xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากคันไซ ตอนที่ 25

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง1

โดย...ชวินทร์ ลีนะบรรจง1

    เงินนำส่งกองทุนคุ้มครองเงินฝากไม่ใช่ภาษีที่รัฐบาลเอาไปใช้ได้
       รัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังทำผิดกฎหมายคุ้มครองเงินฝาก

การดำเนินนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น นโยบายประชานิยมทั้งหลาย หรือการออกเงินเพื่อเยียวยาคนผิด ล้วนแต่เป็นการส่งสัญญาณแนวนโยบายที่ผิดพลาดทั้งสิ้น รวมถึงแนวคิดในการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยหาเงินเพื่อมาใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 1.14 ล้านล้านบาทที่เป็นข่าวอยู่ในปัจจุบัน

หากมิใช่ต้องการให้ ธปท.เพิ่มปริมาณเงินในระบบเพื่อมาชำระหนี้จำนวนนี้แทนกองทุนฟื้นฟูฯ แล้วจะให้ ธปท.หาเงินจากแหล่งใดมาชำระหนี้

ประเด็นก็คือ (1) การชี้นำให้เพิ่มเบี้ยประกันเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้เรียกเก็บแทนสถาบันคุ้มครองเงินฝากจากร้อยละ 0.4 จนถึงเพดานสูงสุดคือร้อยละ 1 ของยอดเงินฝากเป็นแนวคิดที่ถูกต้องเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจประเทศโดยรวมหรือไม่ และ (2) แนวคิดในการคงไว้ซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯ

ในประเด็นแรก สถาบันคุ้มครองเงินฝากตั้งขึ้นก็เพื่อที่จะคุ้มครองเงินฝากที่อยู่ที่สถาบันการเงินต่างๆ เพื่อป้องกันมิให้สถาบันการเงินเหล่านั้นจับเอาผู้ฝากเงินเป็นตัวประกันเพราะเมื่อมีการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดก็มักจะเรียกร้องให้ทางการเข้าไปช่วยเหลือโดยอ้างว่าหากไม่ช่วย ผู้ฝากเงินจะเป็นผู้ที่ต้องรับภาระส่วนใหญ่จากการล้มละลายของสถาบันการเงิน เนื่องจากมูลค่าส่วนของผู้ถือหุ้น (ทุน+กำไรสะสม) มีจำนวนน้อยกว่าหนี้สินหลักซึ่งก็คือเงินฝากมาก

ดังนั้นการเข้าช่วยเหลือในด้านสภาพคล่องให้ยืมเงินโดยไม่มีหลักประกันจึงเป็นแนวทางที่ได้ดำเนินการมาโดยตลอดผ่านกองทุนฟื้นฟูฯเพราะกฎหมายห้ามมิให้ ธปท.ทำ ความเสียหายจึงเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ เนื่องจากทรัพย์สินที่สถาบันการเงินขอรับความช่วยเหลือที่ส่วนใหญ่คือหลักทรัพย์ค้ำประกันลูกค้าเงินกู้มักจะปรากฏในภายหลังว่ามีมูลค่าต่ำกว่าหนี้สินที่เป็นเงินฝาก

การให้ความช่วยเหลือดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการเข้ามารับประกันเงินฝากอย่างไม่เป็นทางการเพราะทางการไม่เคยประกาศว่ามีนโยบายรับประกันเงินฝากเต็มจำนวนยกเว้นภายหลังจากที่นายทนง พิทยะ ประกาศเมื่อช่วงวิกฤตปี พ.ศ. 2540 ว่ารัฐบาลจะรับผิดชอบเงินฝากเต็มจำนวน

การมีสถาบันคุ้มครองเงินฝากจึงเป็นความพยายามที่จะแยกแยะหน้าที่ในการชดเชยความเสียหายกับการกำกับดูแลสถาบันการเงินออกจากกัน หากมีการดำเนินที่ผิดพลาดทางการก็สามารถที่จะปิดกิจการเสียตั้งแต่ต้นมือมิให้ความเสียหายบานปลายออกไปสู่สถาบันการเงินอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยมิต้องเป็นกังวลถึงภาระในการชดใช้ผู้ฝากเงินเพราะผู้ฝากเงินสามารถดูแลรับผิดชอบตนเองจากเงินที่ส่งเข้าสมทบใน “กองทุนคุ้มครองเงินฝาก”

ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่มักจะมีความเข้าใจผิดก็คือ การคุ้มครองเงินฝากมิใช่เป็นการ “ประกัน” หรือ insure แต่อย่างใด หากแต่เป็นการ “ค้ำประกัน” หรือ guarantee เงินฝาก เนื่องจากมีความเสี่ยงภัยจากสถาบันการเงินล้มแต่เพียง “ภัย” เดียว ทำให้ผู้รับประกันไม่สามารถกระจายความเสี่ยงจาก “ภัย” หลายๆ ประเภทได้เหมือนการประกันทั่วๆ ไป สถาบันคุ้มครองเงินฝากจึงทำหน้าที่รวบรวมเงินจากผู้ฝากเงินเพื่อมาเป็น “กองทุนคุ้มครองเงินฝาก” ไว้ใช้คืนผู้ฝากเงินเมื่อสถาบันการเงินถูกถอนใบอนุญาต เงินที่นำส่งก็มิใช่เงินภาษีแต่อย่างใด

การตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากเมื่อปี พ.ศ. 2551 จึงเป็นการเข้ามาทดแทนหน้าที่กองทุนฟื้นฟูฯ ในการชดเชยผู้ฝากเงิน และมีส่วนสำคัญในการช่วยให้การกำกับดูแลสถาบันการเงิน ที่จะตกอยู่กับ ธปท.เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพราะ ธปท.จะมีทางเลือกที่จะช่วยเหลือสภาพคล่องหรือไม่ก็ได้ รัฐบาลก็ปลอดภาระรับผิดชอบผู้ฝากเงินในสถาบันการเงินที่ถูก ธปท.ถอนใบอนุญาต

การชี้นำให้เรียกเก็บเงินเบี้ยคุ้มครองเงินฝากเพิ่มขึ้นโดยหวังว่าจะสามารถนำไปชดใช้ดอกเบี้ยและเงินต้นของหนี้จำนวน 1.14 ล้านล้านบาทที่เกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลเข้าไปรับประกันเงินฝากเต็มจำนวนในช่วงวิกฤตปี พ.ศ. 2540 นั้นจึงเป็นแนวคิดที่ผิดพลาด

เงินที่เรียกเก็บเพื่อคุ้มครองเงินฝากนั้นเป็นของผู้ฝากเงินที่ถูกบังคับจัดเก็บจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากผ่านธนาคารพาณิชย์ที่ตนเองฝากเงินอยู่ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 มิใช่ภาษี จะนำออกมาใช้ได้ก็เพียงในกรณีจ่ายเงินคืนผู้ฝากเงินเมื่อสถาบันการเงินถูกถอนใบอนุญาต จัดสรรให้เป็นค่าบริหารจัดการการลงทุน หรือเพื่อคืนเงินกู้และดอกเบี้ย (ที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากไปกู้มา) ตามที่กำหนดใน ม. 47 เท่านั้น จะนำเงินไปชดใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ได้อย่างไร จะเพิ่มเท่าใดไม่แปลกแต่หากไปเก็บเงินโดยไม่ส่งเข้า “กองทุนคุ้มครองเงินฝาก” คนเก็บก็ติดคุก

ที่สำคัญก็คือรัฐบาลละเมิดหลักการของการคุ้มครองเงินฝากด้วยเงินของผู้ฝากเงินเอง รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะมาขี้ตู่หน้าไม่อายได้อย่างไรว่ารัฐบาลก่อนหน้านี้เคยใช้หนี้แทนผู้ฝากเงินไปก่อน และจะมาขอรับชำระในรัฐบาลนี้แทนทั้งๆ ที่รัฐบาลอื่นๆ ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดจะทำ

แต่เห็นว่าทั้ง “โกร่ง” และคนในกระทรวงการคลังพยายามบอกอยู่บ่อยๆ ไม่ใช่หรือว่าหนี้ก้อนนี้ไม่ใช่หนี้สาธารณะเป็นหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ ธปท.ในฐานะผู้ดูแลดำเนินการผิดพลาด แล้วอยู่ดีๆ จะมาเอาเงินจากผู้ฝากเงินที่เขาส่งให้ “กองทุนคุ้มครองเงินฝาก” ไปได้อย่างไร มันเป็นคนละส่วนกัน

หากจะอ้างว่ามาเรียกร้องจากผู้ได้รับประโยชน์ก็ควรเอาบัญชีเก่ามากางดูว่าใครบ้างที่มีเงินฝากในช่วงนั้นที่ได้รับการช่วยเหลือ อย่าลืมว่าผู้ฝากเงินในปีพ.ศ. 2555 ไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้ฝากเงินคนเดียวกับเมื่อปี พ.ศ. 2540 แต่ยังสงสัยอยู่ว่าจะชำระบัญชีกันอย่างไรเพราะทรัพย์สินที่ติดมากับหนี้สินก็เอาไปขายเองเสียตั้งเยอะแล้ว

ภาษาวัยรุ่นเขาเรียกว่าอย่ามั่วนิ่ม ระวังจะถูกผู้ฝากเงินฟ้องเอาเพราะเป็นเงินของผู้ฝากเงินมิใช่ของรัฐ สถาบันคุ้มครองเงินฝากเป็นเพียงผู้ดูแลเงินดังกล่าวเช่นเดียวกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ ธปท.หรือเงินประกันสังคมที่อยู่สำนักงานประกันสังคม

ในประเด็นที่สอง สำนักบริหารหนี้สาธารณะน่าจะมีความเป็นมืออาชีพมากกว่านี้ อย่าเอาใจฝ่ายการเมืองจนลืมความถูกต้อง เพราะการเสนอให้คงไว้ซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯ จากเดิมที่จะสิ้นสุดบทบาทในปี พ.ศ. 2556 ตามกฎหมายที่มีนั้น มีผลดีกับเศรษฐกิจโดยรวมตรงที่ใด?

กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นผลพวงของการหาทางออกเพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงินอย่างไม่ถูกต้องในอดีตของ ธปท.เพราะเข้ามาทำหน้าที่ที่ ธปท.ถูกห้ามมิให้ทำโดยกฎหมายคือปล่อยสินเชื่อให้กับสถาบันการเงินโดยไม่มีหลักประกัน เหตุก็เพราะจะทราบได้อย่างไรว่าสถาบันการเงินนั้นขาดสภาพคล่องเพราะคนตกใจแห่มาถอนเงินฝาก (illiquidity) หรือเพราะขาดทุนจนส่วนของผู้ถือหุ้นหรือเงินกองทุนตามกฎหมายมีไม่เพียงพอ (insolvency) จะไปให้กู้กับกิจการที่ขาดทุนได้อย่างไร

ช่องทางนี้จึงทำให้การกำกับดูแลไม่มีประสิทธิภาพเพราะผู้กำกับฯ ในขณะที่พิจารณาให้กู้แยกแยะไม่ออกเพราะไม่รู้ข้อมูลว่าสถาบันการเงินที่มาขอกู้ยืมนั้นขาดสภาพคล่องหรือขาดทุน นอกจากนี้ยังทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนที่จะพยายามปิดบังซ่อนเร้นผลงานที่ไม่ดีจากการกำกับดูแลของตนเอง ให้กู้เพื่อไม่ให้ล้ม เป็นการซ่อนปัญหาไว้ใต้พรมโดยใช้เงินของประชาชน

ความสำเร็จของกองทุนฟื้นฟูฯ ในช่วงปีพ.ศ. 2527-2528 จากวิกฤตราชาเงินทุน มิได้หมายความว่าจะสำเร็จอีกเช่นกันในวิกฤตปี พ.ศ. 2540 เพราะใช้ไม่ได้ในกรณีหลัง เมื่อต้องมีการถอนใบอนุญาตก็หมายความว่าสินเชื่อจากกองทุนฟื้นฟูฯ ปล่อยให้มีโอกาสสูงที่จะไม่ได้รับคืนเพราะทรัพย์สินมีมูลค่าน้อยกว่าเนื่องจากส่วนใหญ่ขาดทุนมิใช่ขาดสภาพคล่องแต่อย่างใด

ยิ่งมาให้ข่าวว่า “หากยุบกองทุนฟื้นฟูฯ จะไม่มีองค์กรที่เข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงินหากเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต” ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า ไม่เรียนรู้ประสบการณ์ความผิดพลาดกองทุนฟื้นฟูฯ แต่อย่างใด การกำกับดูแลที่ดีที่สุดก็คือสถาบันการเงินที่ไม่ดีนั้น “ล้ม” ได้ แต่ผู้ฝากเงินไม่จำเป็นต้องได้รับผลกระทบมากที่สุดเสมอไปและการถอนใบอนุญาตก็ไม่ควรเป็นภาระของรัฐบาล

ระบบการเงินใช้เวลา 15 ปีในการพัฒนาแก้ไข ปัจจุบันมีทั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก มี ธปท.เป็นผู้กำกับดูแล มีเกณฑ์ที่แน่นอนในการกำกับดูแลที่เข้มงวดมากกว่าเดิมและเป็นไปในเชิงรุกมากกว่าตั้งรับรอให้เกิดเหตุก่อนจึงเข้าไปแก้ไข และที่สำคัญไม่เป็นภาระกับรัฐบาล แล้วจะเอากองทุนฟื้นฟูฯ เอาไว้ทำให้เกิดหนี้สาธารณะอีกครั้งหรืออย่างไร? ทำไมจึงทำอะไรที่ถอยหลังลงคลองอย่างนี้

***********

1 The Japan Foundation Fellow บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน Japan Foundation ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น