชาการ ก็จะสบายใจที่จะคิด และเมื่อคิดแล้วสามารถที่จะทำได้

นายวีรพงษ์กล่าวว่า เรื่องแรกคือ เรื่องของกองทุนฟื้นฟู ซึ่งรัฐบาลไม่ได้เป็นผู้ก่อ และบัดนี้เจ้าของหนี้ก็แข็งแรงแล้ว ก็ขอให้ท่านรับคืนไปจำนวน 1.4 ล้านล้านบาท ทั้งนี้เป็นความชอบธรรมของรัฐบาล 2. หนี้สาธารณะประเภทที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งประเภทที่เป็นมหาชน เป็นรัฐวิสาหกิจกึ่งเอกชน และเข้มแข็งยืนอยู่ได้ด้วยตัวของตัวเอง ไม่ได้เป็นภาระ และไม่ได้ให้รัฐบาลไปค้ำประกันหนี้ ไม่ต้องการโลโก้รัฐบาลไปปิดหน้าบริษัทเพื่อให้คนเชื่อถือได้ทั่วโลก เช่น บริษัท ปตท. หรือการบินไทย

นายวีรพงษ์กล่าวต่อว่า ในกรณีอย่างนี้การเป็นรัฐวิสาหกิจก็ได้มีการบ่นกับตนให้ฟังว่าเป็นข้อจำกัด ในวันข้างหน้าเงินมีมาก แต่หากเขาไปลงทุนต่างประเทศ แต่ลงทุนคนเดียวไม่ได้ เพราะเจ้าของประเทศที่เป็นเจ้าของทรัพยากรก็อยากมีเอี่ยวด้วย ลาวก็ดี หรือประเทศที่มีถ่านหิน มีน้ำมัน ผู้แทนของเขามานั่งในบอร์ดบริษัทลูก ปตท. เขาจะต้องยื่นทรัพย์สินกับทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ ป.ป.ช. ซึ่งมันตลกก็เลยเป็นอุปสรรคง่ายๆ ที่ไม่เป็นอุปสรรค แต่ถ้า ป.ต.ท.หลุดจากการเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว สามารถหาเพื่อนรวมทุนได้ แต่เราก็ไม่อยากให้ ป.ต.ท.หลุดจากการดูแลของรัฐบาล เพราะเราจะต้องใช้ ป.ต.ท.เป็นเครื่องมือในนโยบาย

“มันก็มีวิธีจะโดยรัฐบาลหรือกระทรวงการคลัง ก็จะมีกองทุนวายุภักษ์ ซึ่งรัฐบาลคุมได้ 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถกำหนดทิศทาง นโยบาย เล็งไว้ว่าจะเอากองทุนวายุภักษ์ไปขอซื้อหุ้นจากกระทรวงการคลัง 2 เปอร์เซ็นต์ เราไม่อยากซื้อมาก เพราะกำไรดี เอาไว้รับเงินปันผลด้วย 49 เปอร์เซ็นต์ และอีก 2 เปอร์เซ็นต์ให้วายุภักษ์ถือ ซึ่งวายุภักษ์แม้จะอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง แต่ก็ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ เมื่อไปถือหุ้นแทนรัฐบาล 2 เปอร์เซ็นต์ ปตท.ทั้งยวงก็หลุดจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ หนี้ของ ปตท. และข้อผูกพันของ ปตท.ประมาณ 7 แสนล้านบาทก็ไม่เป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งมันจะสะท้อนฐานะทางการคลังของรัฐบาลไทยได้ดีกว่า การที่หนี้ของ ปตท.มาเป็นหนี้สาธารณะนี้ มันไม่ตรงความจริง เพราะ ปตท.ยืนด้วยขาของตัวเอง ลงทุนเองไม่ได้ใช้งบประมาณซักบาท ซักสตางค์แดงเดียว แต่มาเป็นหนี้รัฐบาล หนี้สาธารณะ ก็ทำให้มันตรงกับข้อเท็จจริง ผู้บริหารของ ปตท.เขาสบายใจ เพราะสามารถทำอะไรได้อีกเยอะ ถ้าไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ สำหรับการบินไทยต้องไปทำความเข้าใจกับสหภาพเสียก่อน ถ้าสหภาพไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไรก็รอไปก่อน” นายวีรพงษ์กล่าว

โครงการะยะยาวทั้งหลายเหล่านี้ การที่รัฐบาลเป็นหนี้สาธารณะจีดีพีลดลง จะสร้างเครดิตให้กับประเทศโดยส่วนรวมในสายตาของชาวโลกทั้งหมด แต่ไม่ได้หมายความว่าไปกู้ฮวบฮาบตามช่องที่เปิด กระทรวงคมนาคมก็มีหน้าที่ในเรื่องการรับแผน เงินที่ออกมาอย่างนี้ แผนออกมาอย่างนี้ แต่ละโครงการต้องมาดูในรายละเอียด ความเป็นไปได้ว่า เป็นไปได้ไหมในการคืนทุน ช่วงที่ยังขาดทุน รัฐบาลจะสายป่านพอไหม รวมๆ ทั้งประเทศแล้ว แผนทางด้านการเงินจะต้องเป็นแผนที่มีสมเหตุสมผลไม่เกินฐานะของประเทศในเรื่องการส่งออก เพราะการส่งออกเป็นตัวหารายได้เข้าประเทศ พวกเราเป็นคนใช้ เพราะฉะนั้นการส่งเสริมการส่งออก ก็ต้องทำพร้อมๆ กันไป และต้องเคลียร์ด้วย เผื่อการส่งออกขยายได้ไม่ตามผล ก็ต้องมีช่องเหลือให้ประเทศอยู่ได้ด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้ไม่ต้องห่วงว่า จะเป็นอาร์เจนตินา หรือกรีซ ตัวตนหวาดกลัวเรื่องวิกฤตการเงินจะตายอยู่แล้วทุกครั้งที่ผ่านมาจะต้องระวังเรื่องนี้ให้ดีที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น